กระดานสุขภาพ

เรื่องอีสุกอีไส
Sabr*****k

16 พฤษภาคม 2561 19:10:05 #1

สวัสดีค่ะ เมื่อวานซืนพาเพื่อนที่เป็นไข้ออกไปซื้อข้าวข้างนอก แล้วกลับมานั่งเล่นกับเพื่อนในห้องนอนค่ะ 

แล้วเมื่อวานนี้เพื่อนบอกว่าเป็นอีสุกอีใส ตุ่มเพิ่งขึ้นค่ะ แบบนี้โอกาสติดมากน้อยแค่ไหนคะ มีการสัมผัสเล็กน้อยค่ะ ตอนเดิน จับแขนเพื่อนแป๊ปเดียว แล้วก็เดินใกล้ๆเพื่อน อยู่ในห้องนอนกับเพื่อนประมาณ 1 ชั่วโมง ไม่เคยเป็นอีสุกอีไสมาก่อนค่ะ จำไม่ได้แล้วว่าเคยฉีดวัคซีนหรือเปล่าค่ะ ไม่อยากเป็นเลยค่ะ :(

อายุ: 21 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 55 กก. ส่วนสูง: 170ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.03 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

5 มิถุนายน 2561 12:22:12 #2

โรคอีสุกอีใส หรือหลายท่านเรียกว่า โรคสุกใส หรือบางท่านเรียกว่า ไข้อีสุกอีใส หรือ ไข้สุกใส (Chickenpox หรือ Varicella) เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยโรคหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella zoster virus หรือเรียกย่อว่า VZV/วีซีวี ไวรัส) โดยทั่วไปเป็นโรคพบในเด็กตั้งแต่อายุประมาณ 1 ขวบไปจนถึงอายุประมาณ 12 ปี แต่อย่างไรก็ตามพบได้ในทุกอายุทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

โรคอีสุกอีใสเป็นโรคติดต่อได้อย่างรวดเร็วมาก ทั้งนี้เกิดจากการสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วยทั้งจากในอากาศ จากละอองการไอ จาม การหายใจ การสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง สัมผัสผื่นที่ผิวหนัง และ/หรือ น้ำเหลืองจากตุ่มน้ำของโรค รวมไปถึงการสัมผัสเสื้อผ้า สิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆของผู้ป่วย

โรคอีสุกอีใสมีระยะฟักตัวประมาณ 10 - 21 วัน และผู้ป่วยจะเริ่มแพร่เชื้อได้ในช่วงประ มาณ 5 วันก่อนขึ้นผื่น ยาวไปจนถึงเมื่อตุ่มน้ำแห้งแตกเป็นสะเก็ดหมดแล้ว (การสัมผัสสะเก็ดแผลไม่ติดโรค) ดังนั้นระยะแพร่เชื้อในโรคอีสุกอีใสจึงนานได้ถึง 7 - 10 วันหรือนานกว่านี้ในผู้ ใหญ่ จึงเป็นสาเหตุให้เป็นโรคติดต่อระบาดได้อย่างกว้างขวางถ้าไม่แยกผู้ป่วยให้ดี

อาการพบบ่อยของโรคอีสุกอีไสได้แก่ มีไข้ มีได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ ปวดศีรษะ ปวดท้อง เจ็บคอ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบาย ประมาณ 1 - 2 วันหลังจากนั้น ไข้ลง อาการต่างๆดีขึ้น แต่ผิว หนังจะขึ้นผื่นอย่างรวดเร็ว โดยผื่นจะขึ้นบริเวณใบหน้าและลำตัวก่อน ต่อจากนั้นจึงขึ้นไปที่ หนังศีรษะ ที่แขนขา โดยผื่นขึ้นหนาแน่นในส่วนใบหน้าและลำตัว และอาจขึ้นในเยื่อบุช่องปาก และกับผิวหนังของอวัยวะเพศภายนอก

ผื่นมีลักษณะเป็นผื่นแดง เม็ดเล็กๆคันมาก ต่อจากนั้นภายใน 1 วันจะกลายเป็นตุ่มพอง มีน้ำใสๆในตุ่ม (อาจเป็นหนองเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย) อาจมีตุ่มพองทยอยเกิดต่อเนื่องได้อีกภาย ใน 3 - 6 วัน และต่อจากนั้นจะแห้งตกสะเก็ดภายใน 1 - 3 วัน และสะเก็ดแผลจะค่อยๆลอกจางหายไปกลับเป็นปกติภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

