กระดานสุขภาพ

ผื่น + สะเก็ดเงิน
Pcrn*****m

27 พฤศจิกายน 2561 09:13:39 #1

มีตุ่มแดงๆ ขึ้นตามขาและตัวค่ะ ไม่ทราบสาเหตุ แต่ก่อนหน้านี้สเก็ดเงินเห่อขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว เพราะเผลอไปกินอาหารทะเล แต่ตอนนี้ผื่นลามทั้งตัวค่ะ หาหมอก็ไม่มีผล เพราะหมอผิวหนังแต่ละที่ตอบไม่ตรงกันเลยค่ะ

รูปค่ะ

http://haamor.com/media/images/webboardpics/Pcrnim-46679-1.jpg

http://haamor.com/media/images/webboardpics/Pcrnim-46679-2.jpg

Ps. รบกวนขอแนวการการรักษาเองโดยไม่ผ่านสเตียรอยได้ไหมคะ เพราะพอใช้ตามที่รพ.ต่างๆให้มา จนหมด ก็เห่อขึ้นค่ะ เป็นมาประมาณ 3-4 เดือนแล้วค่ะ ตอนนี้คือคุมอาหารลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย มาประมาณ 1 เดือนแต่ อาการก็ไม่ดีขึ้นค่ะ รบกวนด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

อายุ: 27 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 95 กก. ส่วนสูง: 160ซม. ดัชนีมวลกาย : 37.11 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
รศ.พญ.เปรมจิต จันทองจีน

แพทย์โรคผิวหนัง

28 พฤศจิกายน 2561 16:18:20 #2

สะเก็ดเงิน เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อย

มีปัจจัยกระตุ้นหลายอย่าง เช่น การเจ็บป่วย ไม่สบาย การดื่มสุรา เครียด อดนอน หรือในบางคนก็มีอาหารบางประเภทเป็นปัจจัยกระตุ้นได้

ในปัจจุบันมีการรักษาหลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเป็นหลัก รวมถึงความสะดวก ในการเข้าถึงการรักษาวิธีอื่น ๆ ด้วย

โดยการรักษามีตั้งแต่

  • 1.การทายา ซึ่งการทายาก็มีทั้งกลุ่มยาสเตียรอยด์ ยากลุ่มน้ำมันดิน ยากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินดี เป็นต้น
  • 2.การรับประทานยา เช่น methotrexate, cyclosporin ยากลุ่มวิตามินเอชนิด acitretin เป็นต้น ซึ่งยาเหล่านี้จะช่วยควบคุมผื่นให้สงบขึ้นได้ดีมากขึ้น แต่ก็จำเป็นต้องมีการเจาะเลือด เฝ้าระวังผลต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายร่วมด้วย
  • 3.การฉายแสงอาทิตย์เทียม ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างปลอดภัย แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องหลายครั้ง ในสถานพยาบาลที่มีเครื่องมือพร้อม มีแพทย์ มีเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ชำนาญดูแล
  • 4.การฉีดยากลุ่มชีวภาพ เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็มีราคาสูงด้วยเช่นกัน และจำเป็นต้องมีการตรวจเลือดคัดกรองก่อนได้รับการรักษาด้วยยาฉีดนี้
  • 5.การดูแลสุขภาพทั่วไป มีตั้งแต่การดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้น การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการนอนดึก อดนอน เป็นต้น

ทุกวิธีการรักษามีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ในการเลือกรักษาด้วยวิธีการใด ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจร่างกาย ซักประวัติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอาการอื่น ๆ ที่อาจพบด้วยในโรคสะเก็ดเงิน เช่น ปวดข้อ เล็บผิดปกติ ภาวะไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูงเป็นต้น และได้รับการแนะนำจากแพทย์โดยตรงเป็นของแต่ละกรณีไปจะดีกว่าค่ะ เพราะผู้ป่วยแต่ละคนก็มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน

เนื่องจากในกรณีนี้ มีพื้นที่ที่เป็นรอยโรคค่อนข้างมาก แนะนำไปพบแพทย์ผิวหนังตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซักประวัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อพูดคุยแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไปจะดีกว่าค่ะ

นอกจากนี้ อาจลองอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสะเก็ดเงินที่หมอเคยเขียนไว้ได้ค่ะ
10 ประเด็นคำถามโรคสะเก็ดเงิน Ten frequent asked questions about Psoriasis - หาหมอ.com

http://http://haamor.com/webboard/ห้องปรึกษาปัญหาสุขภาพทั่วไป/46679