กระดานสุขภาพ

การใช้ยาโพรเลีย
Sapi*****n

19 กุมภาพันธ์ 2559 15:28:58 #1

ฉีดโพรเลีย 6 เดือน ครั้ง มา 3 เข็มแล้ว อยากทราบว่ายานี้ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเท่าใดคะ กลัวเป็นขากรรไกรตายค่ะ ขอบคุณค่ะ

อายุ: 59 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 45 กก. ส่วนสูง: 153ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.22 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

1 มีนาคม 2559 15:55:31 #2

ก่อนตอบคำถามของคุณ ขออนุญาตให้ข้อมูลตัวยา Prolia (denosumab)

ข้อบ่งชี้ - ใช้ยับยั้งไม่ให้มีการทำลายของกระดูก จึงทำให้มีการหนาตัวสะสม ช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย

การบริหารยา (วิธีการใช้ยา) ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง บริเวณที่เหมาะสมคือ หน้าท้อง โดยฉีด 1 เข็ม (60 มิลลิกรัม) ทุก 6 เดือน

ข้อห้ามใช้ - หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ภาวะไตวายเฉียบพลัน ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (ต้องได้รับตรวจและรักษาก่อนเริ่มต้นใช้ยานี้)

ข้อควรระวัง - ก่อนการได้รับยาต้องได้รับการตรวจรักษาฟันให้เรียบร้อย เนื่องจากตัวยาอาจทำให้การสร้างกระดูกใหม่เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะหากต้องมีการถอนฟัน

- เมื่อได้รับยาแล้วต้องดูแลสุขภาพในช่องปากเป็นอย่างดี เพื่อหลีกเลียงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขากรรไกรตาย (ONJ - Osteonecrosis of the Jaw) เช่น การไม่ดูแลความสะอาดในช่องปาก การสวมฟันปลอมที่ไม่พอดี ภาวะติดเชื้อ ภาวะโลหิตจาง การได้รับยาเคมีบำบัด เป็นต้น

- ผู้ที่ได้รับยานี้ต้องได้รับแคลเซียมอย่างน้อยวันละ 1 กรัม และวิตามินดี 400 ยูนิต

- ยานี้อาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงในที่ชุมชน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือหากจำเป็นต้องสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆด้วยเจลล้างมือ

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อย - ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้น้อย - การติดเชื้อได้ง่าย ภาวะขากรรไกรตาย

ปฏิกิริยาระหว่างยา - ไม่ควรใช้ร่วมกับยาที่กดภูมิคุ้ืมกัน รวมถึงสเตียรอยด์ จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือ ยากลุ่มรักษาภาวะกระดูกพรุน กลุ่ม Bisphophonates เนื่องจากมีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายกัน

คำแนะนำในการปฏิบัติตน

- ผู้ป่วยควรได้รับแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ หมั่นสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณนำของภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ เช่น กล้ามเนื้อเกร็ง กระตุก ตะคริวบ่อยๆ

- สังเกตอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเป็นอาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน บวมแดง ลมพิษ หายใจขัด หน้าบวม ตาบวม ริมฝีปากบวม หายใจขัด หากมีอาการดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์ใกล้บ้านทันที

- สังเกตภาวะติดเชื้อ เช่น ไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ปัสสาวะแสบขัด

- ต้องดูแลสุขภาพในช่องปากเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องการแปรงฟัน การเลือกฟันปลอมที่เหมาะพอดี การทำความสะอาดหินน้ำลายประจำ 6 เดือน สังเกตอาการที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขากรรไกรตาย เช่น ปวดฟันต่อเนื่อง เหงือกบวม มีหนองไหลจากเหงือกหรือฟัน

- สังเกตอาการปวดผิดปกติและต่อเนื่อง เช่น สะโพก หรือต้นขา ฯ

จากข้อมูล อาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เอง ไม่ได้พบบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงได้ด้วยการดูแลความสะอาดในช่องปาก ส่วนข้อมูลผลการใช้ยาและความปลอดภัยจากการใช้ยา เท่าที่มีคือใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้ต้องหมั่นสังเกตอาการ เนื่องจากไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย

นอกจากการใช้ยาแล้ว ต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นสารอาหารให้ครบถ้วน เพิ่มผักสด ผลไม้ที่่มีรสไม่หวานจัด ร่วมกับการออกกำลังกายชนิดที่มีการกระทบของฝ่าเท้าและพื้น เพื่อให้มีแคลเซียมเสริมสร้างกระดูกที่ขาและเท้า (เช่นการเดิน วิ่ง หรือเต้นแอโรบิค แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อเลือกวิธีการที่เหมาะสม) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
แนะนำเพิ่มเติม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรประจำสถานพยาบาลทันที ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ ซึ่งอาจช้าไม่ทันการ ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือไม่เหมาะสมกับภาวะร่างกายหรือโรคประจำตัว ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือถึงแก่ชีวิตได้

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

ข้อมูลอ้างอิง
http://www.drugs.com/cons/prolia.html

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์

เอ็กซ์เรย์ขากรรไกรกับภาวะกระดูกพรุน
โดย ดร.วิทยา มานะวาณิชเจริญ