กระดานสุขภาพ

ท้องอืดท้องบวมปัสสาวะบ่อย
Anonymous

8 กันยายน 2559 11:20:34 #1

สวัสดีค่ะ คือหนูเป็นตามหัวกระทู้เลยค่ะ คืออาการท้องอืดเรอเหม็นเปรี้ยวแน่นท้องและจุกตรงลิ้นปี่เหมือนอาหารไม่ย่อยด้วยค่ะ แล้วท้องหนูบวมเหมือนคนท้องเลยค่ะแต่ไม่น่าใจตั้งท้องเพราะประจำเดือนมาปกติทุกเดือนและไม่พศพ.ประมาน2เดือนแล้ว แต่ท้องทีกจะกรัตุกเกิดจากอะไรหรอค่ะ และมีอาการปัสสวะบ่อยร่วมด้วยการที่ท้องบวมจะไปกดทับท่อปัสสวะทำให้ปวดบ่อยหรือเปล่าค่ะ ขอบคุณค่ะ
อายุ: 19 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 165 กก. ส่วนสูง: 58ซม. ดัชนีมวลกาย : 490.49 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

12 กันยายน 2559 04:28:12 #2

จากอาการกลุ่มแรกก่อนนะคะ ที่มีอาการท้องอืด เรอเปรี้ยว จุกลิ้นปี่ อาการนี้ทำให้คิดถึงภาวะกรดไหลย้อนค่ะ การรักษาจะใช้การรักษาด้วยยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมค่ะ ส่วนอาการที่มีปัสสาวะบ่อยและท้องโตขึ้น แนะนำให้พบแพทย์ตรวจร่างกายค่ะ

การปรับการดำเนินชีวิตเพื่อบรรเทาอาการจากภาวะกรดไหลย้อน

อาการของโรคกรดไหลย้อนสามารถบรรเทาให้เบาบางลงได้ การปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันเพียงบางอย่าง เช่น อาหารที่คุณรับประทานให้ลดความจัดจ้านลง กินอาหารให้ตรงเวลา หรือแม้แต่ขนาดของเสื้อผ้าที่คุณสวมใส่
การรับประทานอาหาร คุณอาจไม่ทราบมาก่อนว่าเครื่องดื่มถ้วยโปรดของคุณ เช่น กาแฟ อาจเป็นตัวการของโรคกรดไหลย้อน ดังนั้น อาหารที่คุณพึงหลีกเลี่ยง ได้แก่
- ชา กาแฟ และน้ำอัดลมทุกชนิด
- อาหารทอด อาหารไขมันสูง
- อาหารรสจัด รสเผ็ด
- ผลไม้รสเปรี้ยว ส้ม มะนาว มะเขือเทศ
- หอมหัวใหญ่ สะระแหน่ เปปเปอร์มิ้นต์
- ช็อกโกแลต

1. รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ
การรับประทานอาหารอิ่มเกินไปจะทำให้หูรูดหลอดอาหารเปิดออกง่ายขึ้น ดังนั้นควรรับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง เช่น หากปกติทานอาหาร 3 มื้อ ก็อาจจะแบ่งการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ 5มื้อแทน

2. ไม่ควรเข้านอน หรือเอนกายหลังรับประทานอาหาร หลังรับประทานอาหารไม่ควรเข้านอนหรือเอนกายทันที ควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อให้อาหารเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารก่อน

3. งดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่จะเพิ่มความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร และทำให้หูรูดกระเพาะอาหารอ่อนแอ ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้หูรูดเปิดออกได้ ลองหลีกเลี่ยงหรือเลิกสิ่งเหล่านี้แล้วคุณจะสังเกตถึงอาการที่ดีขึ้น

4. การปรับการดำเนินชีวิตเพื่อบรรเทาอาการ
ยกศีรษะและลำตัวให้สูง กรดไหลย้อนมักเกิดขณะคุณนอนราบ ดังนั้นการนอนโดยเสริมด้านหัวเตียงให้ยกสูงขึ้น จะช่วยป้องกันการไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหารได้ ไม่ควรใช้วิธีการหนุนหมอนหลายใบ

