กระดานสุขภาพ

ชอบทานรสเค็มมาก
Anonymous

4 พฤศจิกายน 2560 07:29:15 #1

อยากจะปรึกษาคุณหมอ ว่าการที่ทานรสเค็มจัดมากๆ มีผลที่จะทำให้เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ไหม ตอนนี้ดิฉันปัสสาวะบ่อยมาก อั้นปัสสาวะไม่ได้เลย เคยเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบเเล้วค่ะ เเต่ก็ยังชอบอั้นฉี่อยู่ เลยอยากทราบว่า การที่ชอบทานอาหารรสเค็มจัด มีผลที่จะทำให้เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบด้วยหรือไม่ค่ะ
อายุ: 19 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 54 กก. ส่วนสูง: 167ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.36 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

5 พฤศจิกายน 2560 08:09:48 #2

การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection) หรือเรียกย่อว่า ยูทีไอ (UTI) คือ โรคหรือภาวะที่เกิดจากอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ทั้งนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากเชื้อโรคทุกชนิด เช่น เชื้อรา และเชื้อไวรัส แต่พบได้น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการติดเขื้อจากแบคทีเรีย ดัง นั้นในบทนี้จึงจะกล่าวถึงเฉพาะการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น

ระบบทางเดินปัสสาวะ คือระบบที่มีหน้าที่ในการกรองน้ำปัสสาวะจากเลือด และกำจัดออกจากร่างกายทางน้ำปัสสาวะ ประกอบด้วย

  • ไต (ซ้าย และขวา)
  • ท่อไต (ซ้ายและขวา)
  • กระเพาะปัสสาวะ (มีอวัยวะเดียว)
  • และท่อปัสสาวะ (มีอวัยวะเดียว)

โดย

  • ไตมีหน้าที่กรองปัสสาวะ
  • ท่อปัสสาวะมีหน้าที่นำส่งปัสสาวะที่กรองจากไตเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ
  • กระเพาะปัสสาวะมีหน้าที่เก็บกักปัสสาวะจนปริมาณมากพอ ประสาทที่ผนังกระเพาะปัสสาวะจะกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ (ปวดปัสสาวะ) เพื่อขับถ่ายปัสสาวะโดยผ่านทางท่อปัสสาวะ

บางคนแบ่งระบบทางเดินปัสสาวะเป็น 2 ส่วน คือ

ระบบทางเดินปัสสาวะตอนบน (Upper urinary tract) ซึ่งประกอบด้วยไต กรวยไต (ไตส่วนที่มีลักษณะเป็นโพรง มีหน้าที่เก็บกักปัสสาวะก่อนปล่อยลงสู่ท่อไต) และท่อไต
และระบบทางเดินปัสสาวะตอนล่าง (Lower urinary tract) ซึ่งประกอบด้วย กระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ

การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นโรค/ภาวะที่พบได้บ่อยมาก พบเกิดได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็ก (พบได้ประมาณ 10% ของโรค/ภาวะนี้) ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยทั่วไปมักพบในช่วงอายุ 16-35 ปี เป็นโรคพบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชายประมาณ 4 เท่า โดยประมาณ 60%ของผู้ หญิงต้องเคยเกิดโรค/ภาวะนี้อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต เป็นโรค/ภาวะที่เกิดซ้ำได้บ่อย โดยพบว่า ประมาณ 50% เมื่อเกิดโรคแล้ว จะเกิดโรคซ้ำภายใน 1 ปี

การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะมักเกิดกับระบบทางเดินปัสสาวะตอนล่างซึ่งเรียกว่า การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะตอนล่าง (Lower Urinary tract infection หรือ Lower UTI) คือ โรค/ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) และโรค/ภาวะท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethri tis) มากกว่าประมาณ 20-30 เท่าของการเกิดกับระบบทางเดินปัสสาวะตอนบนซึ่งเรียกว่า การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะตอนบน (Upper Urinary tract infection หรือ Upper UTI) ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อของกรวยไต (โรคกรวยไตอักเสบ)

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ คือ

ผู้หญิง เนื่องจาก

ท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าของผู้ชายมาก เชื้อโรคบริเวณปากท่อปัสสาวะ จึงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า
ปากท่อปัสสาวะของผู้หญิงเปิดออกสู่ภายนอกในบริเวณใกล้กับช่องคลอด และทวารหนัก จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ทั้งจากช่องคลอด และจากทวารหนัก

ผู้หญิงช่วงมีประจำเดือน บริเวณปากช่องคลอดและปากท่อปัสสาวะจะปน เปื้อนเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศจะส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศรวมทั้งปากท่อปัสสาวะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศในช่วงตั้งครรภ์ และช่วงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายในบริเวณปากช่องคลอดและปากท่อปัสสาวะจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าว แบคทีเรียประจำถิ่น (Normal flora) ที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้น

ภาวะตั้งครรภ์ ซึ่งตัวครรภ์จะก่อการกดเบียดทับอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะกระเพาะปัสสาวะ จึงก่อให้เกิดทางเดินปัสสาวะอุดกั้นได้ง่าย ปัสสาวะจึงแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ เชื้อโรคจึงเจริญได้ดี จึงเพิ่มเชื้อโรคในปัสสาวะ ก่อให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่ายขึ้น

อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ทั้งหญิงและชาย หรือมีเพศสัมพันธ์บ่อย จึงมีโอกาสติดโรคติด ต่อทางเพศสัมพันธ์ได้สูงกว่า โดยเฉพาะเมื่อมีคู่นอนหลายคน หรือในช่วงเมื่อมีการเปลี่ยนคู่นอน หรือเนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศซึ่งรวมถึงท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะเกิดการบาดเจ็บจากเพศสัมพันธ์ จึงส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่าย

ผู้หญิงที่คุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฆ่าอสุจิ เพราะยาจะก่อการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อของช่องคลอดและปากท่อปัสสาวะ จึงเกิดช่องคลอดอักเสบ และทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ง่าย

ผู้หญิงที่ใช้การคุมกำเนิดด้วยการใส่ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm) จะติดเชื้อในช่องคลอดและในทางเดินปัสสาวะได้ง่าย จากความไม่สะอาดของมือ (จากการล้วงเข้าไปในช่องคลอด) และของแผ่นครอบไม่เพียงพอ
ใช้เจลหล่อลื่น และ/หรือถุงยางอนามัยที่ไม่สะอาด

มีทางเดินปัสสาวะอุดกั้น เช่น นิ่วในไต นิ่วในท่อไต และ/หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เพราะส่งผลให้น้ำปัสสาวะแช่ค้างในทางเดินปัสสาวะ แบคทีเรียจึงเจริญ เติบโตได้ดีในน้ำปัสสาวะ จึงก่อการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้ง่าย
โรคต่อมลูกหมากโต (ในผู้ชาย) เพราะก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ

โรคต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ จึงส่งผลให้ลุกลามเกิดการติดเชื้อของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ เพราะต่อมลูกหมากจะสัมผัสอยู่กับท่อปัสสาวะ

การนั่งนานๆ เช่น เมื่อรถติดมาก การกลั้นปัสสาวะนานๆ เพราะส่งผลให้เกิดการแช่คั่งของปัสสาวะ เชื้อโรคในปัสสาวะจึงเจริญได้ดี

มีโรคที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ร่างกายจึงติดเชื้อได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน
โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เพราะจะมีปัญหาในการถ่ายปัสสาวะ มักเกิดการแช่ค้างของปัสสาวะ แบคทีเรียในปัสสาวะจึงเจริญเติบโตได้ดี

โรค/ภาวะที่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือ ปัสสาวะแต่ละครั้งไม่หมด จึงมีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะเสมอ แบคทีเรียในปัสสาวะจึงเจริญเติบโตได้ดี เช่น ในผู้สูง อายุ ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หลายครรภ์ และในผู้หญิงที่มีโรคกระบังลมหย่อน หรือในโรคต่อมลูกหมากโต (ในผู้ชาย)

การใช้สายสวนปัสสาวะ เพราะท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะจะบาดเจ็บจากสายสวน รวมทั้งการติดเชื้อจากตัวสายสวนเอง เช่น ในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต และผู้ป่วยผ่าตัดใหญ่ที่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะ
มีความผิดปกติแต่กำเนิดของทางเดินปัสสาวะ ที่เป็นสาเหตุให้มีการกักคั่งของน้ำปัสสาวะ (พบได้น้อย)

อาการจากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะที่พบได้บ่อย คือ

  • ปัสสาวะบ่อย ครั้งละน้อยๆ ปวดแสบเวลาปัสสาวะ โดยเฉพาะเมื่อสิ้นสุดปัสสาวะ และมักตื่นปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ
  • อาจกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นแรง หรือเหม็น ผิดปกติ
  • อาจมีปัสสาวะเป็นเลือด
  • ปวดท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน

อาการจากติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอื่นๆที่อาจพบได้ คือ

  • อาจมีไข้ต่ำๆ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ทั่วตัว
  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เจ็บบริเวณอวัยวะเพศ และ/หรืออุ้งเชิงกรานเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • มีหนอง หรือ สารคัดหลั่งบริเวณอวัยวะเพศ ปากช่องคลอด และ/หรือปากท่อปัสสาวะ

อาการจากติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะตอนบนที่นอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว คือ

  • มีไข้ มักเป็นไข้สูง หนาวสั่น
  • ปวดเอวทั้งสองข้าง

แพทย์วินิจฉัยการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆ ประวัติเพศสัมพันธ์ การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะดูเม็ดเลือดขาว และเม็ดเลือดแดง อาจตรวจภายในในผู้ป่วยหญิง การตรวจทางทวารหนักในผู้ชายเพื่อตรวจคลำต่อมลูกหมาก และอาจมีการตรวจอื่นๆทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น ตรวจย้อมเชื้อ และ/หรือเพาะเชื้อ จากปัสสาวะร่วมกับตรวจหาชนิดของยาปฏิชีวนะที่จะใช้ฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น การเอกซเรย์ช่องท้องและอุ้งเชิงกราน และ/หรือการส่องกล้องตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

แนวทางการรักษาการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ คือ การใช้ยาปฏิชีวนะ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

การใช้ยาปฏิชีวนะ โดยชนิด ขนาดยา (Dose) และระยะเวลาที่ใช้ยา ขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการ เชื้อที่เป็นสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง การเป็นการเกิดโรคครั้งแรกหรือเป็นโรค/ภาวะย้อน กลับเป็นซ้ำ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และในผู้ป่วยที่เกิดโรคบ่อย อาจมีการให้ยาปฏิชีว นะ เพื่อการป้องกันการเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

การรักษาสาเหตุ เช่น การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อโรคเกิดจากโรคติดต่อทางเพสสัมพันธ์ หรือการรักษาโรคนิ่วในไต หรือโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อโรคเกิดจากโรคนิ่วในไต หรือในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาบรรเทาอาการ คลื่น ไส้ อาเจียน และการดื่มน้ำมากๆ มากกว่าปกติ เป็นต้น

โดยทั่วไปเมื่อพบแพทย์ได้เร็ว การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะจะไม่รุนแรง อาการจะดีขึ้นหรือหายได้ภายใน 2-3 วัน ทั้งนี้โดยเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอกด้วยการกินยาปฏิชีวนะ แต่ในโรค/ภาวะกรวยไตอักเสบ โรคมักรุนแรง การให้ยาปฏิชีวนะมักให้ทางหลอดเลือดดำ และอาจจำเป็นต้องรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล

แต่ถ้าพบแพทย์ช้า หรือมีการเกิดเป็นซ้ำบ่อยๆ (พบได้ประมาณ 25%ของผู้ป่วย โดย เฉพาะในผู้หญิง) อาจส่งผลให้เชื้อดื้อยา และโรครุนแรงจนเกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต (เลือด)ได้ (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด) หรือเกิดเป็นโรคไตเรื้อรังได้

เมื่อมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ เพราะการรักษาจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องทั้งชนิดของยา ปริมาณยา (Dose) และระยะเวลาที่ได้รับยา เพื่อลดโอกาสเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำจากการรักษาที่ไม่เหมาะสม และเชื้อดื้อยา ดังนั้นจึงเป็นโรคที่ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตนเองให้โรคหายได้การดูแลตนเองและการพบแพทย์เมื่อมีการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ คือ

  • เมื่อพบแพทย์แล้ว ควรปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • กินยาต่างๆให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง ถึงแม้อาการจะดีขึ้น/หายแล้วก็ตาม
  • ดื่มน้ำสะอาดให้มากกว่าเดิม อย่างน้อยวันละ 8-10แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • ไม่กลั้นปัสสาวะนาน
  • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ไม่นั่งนานๆ เช่น เมื่อรถติดมาก
  • งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าโรคจะหายแล้ว
  • สวมใส่กางเกงในเป็นผ้าฝ้าย100% ไม่รัดแน่นเกินไป เพื่อลดการระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ และปากท่อปัสสาวะและเพิ่มการระบายอากาศไม่ให้บริเวณนั้นอับชื้น
  • ในผู้หญิงควรล้างบริเวณอวัยวะเพศและปากท่อปัสสาวะจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ เพื่อลดการปนเปื้อนแบคทีเรียจากปากทวารหนัก
  • ลองปรับเปลี่ยนชนิดยาคุมกำเนิด (ในผู้หญิง) หรือ เจลหล่อลื่น เมื่อเกิดโรคกระ เพาะปัสสาวะอักเสบโดยหาสาเหตุอื่นไม่ได้
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ลดโอกาสติด