กระดานสุขภาพ

อาการเรอ ท้องอืด บ่อยมากต่อวัน
Saip*****n

5 กรกฎาคม 2559 16:57:20 #1

แฟนอายุ 33 ปี มีอาการท้องอืด เรอบ่อย เมื่ออืดมากๆ แล้วเรอยาวๆจะรู้สึกดีขึ้นบ้างเล็กน้อย เมื่อ 2ปีก่อนเคยส่องกล้องเช็คดู ไม่มีแผลในกระเพาะอาหาร มีแต่ฟองเต็มไปหมด (ใจคิดว่าเป็นกรดรึเปล่า) ช่วงนั้นน้ำหนักลดเยอะมากๆ หมอให้ยามารักษาลดกรด แก้ปวดท้อง จนอาการดีขึ้นเรื่อยๆ และหยุดแอลกอฮอล์เป็นเวลา 1 ปี กลับมากินใหม่ พอช่วงเข้าพรรษาหยุดดื่มเบียร์อีก กินว่านหางจรเข้บ่อย เคยได้ยินว่าลดกรดได้ เพราะปวดท้องอีก ออกพรรษากินเบียร์เหมือนเดิม แฟนว่าดีขึ้นเมื่อกินเบียร์ทุกครั้ง แต่พอหยุดเบียร์ จะมีอาการเรอ ท้องอืดเช่นเดิม ทานยาเอสเปคร่วมกับขมิ้นชันชนิดแคปซูน ข้อมูลดังกล่าว คุณหมอพอจะทราบไหมค่ะว่าเกิดจากอะไร ทำอย่างไรถึงหายค่ะ
อายุ: 30 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 47 กก. ส่วนสูง: 155ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.56 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Saip*****n

5 กรกฎาคม 2559 17:01:14 #2

ยาลดกรดชื่อ เอสเปค ช่วยได้มั้ยค่ะ ขมิ้นชันชนิดแคปซูน ดีไหมค่ะ ว่านหางจรเข้ พอจะช่วยได้ไหมค่ะ ** แฟนไม่อยากทานยาปฏิชีวนะ มากเกินไป เนื่องจากกลัวสะสมมากจนเป็นไต จึงจำเป็นต้องหาสมุนไพรหรือยาโบราณมาช่วย เช่น ยาหอม...
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

8 กรกฎาคม 2559 03:38:02 #3

มีแก๊สในท้อง (Gas in digestive tract) หมายถึง การมีแก๊สในกระเพาะอาหารและในลำ ไส้ซึ่งรวมทั้งในลำไส้เล็กและในลำไส้ใหญ่เป็นอาการปกติในทุกคนตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่เมื่อมีแก๊สในท้องมากกว่าปกติ จะก่อให้เกิดอาการต่างๆได้ คือ แน่นอึดอัด (Bloat ing) เรอ (Belching) และท้องอืด/ท้องเฟ้อ/ผายลม (Flatulence) มากกว่าปกติ รวมทั้งปวดท้อง

แก๊สในท้องเกิดได้จาก 2 กลไกหลัก คือ จากเรากลืนอากาศเข้าไป และจากการสร้างของกระเพาะอาหารและลำไส้

สาเหตุที่ทำให้มีแก๊สในท้องมากที่พบบ่อย ได้แก่

  • กินอาหารปริมาณมาก
  • กิน ดื่ม อาหารประเภทผลิตแก๊สสูงดังกล่าวแล้ว
  • กลืนอากาศมากกว่าปกติ เช่น สูบบุหรี่ เคี้ยวหมากฝรั่ง กิน/เคี้ยวเร็ว อมลูกอม/ทอฟฟี่ ใช้หลอดดูดน้ำ/อาหาร และใส่ฟันปลอมที่หลวมไม่พอดี
  • ขาดน้ำย่อยอาหารบางชนิด เช่น ขาดน้ำย่อยนม
  • อาหารไขมัน ถึงแม้ไม่ได้สร้างแก๊สมาก แต่เป็นอาหารที่ย่อยยาก จึงคั่งค้างนานในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ จึงก่ออาการท้องอืด แน่นท้องได้
  • ท้องผูก
  • เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน เช่น ช่วงก่อน หรือมีประจำเดือน
  • โรคกรดไหลย้อน (ไหลกลับ)
  • โรคบางชนิดของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคลำไส้แปรปรวน และโรคของเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร-ลำไส้ ส่งผลให้ขับแก๊สออกได้น้อย
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ลดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร-ลำไส้ เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มยาเสพติด และในกลุ่มยาต้านการอักเสบเอ็นเสดส์ (NSAIDs) ส่งผลให้ขับแก๊สออกได้น้อย
  • ปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ เช่น ความเครียด ซึ่งส่งผลต่อการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร และการเคลื่อนไหว บีบตัวของลำไส้

บางคนปริมาณแก๊สในท้องปกติ แต่เป็นคนที่ไวต่อแก๊สมากกว่าคนทั่วไป จึงมีอาการเหมือนกับคนมีแก๊สในท้องมากได้

การดูแลตนเองเมื่อมีแก๊สมาก ท้องอืด/แน่นท้อง เรอ/ท้องเฟ้อ และผายลมมากผิดปกติ ได้แก่

  • ปรับพฤติกรรมการกิน/ดื่ม กินอาหารในแต่ละมื้อลดปริมาณลง และสังเกต/ปรับชนิดของประเภทอาหาร/เครื่องดื่ม
  • จำกัดอาหารไขมัน
  • หลังกินอาหารควรมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อช่วยการเคลื่อนไหวลำไส้กำจัดแก๊สออกจากกระเพาะอาหาร-ลำไส้
  • ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น
  • กินอาหาร ดื่มเครื่องดื่มช้าๆ
  • เลิกบุหรี่ หมากฝรั่ง อมลูกอม
  • ปรึกษาทันตแพทย์เรื่องฟันปลอม
  • รักษาสุขภาพจิต

ในเบื้องต้น ปรึกษาเภสัชกรร้านขายยา ซื้อยาบรรเทาอาการต่างๆ พบแพทย์เมื่ออาการไม่ดีขึ้น หรือเมื่ออาการเลวลงหลังการดูแลตนเองประมาณ 2 สัปดาห์ หรือเมื่อกังวลในอาการ โดยสรุปหมอขอแนะนำให้รักษาตามอาการคือรับประทานยาลดกรด งดดื่มแอลกอฮอล์ นะคะ ส่วนเรื่องยาปฏิชีวนะนั้น เป็นยาที่ใช้ในการรักษาภาวะที่มีการติดเชื้อ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาการหรือโรคของผู้ป่วยนะคะ การรับประทานยาสมุนไพรหรือยาชุด เป็นประจำ อาจส่งผลต่อการทำงานของตับและไตนะคะ เนื่องจากยากลุ่มนี้อาจมีการผสมสเตียรอยด์ค่ะ