5. ลดแรงกดต่อกระเพาะอาหาร
เสื้อผ้าและเข็มขัดที่รัดแน่นบริเวณผนังหน้าท้อง การก้มตัวไปด้านหน้า น้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน ล้วนเป็นสาเหตุที่เพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหาร และทำให้กรดไหลย้อนกลับ คุณจึงควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหรือเข็มขัดที่รัดแน่น การก้มตัว และถ้าคุณมีปัญหาน้ำหนักเกินควรลดให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

6. ผ่อนคลายความเครียด
ซึ่งความเครียดจะเป็นสาเหตุให้เกิดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น ดังนั้นจึงควรหาเวลาพักผ่อน และออกกำลังกายให้สมดุลกับตารางชีวิตของคุณ

7. การตั้งครรภ์
ผู้หญิงตั้งครรภ์มักเป็นโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ทำให้หูรูดหลอดอาหารอ่อนแอลงรวมถึงมดลูกที่ขยายตัว จะไปเพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหาร ซึ่งหากคุณมีอาการขณะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์


วิธีการรักษาด้วยยา

การรักษาด้วยยาเป็นวิธีการหนึ่งในการรักษาโรคกรดไหลย้อนในผู้ป่วยส่วนใหญ่อย่างได้ผล การรักษาด้วยยามีเป้าหมายต่างกันไปตามชนิดของยาและอาการ ยาที่ใช้รักษาโรคกรดไหลย้อน สามารถแบ่งตามกลุ่มการออกฤทธิ์ได้ดังนี้

- ยาลดกรด (Antacid) ลดความเป็นกรดของน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ใช้ในผู้ที่มีอาการเล็กน้อย หรือเป็นเพียงครั้งคราว เช่น Aluminium hydroxide , magnesium hydroxide เป็นต้น
- ยากลุ่มกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (Prokinetics) เพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารทำให้อาหารเคลื่อนออกจากกระเพาะอาหารเร็วขึ้น เช่น Metoclopamide , Domperidone เป็นต้น
- ยากลุ่ม H2 Receptor Antagonists ออกฤทธิ์ยับยั้งฮีสตามีน(Histamine)ไม่ให้จับตัวกับตัวรับในกระเพาะอาหารทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดลดลง เช่นCimetidine,Famotidine,Ranitidine เป็นต้น
- ยากลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊ม(Proton Pump Inhibitors:PPI) ยับยั้งโปรตอนปั๊มที่อยู่ในกระเพาะอาหารซึ่งเป็นกลไกขั้นสุดท้ายในการหลั่งกรด จึงสามารถลดการหลั่งกรดได้สมบูรณ์ เช่น Omperazole,Esomeprazole,Pantoprazole เป็นต้น

ในปัจจุบันยากลุ่มยับยั้ง Proton Pump เป็นยาที่ให้ผลการรักษาได้ดีที่สุด มีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดการหลั่งกรด และได้ผลเร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ คุณอาจต้องรับประทานยานี้ติดต่อกันนาน 6-8 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น ขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์ และเมื่อคุณสามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตได้ แพทย์อาจปรับลดขนาดยาลงทีละน้อย
เมื่อไหร่จึงต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ในรายที่มีอาการของโรคกรดไหลย้อนรุนแรงจนใช้ยาเต็มที่แล้วไม่ได้ผล หรือมีข้อห้ามในการกินยา รวมทั้งไม่ต้องการรับประทานยาตลอดเวลา หรือเป็นซ้ำบ่อยหลังหยุดยา ซึ่งพบได้ร้อยละ 10 ของผู้ป่วย แพทย์อาจพิจารณาใช้การผ่าตัดเป็นทางเลือกในการรักษา