กระดานสุขภาพ

ตามืด หน้ามืดบ่อยเกิดจากอะไรแล้วอันตรายมั้ยคะ
Anonymous

20 มกราคม 2561 14:37:22 #1

มักจะตามืดเวลาลุกยืนเร็วๆค่ะแต่หลังๆมานี้เวลานั่งทำงานนานๆแล้วลุกยืนตาพร่า ตามืดยืนสักพักถึงจะหาย บางทีนั่งอ่านหนังสือนานๆ หรือดูทีวี หรือไม่ได้ทำอะไรก็มีอาการค่ะ ตามืดขึ้นมาเฉยๆพอสักพักก็หายค่ะ ควรตรวจอะไรดีคะ สายตาสั้นอยู่แล้วค่ะ กินยา sertraline กับ fluvoxamin อยู่ค่ะ หรือไขมันสูงรึเปล่าคะ ความดันปกติค่ะ
อายุ: 28 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 79 กก. ส่วนสูง: 160ซม. ดัชนีมวลกาย : 30.86 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.มณฑากร อภิญญาณกุล

จักษุแพทย์

22 มกราคม 2561 16:08:47 #2

สวัสดีค่ะ

จากอาการที่เล่ามานะคะ อาจจำเป็นต้องตรวจทางร่างกายอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยค่ะ เช่น ดูความดันโลหิตในท่านั่ง ท่านอน ว่ามีความแตกต่างกันมากมั้ยค่ะ เนื่องจากเวลาเราเปลี่ยนท่าทางจากนอนมานั่ง หรือนั่งมายืน อาจมีความดันโลหิตต่ำลงชั่วขณะ ทำให้เลือดมาเลี้ยงที่จอตาลดลง ทำให้ภาพมืดไปได้ แต่พอเราอยู่ในท่านั้นสักพัก ร่างกายก็มีการปรับตัว ทำให้เลือดมาเลี้ยงจอประสาทตาได้ตามปกติ การมองเห็นก็กลับมาปกติค่ะ เรียกว่า orthostatic hypotension หรืออาจตรวจการทำงานของหัวใจ ว่าปกติหรือไม่ ดูเส้นเลือดที่คอ ที่ตาว่าปกติหรือป่าวค่ะ หาสาเหตุของ amaurosis fugax ค่ะ

หรืออาจเป็นอาการของโรคไมเกรนซึ่งสามารถแสดงอาการทางตาได้หลายแบบค่ะ โดยหากมีอาการทางตานำมาก่อนแล้วมีอาการปวดหัวตามมา เรียกว่า migraine with aura หรือ classic migraine ค่ะ โดยไมเกรนนี้เป็นซ้ำได้ค่ะ โดยมีการศึกษาในอเมริกาและยุโรปพบว่า ผู้ชายมีอาการประมาณ 6-8% ใน 1 ปี ผู้หญิงมีประมาณ 15-18% ใน 1ปี ในบางรายก็มีอาการวิงเวียนศรีษะ เมารถ ร่วมด้วยได้ค่ะ โรคนี้สามารถเป็นซ้ำๆ ได้ โดยเฉพาะหากมีปัจจัยกระตุ้น ดังนั้นจึงต้องสังเกตดูค่ะ ว่าเรามีปัจจัยอะไรกระตุ้นทำให้มีอาการ ก็พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นนั้นๆ ก็จะทำให้อาการเป็นซ้ำลดลงค่ะ โดยบางคนมีฮอร์โมนเป็นปัจจัยกระตุ้น ในคนเหล่านี้ก็มักจะมีอาการเวลาเป็นประจำเดือน หรือเวลาตั้งครรภ์ก็มีอาการเป็นบ่อยขึ้น ซึ่งอาการจะดีขึ้นเมื่อหมดประจำเดือนค่ะ บางรายเมื่อหิวก็มีอาการปวดหัวได้ บางรายมีความเครียดหรือนอนไม่พอก็ทำให้เกิดอาการได้ อาหารบางชนิดก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้ เช่น ช็อตโคแลต ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์ เป็นต้น นอกจากอาการปวดศรีษะแล้ว เวลาเป็นไมเกรนยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน กลัวแสง และเสียง โดยเวลาเป็นเมื่อมีแสงสว่างหรือเสียงดัง อาการปวดหัวก็เป็นมากขึ้นได้ค่ะ

