กระดานสุขภาพ

ปรึกษาเรื่องการเข้าห้องน้ำ ถ่ายผิดปกติครับ
Isur*****n

4 กันยายน 2560 10:08:08 #1

ผมมีเรื่องปรึกษาครับ ปกติคนเราถ่ายหรือเข้าห้องน้ำกี่ครั้งครับ 1-2 ครั้ง/วันหรือเปล่าครับ แต่ผมเข้าห้องน้ำปกติ 2-3 ครั้งเป็นอย่างต่ำ แต่เมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้วไม่รู้เป็นอะไรครับ ผมเข้า 4-5 ครั้งต่อวันครับ มีช่วงก่อนมาทำงาน ตอนสายๆ และบ่ายอีก 1-2 ครั้งครับ และกลางคืนช่วง 3-5 ทุ่มอีกครั้งก่อนนอน

สำหรับช่วงบ่ายๆ ประมาณ 3-5 โมงเย็นนั้น จะรู้สึกปวดๆ แน่นท้อง จุกๆ นิดหน่อย ผมอธิบายไม่ถูก ต้องเข้าห้องน้ำทุกครั้ง แต่ว่าเข้าแต่ละครั้งก็ถ่ายปกตินะครับ ไม่มีเลือด ไม่แข็งหรือเหลว

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ผมได้เข้าไปหาหมอที่ถือประกันสังคมที่ รพ.กล้วยน้ำไท ผมก็บอกหมอว่า ผมเข้าห้องน้ำ 4-5 ครั้งต่อวัน หมอก็ไม่ได้ตรวจอะไรเลย ฟังอาการก็สรุปว่า คุณท้องเสีย และไม่ได้ตรวจอะไรผมเลย จัดยาฆ่าเชื้อให้ 1 ชุด มีเกลือแร่ และยาอีกชุดหนึ่งผมจำไม่ได้ หลังจากกินหมด ส-อ ที่ผ่านมาก็ค่อยยังชั่ว ตอนนี้ยาหมดแล้วครับ ตอนนี้ก็ได้แต่รอดูอาการครับว่าจะเป็นอีกไหมครับ ส่วนวันนี้ก็เข้า 4 ครั้ง เช้า สาย และบ่ายๆ อีก 2 ครับคุณหมอ

ไม่ทราบว่าพอจะมีวิธีรักษาให้หายขาดบ้างไหมครับ เบื้องต้นก่อนหน้านี้ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกินของผมด้วยครับ กินกาแฟทุกเช้า และจะเน้นหนักอาหารเย็นด้วยครับ อาทิตย์ที่แล้วก็ไม่กล้ากินเยอะเหมือนเคย และอีกอย่างเวลานั่งทำงานผมใส่กางเกงทำงานค่อนข้างแน่น จะแน่นและรัดท้อง อึดอัดนิดหน่อย ไม่รู้ว่ามีส่วนด้วยไหมครับ

ขอบคุณครับ

อายุ: 34 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 73 กก. ส่วนสูง: 168ซม. ดัชนีมวลกาย : 25.86 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

9 กันยายน 2560 18:51:33 #2

โรคลำไส้แปรปรวน หรือเรียกย่อว่า โรคไอบีเอส (IBS, Irritable bowel syndrome หรือ อาจเรียกว่า Spastic colon) ได้แก่ โรคซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของลำไส้ ซึ่งก่อให้เกิดอาการ ปวดท้อง ท้องเสียสลับท้องผูก เป็นๆหายๆ โดยแพทย์มักตรวจไม่พบพยาธิสภาพ (สิ่งผิดปกติ) ของอวัยวะต่างๆในระบบทางเดินอาหาร (กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่)

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรคลำไส้แปรปรวน แต่จากการศึกษา มีได้หลายสมมุติฐาน คือ

- กล้ามเนื้อของอวัยวะภายใน ซึ่งรวมทั้งกล้ามเนื้อลำไส้ อาจทำงานตอบสนองต่อสิ่งกระ ตุ้น (สิ่งเร้า) ผิดปกติ โดยถ้าลำไส้ตอบสนองมากเกินไปต่ออาหาร/เครื่องดื่มที่บริโภค จะทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวเร็วขึ้น จึงเกิดท้องเสีย แต่ถ้าลำไส้เคลื่อนไหวลดลง จะเกิดท้องผูก ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ มักมีอาการกลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่อยู่ร่วมด้วย จึงเป็นที่มาของสมมุติฐานว่า อาจมีการทำงานผิดปกติของกล้ามเนื้อของอวัยวะภายในต่างๆ

- เยื่อบุลำไส้ อาจตอบสนองไวต่ออาหาร/เครื่องดื่มสูงกว่าคนปกติ จากการกระตุ้นด้วยอา หาร/เครื่องดื่มบางชนิด เช่น กาเฟอีน จึงส่งผลให้เกิดท้องเสียเมื่อกิน/ดื่ม อาหารที่มีสารตัวกระ ตุ้นเหล่านี้

- มีตัวกระตุ้นสมองให้หลั่งสารบางชนิด เช่น ซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง ร่วมกับอาการท้องเสีย เช่น ปัญหาทางอา รมณ์/จิตใจ เช่น ความเครียด

- อาจจากร่างกายสร้างสารต้านการติดเชื้อของลำไส้ เพราะในผู้ป่วยบางราย พบเกิดโรคนี้ตามมา ภายหลังมีการอักเสบติดเชื้อของลำไส้

- อาจจากสมองทำงานแปรปรวน จึงส่งผลต่อการแปรปรวนของลำไส้ อาจจากการทำงาน หรือมีปริมาณแบคทีเรียประจำถิ่น (Normal flora แบคทีเรียที่มีประ จำในลำไส้ มีหน้าที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ช่วยการดูดซึมและสร้างวิตามินเกลือแร่บางชนิด) ในลำไส้ผิดปกติ

โรคลำไส้แปรปรวน เป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้น อาการต่างๆจึงมักเป็นๆหายๆ บางครั้งอาการอาจดีขึ้น ไม่มีอาการเป็นหลายๆเดือน แล้วกลับมามีอาการใหม่อีก โดยอาการพบบ่อยของโรคลำไส้แปรปรวน ได้แก่

  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลม (แก๊ส/ก๊าซ) มากในท้อง
  • ปวดท้อง ซึ่งอาการปวดท้องจะดีขึ้นหลังขับถ่าย หลังจากนั้นก็กลับมาปวดท้องใหม่
  • ท้องผูก หรือ ท้องเสียโดยเฉพาะหลังกินอาหาร หรือเมื่อตื่นนอนต้องรีบขับถ่าย หรือ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสียเป็นๆหายๆ บ่อยครั้งอุจจาระคล้ายมีมูกปน แต่ไม่มีเลือดปน
  • มีอาการคล้ายถ่ายอุจจาระไม่หมด/ไม่สุด
  • กลั้นอุจจาระไม่อยู่ เมื่อปวดอุจจาระต้องเข้าห้องน้ำทันที

อนึ่งอาการของโรคมักรุนแรงขึ้นเมื่อ กินอาหาร หรือ ดื่มเครื่องดื่มบางชนิด เช่น นม เครื่องดื่มกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ โคลา) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต และ/หรือ ผัก ผล ไม้ บางชนิด กินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมาก ช่วงมีประจำเดือน และ/หรือในช่วงมีความ เครียด แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้แตกต่างกันได้ในแต่ละบุคคลซึ่งควรต้องสังเกตด้วยตนเอง

การดูแลตนเอง เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ คือ การปรึกษาแพทย์ เพราะดังกล่าวแล้วว่า เป็นอาการคล้าย โรคลำไส้อักเสบ หรือ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้เพื่อวินิจฉัยแยกโรคเหล่านั้น และเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคลำไส้แปรปรวน การดูแลตนเอง/การพบแพทย์ ได้แก่

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล
  • เข้าใจในโรค ยอมรับความจริงของชีวิต รักษาสุขภาพจิต
  • สังเกต อาหาร และเครื่องดื่มต่างๆที่กระตุ้นให้เกิดอาการหรือทำให้อาการรุนแรงขึ้น เพื่อการหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณ
  • กินอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง กินอาหารที่ย่อยง่าย และรสไม่จัด
  • อาจลองกินอาหารในกลุ่ม โปรไบโอติก (Probiotic) เช่น โยเกิร์ต เพื่อปรับสมดุลของแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้
  • ดื่มน้ำสะอาดเพิ่มกว่าเดิม ประมาณอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำ กัดน้ำดื่ม (เช่น โรคหัวใจล้มเหลว) เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียจากท้องเสีย เพื่อป้อง กันภาวะขาดน้ำ และเพื่อป้องกันท้องผูก
  • ปรึกษาแพทย์เรื่องการกินยาแก้ท้องเสียในลักษณะที่เป็นการป้องกันไว้ก่อน

รีบพบแพทย์ก่อนนัด เพราะแสดงว่า อาจมีโรคอื่นๆเกิดขึ้น เช่น ลำไส้อักเสบ หรือ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อ

    • มีไข้สูง
    • อุจจาระเป็นเลือด หรือ เป็นมูกเลือด
    • ซีด
    • ปวดท้องมากผิดปกติ หรือลักษณะปวดท้องผิดไปจากที่เคยเป็น
Isur*****n

13 กันยายน 2560 11:00:23 #3

ขอบคุณคุณหมอมากครับ สาเหตุหลักๆ ที่คิดไว้ตรงกับที่คุณหมอมากเลยครับ คือความเครียด และดื่มกาแฟเป็นประจำครับ