กระดานสุขภาพ

ตามองไม่ชัด ปวดหัวข้างเดียว
Anonymous

27 ธันวาคม 2561 13:27:09 #1

สวัสดีค่ะ คือก่อนหน้านี้หนูมีอาการปวดหัวข้างเดียวบ่อยๆ อาทิตย์นึงก็ประมาณ 3-4 วันได้ค่ะ แต่หนูไม่ได้เครียดอะไรนะคะ มาวันนี้ดวงตาหนูมองเห็นแต่ข้างหน้าค่ะ บริเวณรอบๆจะมองไม่เห็นเลย เป็นสีดำ เบลอๆค่ะ เหมือนมันโฟกัสแต่ข้างหน้าเลย ตอนั้นปวดหัวเล็กน้อยค่ะ สักพักตาเริ่มดีขึ้นแต่ปวดหัวหนักกว่าเดิม ปวดบริเวณข้างหน้า เลยกินยาไท*** พอกินไปสักพักมันปวดกว่าเดิมอีกค่ะ และจะอาเจียนด้วยค่ะ หนูเป็นอะไรแล้วควรรักษายังไงคะหมอ
อายุ: 16 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 61 กก. ส่วนสูง: 174ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.15 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

31 ธันวาคม 2561 05:15:35 #2

ปวดศีรษะ หรือปวดหัว (Headache) เป็นอาการไม่ใช่โรค (อ่านเพิ่มเติมในโรค อาการ ภาวะ) เป็นอาการที่พบบ่อยมากทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ โดย 2 ใน 3 ของเด็กทั้งหมด และ 9 ใน 10 ของผู้ใหญ่ทั้งหมด เคยมีอาการปวดศีรษะ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดอาการนี้ได้เท่าๆกัน

สมาคมปวดศีรษะนานาชาติ (The International Headache Society: IHS) และองค์ การอนามัยโลก (WHO, World Health Organization) แบ่งการปวดศีรษะตามสาเหตุออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ อาการปวดศีรษะปฐมภูมิ (Primary headache) อาการปวดศีรษะทุติยภูมิ (Secondary headache) และอาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทและอื่นๆ (Cranial neuralgias, central and primary facial pain and other headaches) เรียกว่า เป็นการแบ่งแบบ IHS Classification ICHD II โดย ICHD ย่อมาจาก International Classification of Headache Disorders

อาการปวดศีรษะปฐมภูมิ (Primary headache) คือ อาการปวดศีรษะซึ่งเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้เกิดจากโรค ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดศีรษะปฐมภูมิยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากกระบวนการที่เกี่ยวพันกันระหว่างหลอดเลือดในส่วนของศีรษะและเส้นประสาทสมอง (Cranial nerve) รวมทั้งสารสื่อประสาทในสมอง ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้น อาการปวดศีรษะในกลุ่มนี้เช่น โรคปวดศีรษะไมเกรน (Migraine), โรคปวดศีรษะจากเครียด (Tension-type headache ซึ่งอาการเช่น การปวดศีรษะทั้งสองข้าง โดยอาการปวดมักไม่รุนแรง เป็นอา การปวดศีรษะที่พบบ่อยที่สุดถึงประมาณ 90% ของการปวดศีรษะทั้งหมด เพราะเป็นอาการปวดศีรษะที่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตประจำวันเช่น จากนอนไม่หลับ หิว เครียด ใช้สายตา ขาดน้ำ หรือ อดกาแฟ ทั้งนี้จัดเป็นอาการปวดศีรษะที่รุนแรงน้อยถึงรุนแรงปานกลาง) และปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster headache ซึ่งอาการเช่น ปวดศีรษะด้านเดียวร่วมกับปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล และคัดจมูก มักเป็นอาการปวดรุนแรง แต่เป็นโรคพบได้น้อยประมาณ 0.1% ของอาการปวดศีรษะในผู้ใหญ่)

อาการปวดศีรษะทุติยภูมิ (Secondary headache) ได้แก่ อาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุจากโรคต่างๆ เป็นอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อย เป็นอาการปวดศีรษะที่รุนแรงปานกลางถึงรุน แรงมาก โดยความรุนแรงของอาการขึ้นกับสาเหตุเช่น ปวดศีรษะจากการติดเชื้อทั้งจากภาย นอกและภายในสมอง ปวดศีรษะจากมีไข้ ปวดศีรษะจากหลอดเลือดบริเวณศีรษะอักเสบ ปวดศีรษะจากดื่มสุรา ปวดศีรษะจากความดันในสมองสูงเช่น ในโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคเนื้องอกสมอง และโรคมะเร็งสมอง ปวดศีรษะจากสายตาผิดปกติเช่น สายตาสั้น ปวดศีรษะจากโรคต้อหิน ปวดศีรษะจากโรคทางจิตเวช และปวดศีรษะจากอุบัติเหตุต่อศีรษะและสมอง

อาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทสมองและอื่นๆ (Cranial neuralgias, central and primary facial pain and other headaches) เช่น อาการปวดศีรษะที่เกิดจากประสาทสมองเส้นที่ 5 ที่กำกับดูแลใบหน้า (Trigeminal neuralgia หรือ โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า)ที่มักเป็นอาการปวดศีรษะปานกลางเรื้อรัง และมีการปวดใบหน้าร่วมกับอาการปวดศีรษะด้วย ส่วนใหญ่มักเกิดด้านเดียว แต่ประมาณ 10% พบเกิดทั้งสองข้าง ทั้งนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยคือ จากมีหลอดเลือดกดทับประสาทเส้นนี้

แนวทางรักษาอาการปวดศีรษะได้แก่

เมื่อเป็นการปวดศีรษะในกลุ่มปฐมภูมิ การรักษาคือบรรเทาอาการปวดขณะปวดศีรษะ โดยการกินยาแก้ปวดเช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดอา การปวด ซึ่งการรักษามักเป็นการกินยาซึ่งมีหลายชนิด ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของอาการและดุลพินิจ ของแพทย์เช่น ในการรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น

การรักษาอาการปวดศีรษะในกลุ่มทุติยภูมิคือ การรักษาสาเหตุเช่น รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียด้วยยาปฏิชีวนะ รักษาโรคเนื้องอกสมองด้วยการผ่าตัด และ/หรือร่วมกับรังสีรักษา รัก ษาอาการปวดศีรษะจากสายตาสั้นหรือสายตาเอียงด้วยการใส่แว่นตา และการเลิกสุราเมื่อปวดศีรษะมีสาเหตุจากการดื่มสุรา เป็นต้น

การรักษาอาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทและอื่นๆเช่น การผ่าตัดเมื่อมีหลอดเลือดกดประสาทสมองเส้นที่ 5 เป็นต้น

การรักษาประคับประคองตามอาการคือ การให้ยาแก้ปวดขณะมีอาการปวดศีรษะ ซึ่งมียาแก้ปวดหลากหลายชนิด แต่ที่เป็นยาประจำบ้าน ผู้ป่วยซื้อยากินได้เองคือ ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ส่วนยาแก้ปวดชนิดอื่นๆควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์พยาบาลและเภสัชกร

อาการปวดศีรษะเกิดจากหลายสาเหตุทั้งสาเหตุที่ไม่รุนแรงและสาเหตุที่รุนแรง ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดศีรษะ ควรสังเกตตนเองเสมอเพื่อการพบแพทย์แต่เนิ่นๆ

อาการปวดศีรษะที่ควรรีบพบแพทย์ ได้แก่

ปวดศีรษะจนต้องตื่นขึ้นจากการนอน

อาการปวดศีรษะยังคงอยู่ต่อเนื่องอย่างน้อยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปและไม่ดีขึ้น หรือเลว ลงหลังดูแลตนเองหรือหลังกินยาแก้ปวด

มีอาการปวดศีรษะบ่อยขึ้นถี่ขึ้นกว่าเดิมมาก

ลักษณะของอาการปวดศีรษะผิดปกติไปจากเดิมเช่น ปวดมากขึ้นต่อเนื่อง ไม่หาย ไปเมื่อกินยาแก้ปวดทั้งๆที่เคยกินยาแล้วดีขึ้น

เมื่อกังวลในอาการปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะที่ควรพบแพทย์ฉุกเฉิน ได้แก่

ปวดศีรษะมากอย่างเฉียบพลันร่วมกับคอแข็งและ/หรือมีไข้สูง เพราะเป็นอาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ปวดศีรษะมากร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน และ/หรือแขน/ขา อ่อนแรง เพราะเป็นอา การของความดันในสมองเพิ่ม อาจจากเนื้องอกหรือมะเร็งสมอง

ในผู้ป่วยโรคมะเร็งและเกิดมีอาการปวดศีรษะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นอาการของมะเร็งแพร่กระจายสู่สมอง

ปวดศีรษะมากทันทีร่วมกับพูดไม่ชัด ชาและแขน/ขาอ่อนแรงหรือทรงตัวไม่ได้ เพราะเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง

ปวดศีรษะภายหลังอุบัติเหตุต่อสมองหรือบริเวณศีรษะ เพราะเป็นอาการของการมีเลือดออกในสมอง

ปวดศีรษะมากร่วมกับปวดตามาก ตาแดง และเห็นภาพไม่ชัด เพราะเป็นอาการของ โรคต้อหิน