กระดานสุขภาพ

เป็นโรคลมบ้าหมู รับประทานเนื้อหมูได้ไมคับ
Jane*****n

22 พฤษภาคม 2561 13:58:29 #1

สวัสดีคับ พอดีโรคบ้าหมูเป็นตั้งแต่กำเนิด แต่ผู้ปกครอง ห้ามไม่ไห้รับประทานหมู หรื่อเมนูและมีส่วนผสมของหมู อยากถามว่า โรคลมบ้าหมูงดรับประทามหมู หรอคับ
อายุ: 22 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 52 กก. ส่วนสูง: 170ซม. ดัชนีมวลกาย : 17.99 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

27 พฤษภาคม 2561 08:57:26 #2

โรคลมชัก (Epilepsy) เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยโรคหนึ่ง ความชุกประมาณ0.67% ของประชากร ประมาณว่าคนไทยทั่วประเทศ เป็นโรคลมชักประมาณ 450,000 คน ประ ชาชนโดยทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจต่อโรคลมชักไม่มาก อาทิเช่น ทราบเพียงว่าโรคลมชักคือ โรคลมชักบ้าหมู หรือ “โรคลมบ้าหมู” เท่านั้น

โรคลมชัก แตกต่างจากการชักจากสาเหตุต่างๆ คือ อาการชักจากโรคลมชัก ต้องมีอา การ ชัก เกร็ง กระตุก กัดลิ้น น้ำลายฟูมปาก ซึ่งทั้งนี้ จริงๆแล้ว โรคลมชักเอง มีอาการชักได้หลายชนิดได้แก่

1. การชักเกร็งกระตุกทั้งตัวและหมดสติ (โรคลมชักบ้าหมู)

2. การชักชนิดนั่งนิ่ง เหม่อลอย

3. การชักชนิดทำอะไรโดยไม่รู้สึกตัว

4. การชักกระตุกเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายและรู้สึกตัวดี

และ 5. การชักชนิดล้มลงกับพื้นทันที

ลักษณะสำคัญของการชักในโรคลมชักทุกชนิดคือ การที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทดังกล่าวข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 30 วินาที ถึง 3 นาที อา การนั้นหายได้เอง แต่อาการเหล่านั้นจะเกิดซ้ำๆและอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งจะมีลักษณะคล้ายๆกัน

โรคลมชักเกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองซึ่งมีหลายสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น

  • อุบัติเหตุต่อสมอง
  • โรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพาต)
  • โรคติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ)
  • โรคเนื้องอกสมอง
  • โรคพยาธิตัวตืด เช่น ตืดหมู ตืดวัว
  • การดื่มเหล้าปริมาณมากหรือการหยุดดื่มเหล้าทันทีในผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง
  • โรคกลีบสมองบริเวณขมับฝ่อ
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตามการถ่ายทอดทางพันธุกรรมมีโอกาสเกิดน้อยมาก
  • อื่นๆที่เพิ่มโอกาสเกิดอาการชัก เช่น
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคไข้ชักในวัยเด็ก
  • ได้รับอุบัติเหตุที่สมองอย่างรุนแรง
  • ได้รับการผ่าตัดสมอง

ผู้ป่วยโรคลมชักจะได้รับการรักษาด้วยยากันชักเป็นระยะเวลานานประมาณ 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี เพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการชักอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปีนับตั้งแต่ควบคุมอา การชักได้ และกรณีที่มีสาเหตุ เช่น เนื้องอกสมองติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) ต้องได้รับการรักษาแก้ไขสาเหตุนั้นๆร่วมด้วย

การปฏิบัติตัวให้ถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญในการรักษา ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง“สิ่งกระตุ้น” ต่างๆที่อาจก่อให้เกิดอาการชัก เช่น

  • การอดนอน
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ภาวะไข้สูง
  • การเล่นกีฬาหรือทำงานจนเหนื่อยมาก
  • การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน
  • การขาดยากันชัก ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งทุกวันให้ครบถ้วน ถูก ต้อง
  • อนึ่ง สำหรับผู้ป่วยที่ต้องขับรถควรหลีกเลี่ยงเพราะถ้ามีอาการชักขณะขับรถจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

บางกรณีผู้ป่วยจะมีอาการเตือนก่อนที่จะมีอาการชัก เช่น ปั่นป่วนในท้อง จุกแน่นหน้าอก ชามือ แขน-ขา หรือกระตุกก่อนที่จะมีอาการชักเกร็ง กระตุกทั้งตัวและหมดสติ ดังนั้นเมื่อเริ่มมีอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลได้แนะนำไว้ เช่น ต้องอยู่ในที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการล้ม ชัก แล้วเกิดอุบัติเหตุซ้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ดีระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา อาจเกิดอาการชักขึ้นได้ การช่วยเหลือที่ถูก ต้องต่อผู้ป่วยที่กำลังชัก คือ การป้องไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและป้องกันการสำลักโดยการจับผู้ป่วยนอนลงในที่ปลอดภัย จัดตะแคงศีรษะไปด้านข้างเพื่อป้องกันการสำลักน้ำลาย คลายเสื้อผ้าให้หลวม ไม่ควรงัดปากผู้ป่วยเพื่อนำช้อน นิ้วมือ หรือวัสดุใดๆใส่เข้าไปในปากของผู้ป่วย เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือ ไม่ควรกดหน้าอก ท้องหรือยึดรั้งแขนขาผู้ป่วย ที่สำ คัญผู้ช่วยเหลือควรตั้งสติตนเองให้ดี