โดย migraine with aura นั้นเกิดขึ้นได้ ประมาณ 30% ของไมเกรนทั้งหมด โดยไมเกรนชนิดนี้จะมีอาการแสดงทางระบบประสาทร่วมด้วย ซึ่งมักจะเป็นอาการทางระบบการมองเห็น โดยการมองเห็นที่ผิดปกตินั้นมักเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายนาที ซึ่งภาพที่ผิดปกติมักมีการเคลื่อนไหวร่วมด้วย โดยมักเกิดจากจุดเล็กๆ แล้วขยายกว้างขึ้น บางรายเป็นแบบเห็นแสงระยิบระยับ บางรายเห็นภาพขนาดเล็กและใหญ่ขึ้นกว่าปกติ (Alice in wonderland) บางรายเห็นภาพเหมือนจิ๊กซอร์ บางรายเห็นภาพเป็นสีต่างๆ โดยภาพที่ผิดปกติมักจะเคลื่อนไปทางหางตา แล้วหายไป บางรายมีภาพบางส่วนหายไปเป็นจุดดำๆมืดไปก็มี โดยอาการนั้นมักเป็นน้อยกว่า 60 นาที แล้วตามด้วยอาการปวดหัวซึ่งมักเป็นอีกข้างหนึ่งของอาการภาพที่ผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาไมเกรนบางรายอาจเป็นนาน 4-72 ชั่วโมงได้ค่ะ
ยังมีไมเกรนอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า basilar type migraine ซึ่งเชื่อว่ามีสาเหตุจากการขาดเลี้ยงชั่วคราวในระบบเส้นเลือดแดง basilar ซึ่งในรายที่เป็นไมเกรนชนิดดังกล่าว จะมีอาการสูญเสียการมองเห็นทั้งสองตาได้ เห็นภาพซ้อน วิงเวียนศรีษะบ้านหมุน พูดไม่ชัด เดินเซ หรือบางรายหมดสติได้
ในภาวะไมเกรนนั้นส่วนมากมักไม่มีความผิดปกติที่ระบบประสาท และในบางรายอาจเป็นอาการแสดงของเนื้องอกบางชนิด หรือความผิดปกติของเส้นเลือดได้ โดยคนที่สงสัยว่าอาจมีความผิดปกตินี้ มักมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ซึ่งจำเป็นต้องทำการตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง เป็นต้น

  • 1. มีอาการปวดห้วหรืออาการมองเห็นภาพที่ผิดปกติเกิดขึ้นที่ข้างเดิมเสมอ
  • 2.ปวดหัวนำมาก่อนอาการเห็นภาพผิดปกติ
  • 3.มีอาการระบบประสาทผิดปกติไม่หาย เมื่ออาการของไมเกรนหายไปแล้ว ที่สำคัญ คือ ยังมีลานสายตาผิดปกติหลังจากอาการของไมเกรนหายไปแล้ว ดังนั้นจึงควรมีการตรวจลานสายตาร่วมด้วยเสมอ ทั้งขณะที่เป็นไมเกรน และหลังจากที่หายเป็นแล้ว เพื่อดูว่ายังมีความผิดปกติของลานสายตาเหลืออยู่หรือเปล่า ซึ่งโดยปกติเมื่อหายจากไมเกรนแล้วความมีลานสายตากลับมาเป็นปกติ หากมีความผิดปกติของลานสายตาเหลืออยู่ อาจเป็นอาการแสดงของความผิดปกติของระบบประสาทอื่นๆ ร่วมด้วย
  • 4.มีการมองเห็นภาพผิดปกติมากกว่า 1 อย่าง ใน 1 วัน ภาพที่ผิดปกตินั้นไม่มีการขยายกว้างมากขึ้น หรือภาพที่ผิดปกตินั้นเป็นเหมือนเดิมตลอด ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ระยะเวลาที่มีภาพผิดปกติน้อยกว่า 5 นาที หรือ มากกว่า 60 นาที เป็นต้น

ดังนั้นการหาสาเหตุและให้การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องตรงตามสาเหตุ จำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมโดยแพทย์หลายสาขา เช่น อายุรแพทย์ จักษุแพทย์ โดยในส่วนของตานั้น อาจทำการตรวจจอประสาทตา ลานสายตาเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พญ.มณฑากร อภิญญาณกุล

