กระดานสุขภาพ

**โรคพิษสุนักบ้า**
Akit*****m

18 มีนาคม 2560 15:58:18 #1

โดนแมวกัดวันที่18มีนาคม60เวลา21.30น. แล้วอยู่ห่างจากโรงพยาบาล อนามัย หรือ คลินิกมาก อยากทราบว่า หลังจากโดนกัดแล้วต้องไปหาหมอภายในกี่ชั่วโมงครับ โดนกัดที่ขาครับ

อายุ: 23 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 43 กก. ส่วนสูง: 160ซม. ดัชนีมวลกาย : 16.80 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

24 มีนาคม 2560 15:42:26 #2

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ การฉีดวัคซีนก่อนการสัมผัสสัตว์(prophylaxis) มักจะทำในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกสัตว์กัด เช่น สัตวแพทย์ บุรุษไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า หรือเด็ก เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเช่นกัน การฉีดวัคซีน จะต้องฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 0, 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้นอีก 1 ปีอาจฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้ง

การฉีดวัคซีนหลังการสัมผัสสัตว์ จะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยเสมอ โดยอาจแบ่งเป็นกรณีได้ดังนี้

1 ไม่ต้องฉีดวัคซีนในกรณีที่สัมผัสกับสัตว์โดยที่ผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก เช่น การให้อาหาร ถูกเลีย สัมผัสน้ำลายหรือเลือด (ยกเว้น น้ำลายหรือเลือดของสัตว์กระเด็นเข้าทางตา หรือปากจะต้องรับการฉีดวัคซีน)

2 ต้องฉีดวัคซีนในกรณีที่

2.1ถูกงับเป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดออก

2.2 ถูกเลีย หรือ น้ำลายถูกผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือมีแผล

2.3 ถูกข่วนที่ผิวหนังโดยไม่มีเลือดออกหรือออกซิบๆ

2.4 ถูกกัดหรือข่วนเป็นแผล (แผลเดียวหรือหลายแผล) และมีเลือดออก

2.5มีน้ำลายหรือสารคัดหลั่ง (เช่น เลือด) จากร่างกายสัตว์ ซากสัตว์ เนื้อสมองสัตว์ รวมถึงการชำแหละหรือลองผิวหนังสัตว์ ถูกเยื่อบุตา ปาก จมูกหรือแผลตามผิวหนัง

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่ถูกสัตว์กัด หรือข่วนจนเป็นแผลและมีเลือดออก หรือถูกกัดเป็นแผลที่ใบหน้า ศีรษะ คอ มือ และนิ้วมือ หรือมีแผลลึก แผลฉีกขาดมาก จะต้องได้รับการฉีดอิมมูโนโกลบุลิน(Immunoglobulin; IG) โดยเร็วที่สุด โดยฉีดบริเวณรอบแผลร่วมกับวัคซีนในวันที่ 0 เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้เป็นกลุ่มมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง

ในการเข้ารับการฉีดวัคซีนนั้นสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) ในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่น สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลรัฐบาลที่ใกล้ที่สุด (ที่ใดก็ได้) ทันที จนครบทุกเข็มโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ใดๆ

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อถูกสุนัข แมวหรือสัตว์อื่นๆ กัด?
เมื่อถูกสัตว์ข่วนหรือกัดโดยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าควรรีบปฐมพยาบาลและปฏิบัติตัวดังนี้
ล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่หลายๆ ครั้ง ล้างสบู่ออกให้หมด ถ้าแผลลึกให้ล้างถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที ระวังอย่าให้แผลช้ำ ห้ามใช้ครีมใดๆ ทา ถ้ามีเลือดออกควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปส่วนอื่น

เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ควรใช้โพวีโดนไอโอดีน (povidone iodine) หรือฮิบิเทนในน้ำ (hibitane in water) ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน นอกจากนี้ไม่ควรปิดปากแผลยกเว้นว่าเลือดออกมากหรือแผลใหญ่มาก

ไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดทันที หรือ เร็วที่สุดเพื่อรับการฉีดป้องกันบาดทะยัก ยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามอาการ รวมถึงวัคซีนหรืออิมมูโนโกลบุลินตามความเหมาะสม

กักสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการอย่างน้อย 15 วัน โดยให้น้ำและอาหารตามปกติ อย่าฆ่าสัตว์ให้ตายทันที เว้นแต่สัตว์นั้นดุร้ายกัดคนหรือสัตว์อื่นหรือไม่สามารถกัดสัตว์ไว้ได้ ถ้าสัตว์หนีหายไปให้ถือว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
หากสัตว์มีอาการปกติตลอดระยะเวลาที่กักเพื่อดูอาการ สามารถหยุดฉีดวัคซีนได้