กระดานสุขภาพ

โอกาสเกิดบาดทะยัก
Anonymous

22 กรกฎาคม 2561 21:20:14 #1

นั่งทับกรรไกรที่เป็นสนิม แล้วรู้สึกแสบบริเวณนั้น แต่มองไม่เห็นแผลและไม่เห็นเลือดออก เลยแค่ล้างน้ำฟอกสบู่ แต่ก็ยังรู้สึกแสบอยู่ แบบนี้มีโอกาสเป็นบาดทะยักมั้ยคะ ตอนเด็กฉีดวัคซีนครบแล้ว แล้วเคยฉีดอีก 1 เข็มเมื่อ 7 ปีที่แล้ว
อายุ: 21 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 58 กก. ส่วนสูง: 160ซม. ดัชนีมวลกาย : 22.66 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
รศ.พญ.เปรมจิต จันทองจีน

แพทย์โรคผิวหนัง

29 กรกฎาคม 2561 06:02:54 #2

เชื้อบาดทะยักสามารถเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดโรคได้หลายทาง คือ

• ผ่านทางแผลสด โดยส่วนใหญ่จะเป็นแผลขนาดเล็กๆแต่ลึก เช่น แผลจากตะปู หรือเศษไม้ตำ แผลอื่นๆ เช่น แผลถูกสัตว์กัด แผลถลอก แผลฉีกขาด แผลถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือแม้แต่แผลผ่าตัดก็พบได้ ถ้าระบบปลอดเชื้อของห้องผ่าตัดไม่มาตรฐาน หรือการดูแลแผลผ่าตัดที่ไม่สะอาด รวมทั้งแผลจากการถอนฟัน รักษารากฟัน ก็มีโอกาสติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน

• ผ่านทางแผลเรื้อรัง เช่นแผลเบาหวาน และแผลเป็นฝี

• ผ่านทางการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน พบในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด หรือการสักลาย (Tattoo)

• ผ่านทางสายสะดือในเด็กแรกคลอด เกิดจากมารดาที่ไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยัก และการใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือเด็ก

• จากการเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ

• มีบางกรณีที่ไม่พบสาเหตุว่า เชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางไหน

สามารถป้องกันโรคบาดทะยักได้ดังนี้ คือ

1 โรคนี้มีวัคซีนป้องกัน วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักถูกผลิตและใช้เป็นผลสำเร็จในทหารตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาวัคซีนชนิดนี้ได้ถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปของวัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และอาจเป็นแบบวัคซีนรวมอื่นๆ

2 ในเด็กเล็กต้องได้รับการฉีดวัคซีนที่อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือนและ 15 - 18 เดือน ในรูปของวัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก หลังจากนั้นเมื่ออายุได้ 4 - 6 ปี ก็ให้ฉีดวัคซีนรวมกระตุ้นอีก 1 ครั้ง พออายุได้ 11 - 12 ปี ก็ให้วัคซีนบาดทะยัก - คอตีบ กระตุ้นอีก 1 เข็ม หลังจากนั้นก็ให้ฉีดวัคซีนบาดทะยัก - คอตีบ กระตุ้นทุกๆ 10 ปี สาเหตุที่ต้องฉีดทุกๆ 10 ปีนั้นเนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคจะค่อยๆลดไปเรื่อยๆตามกาลเวลา และอาจไม่พอที่จะป้องกันโรคเมื่อได้รับสารพิษของเชื้อบาดทะยัก

3 สำหรับในเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไปและในผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือได้รับวัคซีนในวัยเด็กไม่ครบ หรือได้รับมาเกิน 10 ปีแล้ว ให้ฉีดวัคซีนบาดทะยัก - คอตีบ 3 เข็ม โดยฉีดเข็มที่ 2 ให้ห่างจากเข็มแรก 4 สัปดาห์ เข็มที่ 3 ให้ห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 6 -12 เดือน และฉีดกระตุ้นๆทุกๆ 10 ปีตลอดไป

4 หากฉีดวัคซีนบาดทะยัก - คอตีบ ถี่เกินไปคือน้อยกว่าทุก 10 ปีอาจทำให้มีอาการปวดบริเวณที่ฉีดมาก มีอาการบวมแดงที่อาจเกิดทั้งแขนที่ฉีดก็ได้ แต่ไม่ได้ทำให้เป็นโรคบาด ทะยัก

5 หญิงตั้งครรภ์ทุกราย ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยักหรือประวัติการได้รับวัคซีนไม่ชัดเจน หรือได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 10 ปีมาแล้ว ควรต้องได้รับการฉีดวัคซีน

เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดตรงตำแหน่งไหนหรือจากสาเหตุอะไรก็ตาม ควรพบแพทย์ ดังนี้

• ในกรณีที่แผลมีขนาดเล็ก แผลสะอาด เช่น แผลถูกตะปูตำ หนามตำ มีดในบ้านบาด ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนบาดทะยักมาก่อน หรือฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายมานานกว่า 10 ปี ต้องพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนบาดทะยัก

• ในกรณีที่แผลนั้นมีขนาดใหญ่หรือค่อนข้างสกปรก เช่น แผลจากอุบัติเหตุรถชน โดนเศษแก้วจากกองขยะบาด แผลสัตว์กัด ถ้าฉีดวัคซีนมาครบตามกำหนดแต่ฉีดวัคซีนเข็มสุด ท้ายมานานกว่า 5 ปี ต้องพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนบาดทะยัก ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบตามกำหนดนอกจากจะต้องฉีดวัคซีนบาดทะยักแล้ว ต้องให้แอนติบอดีเพื่อไปทำลายพิษด้วย