ภายหลังการหยุดชักทุกครั้งไม่จำเป็นต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพราะส่วนใหญ่การชักจะหยุดได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษาใดๆ จะนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชักนานมากกว่า 5-10 นาทีและไม่รู้สึกตัวหรือชักนานกว่าทุกครั้งที่มีอาการ หรือมีอุบัติ เหตุเกิดขึ้นในขณะชัก เช่น ล้มลงศีรษะแตก เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก จะมีความสามารถเหมือน และในระดับสติปัญญาไม่ต่างกับคนทั่วไป ยกเว้นที่มีอาการชักที่รุนแรง และบ่อยมาก ร่วมกับมีรอยโรคหรือสาเหตุที่รุน แรงในสมอง ก็ส่งผลต่อระดับสติปัญญาได้เช่นกัน ดังนั้นในการใช้ชีวิต การเรียน และการทำ งาน การปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษา จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยในการเลือกวิธีดำรงชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

สำหรับอาหารนั้นโดยปกติแล้วไม่มีอาหารแสลงหรืออาหารต้องห้าม นอกเสียจากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น อาหารแป้งและหวานในผู้ป่วยมีโรคเบาหวานร่วมด้วย เป็นต้น

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคลมชักไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับชา และกาแฟ หรือเครื่องดื่มอื่นๆที่มีกาเฟอีนนั้น ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า มีผลต่อผู้ป่วยโรคลมชัก แต่จากประสบ การณ์ของผู้เขียนเองพบว่า มีผู้ป่วยที่ดื่ม ชา กาแฟ อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ ดังนั้นผู้ป่วยต้องสังเกตผลกระทบในแต่ละกรณีของอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดต่างๆด้วยตนเอง แล้วปรับตัวไปตามนั้น

ผู้ป่วยที่รับประทานยากันชักนั้น ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยาชนิดอื่นๆร่วมด้วย ควรต้องแจ้งให้แพทย์ที่รักษาโรคอื่นๆทราบว่า ผู้ป่วยรับประทานยากันชักอยู่ เพราะยากันชักนั้นมีโอกาสทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นๆได้ง่าย และห้ามหยุดยากันชักเองอย่างเด็ดขาดโดยไม่ปรึกษาแพทย์ที่รักษาโรคลมชักก่อน

ผู้ป่วยชายโรคลมชัก สามารถแต่งงานและมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ สำหรับผู้ป่วยหญิงโรคลมชัก สามารถแต่งงานและมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติเช่นกัน แต่ต้องมีการวางแผนครอบ ครัวที่ดี คือในระหว่างการรักษาที่ต้องรับประทานยากันชักยังไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะยากันชักเกือบทุกชนิดอาจก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยทราบว่าตั้ง ครรภ์ ควรต้องรีบปรึกษาแพทย์ผู้รักษาโรคลมชัก ห้ามหยุดยากันชักหรือปรับเปลี่ยนชนิดและขนาดของยากันชักเอง เพราะอาจเป็นสาเหตุให้มีอาการชักที่รุนแรงจนอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์และต่อการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน

ในผู้ป่วยหญิงที่ยังไม่พร้อมจะตั้งครรภ์ ควรต้องปรึกษาสูติแพทย์ในเรื่องวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมเสมอ เพราะการใช้ยาคุมกำเนิด อาจมีปฏิกิริยากับยากันชัก อาจลดประสิทธิภาพของยากันชัก หรือยากันชักอาจลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดได้ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง บทบาทของการวางแผนครอบครัว)

กรณีที่ผู้ป่วยต้องเดินทาง ต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะอาจเกิดอาการชักได้ง่ายเนื่องจาก เหนื่อย อดนอน อาจรับประทานยาไม่ตรงเวลา หรืออาจลืมนำยาไปด้วย ดังนั้นต้องพักผ่อนให้เพียงพอ และต้องไม่ลืมรับประทานยากันชัก

กรณีต้องไปโรงเรียน ควรต้องแจ้งให้คุณครูที่โรงเรียนทราบว่าเป็นโรคลมชัก แจ้งถึงอา การชักว่าเป็นแบบไหน และวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้องถ้าเกิดอาการชักขึ้น

ส่วนการทำงานนั้น สามารถทำงานได้เหมือนคนที่ไม่มีอาการชัก ยกเว้นการทำงานบนที่สูง และทำงานกับเครื่องจักรกล

โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่ต้องมีระ เบียบในการดำรงชีวิต กล่าวคือ ต้องรับประทานยากันชักให้สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการชัก ไม่อดนอน ไม่นอนดึก ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และไม่ควรขับรถ

การศึกษาเกี่ยวกับโรคลมชัก โดยกลุ่มวิจัยโรคลมชักแบบบูรณาการของมหาวิทยาลัย ขอนแก่น พบว่า

  • ผู้ป่วย 30% เคยประสบอุบัติเหตุขณะที่มีการชัก อุบัติเหตุที่พบบ่อยได้แก่ บาดแผลฟกช้ำ เนื้อเยื่อฉีกขาด อุบัติเหตุที่ศีรษะ ไฟไหม้น้ำร้อนลวก และกะโหลกศีรษะแตก โดยปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ การชักชนิดชักเกร็งกระตุกทั้งตัว การหมดสติ การชักแล้วล้ม และผู้ป่วยที่มีการชักบ่อยครั้ง
  • ผู้ป่วย 67% ยังขับรถเป็นประจำ และ 25% เกิดอุบัติเหตุจากการขับรถเนื่องจากมีอาการชักขณะขับรถ ซึ่งผู้ป่วยโรคลมชักที่อยู่ระหว่างการรักษาไม่ควรขับรถ เล่นกีฬาทางน้ำ หรือกีฬาที่ต้องมีการปะ ทะกัน รวมทั้งการนอนดึก และการทำงานกับเครื่องจักรกล ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ จะส่งผลต่อคุณ ภาพชีวิตของผู้ป่วย