กระดานสุขภาพ

ท้องผูก
Putt*****4

19 มีนาคม 2560 07:09:59 #1

ท้องผูก อุจจระแข็งมาก ถ่ายไม่ออกมากกว่า 1 อาทิตย์ ควรจะทำยังไงดีค่ะ
อายุ: 20 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 73 กก. ส่วนสูง: 170ซม. ดัชนีมวลกาย : 25.26 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

24 มีนาคม 2560 15:46:40 #2

ท้องผูก (Constipation) เป็นอาการ ไม่ใช่โรค ได้แก่ อาการไม่ถ่ายอุจจาระตามปกติ ซึ่งโดยคำนิยามทางการแพทย์ ท้องผูก หมายถึงความผิดปกติทั้งจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ ซึ่งต้องน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ลักษณะของอุจจาระต้องแห้ง แข็ง การขับถ่ายต้องใช้แรงเบ่งหรือใช้มือช่วยล้วง และภายหลังอุจจาระแล้วยังมีความรู้สึกว่าอุจจาระไม่สุด

ท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยคือ

เกิดจากลำไส้เคลื่อนตัวช้ากว่าปกติหรือบีบตัวลดลง ทั้งนี้เพราะขาดตัวกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้จากมีลำอุจจาระเล็ก เช่น จากกินอาหารที่ขาดใยอาหาร และ/หรือ ดื่มน้ำน้อย อุจจาระจึงแข็งและลำอุจจาระเล็ก ลำไส้จึงบีบตัวลดลง อุจจาระจึงเคลื่อนตัวได้ช้าจากขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย จึงส่งผลให้ลำไส้บีบตัวเคลื่อนตัวช้า

จากปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ เช่น ความเครียด ความกังวล หรือการไม่มีเวลาพอในการขับถ่าย จึงส่งผลถึงการทำงานของลำไส้ลดการบีบตัวลง

ปัจจัยต่อการเกิดอาการท้องผูกที่พบบ่อยคือ

กินอาหารมีกากใยต่ำ (กินผักผลไม้น้อย)

  1. ดื่มน้ำน้อย
  2. ขาดการเคลื่อนไหวร่างกายและ/หรือการออกกำลังกาย
  3. มีโรคเรื้อรังประจำตัว ทำให้ต้องจำกัดการออกแรงและ/หรือการออกกำลังกาย หรือโรคส่งผลต่อประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้
  4. กินยาบางชนิด ซึ่งมีผลข้างเคียงลดการบีบตัวของลำไส้ เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีน
  5. โรคเนื้องอกหรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

การดูแลตนเองเมื่อท้องผูก เช่นเดียวกับการป้องกันท้องผูกคือ

  1. กินอาหารมีใยอาหารสูงในทุกมื้ออาหาร
  2. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  3. เคลื่อนไหวร่างกายออกกำลังกายเสมอไม่นั่งๆนอนๆ
  4. ผ่อนคลายอารมณ์ ลดความเครียด ลดความกังวล
  5. ฝึกขับถ่ายเป็นเวลา ควรเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก และมีเวลาให้ในการขับถ่ายไม่รีบเร่ง
  6. ไม่กลั้นอุจจาระจนเป็นนิสัย เมื่อปวดถ่ายควรรีบเข้าห้องน้ำเสมอ
  7. ควรปรึกษาแพทย์เรื่องท้องผูกโดยไม่ควรใช้ยาแก้ท้องผูกเอง แต่ถ้าจะใช้ยาแก้ท้องผูกเอง ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาเสมอ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา

ควรพบแพทย์ เมื่อ

  1. ดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วยังท้องผูก
  2. ใช้ยาแก้ท้องผูก ประมาณ 5 - 7 วันแล้วท้องผูกยังไม่ดีขึ้น
  3. ท้องผูกเกิดโดยไม่เคยมีอาการมาก่อน
  4. มีอาการท้องผูกเรื้อรังนานเกิน 1 สัปดาห์
  5. ท้องผูกสลับท้องเสียโดยไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเป็นอาการหนึ่งของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  6. อุจจาระมีลักษณะเล็กแบนเหมือนริบบิ้น เพราะเป็นตัวบ่งชี้ว่า อาจมีลำไส้ใหญ่ตีบ ซึ่งอาจจากมีก้อนเนื้อในลำไส้ใหญ่
  7. มีเลือดออกหลังอุจจาระบ่อย เพราะอาจเป็นอาการของโรคริดสีดวงทวาร หรือมีก้อนเนื้อในลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่

กังวลในอาการ ควรรีบพบแพทย์หรือพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อท้องผูกร่วมกับ

  1. ปวดเบ่งมากเมื่อถ่าย
  2. ปวดท้องมาก และ/หรือคลื่นไส้ อาเจียน เพราะอาจเป็นอาการของ ลำไส้อุดตัน
  3. อุจจาระเป็นเลือด