จักษุแพทย์

Anonymous

24 มกราคม 2561 04:55:16 #3

รบกวนสอบถามคุณหมออีกครั้งค่ะ เมื่อวานตอนเจอแสงจ้าก็มีอาการค่ะ แล้วมันจะมีอาการมากเวลาแสงจ้าจะรู้สึกเหมือนมีอะไรบังตาทำให้การมองเห็นลดลง เหมือนตาพร่าๆน่ะค่ะ อธิบายไม่ค่อยถูก เหมือนแสงจ้ามากเกินไปจนมองไม่เห็นต้องรอให้ความจ้าจางลงก่อน มันระยิบระยับทั้งมืดทั้งจ้า ขอโทษด้วยค่ะไม่รู้จะอธิบายยังไง เป็นมาประมาณเดือนกว่าๆได้ค่ะ

ไม่มีอาการปวดหัวเลยค่ะ แต่นอนกลางคืนตื่นมาจะแสบตา ตาแห้งค่ะ มาดีขึ้นหลังจากตื่นนอนแล้วพักใหญ่ๆเลย ส่วนความดันไม่แน่ใจค่ะ แบบนี้ควรไปพบหมอทั่วไปหรือหมอตาก่อนดีคะ เกี่ยวกับสายตาเอียงหรือสายตาสั้นมั้ยคะ

พญ.มณฑากร อภิญญาณกุล

จักษุแพทย์

4 กุมภาพันธ์ 2561 19:54:48 #4

สวัสดีค่ะ

1. จากอาการดังกล่าวไม่เกี่ยวกับสายตาสั้นหรือสายตาเอียงค่ะ เนื่องจากสายตาสั้นหรือสายตาเอียงจะทำให้การมองเห็นไม่ชัด โดยจะเป็นตลอดเวลาค่ะ ไม่ได้เป็นๆ หายๆค่ะ โดยสายตาที่ผิดปกติมีหลายอย่าง ดังนี้

ความผิดปกติของสายตามีหลายชนิดค่ะ เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียงค่ะ โดยสายตาปกติ หมายถึง เมื่อแสงเดินทางเข้าสู่ลูกตาแล้วจะมีการรวมแสงที่ตำแหน่งจอประสาทตาพอดี ทำให้มีการเห็นภาพชัดค่ะ ส่วนสายตาสั้น คือการที่แสงเดินทางเข้าสู่ลูกตาแล้วเกิดการรวมแสงหน้าต่อจอประสาทตา ทำให้การเห็นภาพไม่ชัดเจนค่ะ และสายตายาว หมายถึง การที่แสงเดินทางเข้าสู่ลูกตาแล้วเกิดการรวมแสงหลังต่อจอประสาทตาทำให้การมองเห็นภาพไม่ชัดเช่นกัน ส่วนสายตาเอียงค่อนข้างซับซ้อนค่ะ คือไม่มีการรวมแสงเป็นจุดเดียว และขึ้นกับแกนองศาที่ทำให้เกิดสายตาเอียงด้วยค่ะ โดยความผิดปกติที่ทำให้เกิดสายตาสั้นนั้นแบ่งเป็น ความผิดปกติของลูกตาที่มีความยาวมากกว่าปกติ ทำให้กระจกตาและเลนส์ตาไม่สามารถหักเหแสงให้แสงเกิดการรวมแสงที่จอประสาทตาได้ ทำให้เกิดการรวมแสงที่หน้าต่อจอประสาทตา หรือเกิดจากความผิดปกติของกระจกตาหรือเลนส์ตาที่มีความโค้งมากผิดปกติ ทำให้เกิดการหักเหแสง และมีการรวมแสงหน้าต่อจอประสาทตา หรือเกิดความผิดปกติในหลายส่วนร่วมกันก็ได้ โดยการแก้ไขปัญหาสายตานั้นทำได้หลายวิธี คือ การใส่แว่นตาที่เป็นเลนส์เว้า เพื่อให้เกิดการกระจายแสงทำให้แสงที่รวมกันหน้าต่อจอประสาทตานั้น เกิดการรวมกันที่จอประสาทตาพอดี ก็จะทำให้การมองเห็นชัดมากขึ้น หรือการใส่คอนแทกเลนส์ที่เป็นเลนส์เว้าก็ได้เช่นกัน หรือการผ่าตัดแก้ไขสายตา ซึ่งมีหลายวิธีเช่นกันค่ะ โดยหลักการคือการทำให้กระจกตามีความโค้งลดลงเพื่อให้แสงมีการรวมกันที่จอประสาทตาพอดี ส่วนการแก้ไขสายตาโดยการใส่เลนส์ตาเทียมนั้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าสายตาสั้นมาก ๆ ค่ะ ซึ่งความหนาของกระจกตาไม่เพียงพอสำหรับการแก้ไขสายตาโดยการปรับความโค้งของกระจกตาค่ะ

