กระดานสุขภาพ

อาการ สะอึก
Boon*****o

22 กุมภาพันธ์ 2557 05:36:24 #1

หลังทานอาหาร ประมาณ30นาที ผมจะมีอาการสะอึก กินน้ำเข้าไปเท่าไรอาการสะอึก ก็ยังไม่หาย เป็นมา 3วันแล้ว อยากขอคำแนะนำเกี่ยวกับอาการนี้ครับ ขอบคุณครับ

อายุ: 33 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 92 กก. ส่วนสูง: 145ซม. ดัชนีมวลกาย : 43.76 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
นพ.มงคล อังคศรีทองกุล

ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว

25 กุมภาพันธ์ 2557 04:58:16 #2

สะอึก เกิดจากการหดเกร็งทันทีทันใดของกล้ามเนื้อกระบังลม ซึ่งกั้นระหว่างช่องปอด และช่องท้อง เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวทำให้กล่องเสียงปิดทันทีด้วยทำให้เกิดเสียงสะอึก มักเกิดเป็นจังหวะ ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงแค่รบกวนทำให้รำคาญ แต่ถ้าเป็นติดต่อกันนานๆ หลายวันหรือเป็นเดือน อาจเป็นอาการส่วนหนึ่งของปัญหาสุขภาพ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดสะอึกพอๆกัน แม้แต่ในเด็กที่อยู่ในท้องก็สะอึกได้

ส่วนใหญ่ สะอึกไม่ได้เกิดจากสาเหตุร้ายแรงอะไร ที่พบบ่อย เกิดจาก

  • กินอาหารเร็วเกินไป กลืนอากาศเข้าไปพร้อมอาหาร คุยไปเคี้ยวอาหารไป
  • กินอาหารมากไป โดยเฉพาะ อาหารมันๆ รสเผ็ดจัด ดื่มน้ำอัดลม แอลกอฮอล์ ซึ่งจะทำให้กระเพาะขยายตัวมาก กระตุ้นกล้ามเนื้อของกระบังลมเกิดการสะอึกได้่
  • โรคบางโรค หรือความผิดปกติบางอย่าง ที่ไประคายเคืองเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อกระบังลม เช่น โรคตับ ปอดอักเสบ โรคปอดบางชนิด
  • การผ่าต้ดในช่องท้อง ถ้าไปกระทบกระเทือนเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อกระบังลม ก็ทำให้เกิดสะอึกได้
  • โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน หรือเนื้องอกในสมอง ที่เกิดบริเวณก้านสมอง ก็อาจมีอาการสะอึกร่วมด้วยได้

นอกจากนี้ อาจเป็นอาการข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยากรดไหลย้อน ยานอนหลับ ยากล่อมประสาทบางอย่าง กลิ่นควันระคายเคือง การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิทันทีทันใด หรือแม้กระทั่ง ความกลัว หรือตกใจ ก็ทำให้เกิดสะอึกได้

ส่วนใหญ่แล้ว อาการสะอึกมักหายไปเอง น้อยรายมากๆที่ต้องไปพบแพทย์ หรือเกิดจากโรคร้ายแรง ถ้าสะอึกนานติดต่อกันเกินสามชั่วโมง รบกวนการกิน การนอน หรือร่วมกับอาการอื่น เช่น ปวดท้อง มีไข้ อาเจียน หายใจลำบาก ไอมีเลือดปน ควรไปพบแพทย์

การรักษาสะอึกที่บ้านมีวิธีมากมาย วัตถุประสงค์ คือ

  • เพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด เช่น การกลั้นหายใจ นับหนึ่งถึงสิบในใจช้าๆ ทำซ้ำจนดีขึ้น หรือ หายใจในถุงกระดาษ หรือถุงพลาสติค
  • การกระตุ้นบริเวณคอหอย ซึ่งเป็นทางผ่านของเส้นประสาทจากสมองไปยังกระบังลม เช่น
    • กินน้ำเย็นหนึ่งแก้วเร็วๆ
    • กลืนน้ำตาลหนึ่งช้อนชาทันที
    • ดึงลิ้นออกมา เพื่อกระตุ้นตรงโคนลิ้น
    • กัดชิ้นมะนาวเปรี้ยว
  • การทำให้ตกใจทันที เป็นการกระตุ้นระบบประสาท ส่งผลให้กล้ามเนื้อกระบังลมคลายตัว

กรณีของคุณ boon.joho เป็นมาสามวันแล้ว ลองดูวิธีที่แนะนำนะครับ ดูน้ำหนักและส่วนสูง คุณ boon.joho ค่อนข้างอ้วน ถ้าไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ ถือโอกาสตรวจสุขภาพด้วยเลยครับ