กระดานสุขภาพ

ตรวจสุขภาพประจำปี ผล GFR 2 ปี ต่างกันขนาดนี้ เครียดครับ
Jakk*****n

2 พฤษภาคม 2559 04:15:03 #1

ผมไปตรวจสุขภาพประจำปี มาสองครั้งครับ ครั้งแรกเมื่อประมาณ 10 เดือน ก่อน
ผลตรวจ  cratinine 0.9 , uric acid 7.2

ตอนนั้นอายุ 26 ปี หนัก 60 กิโลกรัม ถ้านำมาคำนวน GFR ตามสูตร ((140 - อายุ) x น้ำหนัก(กก.))/(72 x ค่า creatinine)

 GFR ((140 - 26) x 60)   /  (72 x 0.9) = 105.5555  ซึ่งก็น่าจะอยู่ ในเกณปกติ

แต่ปีนี้ไปตรวจมาอีกที่หนึ่ง ครับ เค้าคำนวน GFR มาให้เลย ได้ 76.6666 ครับ  (ค่า creatinine = 1.26,uric acid = 7.4 )  มีอัลตราซาวเจอ small caryceal stones at right kidney หมอบอก กินน้ำเยอะ ๆ อีก 1 ปี มาอัลตราซาวใหม่

ไม่ถึงปี GFR ลงมาเร็วมาก
เครียดครับ ระยะเวลา 10 เดือนกว่า ทำไมไตเราเสื่อมเร็วขนาดนั้น  ไม่ได้กินเหล้าหรือสูบบุหรี่ 

สถานที่ตรวจคนละที่กัน ผลคลาดเคลื่อนได้มั้ย
ขอถามอีกอยากครับ ตอนตรวจครั้งที่สอง อดอาหารตั้งแต่เที่ยงคืน จนกระทั้งถึงเที่ยงวันครับ ถึงได้ไปเจาะเลือด อยากทราบว่ามีผลต่อการตรวจหรือป่าวครับ 

 

อายุ: 27 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 60 กก. ส่วนสูง: 174ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.82 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
รศ.พญ. ศิริรัตน์ เรืองจุ้ย

แพทย์เฉพาะทางโรคไต อายุรศาสตร์

3 พฤษภาคม 2559 14:36:36 #2

1.เรื่องการเพิ่มขึ้นของค่า creatinine ในผลเลือดที่ตรวจห่างกัน 10 เดือน จากค่า 0.9 เป็น 1.26 มก./ดล. เนื่องจากค่า creatinine อาจเพิ่มขึ้นชั่วคราวในบางภาวะ เช่น ร่างกายขาดสารน้ำหรือดื่มน้ำไม่เพียงพอ การรับประทานเนื้อสัตว์ส่วนที่มีสีแดงปริมาณมาก หรือจากการได้รับยาหรือสารที่มีผลต่อการทำงานของไตบางชนิด จึงขอแนะนำให้ทำการตรวจซ้ำภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยดื่มน้ำให้เพียงพอ สำหรับคนที่หนัก 60 กิโลกรัม ควรดื่มน้ำประมาณ 2.5 ลิตรต่อวัน (ถ้าอากาศร้อนอาจเพิ่มเป็น 2.5-3 ลิตรต่อวัน) และหลีกเลี่ยงการรับประทานหรือสัมผัสยาหรือสารที่ไม่แน่ใจว่าจะมีผลเสียต่อไตหรือไม่ ถ้า serum creatinine ไม่ลดลง แนะนำพบแพทย์เพิ่มเติม ซึ่งในบางรายอาจต้องตรวจปัสสาวะ เพื่อพิจารณาปริมาณโปรตีนในปัสสาวะและปริมาณเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงในตะกอนปัสสาวะ รวมถึงค่าความดันโลหิต เพื่อประกอบในการวางแผนสืบค้นหาสาเหตุโรคเพิ่มเติมและการให้การรักษาต่อไป

2 เรื่องการพบนิ่วขนาดเล็กที่กรวยไตข้างขวา โดยทั่วไปถ้าไตอีกข้างทำงานปกติ นิ่วขนาดเล็กๆจะไม่ทำให้ตรวจเลือดพบระดับ creatinine เพิ่มขึ้น ยกเว้นนิ่วในทางเดินปัสสาวะนั้นทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรง มีภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ หรือไตอีกข้างทำงานลดลง การดูแลรักษาเรื่องนิ่ว จะพิจารณาจากประวัติโรคประจำตัว ผลตรวจร่างกาย ผลตรวจเลือด / ปัสสาวะ และเอกซเรย์ ซึ่งอาจทำให้สันนิษฐานชนิดของนิ่วได้ (การจะทราบชนิดของนิ่วจริงๆ ควรตรวจส่วนประกอบของเม็ดนิ่ว) และคำแนะนำทั่วไปสำหรับผู้ป่วยโรคนิ่วได้แก่ การดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้มีปัสสาวะวันละ 2-2.5 ลิตร , ลดอาหารเค็ม, ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ปริมาณมาก ส่วนการรักษาหรือคำแนะนำเพิ่มเติมอื่นๆ ขึ้นกับชนิดของนิ่วค่ะ

นิ่วที่ขนาดเล็กกว่า 7-10 มิลลิเมตร อาจหลุดออกมาได้เอง ถ้าติดตามผู้ป่วยสักระยะแล้วพบว่านิ่วไม่สามารถหลุดได้หรือมีผลแทรกซ้อน แพทย์จะแนะนำวิธ๊การรักษาต่อไปค่ะ

พญ.ศิริรัตน์