กระดานสุขภาพ

ท้องเสียมาหลายวัน
Anonymous

17 ตุลาคม 2560 02:44:33 #1

คุณหมอครับขอสอบถามหน่อยครับ ผมท้องเสีย(เป็นน้ำ) มาหลายวันแล้ว วันแรกปวดท้องเหนือสะดือ แต่ปวดไม่มากเป็นๆหายๆ มีอาการท้องร่วงร่วมด้วย ไปหาหมอเค้าตรวจ เค้าบอกว่าเป็นลำไส้อักเสบ แล้วเค้าก็ให้ยาแก้ปวดกับฆ่าเชื้อ แล้วก็ยารักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เกลือแร่ กินจนยาหมดก็ไม่หายครับ เลยไปหาอีกรอบเค้าเลยปรับตัวยาเป็น Metronidazole กินไป 1 วันรู้สึกถ่ายออกมาเป็นก้อนช่วงเช้า พอตกช่วงบ่ายก็เหมือนเดิม วันนี้ผมท้องร่วงอีกแล้วครับวิ่งเข้าห้องน้ำตอนตี 5 เหมือนท้องมันโครกคราก ผมอยากรู้ว่าเป็นเพราะอะไรทำไมกินยาแล้วยังไม่หายซักที แล้วยาตัวไหนจะรักษาได้มั่งครับ

อายุ: 22 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 55 กก. ส่วนสูง: 167ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.72 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

18 ตุลาคม 2560 10:19:34 #2

ท้องเสีย (Diarrhea) หมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลว หรือเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน โดยอาจถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูกเลือด ซึ่งเรียกได้อีกชื่อว่า โรคบิดหรือเป็นบิด และเมื่อท้องเสียหายได้ภายใน 2 สัปดาห์เรียกว่า ท้องเสียเฉียบพลัน เมื่อท้องเสียนาน 2 - 4 สัปดาห์เรียกว่า ท้องเสียต่อเนื่อง (Persistent diarrhea) และเมื่อท้องเสียนานมากกว่า 4 สัปดาห์ขึ้นไปเรียกว่า ท้องเสียเรื้อรัง

ท้องเสียโดยทั่วไปมักเกิดจากการกินอาหารและดื่มน้ำปนเปื้อนเชื้อโรคหรือจากรักษามือไม่สะอาด อุจจาระที่ปนเปื้อนจากมือจึงก่อให้เกิดการติดเชื้อได้จากมือสู่ปากโดยตรง หรือในการปรุงอาหารในการสัมผัสอาหาร/น้ำดื่มในขั้นตอนต่างๆ และรวมทั้งในขั้นตอนของการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งโดยทั่วไปท้องเสียจากการติดเชื้อมักเป็นท้องเสียเฉียบพลัน

เชื้อพบบ่อยที่เป็นสาเหตุให้ท้องเสียคือ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และอาจพบเชื้อบิดและจากพยาธิได้

เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้ท้องเสียมีได้หลายชนิด เช่น อีโคไล (E. coli) ซึ่งเป็นเชื้อพบบ่อยที่สุด นอกนั้นเช่น เชื้อไทฟอยด์ (Salmonella) เชื้อบิดชนิดชิเกลลา (Shigella) และเชื้ออหิวา (Cholera จากเชื้อ Vibrio cholerae)

เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุให้ท้องเสียที่พบบ่อยที่สุดโดยเฉพาะในเด็กเล็กคือ โรตาไวรัส (Rotavirus) และจากไวรัสอื่นๆเช่น ไวรัสตับอักเสบเอ

นอกจากนั้นเช่น ติดเชื้อบิด (บิดมีตัว) จากติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว (โปรตัวซัว/Protozoa) ที่มีชื่อว่า อะมีบา (Amoeba) ที่เรียกว่า โรคบิดมีตัว หรือติดเชื้อพยาธิเข็มหมุด (Pinworm) ซึ่งบางคนเรียกว่า พยาธิเส้นด้าย (Threadworm)

นอกจากการติดเชื้อแล้ว ท้องเสียยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้อีกด้วย เพียงแต่พบน้อยกว่าจากการติดเชื้อมากเช่น