2.อาการแสบตา ตาแห้ง ก็สามารถมีสิ่งกระตุ้นจากการมองแสงจ้าๆ ได้ค่ะ ทำให้หลังมองแสงจ้าๆ มีอาการตามัว เนื่องจากน้ำตาระเหยเร็วขึ้นค่ะ หรืออาจเกิดจากการปรับตัวของจอประสาทตาหลังจากการมองแสงจ้าๆ ทำให้หลังจากการมองแสงจ้าๆ แล้วตามองไม่ชัดค่ะ เมื่อมีการปรับตัวของจอประสาทตาแล้วก็จะมองเห็นชัดเจนขึ้น โดยจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมโดยจักษุแพทย์ค่ะ เพื่อหาสาเหตุอีกครั้งนะคะ

โดยอาการตาแห้งนั้นสามารถมีอาการเคืองตา รู้สึกตาแห้ง ตามัวเป็นบางครั้ง เมื่อมีการกระพริบตาหรือหลับตาสักครู่ อาการตามัวก็มักจะดีขึ้น มีอาการไวต่อแสง ทำให้แสบตาเวลาโดนแสงจ้าๆได้ค่ะ

โดยอาการตาแห้งนั้นแบ่งเป็นชนิดใหญ่ๆ ได้ 2 ชนิดค่ะ แต่สามารถเป็นร่วมกันทั้งสองชนิดได้นะคะ คือ เกิดจากการสร้างน้ำตาไม่เพียงพอ หรือเกิดจากการระเหยของน้ำตาเร็วกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการมีต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตาอุดตัน (Meibomian gland obstruction) ค่ะ โดยมักมีอาการเป็นมากช่วงเช้า อาการมีตั้งแต่แสบร้อนที่ตา รู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในตา มีอาการแดงที่เปลือกตาหรือเยื่อบุตา มีอาการตามัวหรือเคืองตา มักเกิดจากการระเหยของน้ำตาเร็วกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการมีต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตาอุดตัน (Meibomian gland obstruction) ได้ค่ะ ซึ่งโดยปกติน้ำตาของเราจะแบ่งเป็นชั้นของเยื่อเมือกซึ่งทำหน้าที่ทำให้น้ำตามีการกระจายตัวได้ทั่วทั้งตา โดยน้ำตาในชั้นนี้เป็นส่วนประกอบของน้ำตาในชั้นที่อยู่ในสุด ต่อมาเป็นส่วนของน้ำตาซึ่งมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากสุดของน้ำตานั้นเอง และส่วนที่อยู่นอกสุดนั้นเป็นน้ำตาที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบ ซึ่งผลิตโดยต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตาที่เรียกว่าMeibomian gland ดังนั้นหากต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน (Meibomian gland obstruction) ก็จะทำให้ชั้นของน้ำตาในชั้นนี้บกพร่อง ทำให้น้ำตามีการระเหยเร็ว ทำให้เกิดอาการตาแห้งขึ้น หากต้องการการตรวจเพื่อยืนยันภาวะนี้ สามารถทำได้โดยการตรวจค่าการระเหยของน้ำตา (tear break up time) และการตรวจลักษณะของต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตา (Meibomian gland) โดยการตรวจลักษณะของต่อมไขมันว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ตรวจสารคัดหลั่งของต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตา (Meibomian gland)ว่ามีลักษณะอย่างไร รวมทั้งการตรวจลักษณะของน้ำตา หากพบน้ำตามีลักษณะเป็นฟอง โดยเฉพาะบริเวณเปลือกตาล่าง ก็อาจบ่งบอกถึงภาวะตาแห้งที่เกิดจากการระเหยของน้ำตาเร็วกว่าปกติได้ โดยการตรวจเพื่อยืนยันภาวะนี้นั้นจำเป็นต้องทำโดยจักษุแพทย์ค่ะ รวมไปถึงหากผู้ป่วยมีภาวะตาแห้งมากๆ ก็อาจทำให้เกิดแผลที่กระจกได้ รวมถึงมีการติดเชื้อที่กระจกตาได้ง่ายกว่าคนปกติค่ะ
ในเรื่องการรักษานั้น จำเป็นต้องดูตามความรุนแรงของโรคว่าอยู่ในขั้นไหนค่ะ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการทำงานโดยจอคอมพิวเตอร์นั้นกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น เนื่องจากขณะที่เราจ้องจอคอมพิวเตอร์จะทำให้เรามีการกระพริบตาลดลง ทำให้น้ำตามีการระเหยมากขึ้น ดังนั้นจึงควรมีการพักสายตาเป็นระยะๆ ขณะทำงานคอมพิวเตอร์ โดยเมื่อทำงานคอมพิวเตอร์ผ่านไป 20 นาที แล้วควรหลับตาสักครู่ หรือกระพริบตา ก็จะช่วยได้ค่ะ รวมทั้งการปรับความสว่างของจอไม่ให้มีความสว่างมากเกินไปก็จะช่วยได้เช่นกันค่ะ

