กระดานสุขภาพ

รู้สึกว่ารางกายร้อนผิดปกติ แตไม่มีอาการของไข้ เกิดจากอะไร
Dark*****n

26 ตุลาคม 2561 05:30:41 #1

สวัสดีครับ คือเมื่อประมาณ 4-5วันก่อน ผมมีความรู้สึกว่าร่างกายร้อนกว่าปกติครับ ลองให้เพื่อนจับก็บอกว่ารู้สึกตัวอุ่นกว่าปกติ ไม่มีอาการปวดหัว ไม่อ่อนเพลีย ไม่มีน้ำมูกหรือการไอ เวลาอยู่ห้องแอร์ก็รู้สึกร้อนกว่าปกติไม่หนาวสั่นแบบเวลามีไข้ ได้ลองไปหาหมอที่คลีนิคแถวที่พัก วัดอุณหภูมิได้ 36 องศา ความดัน 135 มองลองเช็คดูลิ้น ลองให้สูดหาย ลองกดตามจุดต่างๆ ว่ามีตรงไหนเจ็บหรือปวด ก็ไม่พบอะไร ตอนนี้อาการรู้สึกร้อนผิดปกติได้หายไปแล้ว แล้วก็มีความไม่สบายใจอยู่นิดหน่อยครับว่ามันคืออะไร รบกวนคุณหมอวิเคราะห์ให้ทีครับ
อายุ: 25 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 74 กก. ส่วนสูง: 179ซม. ดัชนีมวลกาย : 23.10 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

3 พฤศจิกายน 2561 17:43:32 #2

ไข้ (Fever หรือ Pyrexia) เป็นอาการไม่ใช่โรค (โรค อาการ ภาวะ) เป็นอาการซึ่งร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองเมื่อมีการติดเชื้อโรคหรือมีการเจ็บป่วยจากสาเหตุบางสาเหตุเช่น การอักเสบของเนื้อเยื่อจากโรคภูมิต้านตนเอง (โรคออโตอิมมูน) โดยไข้จะเกิดอยู่เพียงชั่วคราวเฉพาะในช่วงเกิดโรคหรือมีการเจ็บป่วย

ในการวินิจฉัยว่าเป็นไข้หรือมีอาการไข้ที่แน่นอนคือ การวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปรู้จักกันในนามของปรอทวัดไข้ เพราะใช้สารปรอทที่บรรจุอยู่ในท่อหลอดแก้วเป็นตัวบอกค่าอุณหภูมิ ทั้งนี้ที่นิยมที่สุดคือ การวัดที่ใต้ลิ้นหรือเรียกว่า ‘อมปรอท’ แต่วิธีนี้ไม่สามารถใช้กับคนที่ไม่สามารถอมปรอทได้เช่น เด็กอ่อน เด็กเล็ก หรือผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ซึ่งคนไข้ในกลุ่มนี้มักวัดปรอททางรักแร้ (หนีบปรอทไว้ใต้รักแร้) หรือสอดปรอทวัดไข้ทางทวารหนัก นอกจากนั้นในปัจจุบันยังมีเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายชนิดใหม่ๆที่สะดวกกว่าปรอทวัดไข้ แต่ราคาแพงกว่าเช่น เครื่องวัดอุณหภูมิฯผ่านทางรูหู เครื่องวัดอุณหภูมิฯทางผิว หนัง และเครื่องวัดอุณหภูมิฯสำหรับคนหมู่มากเมื่อมีการระบาดของบางโรค เป็นต้น

อุณหภูมิปกติของร่างกายไม่คงที่ แต่แปรเปลี่ยนได้เสมอประมาณ 0.5 - 1 องศาเซลเซียส (Celsius) ในแต่ละวัน ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัยเช่น ช่วงเวลาของวัน (อุณหภูมิร่างกายจะต่ำสุดในช่วงประมาณ 6 โมงเช้าและจะสูงสุดในช่วงประมาณ 4 โมงเย็น) ในผู้หญิงช่วงตกไข่ (อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้น) ขณะเล่นกีฬา (อุณหภูมิจะสูงขึ้น) อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม (ถ้าอากาศร้อนอุณหภูมิของร่างกายจะสูงขึ้น และเมื่ออากาศเย็นอุณหภูมิของร่างกายก็จะต่ำลง) อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นเมื่อใส่เสื้อผ้าหนาๆโดยเฉพาะในเด็กอ่อน หรือขึ้นกับตำแหน่งการวัดอุณหภูมิ (อุณหภูมิจะสูงสุดเมื่อวัดผ่านทางทวารหนัก และอุณหภูมิจะต่ำสุดเมื่อวัดทางผิวหนัง)

อย่างไรก็ตาม ยอมรับกันในทุกวงการและในทางการแพทย์ว่า อุณหภูมิปกติของร่างกาย คือ 37 องศาเซลเซียสหรือองศาซี (℃) หรือ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์ (Fahrenheit) หรือองศาเอฟ (℉) แต่ประเทศไทยนิยมใช้องศาเซลเซียสมากกว่าองศาฟาเรนไฮต์ ดังนั้นในบทความนี้ต่อไป เมื่อกล่าวถึงอุณหภูมิของร่างกายจะกล่าวเฉพาะเป็น “องศาเซลเซียส” เท่านั้น

อุณหภูมิที่ถือว่าเป็นไข้หรือมีไข้โดยทั่วไปคือสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ถ้าสูงไม่เกิน 38 องศาเซลเซียสเรียกว่า “ไข้ต่ำ (Low grade fever)” แต่ถ้าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส เรียกว่า “ไข้สูง (High grade fever)” และถ้าสูงเกิน 41.5 องศาเซลเซียสเรียกว่า “ไข้สูงเกิน(Hyperpyrexia)” ซึ่งจัดว่าอันตรายที่สุด มักเกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดมีความรุนแรงสูงมากในกระแสโลหิต (กระแสเลือด) หรือที่เรียกว่าภาวะพิษเหตุติดเชื้อ แต่ที่ได้พบบ่อยคือเกิดจากภาวะมีเลือดออกในสมอง