กระดานสุขภาพ

ถามปัญหาเรื่องตาครัย
Anonymous

21 พฤศจิกายน 2560 13:54:59 #1

คือผมกลัวเป็นต้อหินมากคับ เพราะความดันตาผมอยู่ที่20+-2 คับหมอ แต่ไปวัดลานสายตาก้ยังปกติอยู่คับหมอก็นัดอีกที6เดือน แต่ผมก็อดกังวลไม่ได้คับเรื่องความดันตา แล้วผมก้เป็นวุ้นในตาเสื่อมด้วยคับคือหยากใย่เต็มไปหมดโดยเฉพาะเวลาอยู่ในที่สว่าง แถมยังมีอาการตาแห้งอีกคับ ผมเป็นโรคsepdemด้วยอะคับคือจะมีความผิดปกติกับต่อมใขมันไม่รู้ว่าเกี่ยวกับอาการตาแห้งใหมแต่ผมก้ประคบน้ำอุ้นเป็นประจำก็ดีขึ้นคับ ปัญหาตาของผมหลายเรื่องเหลือเกินคับหมอตาผมจัเป็นอะไรมั้ยคับ
อายุ: 17 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 65 กก. ส่วนสูง: 170ซม. ดัชนีมวลกาย : 22.49 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.มณฑากร อภิญญาณกุล

จักษุแพทย์

26 พฤศจิกายน 2560 14:53:35 #2

สวัสดีค่ะ

หมอขอตอบคำถามเป็น 3 เรื่องนะคะ

1.เรื่องความดันลูกตาสูง โดยปกติแล้ว ค่าความดันลูกตาที่ปกตินั้น ได้จากการเก็บข้อมูลของประชากรทั่วไปชาวตะวันตก โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 15.5 mmHg และมีค่า SD ที่ 2.6 mmHg และเมื่อนำมาเขียนในรูปแบบของกราฟจะได้กราฟที่มีรูประฆังคว่ำที่มีการกระจายไม่เท่ากัน (non-Gaussian distribution) โดยกราฟจะเอียงไปทางค่ามาก โดยเฉพาะในประชากรที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ค่า 21 mmHg ที่โดยทั่วไปใช้แยกค่าความดันลูกตาปกติ กับค่าความดันลูกตาสูงนั้น ได้มาจากค่าเฉลี่ยของความดันลูกตา บวก 2 SD ซึ่งค่าดังกล่าวยังมีความผิดพลาดได้ เนื่องจากยังพบว่ามีคนที่มีความดันลูกตาสูง ที่ไม่มีการทำลายเส้นประสาทตาที่เรียกว่า โรคต้อหิน เรียกคนเหล่านี้ว่า คนที่มีความดันลูกตาสูง แต่ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นต้อหิน (ocular hypertension) เพราะไม่มีการทำลายของเส้นประสาทตา ซึ่งอาจตรวจการทำลายของเส้นประสาทตาได้จากการตรวจลานสายตา การตรวจขั้วประสาทตา การถ่ายภาพดูชั้นของเส้นประสาทตาว่ามีการทำลายเส้นประสาทตาหรือไม่ (nerve fiber layer defect) และยังพบคนที่มีความดันลูกตาในช่วงค่าปกติ แต่มีการทำลายเส้นประสาทตาแล้ว เรียกว่า คนที่มีโรคต้อหินที่มีค่าความดันลูกตาปกติ (normal tension glaucoma) ดังนั้นค่าความดันลูกตาเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเกิดต้อหินได้ แต่ไม่ได้ใช้ค่าความดันลูกตาเป็นการวินิจฉัยว่าเป็นโรคต้อหิน หรือไม่ เนื่องจากการวินิจฉัยโรคต้อหินนั้น จำเป็นต้องมีการทำลายเส้นประสาทตาร่วมด้วย ดังนั้นในข้อมูลที่ให้มา (ความดันลูกตา 20+- 2) อาจกล่าวได้ว่าเป็นค่าความดันลูกตาอยู่ในช่วง upper limit ของค่าความดันลูกตาปกติ แต่เมื่อตรวจ ลานสายตาแล้วปกติ ก็ยังไม่มีหลักฐานของการทำลายเส้นประสาทตา แต่อาจทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาการทำลายเส้นประสาทตาอื่นๆ เช่น การตรวจขั้วประสาทตา การถ่ายภาพดูชั้นของเส้นประสาทตาว่ามีการทำลายของเส้นประสาทตาหรือไม่ (nerve fiber layer defect) เป็นต้น ดังนั้นการตรวจติดตามเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพื่อการตรวจหาการทำลายเส้นประสาทตาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อสามารถให้การรักษาได้ดังแต่ระยะเริ่มต้นหากพบว่ามีการทำลายของเส้นประสาทตาค่ะ