ท้องเสียจากโรคกลุ่มอาการดูดซึมอาหารได้น้อย (Malabsorption syndrome/มาลแอบซอพชัน ซินโดรม) ซึ่งมักเป็นท้องเสียแบบต่อเนื่องหรือแบบเรื้อรัง ซึ่งมีสาเหตุได้หลายสาเหตุเช่น จากความผิดปกติของลำไส้แต่กำเนิด จากเป็นโรคพยาธิ จากการแพ้นมวัวในเด็ก หรือในโรคมีภูมิคุ้มกันต้านทานบกพร่อง เช่น โรคเอดส์ จากโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังต่างๆ หรือโรคขาดน้ำย่อยอาหารจากตับอ่อน เช่น โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
ท้องเสียจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด ซึ่งมักเป็นท้องเสียแบบเฉียบพลันหรือแบบต่อเนื่อง เมื่อหยุดยาอาการท้องเสียจะหายไปเช่น จากยาบางชนิดในกลุ่มยาแก้ปวดเอ็นเสดส์ ยาปฏิชีวนะ ยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคเกาต์ และยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง
ท้องเสียจากผลข้างเคียงจากฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งในบริเวณช่องท้องและช่องท้องน้อย ซึ่งมักเป็นท้องเสียแบบต่อเนื่อง แต่อาการท้องเสียจะหายไปภายหลังหยุดฉายรังสีประมาณ 4 - 8 สัปดาห์
อาการสำคัญจากท้องเสียคือ การถ่ายอุจจาระตั้งแต่วันละ 3 ครั้ง ส่วนอาการอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วยเช่น ปวดท้อง ปวดมวนท้อง ปวดเบ่ง อ่อนเพลีย นอกจากนั้นขึ้นกับสาเหตุเช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตัว เมื่อเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส หรือถ่ายเป็นมูกเลือด เมื่อเกิดจากติดเชื้อบิด

ทั้งนี้อาการสำคัญที่สุดและอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้รวดเร็วคือ อาการจากร่างกายขาดน้ำ (ภาวะขาดน้ำ) และสูญเสียเกลือแร่ที่ออกร่วมมาในอุจจาระ

อาการสำคัญของการขาดน้ำในผู้ใหญ่ที่สำคัญคือ

  • กระหายน้ำมาก
  • ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะมีสีเหลืองเข็มจัด
  • ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ผิวแห้ง เมื่อเป็นมากตาจะลึกโหล เพราะเนื้อเยื่อรอบๆตาขาดน้ำไปด้วย
  • เมื่อขาดน้ำมากรุนแรงจะวิงเวียน มึนงง กระสับกระส่าย และช็อกในที่สุด

อนึ่ง อาการขาดน้ำในเด็กส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับในผู้ใหญ่ ยกเว้นในเด็กอ่อนซึ่งมักไม่มีปัสสาวะเลย กระหม่อมจะบุ๋มลึก และไม่มีน้ำตาเมื่อร้องโยเยหรือร้องไห้

แนวทางการรักษาท้องเสียคือ การรักษาและป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยดื่มไม่ได้ หรือท้องเสียรุนแรง อาจเป็นการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ แต่ถ้ายังกิน/ดื่มได้ การรักษา คือ การดื่มน้ำหรือดื่มน้ำเกลือแร่ซึ่งเป็นยาผงละลายน้ำที่ทั่วไปเรียกว่า ยาโออาร์เอส (ORS, Oral rehydration salts) นอกจากนั้นคือ การรักษาตามสาเหตุเช่น อาจให้ยาปฏิชีวนะเมื่อเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาบรรเทาปวดท้อง หรือยาลดไข้

โดยทั่วไป แพทย์มักไม่แนะนำการกินยาหยุดท้องเสีย เพราะการถ่ายอุจจาระเป็นวิธีหนึ่งที่ร่างกายใช้กำจัดเชื้อโรคและ/หรือสารพิษจากเชื้อโรคออกจากร่างกาย อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์

การดูแลตนเอง/การพบแพทย์เมื่อท้องเสียคือ

  • พักผ่อน หยุดงาน หรือหยุดเรียน
  • ดื่มน้ำมากๆ ดื่มน้ำผงเกลือแร่ เมื่อถ่ายเป็นน้ำหรือรู้สึกปากแห้ง
  • กินอาหารอ่อน อาหารเหลว หรืออาหารรสจืด
  • ยังไม่ควรกินยาหยุดท้องเสียด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว อาจกินยาลดไข้ บรรเทาอาการปวดท้อง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
  • ควรรีบพบแพทย์เมื่อ

มีอาการร่างกายขาดน้ำดังกล่าว

  • อาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 2 วัน (ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ควรพบแพทย์เมื่ออาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 1 วัน)
  • ปวดท้องมาก และ/หรือ คลื่นไส้ อาเจียน และ/หรือ ตัว/ตาเหลือง
  • มีไข้สูง
  • อุจจาระเป็นมูก หรือมูกเลือด หรือมีสีดำและเหนียวเหมือนยางมะตอย (อาการของการมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร)