กระดานสุขภาพ

กินยา primolut n ทำให้มีลูกยากรึป่าวค่ะ
Punn*****1

4 ตุลาคม 2558 10:13:51 #1

สอบถามค่ะ คืนประจำเดือนไม่มาค่ะ ไปหาหมอมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ละครั้งหมอให้ยา primolut n มาทาน ประจำเดือนก็จะมา 3-4 เดือน แล้วก็หยุด เป็นแบบนี้ครั้งที่ 4 แล้วค่ะ อยากทราบว่ายาจะมีผลกับการมีลูกไหมค่ะ และจะทำอย่างไรให้ประจำเดือนมาปกติค่ะ เพราะอยากมีลูกมากค่ะ (ไปหาหมอหมอก็ไม่บอกอะไร ให้แต่ยามากกิน)
อายุ: 21 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 97 กก. ส่วนสูง: 167ซม. ดัชนีมวลกาย : 34.78 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

6 ตุลาคม 2558 08:34:53 #2

คำถามนี้ต้องแยกตอบเป็น 2 ประเด็นครับ คือ

1. ภาวะประจำเดือนผิดปกติ มักพบได้บ่อยในผู้ที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินค่อนข้างสูง สังเกตได้จากมักมีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวค่อนข้างมัน ขนค่อนข้างดก เป็นสิวง่าย ประจำเดือนมักมาช้า หรือมาปริมาณน้อย จึงทำให้เหมือนมีการคุมกำเนิดน้อย ๆไปตลอดทุกเดือน

การแก้ไขปัญหา

- แพทย์จะให้รับประทานยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนโปรเจสตินในขนาดสูง ๆ ทำให้คล้ายกับในช่วงท้ายของรอบเดือน เมื่อหยุดยาจะทำให้คล้ายกับช่วงที่จะมีประจำเดือน
เยื่อบุโพรงมดลูกจะเริ่มฉีกขาดและหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน
- หรือในบางกรณีที่ไม่มีข้อห้ามใช้ แพทย์อาจให้รับประทานยาคุมกำเนิด เพื่อปรับฮอร์โมนเพศและรอบประจำเดือนให้เข้าสู่สมดุล ซึ่งส่วนใหญ่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง 6 เดือน หรือในบางรายอาจถึง 1 ปี
- หากยังคงมีอาการมากและรุนแรง รบกวนคุณภาพชีวิต อาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เนื่องจากอาจเกิดความผิดปกติทางกายภาพ เช่น มีก้อนซิสต์อุดตัน หรือมีเนื้องอกที่ท่อนำไข่ หรือปากมดลูก
ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดประจำเดือนไม่ออกมาภายนอก

ในช่วงนี้นอกจากการแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการรับประทานยาแล้ว สิ่งที่จะช่วยได้อีก คือ การควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก โดยพบว่าสตรีที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานและมีไขมันในช่องท้องมาก มักจะมีภาวะประจำเดือนผิดปกติ เนื่องจากไขมันในช่องท้องนอกจากจะดูดซับฮอร์โมนเพศแล้ว ยังมีการหลั่งฮอร์โมนที่มีผลทำให้ร่างกายมีการกักเก็บสารอาหารเพิ่มเติม (คล้ายกับการหาเพื่อนมาสะสมเพิ่มมากขึ้น) และยังมีผลกดการทำงานของรังไข่ได้อีกด้วย
- รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน งดแป้งขัดสี รับประทานอาหารจำพวกข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต เพิ่มผักสด ผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ อาจเริ่มจากการออกกำลังกายเบา ๆก่อน หรือใช้การว่ายน้ำจะช่วยลดแรงกระแทกที่ข้อเข่าได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากการอดนอนทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด มีการหลั่งฮอร์โมนสเตียรอยด์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมักทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ เบาหวาน
ไขมันในเลือดสูง (รวมถึงภาวะเครียดจากงาน การเรียน ด้วย)

2. ภาวะมีบุตรยาก ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางกายภาพ เช่น มีการอุดตันของท่อนำไข่ รังไข่ไม่ทำงาน หรือทำงานไม่สมบูรณ์ (ทำงานข้างเดียว) กลุ่มอาการถุงนั้ำหลายใบในรังไข่ (PCOS)
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นต้น หรือมีความผิดของฮอร์โมนเพศ หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของฝ่ายชาย (ความผิดปกติของการสร้างอสุจิ หรืออสุจิไม่สมบูรณ์) เป็นต้น

ดังนั้นสรุปว่าตัวยารวมถึงยาคุมกำเนิดไม่ส่งผลต่อการมีบุตรยากนะครับ เป็นปัจจัยจากตัวบุคคลมากกว่าครับ

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเรา
ประจำเดือน (Menstruation)
แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
สูตินรีแพทย์
ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
พญ. หลิงหลิง สาลัง
สูตินรีแพทย์