การแก้ไขภาวะต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตาอุดตัน (Meibomian gland obstruction)ที่ทำให้เกิดอาการตาแห้ง

  • 1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีลม ซึ่งจะทำให้น้ำตามีการระเหยที่เร็วมากขึ้น เช่น ในห้องแอร์บริเวณที่แอร์เป่าอยู่ หรือพัดลมก็ได้ค่ะ หากอยู่ที่แจ้งและมีลมมาก การใส่แว่นกันแดด และหมวกก็จะช่วยได้ค่ะ
  • 2.การประคบอุ่นและนวดเปลือกตา ทำได้โดยการใช้เจล หรือไข่ต้ม ที่มีความอุ่นประมาณวางไว้หลังมือแล้วทนได้ ประคบเปลือกตาในขณะหลับตา ประมาณ 4 นาที จากนั้นนวดตาโดยเปลือกตาบนให้นวดจากบนลงล่าง เปลือกตาล่างให้นวดจากล่างขึ้นบนค่ะ อาจนวดจากบนลงล่างประมาณ 10 ครั้งในเปลือกตาบน และจากล่างขึ้นบน 10ครั้งในเปลือกตาล่าง ระวังให้นวดที่เปลือกตานะคะ ไม่ให้โดนในตาค่ะ จากนั้นเช็ดตา อาจใช้ผลิตภัณฑ์เช็ดตาสำเร็จรูป นำสำลีหรือไม้พันสำลีชุบผลิตภัณฑ์เช็ดตาสำเร็จรูป เช็ดเปลือกตาจากหัวตาไปหางตาค่ะ เน้นที่ต่ำแหน่งของต่อมไขมันที่เปลือกตาซึ่งจะอยู่ถัดจากขนตาเข้ามาข้างในเล็กน้อย หากทำได้ลำบากอาจเน้นบริเวณขนตาแทนก็ได้ค่ะ ถ้าเช็ดแล้วรู้สึกเจ็บ แสดงว่าเราเช็ดในต่ำแหน่งลึกเกินไป อาจไปโดนเยื่อบุตาข้างใน ซึ่งเป็นอันตรายได้ค่ะ ทำวันละ 1-2 ครั้งค่ะ
  • 3.หากมีอาการมากอาจช่วยได้โดยการใช้น้ำตาเทียมหยอดตาค่ะ
  • 4.ในรายที่เป็นมากอาจทำได้โดยการใช้ยากินร่วมด้วย ซึ่งควรให้จักษุแพทย์ตรวจก่อนค่ะ
  • 5.อาหารเสริมจำพวก โอเมกา 3 ก็อาจช่วยได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยถึงประสิทธิภาพที่ชัดเจน และควรระวังผลข้างเคียงหากมีการรับประทานมากเกินไปด้วยค่ะ
  • ภาวะอื่นๆที่สามารถทำให้เกิดจากเคืองตาในตอนเช้าได้ เช่น หากมีขี้ตาร่วมด้วย อาจคิดถึงการติดเชื้อที่ตาได้ค่ะ หรืออาการเคืองตาจากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ขนตาทิ่มตา ภูมิแพ้ที่ตา เยื่อบุตาอักเสบ ตาขาวอักเสบ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องตรวจเพื่อหาสาเหตุอีกครั้งโดยจักษุแพทย์ค่ะ

อย่างไรก็ตามควรตรวจเพิ่มเติมทั้งจากจักษุแพทย์ แพทย์ทั่วไป หรืออายุรแพทย์ต่อไปค่ะ