กระดานสุขภาพ

นอนไม่หลับ
Anonymous

5 มีนาคม 2561 03:27:54 #1

อาการ

นอนไม่หลับ จะหลับก็ต่อเมื่อมันผล้อยหลับเอง ประมาณ ตี4 ตื่นมา 6 โมงครึ่ง ก็จะปวดหัวที่ขมับ ลึกๆ เป็นมา ประมาณ 1 สัปดาห์ ตอนนี้ใต้ตำคล้ำไปหมดคะ ทำงานก็ต้องแอบไปงีบ เป็นมากๆเข้า ก็กินยา (ยาลดการเต้นของหัวใจ ได้รับจาก รพ... เพราะเคยรักษาภาวะหัวใจเต้นเร็วมาก...กินแล้วหลับดี เลยเอามากินใหม่) จนตอนนี้ยานั้นหมดแล้ว เลยหยิบยาแก้แพ้ (เซอเทค)มากินอีก คืนไหนกินยาก็หลับดีคะ จนเช้า ตื่นมาไม่มีปวดหัว แต่สักพักก็เหมือนเบลอๆงงๆ ไม่สดชื่น วันเสาร์มีเวลา เลยลองไปนวดน้ำมัน คืนเสาร์หลับเป็นตาย สบายมากๆ แต่เช้ามา งานเข้า เกิดปัญหา เอาอีกแล้ว นอนไม่หลับอีกแล้ว แต่ไม่เทคยา ก็นอนๆไป ตี 3 ก็เพลียไปเอง กลัวติดยามากคะตอนนี้ ทำยังไงได้บ้างคะ ขอบคุณคะ

อายุ: 31 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 56 กก. ส่วนสูง: 150ซม. ดัชนีมวลกาย : 24.89 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

11 มีนาคม 2561 08:32:55 #2

สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ พบว่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

    • 1.ปัญหาทางด้านอารมณ์ เช่น ภาวะตึงเครียดในชีวิต
    • 2.การเปลี่ยนแปลงในความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อม เช่น แสงสว่างมากเกินไป เสียงดัง อุณหภูมิร้อนเกินไป การเปลี่ยนที่นอนและการเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลาโลก การทำงานกะดึก
    • 3.ปัญหาการนอนที่มาจากโรคของการนอนหลับโดยตรง เช่น การเคลื่อนไหวแขนขาที่ผิดปกติขณะหลับ การขาดลมหายใจระหว่างการนอนหลับเป็นพัก ๆ
    • 4.ความผิดปกติทางสรีรวิทยาของผู้ป่วยที่มีความไวกว่าธรรมดา เช่น ภาวะตื่นตัวสูงและตื่นเต้นง่าย
    • 5.โรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคในกลุ่มกังวล โรคจิต
    • 6.อาการเจ็บป่วยหรือความไม่สบายทางร่างกาย เช่น สมองเสื่อม ความผิดปกติของฮอร์โมน อาการปวดการไอเรื้อรัง การหายใจลำบาก การตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อย ๆ
    • 7.การใช้ยาหรือสารบางชนิด

ควรไปพบแพทย์เมื่อ

ถ้ามีอาการนอนไม่หลับมากกว่า 1 สัปดาห์ หรือมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในเวลากลางวัน การรักษาปัญหาการนอนไม่หลับจะเริ่มต้นด้วยวิธีไม่ใช้ยาก่อน โดยมีหลักการ ดังนี้

1.รักษาตามสาเหตุ โดยขจัดเหตุปัจจัยที่ทำให้การนอนไม่เพียงพอ

2.ปฏิบัติตามสุขอนามัยการนอนหลับ และฝึกให้มีพฤติกรรมที่ส่งเสริมการนอนหลับ ซึ่งทุกคนสามารถปฏิบัติได้เอง โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • 1)เข้านอนและตื่นนอนตรงเวลาทุกวัน เพื่อให้เกิดความเคยชิน โดยอยากนอนและตื่นเมื่อถึงเวลากำหนด ควรลงบันทึกตารางเวลานอนทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
  • 2)ลุกจากเตียงทันทีเมื่อตื่น การสัมผัสแสงแดดอ่อนตอนเช้า และออกกำลังกายเบา ๆ หลังตื่นนอน 10-15 นาทีก่อนทำกิจกรรมอื่น จะช่วยให้สมองและร่างกายตื่นตัว สามารถปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี
  • 3)จัดกิจกรรมผ่อนคลายเป็นประจำช่วง 1-2 ชั่วโมงก่อนนอนเช่น อาบน้ำอุ่น ดื่มนมหรือน้ำผลไม้ อ่านหนังสือเบา ๆ 10 นาที หรือฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาพผ่อนคลายและมีสมาธิดีขึ้น หลีกเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมที่ตึงเครียดก่อนเข้านอน หากมีเรื่องที่ต้องคิดหรือมีความเครียดกังวลง่าย แนะนำให้ใช้เวลาช่วงสั้น ๆ หลังอาหารมื้อเย็น จดลำดับเรื่องหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เช้าและวางแผนจัดการแต่ละเรื่องอย่างคร่าว ๆ สั้น ๆ ให้ปฏิบัติทุกวันจนเกิดความเคยชิน
  • 4)ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที ช่วงเช้าตรู่หรือตอนเย็น จะช่วยลดความตึงเครียดทางร่างกายและอารมณ์ ช่วยให้หลับเร็วตื่นเร็ว แต่ไม่ควรปฏิบัติช่วงใกล้เข้านอน เพราะจะรบกวนการนอนหลับได้
  • 5)ควรใช้เตียงนอนสำหรับนอนตอนกลางคืนและกิจกรรมทางเพศเท่านั้น ไม่ควรนอนเล่นบนเตียงหรือทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ทำงาน ดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือ ใช้เวลาบนเตียงนอนให้น้อยที่สุดในแต่ละคืน
  • 6)จัดห้องนอนให้มืด เงียบ สบาย ปลอดภัย มีอากาศถ่ายเทสะดวก ปรับอุณหภูมิที่พอดี จะช่วยให้นอนหลับได้ดี ไม่ควรมีนาฬิการบอกเวลาในห้องนอนหรือเฝ้าดูนาฬิกาเวลานอน
  • 7)เมื่อเข้านอนนาน 15-30 นาที แล้วยังไม่หลับให้ลุกขึ้นจากที่นอน แล้วทำกิจกรรมซึ่งให้ความเพลิดเพลิน เช่น ฟังเพลงหรืออ่านหนังสือ และกลับมานอนใหม่ เมื่อรู้สึกง่วงนอนเท่านั้น หลีกเลี่ยงการดูทีวี ฟังข่าว เล่นคอมพิวเตอร์ เพราะจะเร้าความรู้สึกตื่นตัวในขณะที่อยากหลับ อย่านอนอยู่บนเตียงโดยไม่หลับจนถึงเช้า เพราะจะกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวล
  • 8)ไม่ควรงีบหลับในตอนกลางวัน เพราะส่งผลให้นอนหลับยาก หรือตื่นบ่อยในเวลากลางคืน ถ้าจำเป็นต้องนอน ไม่ควรนอนนานกว่า 30 นาที
  • 9)หลีกเลี่ยงการใช้สารหรือยากระตุ้นประสารท ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยให้หลับ ไม่ควรดื่มคาเฟอีนเกินวันละ 2 ครั้ง หลีกเลี่ยงการดื่มชาหรือกาแฟหลังเที่ยงวัน อย่าสูบบุหรี่ก่อนนอนหรือกลางดึก
  • 10)ไม่รับประทานอาหารมื้อเย็นมาก หรือดื่มน้ำมากก่อนเข้านอนแต่ไม่ควรปล่อยให้หิวก่อนเวลานอน อาหารมื้อเย็นควรเป็นอาหารมื้อเบา ๆ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทเนื้อหรือโปรตีนมาก ๆ และหากรับประทานอาหารมื้อก่อนนอนด้วย ควรเป็นอาหารเบา ๆ เช่น นม อาหารประเภทมอลต์สกัด หรือน้ำผลไม้

3.ทำพฤติกรรมบำบัดเพื่อขจัดพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ผิดและเรียนรู้ใหม่ แพทย์จะช่วยค้นหาความคิด ความเข้าใจที่ผิดเรื่องการนอนและจัดการแก้ไข ปรับเปลี่ยนให้ถูกต้อง เช่น การยึดติดว่าต้องนอนครบ 8 ชั่วโมงจึงจะดี สร้างความเคยชินว่าห้องนอนกับการนอนหลับแทนความรู้สึกเดิม ๆ ที่เคยชินว่าห้องนอนคือนอนไม่หลับ

4.ฝึกการผ่อนคลายเพื่อลดการตื่นตัว และลดความคิด เช่น การฝึกหายใจ การฝึกคลายกล้ามเนื้อ

การใช้ยานอนหลับ

  • ยานอนหลับไม่ได้รักษาอาการนอนไม่หลับ แต่อาจช่วยให้อาการทุเลาลง การใช้ยาต้องใช้ร่วมกับการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ และจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ ควรใช้ยาขนาดต่ำที่สุด ที่มีประสิทธิภาพเป็นครั้งคราว(ไม่เกิน 2-4 ครั้ง/สัปดาห์)ไม่ควรใช้ยานอนหลับติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้ติดยาได้ แต่หากใช้ยาติดต่อกันมานาน ควรค่อย ๆ หยุดยา เนื่องจากการหยุดยาอย่างกะทันหันจะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับขึ้นอีก
  • ไม่ควรใช้ยานอนหลับในกรณีต่อไปนี้ ระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ที่ติดสารเสพติด โดยเฉพาะสุรา ผู้ที่นอนไม่หลับที่สัมพันธ์กับการหายใจ ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคตับ โรคไต และผู้สูงอายุ
  • การใช้ยานอนหลับควรร่วมกับการปฏิบัติตัวตามสุขอนามัย การนอนหลับที่ดีด้วยเสมอ เพราะในระยะยาวผู้ป่วยจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สามารถนอนหลับได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งยาอย่างเดียว