ปัจจัยที่อาจมีผลทำให้ความดันลูกตาสูง เช่น การเบ่ง การกลั้นหายใจ การใส่เสื้อหรือการผูกเนคไทที่รัดคอ การนอนหงาย การบีบตา เป็นไข้ เป็นโรคไทรอยด์ที่ตา (thyroid eye disease) ยาบางชนิด เช่น lysergic acid diethylamide (LSD), topiramate, steroid, ketamine, anticholinergics เป็นต้น
ปัจจัยที่อาจมีผลลดความดันลูกตา เช่น การออกกำลังการชนิดแอโรบิก เป็นต้น

 

2. เรื่องน้ำวุ้นตาเสื่อม ภาวะวุ้นในตาเสื่อม มักมีอาการเห็นจุดดำๆ ลอยไปมา บางครั้งอาจเห็นแสงแวบๆ ในลูกตาโดยที่จริงๆ ไม่มีแสงนั้นได้ค่ะ น้ำวุ้นตาปกตินั้นมีลักษณะใส ประกอบด้วยคอลลาเจน และสารไฮยาลูโรแนน ซึ่งโดยปกติ น้ำวุ้นตานี้จะยึดติดแน่นกับส่วนหลังของเลนส์ตา เส้นประสาทตา ฐานของจอประสาทตา เส้นเลือดของจอประสาทตาค่ะ โดยน้ำวุ้นตาจะเสื่อมได้ตามอายุที่มากขึ้น แต่หากมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ได้รับอุบัติเหตุทางตามาก่อน มีการอักเสบภายในลูกตามาก่อน หรือ ในคนที่ภาวะสายตาสั้นมาก เป็นต้น ก็สามารถทำให้มีภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อมเร็วขึ้นได้ค่ะ โดยปกติภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่มีอันตราย มีเพียงอาการบางครั้งทำให้รำคาญได้ แต่มีส่วนน้อย ที่มีการเสื่อมของน้ำวุ้นตาผิดปกติ มีการดึงรั้งจอประสาทตาร่วมด้วย ทำให้มีภาวะจอประสาทตาเป็นรู และมีจอประสาทตาหลุดลอกตามมาได้ ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการ เช่น หากมีจุดดำๆ ลอยไปมามากขึ้น มีแสงแวบๆ ในลูกตา หรือมีอาการตามัวลง โดยอาจทดสอบโดยการลองใช้มือปิดตาทีละข้าง แล้วดูทีละตาว่าเห็นภาพชัดเท่าเดิมหรือไม่ มีภาพบางส่วนไม่ชัด มืดไปหรือเปล่า ถ้าหากมีอาการผิดปกติก็ควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจมีภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อมผิดปกติ มีจอประสาทตาเป็นรู หรือมีจอประสาทตาหลุดลอกได้ค่ะ

 

