กระดานสุขภาพ

อึบาดก้น
Sawa*****d

5 สิงหาคม 2561 14:24:43 #1

เมื่อ3วันก่อนผมอึ แล้วบาดก้น วันต่อมาผมจะอึ แต่มันเจ็บมากจนอึไม่ได้ ทำไงดีครับ
อายุ: 17 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 42 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 15.43 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

7 สิงหาคม 2561 20:23:19 #2

แผลรอยแยกขอบทวารหนัก หรือแผลปริขอบทวารหนัก หรือแผลที่ขอบทวารหนัก หรือแผลที่ปากทวารหนัก (Anal fissure) คือโรคที่มีแผลรอยแยก/แผลปริที่ขอบทวารหนัก สาเหตุหลักคือ จากการถ่ายอุจจาระก้อนที่ใหญ่และแข็งจนเกิดการครูดบาดทวารหนักและกลายเป็นแผล ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บรูทวารหนักเวลาถ่ายอุจจาระ อาจมีเลือดออกเล็กน้อย แผลรอยแยก/ปรินี้อาจเป็นเพียงแค่ชั่วคราวหรือกลายเป็นแผลเรื้อรังก็ได้ การรักษามีทั้งการใช้ยาและการผ่าตัดร่วมกับการปรับ เปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่ายอุจจาระ

แผลรอยแยกที่ขอบทวารหนักเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น

• อุจจาระก้อนใหญ่และแข็ง หรือท้องผูก เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด

• ถ่ายอุจจาระเหลวเรื้อรังหรือท้องเสียเรื้อรังเพราะเพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดปากทวารหนัก

• การคลอดลูกทางช่องคลอดในผู้หญิง

• การร่วมเพศทางทวารหนัก

• การใช้เครื่องมือตรวจที่ต้องใส่เข้าไปในทวารหนักรวมถึงการใช้นิ้วตรวจภายในทวารหนัก (Per rectal examination)

• การเป็นโรคบางอย่างเช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองใน วัณโรค ลำไส้อักเสบเรื้อรังชนิด Crohn’s disease ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) เป็นต้น

ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บรูทวารหนักเวลาจะถ่ายอุจจาระ (คือเมื่อลำไส้ตรงมีการบีบตัวขับเคลื่อนอุจจาระไปที่ทวารหนัก) และเมื่ออุจจาระเคลื่อนผ่านบาดแผลก็จะเจ็บปวดมากขึ้น เมื่อถ่ายอุจจาระออกไปแล้วจะยังคงมีอาการเจ็บอยู่ซึ่งอาจเป็นอยู่เพียงไม่กี่นาทีจนถึงเป็นชั่วโมง อาการเหล่านี้ทำ ให้ผู้ป่วยไม่อยากถ่ายอุจจาระ อาจพยายามกลั้นอุจจาระไว้และทำให้เกิดอาการท้องผูกตามมา อุจจาระก็จะยิ่งมีปริมาณมากและแข็งมากขึ้น และเมื่อถ่ายอุจจาระออกมาก็ทำให้เกิดบาดแผลเพิ่ม ขึ้นต่อไปและกลายเป็นแผลเรื้อรังในที่สุด

นอกจากนี้บนก้อนอุจจาระอาจมีเลือดสดเคลือบอยู่เล็กน้อย แต่จะไม่ปนเป็นเนื้อเดียวกับอุจจาระ บางครั้งอาจมองไม่เห็นเลือดบนอุจจาระ แต่เมื่อใช้ทิชชูเช็ดทำความสะอาดรูทวารจะเห็นเลือดสดติดอยู่กับทิชชูได้ แต่ทั้งนี้โรคนี้จะไม่เป็นสาเหตุของการถ่ายเป็นเลือดสดหรือมีเลือดไหลออกมาเป็นปริมาณมาก ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการคันรอบรูทวาร มีมูกไหลจากบริเวณแผล และอาจมีกลิ่นเหม็นได้

