กระดานสุขภาพ

เจ็บระบมในอก จุกคอ ปากคอแห้ง หมอว่าเป็นกรดไหลย้อน
Love*****n

15 กุมภาพันธ์ 2560 08:03:26 #1

ผมเคยผ่าตัดบายพาสมา 8 ปีแล้ว มีคีลอยด์ เป็นนูนๆ เคยเป็นกรดไหลย้อน เป็นๆหาย ยามกินอะไรเผ็ดๆ หรืออาหารมีส่วนเครื่องปรุงเป็นปลาร้า เวลาเป็นจะทรามานมาก จุกกลางหน้าอกระบมเข้าไปข้างใน ตามความคิดผมคงระบมบวกกับกรดไหลย้อน รู้สึกเจ็บๆของซี่โครงกลางหน้าอก จุกคอ ปากแห้ง ปากคอร้อนๆ ครั้งก่อนที่เป็นเคยไปวัดเอคโคหัวใจ หมอว่าปกติดี มาเป็นตอนนี้เครียดมากครับ คิดมากด้วย ถ้าจะไปหาหมอปกติผมใช้ประกันสังคม หมอก็ถามๆ จ่ายยา เลยไม่ค่อยอยากไป ครั้งที่ไปเอคโค จ่ายเงินเองครับ อยากเรียนถามคุณหมอ อาการที่ผมเป็นจุกระบมหน้าอก จุกคอ ปากคอแห้งคล้ายโรคอะไรครับ. กลุ้มใจมากครับ รอบนี้ อาทิตย์กว่าๆแล้วครับ ขอบคุณครับ
อายุ: 51 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 80 กก. ส่วนสูง: 170ซม. ดัชนีมวลกาย : 27.68 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

21 กุมภาพันธ์ 2560 08:59:53 #2

จากที่ปรึกษามาคิดถึงอาการของอาหารไม่ย่อย หรือธาตุพิการ (Indigestion หรือ Dyspepsia) คือ อาการไม่สุขสบายที่เกิดขึ้น อาจมีเพียงอาการเดียว หรือหลายๆอาการพร้อมกัน อาจเกิดในขณะกินอาหาร และ/หรือภายหลังกินอาหาร เช่น แน่นท้อง อึดอัด เรอ แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ บางครั้งอาเจียน อาหารไม่ย่อย เป็นอาการมักพบในผู้ใหญ่ เป็นอาการพบบ่อยประมาณได้ถึง 25-40% ของประชากรทั้งหมดต่อปี โอกาสเกิดอาการใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

อาการอาหารไม่ย่อยเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 60%ของผู้มีอาการนี้ทั้งหมด คือ แพทย์หาสาเหตุไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยการตรวจด้วยวิธีใดๆก็ตาม ซึ่งรวมทั้งการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่ง เรียกผู้ป่วยในกลุ่มนี้ว่า Functional dyspep sia
นอกจากนั้นที่พบเป็นสาเหตุของอาการนี้ คือ

  1. จากโรคแผลเปบติค หรือ แผลในกระเพาะอาหาร พบได้ประมาณ 15-25%
  2. โรคกรดไหลย้อน (ไหลกลับ) หรือโรคเกิร์ด (GERD, Gastroesophageal reflux) พบได้ประมาณ 5-15%
  3. โรค มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือโรคมะเร็งหลอดอาหาร พบได้ประมาณ น้อยกว่า 2%
  4. นอกนั้น จากสาเหตุอื่นๆที่พบได้บ้างประปราย เช่น โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคตับอ่อนอัก เสบ โรคกระเพาะอาหารบีบตัวได้น้อย โรคขาดน้ำย่อยอาหารบางชนิด เช่น น้ำย่อยน้ำนม โรคเบาหวานมีพยาธิลำไส้ โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งตับอ่อนและจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาต้านการอักเสบในกลุ่มเอ็นเสดส์ (NSAIDS, Non-steroidal anti-inflammatory drug)

อาการจากอาหารไม่ย่อยที่พบได้บ่อย คือ

  1. แน่น อึดอัดท้อง โดยเฉพาะบริเวณกลางช่องท้องตอนบน มักมีอาการได้ตั้งแต่ใน ขณะกินอาหาร หรือหลังกินอาหารอิ่มแล้ว
  2. ปวดท้อง มวนท้อง แต่อาการไม่มาก โดยเฉพาะบริเวณกระเพาะอาหาร (ช่องท้องบริเวณลิ้นปี่/ตรงกลางของช่องท้องตอนบน)
  3. แสบ ร้อน บริเวณลิ้นปี่ และ/หรือ แสบร้อนกลางอก
  4. อาจมีคลื่นไส้ และ/หรืออาเจียนได้
  5. อาจมีท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ และ/หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหารลำไส้มาก

การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีอาการอาหารไม่ย่อย คือ

  1. การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อปัจจัยเสี่ยง
  2. อาจปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยา ซื้อยาลดกรด หรือยาช่วยย่อยอาหารกินเอง
  3. ถ้าภายหลังการดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ หรือเมื่อกังวลในอาการ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ
  4. แต่ถ้าอาการต่างๆเลวลง ควรรีบพบแพทย์ภายใน 1 สัปดาห์ และ
  5. ควรรีบพบแพทย์ฉุกเฉิน เมื่อถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอย หรือมีอาเจียนเป็นเลือด


ป้องกันการเกิดอาการอาหารไม่ย่อยได้โดย การป้องกันสาเหตุ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในตอนต้นที่ป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งการปรับพฤติกรรมการกินอาหาร เช่น

  1. กินอาหารให้ตรงเวลา
  2. กินอาหารแต่ละมื้อไม่ให้อิ่มมากเกินไป
  3. เคี้ยวอาหารให้ละเอียด
  4. ไม่กินอาหารรสจัด
  5. หลังกินอาหารไม่นอนทันที
  6. เคลื่อนไหวร่างกายสักพักหลังกินอาหารเพื่อช่วยการย่อย และการบีบตัวของกระ เพาะอาหารเพื่อขับเคลื่อนอาหารออกจากกระเพาะอาหารได้เร็ว ไม่คั่งค้างให้เกิดอาการ

นอกจากนั้น คือการสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างอาการ กับประเภท และปริมาณอาหาร และหลีกเลี่ยง หรือลดปริมาณอาหารเหล่านั้นๆลง ค่อยๆปรับตัวไปเรื่อยๆ