3.seborrheic dermatitis หากเป็นที่เปลือกตาร่วมด้วย เป็น seborrheic blepharitis อาจมีผลต่อภาวะตาแห้ง คือ ทำให้มีการอุดตันของต่อมไขมันที่เปลือกตา ทำให้ไขมันที่ผลิตมาไม่สามารถเคลือบน้ำตาในชั้นบนสุด ทำให้น้ำตาระเหยเร็วมากขึ้น ทำให้ตาแห้งได้ เรียกว่า meibomian gland disease (MGD) ซึ่งพบในคนที่เป็น seborrheic blepharitis ประมาณ 1/3 แต่ในบางคน อาจมีการสร้างไขมันจากต่อมไขมันที่เปลือกตาเพิ่มขึ้น ทำให้มีลักษณะขุ่นๆ ได้ อาการและอาการแสดง ประกอบด้วย เปลือกตาแดงเรื้อรัง รู้สึกแสบตา หรือรู้สึกเหมือนมีอะไรเข้าตา ประมาณ 15% ของผู้ป่วย อาจเกี่ยวข้องกับเยื่อบุตาอักเสบ หรือ กระจกตาอักเสบได้

การดูแลรักษาภาวะต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน meibomian gland disease (MGD) แบ่งตามความรุนแรงของโรคค่ะ แต่โดยทั่วไปให้เริ่มจากการหลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แห้ง หลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่มีผลทำให้ตาแห้งเพิ่มขึ้น เช่น anti-histamine, พักสายตาประมาณ20-30 นาทีหลังการใช้สายตาดูจอคอมพิวเตอร์ หรือ แทบเล็ต มือถือ เนื่องจากการดูอุปกรณ์ดังกล่าวทำให้การกระพริบตาน้อยลง ทำให้น้ำตาระเหยมากขึ้น โดยอาจหลับตาสักพัก การมองไปไกลๆ หรือเดินไปทำอย่างอื่น เป็นต้น ร่วมกับการทำความสะอาดเปลือกตา lid hygiene เช่น การประคบอุ่นที่เปลือกตาประมาณ 3-5 นาที อาจใช้เจลแช่น้ำอุ่นแล้วนำมาประคบตา เพื่อให้ความร้อนคงอยู่นานกว่าการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบตา โดยทดสอบเจลไม่ให้ร้อนเกินไป เช่นการทดลองวางเจลบนหลังมือก่อนการประคบตาค่ะ จากนั้นนวดเปลือกตาจากบนลงล่างที่เปลือกตาบนประมาณ 10 ครั้ง จากล่างขึ้นบน ที่เปลือกตาล่างประมาณ 10 ครั้ง ระวังอย่าให้โดนตาค่ะ หลังจากนั้นเช็ดเปลือกตาบริเวณ meibomian gland หรือพยายามเช็ดเปลือกตาโดยเน้นที่ขนตาค่ะ อย่าให้เข้าตานะคะ ให้เช็ดด้วยน้ำอุ่น1แก้ว ใส่แชมพูเด็กประมาณ 1 หยด หรือใช้น้ำยาเช็ดเปลือกตาที่วางขายในท้องตลาดก็ได้ค่ะ ทำวันละ 1-2 ครั้ง ค่ะ, การปรับเปลี่ยนอาหาร เช่นการกินอาการที่มี omega-3 ก็สามารถช่วยลดอาการตาแห้งจาก meibomian gland disease (MGD)ได้ค่ะ

หากยังมีอาการตาแห้งอยู่ อาจใช้น้ำตาเทียมหยอดตาร่วมด้วย หรือใช้น้ำตาเทียมร่วมกับการกินยากลุ่ม tetracycline derivative เช่น doxycyclin เป็นต้น และหากตามีการอักเสบร่วมด้วย ก็อาจใข้ยาต้านการอักเสบร่วมด้วยได้ค่ะ
และในบางรายที่เป็น seborrheic dermatitis อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่เปลือกตาเป็น staphylococcal blepharitis ได้ค่ะ การลดการติดเชื้อทำได้โดยการทำความเปลือกตา ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว หากมีการติดเชื้อร่วมด้วยก็อาจใช้ยาฆ่าเชื้อหยอดตาร่วมด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พญ.มณฑากร อภิญญาณกุล

จักษุแพทย์