เนื่องจากเป็นการติดเชื้อไวรัส การรักษาจึงเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ไม่จำ เป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าไวรัสไม่ได้ ฆ่าได้แต่แบคทีเรีย พักผ่อนให้เต็มที่ ดื่มน้ำสะอาดมากๆอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว ใช้ยาทาและ/หรือยากินบรรเทาอาการคัน (ยาแก้คัน) ยาลดไข้ และยาต้านไวรัสในกรณีโรคที่รุนแรงหรือเมื่อมีผลข้างเคียงแทรกซ้อน

ที่สำคัญที่สุดคือ การแยกผู้ป่วยรวมทั้งเครื่องใช้ทุกอย่างเพื่อป้องกันการติดเชื้อ จนกว่า แผลจะตกสะเก็ดหมดทั้งตัวแล้ว

โดยทั่วไปโรคอีสุกอีใสเป็นโรคไม่รุนแรง ถึงแม้จะติดต่อได้รวดเร็วก็ตาม ดูแลรักษาหายได้ภายใน 7 - 10 วัน แต่ความรุนแรงของโรคขึ้นกับอายุและสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยความรุนแรงโรคสูงขึ้น (มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนสูงขึ้น) ในผู้ใหญ่และในผู้มีภูมิคุ้ม กันต้านทานโรคต่ำเช่น กินยากดความต้านทานโรค คนท้อง ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังเช่น เบา หวาน ในผู้สูงอายุ และในผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ผลข้างเคียงแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคอีสุอีใสได้แก่ ตุ่มพองติดเชื้อแบคทีเรียกลายเป็นตุ่มหนอง (ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดแผลเป็นได้) โรคปอดบวม โรคกล้ามเนื้อหัวใจอัก เสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคสมองอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

นอกจากนั้นคือ เมื่อโรคหายแล้ว เชื้อบางส่วนยังไม่หมดไป แต่จะแฝงตัวอยู่ตามปมประ สาทต่างๆโดยเฉพาะของลำตัว เมื่อแก่ตัวลงหรือมีภูมิต้านทานคุ้มกันโรคต่ำจะก่อให้เกิดเป็นโรคงูสวัดได้

อนึ่ง เมื่อเป็นโรคอีสุกอีใสแล้วมักมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคตลอดชีวิต ไม่กลับมาเป็นโรคอีก

วิธีป้องกันโรคอีสุกอีใสคือ การไม่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ซึ่งทำยากมากเพราะเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย นอกจากนั้นคือ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโรค

แต่การป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุด ป้องกันโรคได้ถึงประมาณ 90-95% ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกัน (ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง) ซึ่งแพทย์แนะนำให้เริ่มฉีดตั้งแต่อายุได้ 1 ปี โดยเมื่ออายุ 1 -12 ปีให้ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 หลังเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน (วัคซีนให้ผลป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต) แต่การฉีดวัคซีนในอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปจนถึงในผู้ใหญ่ ให้ฉีดเข็มที่สองตามหลังเข็มแรกประมาณ 4 - 8 สัปดาห์ซึ่งภูมิคุ้มกันอยู่ได้อย่างน้อยประมาณ 20 ปี

การดูแลตนเองและดูแลเด็กป่วยด้วยโรคอีสุกอีใส ที่สำคัญที่สุดคือ แยกผู้ป่วยรวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆเช่น เสื้อผ้า แก้วน้ำ ช้อน ชาม และรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ป้องกันเชื้อติดต่อสู่ผู้อื่นและเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสเกิดผลข้าง เคียงแทรกซ้อน นอกจากนั้นได้แก่

• ตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันการเกาเกิดแผลซึ่งจะติดเชื้อได้ง่าย

• ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากๆอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้วเมื่อไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม

• ทายาแก้คันเช่น ยาคาลามาย (Calamine lotion) และ/หรือกินยาบรรเทาอาการคัน โดยปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยากินเองเสมอ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา

• กินยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) เมื่อมีไข้ อย่ากินยาแอสไพรินเพราะอาจมีการแพ้ยาแอสไพรินได้โดยเฉพาะในเด็กๆ

• รีบพบแพทย์ภายใน 24 โมง เมื่อ

◦ มีไข้สูงและไข้ไม่ลงภายใน 1 - 2 วันหลังกินยาลดไข้

◦ ตุ่มพองเป็นหนอง

◦ ไอมาก ไอมีเสมหะ (มักเป็นตัวบ่งชี้ว่า มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยแพทย์)

• รีบพบแพทย์ฉุกเฉินทันทีเมื่อ

◦ เจ็บหน้าอกมาก (เป็นอาการของปอดติดเชื้อ)

◦ หายใจติดขัด/หายใจลำบาก หอบเหนื่อย (เป็นอาการของปอดติดเชื้อ)

◦ ปวดศีรษะมาก อาจร่วมกับ แขน ขา อ่อนแรง หรือชัก (เป็นอาการของสมองอัก เสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ)