กระดานสุขภาพ

เจ็บตา
Anonymous

26 กรกฎาคม 2560 00:38:31 #1

สวัสดีค่ะคุณหมอ ดิฉันไม่ใช่คนที่เจ็บตานะค่ะแต่เป็นคุณแม่ดิฉันค่ะ อาการไม่ได้มีอะไรมากค่ะคุณแม่แค่บอกว่ามีเจ็บตา และตอยยี้เจ็บมาได้สักพักค่ะ. เวลาแม่จะอ่านหรือดูอะไรตรงโทรสับคุณแม่จะบอกว่าเห็นมัวๆค่ะต้องใส่แว่น. แม่บอกว่าคิดว่าตัวเองสายตาเอียงแต่ดิฉันห่วงคุณแม่ค่ะเลยอยากมาถามว่าอาการแบบนี้คืออะไรใช่อาการสายตาเอียงไหม หรือว่าตาจะบอดค่ะคุณหมอ? ควรไปตรวจก่อนไหมคะ? คุณแม่มีโรคประจำตัวค่ะเป็นโรคหัวใจค่ะ ห่วงคุณแม่มากๆเลยกลัวแม่ตาบอดอะค่ะ
อายุ: 45 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 52 กก. ส่วนสูง: 158ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.83 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.มณฑากร อภิญญาณกุล

จักษุแพทย์

29 กรกฎาคม 2560 16:46:42 #2

สวัสดีค่ะ

อาการเจ็บตาสามารถเกิดจากหลายสาเหตุค่ะ หมอจะกล่าวถึงสาเหตุของอาการเจ็บตาแบบกว้างๆ นะคะ เช่น

1.หากมีเปลือกตาแดงร่วมด้วย อาจมีขี้ตา หนังตาบวม ร่วมด้วย อาจเกิดจากเปลือกตาอักเสบ (anterior blepharitis)

2.มีตาแดง น้ำตาไหล มีขี้ตาก็อาจเกิดจากเยื่อบุตาอักเสบ เยื่อบุตาติดเชื้อ หรือกระจกตาอักเสบ หรือติดเชื้อได้ค่ะ

3.อาการปวดตาหากมีอาการร่วมกับตาแดง เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ มีตามัวร่วมด้วย อาจเป็นอาการของภาวะต้อหินเฉียบพลัันได้ โดยการที่มีความดันตาที่เพิ่มขึ้นกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดตาได้ การวินิจฉัยภาวะนี้นั้น จำเป็นต้องทำการตรวจความดันลูกตา ตรวจขั้วประสาทตา วัดลานสายตา ดูมุมตาร่วมด้วย ซึ่งจำเป็นต้องทำการตรวจโดยจักษุแพทย์ค่ะ

4.อาการปวดตา ร่วมกับอาการปวดหัว ในบางรายอาจเป็นอาการของโรคไมเกรนได้ค่ะ

5.อาการปวดตา ถ้าเป็นมากขึ้นเวลากลอกตา หรือบางรายมีอาการปวดลึกๆหลังลูกตา ร่วมกับตามัวลง ลานสายตาแคบลง อาจเป็นอาการของเส้นประสาทตาอักเสบได้ ซึ่งจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมโดยจักษุแพทย์ค่ะ

6.มีอาการปวดตา เคืองตา กระพริบตาแล้วดีขึ้น ก็อาจเกิดจาก ตาแห้งได้ค่ะ

7.อาการปวดหัวและตึงบริเวณตาเมื่อใช้สายตานั้น อาจเกิดจากภาวะสายตาเมื่อยล้า (eye strain or asthenopia) ซึ่งทำให้เกิดอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น รู้สึกเมื่อยตา (fatique), ปวดในตาหรือรอบๆ ตา, ตามัว, ปวดหัว หรือบางครั้งเห็นภาพซ้อนได้ โดยอาการมักเกิดหลังจากการอ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ หรือทำงานอื่นๆ ที่ต้องใช้สายตาในระยะใกล้ๆ โดยเมื่อเราในสายตาในภาวะดังกล่าว จะทำให้กล้ามเนื่อในตาที่ชื่อว่าซิลีแอรี่ (ciliary muscle ) ตึงตัวเพื่อปรับให้ภาพที่เรามองเห็นตกบนจอประสาทตา ทำให้เรามองเห็นภาพชัดในระยะใกล้ได้ ดังนั้นการพักสายตามองภาพในระยะไกล เป็นระยะๆ หลังจากการใช้สายตาในระยะใกล้ๆ เช่น การพักสายตาหลังจากอ่านหนังสือ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมงก็จะบรรเทาอาการสายตาเมื่อยล้าได้ค่ะ บางครั้งภาวะสายตาเมื่อยล้านี้ยังสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีก ที่พบมากคือ ภาวะค่าสายตาผิดปกติ เช่น มีภาวะสายตาสั้น สายตาเอียง เป็นต้น ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อมีการตึงตัวเช่นกัน เพื่อปรับระยะโฟกัสของภาพให้ตกที่จอประสาทตาพอดี หรือบางครั้งเกิดจากภาวะตาเขซ้อนเร้น (heterophoria) ก็ได้ การแก้ไขภาวะนี้นอกจากการพักสายตาดังที่กล่าวไปแล้ว อาจจำเป็นต้องตรวจค่าสายตาเพิ่มเติมว่ามีภาวะสายตาผิดปกติหรือไม่ หากมีความผิดปกติของค่าสายตาก็ทำการแก้ไขสายตา อาจแก้ไขด้วยแว่นตา คอนแทกเลนส์ หรือการผ่าตัดแก้ไขสายตา เป็นต้น รวมถึงการตรวจหาภาวะตาเขซ้อนเร้นโดยจักษุแพทย์ด้วย หากมีภาวะดังกล่าวก็ต้องทำการแก้ไขตามสาเหตุค่ะ แต่เนื่องจากเป็นทั้งขณะใส่แว่นและถอดแว่น อาจจำเป็นต้องตรวจค่าสายตาใหม่ ว่ามีค่าสายตาเปลี่ยนหรือไม่ค่ะ รวมทั้งการตรวจระยะห่างของจุดกึ่งกลางตาดำ (pupillary distance) ว่าตรงกับแว่นที่ใช้หรือไม่ เพื่อแก้ไขภาวะตาเมื่อยล้าค่ะ

อย่างไรก็ตามหากมีอาการไม่หาย เป็นมากขึ้น หรือ มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ควรตรวจสายตา และตรวจตาเพิ่มเติมโดยจักษุแพทย์นะคะ

ขอบคุณค่ะ
พญ.มณฑากร อภิญญาณกุล
จักษุแพทย์