นอกจากนี้อาการเจ็บรูทวารหนักอาจส่งผลให้มีอาการเจ็บเวลาปัสสาวะได้ หรือทำให้ปวด ปัสสาวะบ่อยด้วยได้ เพราะการอักเสบจากแผลที่ทวารหนักอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบของทางเดินปัสสาวะร่วมด้วยได้

แผลรอยแยกขอบทวารหนักที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน แนวทางการรักษาจะอาศัยการใช้ยาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่ายอุจจาระเป็นหลัก หากได้รับการรักษานาน 3 - 4 สัปดาห์ไปแล้วอา การไม่ดีขึ้นก็จะพิจารณาการผ่าตัดรักษาต่อไป

สำหรับการรักษาแผลรอยแยกขอบทวารหนักเรื้อรัง จะอาศัยการผ่าตัดเป็นหลักร่วมไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่ายอุจจาระ

1. การรักษาด้วยยาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลักการคือต้องทำให้อุจจาระนิ่ม ไม่ท้องผูกเพื่อไม่เกิดอุจจาระครูดรูทวารหนักเวลาถ่ายอุจจาระ

• การทำให้อุจจาระนิ่มคือ การเพิ่มกากใยอาหารให้กับอุจจาระได้แก่ การกินผักผลไม้มากๆ หรือ อาจรับประทานใยอาหารสกัดเช่น ใยอาหารที่สกัดจากเมล็ดเทียนเปลือกหอยเรียกว่า Psyllium ซึ่งมีขายแบบสำเร็จรูป หรืออาจกินเม็ดแมงลักซึ่งมีราคาถูกกว่าแต่มีผลคล้ายกับ Psyllium ก็ได้ ร่วมกับการดื่มน้ำสะอาดอย่างพอเพียงอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม

• การทำให้ท้องไม่ผูกโดยการใช้ยาแก้ท้องผูก/ยาระบายช่วยในการเคลื่อนไหวบีบตัวของลำไส้ รวมไปถึงการออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวร่างกายเสมอๆ เพื่อช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนไหว

• การรักษาแผลและอาการเจ็บรูทวารหนักได้แก่ การแช่ก้นในน้ำอุ่นซึ่งจะเป็นการช่วยให้กล้ามเนื้อหูรูดที่บีบตัวมากเกินไปคลายตัวลงได้ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณทวารหนักทำให้แผลหายได้ดีขึ้นเร็วขึ้น หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บรูทวารหนักมากเวลาถ่าย อาจใช้ยาชาแบบทา ทาบริเวณรูทวารหนักก่อนนั่งถ่ายอุจจาระเพื่อช่วยลดอาการเจ็บได้ ซึ่งมีตัวยาอยู่หลายชนิด นอกจากนี้ยังมียาในรูปแบบทาที่จะออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อหูรูดช่วยลดอาการเจ็บได้คือยา Nitroglycerin แต่อาจเกิดผลข้างเคียงเช่น ปวดและมึนศีรษะ หัวใจเต้นเร็วแรง หน้ามืดเป็นลม เจ็บหน้าอก (ห้ามซื้อยาตัวนี้ใช้เอง)

*** ทั้งนี้การซื้อยาทุกชนิดใช้เอง ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ

2. การผ่าตัด มีอยู่ 2 วิธีหลักคือ

• การตัดกล้ามเนื้อหูรูดชั้นใน (Lateral internal sphincterotomy) เพื่อให้กล้ามเนื้อเกิดการขยาย ตัวมากกว่าปกติทำให้ไม่เจ็บเวลาถ่ายอุจจาระ อุจจาระผ่านได้สะดวกและทำให้แผลมีโอกาสหายได้เร็วขึ้น

• การยืดขยายรูทวารหนัก (Anal dilatation) เพื่อให้กล้ามเนื้อหูรูดขยายตัวเช่นกัน นอกจากนั้นการรักษาที่เพิ่งคิดค้นมาได้ไม่นานคือ การฉีดสาร Botulism toxin หรือที่รู้จักกันในชื่อ โบทอก (BOTOX) เข้าไปที่กล้ามเนื้อหูรูดชั้นในเพื่อให้หูรูดขยายตัว โดยจะมีผลคล้ายกับการผ่าตัด วิธีนี้จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่เป็นแผลรอยแยก/ปริเฉียบพลันรวมทั้งผู้ป่วยที่เป็นแผลรอยแยก/ปริเรื้อรังด้วย แต่ฤทธิ์ของ Toxin จะมีอยู่แค่ 3 เดือน ดังนั้นผู้ป่วยที่มีแผลรอยแยก/ปริเรื้อรังจึงมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้มากกว่าวิธีการผ่าตัด แต่ข้อดีก็คือจะเกิดผลภาวะแทรกซ้อนเรื่องการกลั้นอุจจาระไม่ได้น้อยกว่า

โดยทั่วไปในโรคแผลรอยแยกทวารหนัก โอกาสหายและผลข้างเคียงคือ

1. ผู้ที่เกิดแผลรอยแยก/ปริเฉียบพลันมักจะหายได้เองในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

2. ผู้ป่วยแผลรอยแยก/ปริเฉียบพลันที่ได้รับการรักษาจนหายแล้ว ประมาณ 30 - 70 % จะกลับมา เป็นแผลได้อีกหากมีอาการท้องผูก อุจจาระแข็ง และกินอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย

3. ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดได้แก่

• ติดเชื้อกลายเป็นฝีหนองพบได้ประมาณ 1 - 2%

• เลือดออกใต้ชั้นเยื่อบุผิวซึ่งมักจะเกิดเพียงเล็กน้อย

• แต่ที่เป็นปัญหาสำคัญคือเกิดอาการกลั้นอุจจาระไม่ได้ซึ่งพบได้ประมาณ 10 - 30% โดยส่วนใหญ่ จะเป็นการกลั้นการผายลมไม่ได้ มีอุจจาระเล็ดลอดออกมาเล็กน้อยพอเปื้อนกางเกงชั้นใน

การดูแลตนเองและการป้องกันโรคแผลรอยแยกขอบทวารหนักคือ

1. ในแต่ละวันควรกินอาหารที่มีกากใยให้ได้ปริมาณที่เหมาะสมที่ทำให้ถ่ายอุจจาระได้ทุกวัน ป้องกันอาการท้องผูก โดยเฉลี่ยควรได้รับใยอาหารวันละประมาณ 25 - 30 กรัม โดยผักและผลไม้ที่มีใยอาหารมากเช่น มะเขือพวง ใบชะพลู ใบขี้เหล็ก คะน้า ถั่วฝักยาว ข้าวโพดอ่อน แครอด มะม่วงดิบ มะละกอสุก ฝรั่ง แอปเปิล เป็นต้น รวมถึงธัญพืชต่างๆเช่น งา ถั่วเขียว ถั่วแดง รำข้าว ถั่วลิสง ข้าวโอต (Oat) ข้าวโพดต้ม แต่ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกากใยที่ย่อยยาก กากใยแหลมคมได้แก่ ถั่วเปลือกแข็ง (Nuts) เช่น อัลมอนด์ (Almond) พิสตาชิโอ (Pistachio) วอลนัท (Walnut) เม็ดมะ ม่วงหิมพานต์ และข้าวโพดคั่ว ข้าวโพดที่เป็นแผ่นกรอบ (Chips) เป็นต้น

2. ดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่มเพื่อช่วยให้อุจจาระไม่แข็ง ช่วยป้องกันท้องผูก

3. ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอเพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหว ขับถ่ายได้สะดวก ท้องไม่ผูก

4. หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นสาเหตุให้ท้องผูกเช่น ชา กาแฟ อาหารประเภทแป้งแปรรูป (เช่น ขนมต่างๆ) และเนื้อสัตว์ มากเกินไป

5. หากมีอาการท้องผูกต้องรีบดูแลรักษา

6. หากมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว/ท้องเสียบ่อยหรือเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์และรักษาเช่นกันเพราะ เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคนี้

7. สำหรับในเด็กทารกหากอุจจาระแข็งถ่ายยาก อาจต้องลองเปลี่ยนชนิดนมที่กินและให้ดื่มน้ำร่วม ด้วย

8. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางทวารหนัก