กระดานสุขภาพ

ทานมากแต่ถ่ายน้อยครับ
Bom_*****n

6 มกราคม 2556 12:31:24 #1

เรียนคุณหมอครับ ช่วงนี้ผมขับถ่ายไม่เป็นปกติครับ ทานเยอะ แต่ก็ถ่ายน้อย ถ่ายยากครับ พอดีผมไปอ่านนิตยสารสุขภาพเจอการทานขมิ้นช่วยในระบบขับถ่ายได้ จะมีอันตรายไหมครับ แล้วผมต้องทำอย่างไรครับดิ่มน้ำตอนเช้าหนึ่งแก้วก็เหมือนเดิมครับ คุณหมอช่วยแนะนำหน่อยครับ พอดีว่าผมจะไปซื้อขมิ้นันผง มาใส่ capsule เองได้หรือเปล่าครับ ขอคุณหมอช่วแนะนำหน่อยนะครับ เป็นกังวลมากครับ

อายุ: 24 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 73 กก. ส่วนสูง: 186ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.10 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

7 มกราคม 2556 15:42:38 #2

เรียน คุณ bom_banpan

ขออนุญาตนำข้อมูลเรื่องสมุนไพรขมิ้นชัน จาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ลองอ่านดูก่อนนะครับ
จะเห็นได้ว่า ไม่มีคุณสมบัติเรื่องยาระบาย ส่วนใหญ่ที่นำมาสกัดบรรจุในแคปซูล จะเน้นเรื่องท้องอืด แน่นท้อง
หรือรักษาแผลในทางเดินอาหารมากกว่านะครับ

ที่คุณแจ้งว่า กินมาก แต่ไม่ได้แจ้งประเภทของอาหารเข้ามา ว่าส่วนใหญ่เป็นประเภทใด เช่น ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยวหมู
พวกนี้ผักก็จะน้อยหน่อย ทานมาก ก็อิ่มมาก

อยากให้ลองปรับพฤติกรรมอื่น ๆก่อนจะพึ่งยานะครับ ต่อให้เป็นสมุนไพรก็ตาม

  1. ลดอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งมาก ๆ หรือ หมักดอง เช่น แป้งขัดขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน พวกนี้เป็นแป้งที่ถูกทำให้ขนาดเล็กลง ดังนั้นจึงไม่ช่วยเพิ่มกากใย
  2. เพิ่มผัก ผลไม้ ที่มีกากใยสูง เช่น ฝรั่ง (สุกนิดนึงนะครับ หากชอบแบบแข็ง ๆ พวกนี้จะใช้เป็นยาหยุดถ่ายแทน) มะละกอ กล้วย ส้ม ส่วนพวกที่ชุ่มน้ำ มักไม่ค่อยมีกากใย เช่น แตงโม ชมพู่ ถั่วงอก หรือบางประเภทมีรสหวาน/มันจัด หากรับประทานมาก ๆอาจส่งปัญหาต่อสุขภาพมากกว่า เช่น มะม่วงสุก ทุเรียน
  3. น้ำสะอาด อุ่น หรือ อุณหภูมิห้อง จะดีกว่า อย่างน้อย วันละ 6-8 แก้ว หากไม่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพ เพื่อให้อุจจาระมีสภาพนิ่ม จะถ่ายง่ายขึ้น
  4. การออกกำลังกาย ก็จะช่วยได้นะครับ พวกที่กินแล้วก็นั่ง ไม่ค่อยมีกิจกรรมการออกกำลังกาย ลำไส้ก็จะไม่มีการเคลื่อนไหวด้วย
  5. อย่าเครียด ความเครียดก็จะมีผลต่อการขับถ่ายนะครับ คุณเคยมีอาการกังวล จนบางครั้งอาจลืมอาการปวดถ่ายไปเลย เช่น ตอนสอบ

อยากให้อ่านบทความของอาจารย์พวงทองดูก่อนนะครับ ตามลิงค์ด้านล่างนี้
http://haamor.com/th/ท้องผูก/

หากปรับเปลี่ยนแล้วยังไม่ได้ผล หากอยากจะทานสมุนไพรแนะนำ

  1. มะขามแขกนะครับ จะช่วยเรื่องการขับถ่าย ทำให้มีน้ำเพิ่มเข้ามาในลำไส้ เร่งการบีบตัวของลำไส้ แต่ก็ไม่ควรทานเป็นประจำ เพราะลำไส้จะเคยชินกับสารเคมี ต้องใช้ยาเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ
  2. มะขาม หากชอบเปรี้ยว ลองมะขามเปียก จิ้มเกลือเล็กน้อยนะครับ

เลือก 1 ใน 2 นะครับ ร่วมกับการดื่มน้ำอุ่นสะอาดมาก ๆ อย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน ส่วนใหญ่ที่แนะนำมักจะได้ผล มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่ปริมาณผัก ผลไม้ที่รับประทานเข้าไป เพื่อเป็นกากใยในอุจจาระ

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมุนไพร ขมิ้นชัน

ขมิ้นชันเป็นพืชสมุนไพรที่มีมาแต่โบราณ แพทย์แผนไทยโบราณได้นำขมิ้นชันมาทำเป็นยาหลายตำรับซึ่งเป็นต้นแบบของยาหลายชนิด ในปัจจุบันนักวิทยาศาตร์ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและทดลองถึงคุณสมบัติทางเคมีของขมิ้นชัน (หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆคือ ศึกษาให้รู้ว่ามีสรรพคุณอย่างไรบ้าง) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ทางเลือกในการปรุงเป็นยาชนิดต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยได้ศึกษาค้นคว้ามายาวนาน จนมั่นใจได้ว่าสมุนไพรขมิ้นชันเป็นพืชที่มีประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ จนกระทั่งนำขมิ้นชันขึ้นทะเบียนในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่สรรพคุณขมิ้นชันจะเป็นรูปแบบของสรรพคุณอย่างง่ายๆที่ทุกคนหาอ่านได้ทั่วไปตามหนังสือ แต่ในรูปแบบที่เป็นการทดลองจากห้องทดลองยังไม่สามารถหาอ่านได้จากที่ไหน ผมเองจึงได้พยายามสรุปสรรพคุณของขมิ้นชันจากการทดลองทางวิทยาศาตร์มาให้ได้ลองอ่านกันดู โดยใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย เพื่อเป็นกันขยายและเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกไปให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้้น

ประโยชน์และสรรพคุณขมิ้นชันที่ควรรู้ (สรุปจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์)

  1. ต้านการเกิดแผลและสมานแผลในกระเพาะอาหาร ขมิ้นชันมันมีสรรพคุณในการสมานแผล ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น โดยเร่งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่เป็นแผล น้ำมันหอมระเหยของขมิ้นชัน นอกจากช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร โดยการกระตุ้น mucin มาเคลือบกระเพาะอาหารและยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยชนิดต่างๆได้
  2. ลดการอักเสบ มีผลการทดลองว่า ผงแห้ง น้ำคั้นและสารสกัดชนิดต่างๆมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบในร่างกายทุกชนิด และสารสำคัญในการออกฤทธิ์ลดการอักเสบ คือ สารที่มีชื่อว่า curcumin และเมื่อนำไปเทียบเคียงกับยาแผนปัจจุบันที่ช่วยบรรเทาการอักเสบที่มีชื่อว่า ฟีนิลบิวทาโซน (ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ข้อ เช่น รูมาตอยด์ เป็นต้น) พบว่า มีฤทธิ์ใกล้เคียงกันในการรักษาอาการอักเสบแบบเฉียบพลัน แต่จะมีฤทธิ์เพียงครึ่งเดียวในการรักษาอาการอักเสบแบบเรื้อรัง มีการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกและข้ออักเสบเรื้อรัง จำนวน 42 คน โดยใช้สมุนไพรที่มีส่วนประกอบของเหง้าขมิ้นพบว่า การได้รับสมุนไพรดังกล่าว สามารถลดความเจ็บปวดที่รุนแรงได้
  3. ต้านการแพ้ ขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการต้านการแพ้ โดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งของสาร histamine ของร่างกายเมื่อมีอาการแพ้
  4. ลดการบีบตัวของลำไส้ จากการทดลองทางคลินิกกับคนไข้จำนวน 440 คน อายุเฉลี่ย 48.5 ปี โดยการให้ทานขมิ้นชันทุกวัน วันละ 162 มิลลิกรัม พบว่า ขมิ้นชันมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ และยังช่วยในการขับลมและแก้อาเจียนด้วย
  5. ลดอาการแน่นจุกเสียด มีการทดลองในผู้ป่วยโรคท้องอืดท้องเฟ้อในโรงพยาบาล 6 แห่ง จำนวน 160 คน โดยรับประทานครั้งละ 2 แคปซูลวันละ 4 ครั้ง พบว่าได้ผลดีกว่ายาขับลมและผู้ป่วยพอใจ ซึ่งน้ำมันหอมระเหยของขมิ้นเป็นสารออกฤทธิ์ในการขับลม
  6. ขับน้ำดี ขมิ้นชันสามารถออกฤทธิ์เพิ่มการขับและกระตุ้นการสร้างน้ำดีได้ ซึ่งน้ำดีเป็นสารสำคัญในกระบวนการช่วยย่อยและดูดซึมอาหารของร่างกาย
  7. รักษาอาการท้องเสีย ตามตำรายาพื้นบ้านของไทย มีการใช้ขมิ้นรักษาอาการท้องเสีย โดยนำผงขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทานหลังอาหารและก่อนนอน ครั้งละ 3-5 เม็ด วันละ 3 เวลา และในประเทศอินโดนีเซียก็มีการใช้ขมิ้นในการรักษาอาการอุจจาระร่วงเช่นกัน และขมิ้นชันขนาด 1000 มก./ครั้ง/วัน มีผลทำให้อาการท้องร่วงในลูกสุกรระยะดูดนมแม่หายไป
  8. ต้านแบคทีเรีย ทั้งสารสกัดขมิ้นชัน น้ำมันหอมระเหย สาร curcumin และอนุพันธ์มีฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียชนิดต่างๆ เช่นแบคเรียที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร แบคทีเรียที่ทำให้เกิดเยื้อหุ้มฟันอักเสบ แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคท้องเสีย แบคทีเรียก่อโรคในกุ้ง แบคทีเรียที่ให้เกิดหนอง
  9. ต้านยีสต์และเชื้อรา ทั้งสารสกัดขมิ้นชัน น้ำมันหอมระเหย สาร curcumin และอนุพันธ์ มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่ายีสต์, เชื้อราชนิดต่างๆ เช่น เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง อย่างเช่น โรคกลาก ยีสต์ที่มีชื่อว่า Candida albicans ซึ่งเป็นเชื้อโรคฉวยโอกาสของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เบาหวาน เอดส์ เป็นต้น
  10. ต้านปรสิต สารสกัดจากขมิ้นสามารถที่จะฆ่าเชื้ออะมีบา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคบิดมีตัวได้
  11. ป้องกันตับอักเสบ ขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการป้องกันตับอักเสบ จากการทดลองในหนูขาวพบว่าขมิ้นชันสามารถป้องกันตับถูกทำลายจากใช้ยาพาราเซตามอล จากการทดลองในหนูขาวพบว่า สาร curcumin จากขมิ้นสามารถป้องกันตับจากการถูกทำลายด้วยเอทานอล โดยเอทานอลจะทำให้ตับทำงานหนัก และทำให้การทำหน้าที่และระดับของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดอนุมูล อิสระเพิ่มขึ้น แต่หลังจากที่หนูขาวได้รับสารสกัดขมิ้นชันร่วมกับการรับเอทานอลแล้ว ตับทำงานน้อยลง รวมถึงการทำหน้าที่และระดับของเอนไซม์ในตับลดลง (เอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่ทานได้ ซึ่งเหล้าก็เป็นเอทานอลแบบหนึ่ง)
  12. ต้านการกลายพันธุ์ (ต้านมะเร็ง) ขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านการกลายพันธุ์ ต้านสารก่อมะเร็งที่มีบทบาทสำคัญในโรคที่เกี่ยวกับเบาหวาน และโรคที่เกิดจากการเสื่อมของร่างกาย
  13. ต้านความเป็นพิษต่อยีน ขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการป้องกันความเสียหายของ DNA และต้านความเป็นพิษต่อยีน
  14. มีสรรพคุณสมานแผล ผงขมิ้นที่นำมาผสมกับน้ำแล้วทาลงบนแผลพบว่า ช่วยเร่งให้แผลที่ไม่ติดเชื้อของกระต่ายและหนูขาวหายได้ 23.3 และ 24.2% ตามลำดับ และสามารถเร่งให้แผลติดเชื้อของหนูขาวหายได้ 26.2% การทดลองทางคลินิค โดยทายาสมุนไพรซึ่งมีขมิ้นเป็นส่วนประกอบที่ผิวหนัง พบว่ามีฤทธิ์ในการสร้างเซลล์ผิวขึ้นใหม่ มีผู้ทดลองใช้สาร curcumin จากขมิ้นในการรักษาแผลหลังผ่าตัด 40 ราย พบว่าให้ผลลดการอักเสบได้เหมือนฟีนิลบิวทาโซน การทดลองใช้ขมิ้นหรือยาปฏิชีวนะ ในการรักษาแผลผุพองในผู้ป่วย 60 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ขมิ้น และกลุ่มที่ให้ยาปฏิชีวนะ แล้วติดตามดูแผลพุพองหลังการรักษา 21 วัน พบว่าผู้ป่วยทุกรายหายจากโรค และไม่พบภาวะแทรกซ้อนหรือข้อแตกต่างระหว่างการใช้ขมิ้นและยาปฏิชีวนะ มีการนำสารสกัดของขมิ้น มาพัฒนาตำรับเป็นครีมป้ายปาก แล้วทำการทดลองเพื่อสังเกตฤทธิ์ในการสมานแผล โดยทำการทดลองในอาสาสมัคร 30 คน พบว่าครีมป้ายปากที่มีสารสกัดขมิ้นชัน 1% มีผลทำให้แผลในปากหายภายใน 1 สัปดาห์

