กระดานสุขภาพ

ขอรบกวนสอบถามเกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคลิ่มเลือดอุดตันครับ
Anonymous

22 กุมภาพันธ์ 2559 01:18:34 #1

อยากรู้เรื่องเกี่ยวอาหารการกินและการดูแลตัวเองของผู้ป่วยครับ
อายุ: 29 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 65 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 23.88 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์และโลหิตวิทยา)

24 กุมภาพันธ์ 2559 05:40:26 #2

การรักษาภาวะลิ่มเลือดที่ไปอุดกั้นหลอดเลือด มีเป้าหมายคือการป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดไปพอกพูนมีขนาดใหญ่มากขึ้น จนทำให้หลอดเลือดอุดตันจนการไหลเวียนของเลือดเกิดปัญหาการมีลิ่มเลือดเกิดขึ้น เกิดจากสาเหตุหลายอย่าง เช่นเกิดจากภาวะที่มีการติดเชื้อ

การเป็นมะเร็งหรือโรคเรื้อรังบางชนิดเช่นเอสแอลอี หรือบางคนอาจมีภาวะที่สืบทอดทางพันธุกรรมที่ร่างกายไม่มีสารละลายลิ่มเลือดได้เพียงพอ การเกิดลิ่มเลือดเป็นกระบวนการปกติของร่างกายเพื่อป้องกันเลือดออกแต่การทำงานนี้ต้องอยู่ในความพอดี ลิ่มเลือดเกิดจากการทำงานของหลอดเลือด เกล็ดเลือดและสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวร่วมกันในขณะที่มีการฉีกขาดของผนังหลอดเลือดเพื่อซ่อมแซมส่วนที่ฉีกขาดไม่ให้มีเลือดออกในภาวะปกติ เมื่อซ่อมเสร็จ ร่างกายจะมีกลไกสลายลิ่มเลือดที่เกิดนั้นออกทำให้ผนังหลอดเลือดเรียบร้อยเหมือนเดิม เลือดจึงไหลเวียนได้เป็นปกติ การเกิดลิ่มเลือดเกิดจากการขาดสมดุลในการไหลเวียนของเลือด คือมีการคั่งของเลือดหรือเลือดอยู่นิ่งๆไม่เคลื่อนไหล มีภาวะเลือดข้นและมีการลดลงของสารที่ทำหน้าที่ละลายลิ่มเลือด

ยาที่แพทย์ให้เพื่อรักษาลิ่มเลือดอุดกั้น มีหลายชนิดทั้งฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ฉีดเข้าใต้ชั้นผิวหนังและชนิดรับประทาน ขึ้นกับความรุนแรงและความเฉียบพลันมากน้อยตลอดจนขึ้นกับอวัยวะที่เกิดการอุดกั้นจากลิ่มเลือดในหลอดเลือดส่วนใหญ่แพทย์จะเริ่มให้ยาฉีดหรือหยดเข้าทางหลอดเลือดดำได้แก่ เฮปารินซึ่งต้องติดตามดูค่าการแข็งตัวของเลือดบ่อยๆเพื่อปรับขนาดยาในช่วงแรกๆ แล้วค่อยๆ แทรกยาชนิดรับประทานกลุ่มวาร์ฟาร์รินหรือคูมาดิน แล้วจึงค่อยๆ เอายาฉีดออกจนเหลือยาชนิดรับประทานอย่างเดียว หรือแพทย์อาจให้ฉีดเฮปารินที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำฉีดเข้าใต้ผิวหนังซึ่งไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดติดตามบ่อยโดยไม่ต้องให้ยารับประทาน

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่ได้รับยาป้องกันลิ่มเลือดอุดกั้นโดยหลักการคือให้มีความพอดีของยาที่จะไม่ทำให้เลือดแข็งตัวมากเกินไปจนการรักษาไม่ได้ผลและไม่ให้ปริมาณยามากไปจนมีเลือดออกแพทย์มักจะติดตามค่าของ PT/INR ให้อยู่ในระดับเหมาะสม เมื่อให้ยากินคือวาร์ฟาร์ริน

การปฏิบัติตัวและรวมถึงอาหารสำหรับผู้ที่ได้รับยาป้องกันลิ่มเลือดอุดกั้นควรทำดังนี้

1. ติดตามการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

2. อย่าออกกำลังกายหักโหมหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการมีเลือดออก

3. ขยับส่วนต่างๆของร่างกายอยู่เสมอเพื่อป้องกันการคั่งของเลือดในที่หนึ่งที่ใด เมื่อนั่งรถ นั่งเรือ

4. พยายามยกขาสูง หรือหาหมอนรองขาให้สูงเวลานอน หากมีหลอดเลือดอุดกั้นที่ขา

5. อย่าซื้อยากินเองเนื่องจากยาบางชนิดอาจไปมีผลต่อยากันลิ่มเลือดที่แพทย์ให้รักษาหรือนั่งเครื่องบินนานๆควรหมั่นลุกเดินเพื่อเปลี่ยนท่าทางให้ร่างกายเคลื่อนไหว

6. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หากจำเป็นควรดื่มเพียงเล็กน้อยเพื่อรักษาสภาพตับให้ดี

7. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีวิตามินเคสูง เช่น ผักโขม วิตามินเคจะทำให้ค่า PT/INR ต่ำกว่าที่ต้องการวิตามินเคทำให้เลือดแข็งตัวมากขึ้น

8. หลีกเลี่ยงแครนเบอร์รี่ เกรฟฟรุต(ส้มชนิดหนึ่งมีรสขมปนเล็กน้อย) ซึ่งทำให้ PT/INRสูงเสี่ยงต่อการมีเลือดออก

9. หลีกเลี่ยงสมุนไพรหรือสารสะกัดจากธรรมชาติต่างๆ เพราะอาจมีผลต่อยา หรือตับ ไต

10. หลีกเลี่ยงชาเขียวซึ่งไปต้านฤทธิ์ของวาร์ฟาร์ริน

11. เมื่อจะต้องทำหัตถการทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการมีเลือดออก ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้าก่อนเสมอ

12. ดื่มน้ำมากๆ ป้องกันการขาดน้ำ ซึ่งจะทำให้เลือดข้นและแข็งตัวได้ง่าย

13. เมื่อมีการเจ็บป่วยเช่นท้องเสีย อาเจียน หรือมีไข้ไม่สบายให้ไปพบแพทย์

14. ต้องหมั่นสังเกตว่ามีเลือดออกผิดปกติหรือไม่ เช่นแปรงฟันแล้วเลือดออกง่ายมีรอยช้ำมากเกินกว่าความบาดเจ็บที่เกิด สังเกตสีของปัสสาวะว่ามีสีแดงหรือไม่ อุจจาระมีสีดำหรือไม่ อุจจาระมีเลือดสดออกมาหรือไม่เป็นต้น (อุจจาระดำเกิดจากการรับประทานยาที่มีธาตุเหล็กหรือรับประทานเลือดไก่ เลือดหมู หรือการมีเลือดออกในทางเดินลำไส้ส่วนต้นเมื่อเลือดปนกับกรดในทางเดินอาหารส่วนต้นจะเปลี่ยนเป็นสีดำ)

หวังว่าคำแนะนำของหมอคงมีประโยชน์ต่อคุณนะคะ

ขออวยพรให้มีความสุขและปลอดภัยค่ะ

ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