กระดานสุขภาพ

อาการปวดขาบริเวณข้อพับค่ะ
Natt*****a

13 ตุลาคม 2561 02:38:41 #1

ตอนตื่นนอนตอนเช้าดิฉัรมีอาการปวดขาปวดมากๆๆบริเวณข้อพับขาข้างทั้ง2ข้างค่ะ จะปวดมากๆๆๆสักพักแร่วก็จะทุเลาลงค่ะ อาการปวดขาจะหายไปเหลือแต่ปวดบริเวณข้อพับที่ขาค่ะ จะปวดแต่ไม่มากค่ะ เป็นมา2วันแร่วค่ะ ดิฉันยังไม่ได้ทานยาอะไรค่ะ เพราะไม่รุ้ปวดเพราะอะไรค่ะ มีแต่ทายาหม่องบรรเทาอาการปวดค่ะ
อายุ: 18 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 47 กก. ส่วนสูง: 157ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.07 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

16 ตุลาคม 2561 15:42:57 #2

อาการหรือภาวะปวดกล้ามเนื้อเป็นอาการที่พบบ่อยอาการหนึ่ง กล้ามเนื้ออาจปวดและเจ็บเพียงเล็กน้อยหรือปวดมาก อาจเกิดอาการเฉพาะจุดหรือปวดทั่วทั้งตัว ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ นอกจากนั้นอาการปวดกล้ามเนื้อมักพบร่วมกับอาการต่างๆ เสมอ

อาการปวดกล้ามเนื้อพบได้ในทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย

สาเหตุ

  • การใช้กำลังเกินควร ออกกำลังกายมากเกินควร
  • อุบัติเหตุ เกิดการฟกซ้ำของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อฉีก
  • ความเครียด ส่งผลให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง
  • โรคกล้ามเนื้อเป็นตะคริว
  • การอักเสบของกล้ามเนื้อจากโรคต่างๆ เช่น จากโรคภูมิต้านตนเอง (โรคภูมิแพ้ตนเอง) เช่น โรคเอสแอลอี หรือโรคลูปัสหรือโรคพุ่มพวง (SLE หรือ Lupus)
  • กล้ามเนื้ออักเสบจากร่างกายติดเชื้อ เช่น จากโรคไข้หวัดใหญ่หรือเมื่อมีไข้จากการติดเชื้อชนิดต่างๆ
  • ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย เช่น เมื่อออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหักโหม
  • เป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาซับน้ำ ยาลดไขมันบางชนิด และยาเสพติดบางชนิด
  • ขาดวิตามินและเกลือแร่บางชนิด ส่งผลให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง เช่น วิตามินดีและแคลเซียม
  • โรคต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น โรต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคขาดฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต
  • จากการหยุดยาบางชนิดทันที เช่น หยุดยามอร์ฟินทันที หรือ บางครั้งจากการเลิกสุราทันที

อาการ

อาการปวดกล้ามเนื้อเกิดได้ตั้งแต่อาการน้อย หายได้เอง ไปจนถึงปวดมาก ต้องใช้ยาช่วย อาจเกิดตำแหน่งเดียวหรือทั่วทั้งตัว ขึ้นกับสาเหตุนอกจากนั้นมักเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ เสมอ ซึ่งแพทย์ใช้อาการร่วมเหล่านี้เป็นตัวช่วยสำคัญในการวินิจฉัยหาสาเหตุ

การวินิจฉัย

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุการปวดกล้ามเนื้อได้จากประวัติอาการต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติอุบัติเหตุ หน้าที่การงาน ประเภทกีฬา การใช้ยา การเลิกยาต่างๆ ประวัติการดื่มสุรา การตรวจร่างกาย และการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์

แนวทางการรักษา

แนวทางการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อคือ การรักษาสาเหตุและการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ใช้ยาบรรเทาปวด ยาคลายเครียด การนวดผ่อนคลาย (เกิดจากกล้ามเนื้อออกแรงมากเกินไป) การประคบร้อนหรือประคบเย็น ขึ้นกับสาเหตุ

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงจากอาการปวดกล้ามเนื้อขึ้นกับสาเหตุ

ความรุนแรงของโรค

ความรุนแรงของอาการปวดกล้ามเนื้อขึ้นกับสาเหตุเช่นกัน

การดูแลตนเองและการพบแพทย์

  • กินยาบรรเทาปวด เมื่อปวดมากและไม่หายไปเอง
  • พักใช้งานกล้ามเนื้อส่วนที่ปวด
  • ดูแลตามอาการร่วมอื่นๆ เช่น ยาลดไข้ เมื่อมีไข้สูง หรือประคบเย็น เมื่อมีการฟกซ้ำจากการล้มเพื่อช่วยลดบวม
  • กินอาหารมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อลดโอกาสติดเชื้อและลดความรุนแรงเมื่อเกิดจากการติดเชื้อ
  • รีบพบแพทย์ เมื่อ
    • มีอาการปวดมากขึ้น หรือปวดเรื้อรังเกิน 3-4 วัน หรือ กล้ามเนื้อมัดที่ปวดมีอาการบวม แดง ร้อน ซึ่งเป็นอาการของการอักเสบ
    • ปวดกล้ามเนื้อมากร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ไข้สูง
    • มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือมีอาการชา
    • มีอาการปวดเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ
    • มีอาการปวดเกิดขึ้นหลังจากได้ยาหรือเปลี่ยนยา เพราะอาจเกิดจากผลข้างเคียงของยา
    • มีอาการปวดมากขึ้นเรื่อยๆ
    • มีความกังวลในอาการ

การป้องกัน

การป้องกันอาการปวดกล้ามเนื้อคือ การป้องกันสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น ระมัดระวังอุบัติเหตุ ออกแรง และออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย และการรักษาสุขอนามัยพื้นฐานเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