ที่มา http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/curcuma.html

 

เป็นกำลังใจให้ครับ
เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

Bom_*****n

8 มกราคม 2556 11:47:34 #3

ขอบคุณมากครับเรียนถามคุณหมอต่อนะครับ ผมชอบกินพวกผัดผักอ่ะครับ ทานหมูกะทะ สุกิ้ แต่ไม่ทานเนื้อสัตว์เลยครับ ซัดซะเต็มที่ แต่พอวันรุ่งขึ้นก็ไม่มีท่าทีว่าจะเจ็บท้องเข้าห้องน้ำ ก็ยังเหมือนเดิมครับ

ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

9 มกราคม 2556 14:57:59 #4

เรียน คุณ bom_banpan,

ลองค่อย ๆปรับพฤติกรรมดูนะครับ คงไม่สามารถปรับให้กลับมาถ่ายทุกวันได้เหมือนปกติ แต่ขอยืนยันมาตรการที่แนะนำนะครับ รับประทานผัก ผลไม้ ที่มีกากใยสูงมาก ๆ บวกกับการดื่มน้ำอย่างน้อย 2-3 ลิตร ต่อวัน ตื่นเช้ามาดื่มน้ำอุ่น 1-2 แก้ว จะค่อย ๆปรับให้ลำไส้บีบตัวได้มากขึ้นครับ ที่แจ้งว่าชอบทานสุกี้ พวกผักกาดขาวนี้เป็นพืชชุ่มน้ำครับ มีกากใยค่อนข้างน้อย สังเกตได้จากเวลาต้มแล้วจะฟุบเหลือปริมาณไม่มาก ถ้ามาก ๆจะเป็นพวกคะน้า กะหล่ำดอก บร็อคโคลีครับ ข้าวกล้อง เป็นต้น

 

เป็นกำลังใจให้ครับ
เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล