กระดานสุขภาพ

ผมเป็นนักกีฬาฟุตบอล เกิดอุบัติเหตุตอนแข่ง หัวเข่าบิด ยังมีอาการเจ็บมานานกว่า สี่ เดือนละคับ
Boom*****k

17 กุมภาพันธ์ 2555 17:00:15 #1

ผมเป็น นร. อยู่นะคับ ม.6 

เกิดอุบัติเหตุตอนแข่ง หัวเข่าข้างขวา บิด ตอนนั้น เจ็บอย่างมาก จึงเล่นต่อไม่ไหว หลังจากจบการแข่งได้ไปหาหมอที่คลีนิค หมอบอก ว่า เอ็นรอบหัวเข่าฉีก 20% ต้องพักอย่างน้อย สองเดือน 

ผ่านมา สี่ เดือนละครับยังมีอาการเสียวๆตรงหัวเข่า สามารถเดินได้ ปกติ วิ่งได้ แต่ไม่กล้าวิ่งเร็ว ไม่ได้เล่นฟุตบอล มานานแล้วคับ

อาการอย่างผมต้องถึงขั้น ผ่าตัดไหมครับ

แล้วจะทำยังไงถึงหายขาดไม่ให้มีอาการอีก มีพี่ๆ บอกว่าต้องผ่าตัดอย่างเดียว จริงไหมคับ

อยากกลับมา เตะบอลอีก นะคับ เห็นเพื่อนเล่นกัน คิดถึง

ช่วยแนะนำด้วย ครับ 

 

อายุ: ปี เพศ: น้ำหนัก: กก. ดัชนีมวลกาย : 0.00 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว)

16 ตุลาคม 2555 08:44:40 #2

ตอบคำถามคุณ wisawakit เป็นข้อๆนะครับ

หลังการผ่าตัด ปัจจุบันแนะนำให้เคลื่อนไหวเลยครับแต่เดินเท่าที่สามารถทำได้ เมื่อกล้ามเนื้อขารู้สึกว่าล้าก็ควรหยุดพักครับ ดังนั้นควรเดินมากกว่านั่ง เคลื่อนไหวเท่าที่ทำได้ครับแต่ช่วงแรกถ้ายังไม่สามารถลงน้ำหนักได้เต็มที่ ก็ใช้เครื่องช่วงพยุงเดินตามความเหมาะสมครับ

ท่านั่งไม่ได้มีคำแนะนำอะไรครับ แต่เนื่องจากเอ็นไขว้หน้าทำหน้าที่ป้องกันการเคลื่อนไหวขาส่วนล่างไปด้านหน้า ผมแนะนำไม่ให้นั่งเหยียดขาให้ตึงมากนักครับ

การออกกำลังกายเพื่อช่วยให้เข่ามั่นคงสำหรับผู้ที่ผ่าตัดซ่อมแซมเอ็นไขว้หน้า คือ การออกกำลังกายกล้ามเนื้อ hamstrings ซึ่งประกอบด้วยกล้ามเนื้อ biceps femoris อยู่ทางด้านนอก และกล้ามเนื้อ semimembranosus และ semitendinosus อยู่ทางด้านใน ดังในภาพด้านล่าง ซึ่งกล้ามเนื้อทุกมัดทำงานร่วมกันเพื่อการงอเข่าครับ

กล้ามเนื้อ hamstrings
 
รูปประกอบอ้างอิงจาก: http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00408
 

ควรเริ่มการออกกำลังกายจากเบาๆก่อน ด้วยท่า leg curls  ดังภาพด้านล่าง ควรเริ่มทำจากยกขาโดยไม่มีน้ำหนักก่อนในช่วงแรก ประมาณ 20 ครั้งต่อ 1 เซต ประมาณ 2-3 เซตต่อวัน สัปดาห์ละ 4-5 วัน เมื่อกล้ามเนื้อขาเริ่มแข็งแรงขึ้น ไม่มีอาการเจ็บแล้ว ก็ควรเพิ่มน้ำหนักผูกไว้กับข้อเท้า เช่นการใช้ถุงทรายครับ ค่อยๆเพิ่มน้ำหนักทีละน้อยนะครับ น้ำหนักต้องเบาพอให้งอเข่าได้สุดและทำติดต่อกันได้ 20 ครั้ง ในขณะที่ทำ หากต้องการเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อ semimembranosus และ semitendinosus ที่อยู่ทางด้านใน ก็ให้หมุนข้อเท้าให้ปลายเท้าชี้เข้าด้านในหากันครับ แต่ถ้าต้องการเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อ biceps femoris ที่อยู่ทางด้านใน ก็ให้หมุนข้อเท้าให้ปลายเท้าชี้ออกด้านนอกแยกออกจากกันครับ

ท่า leg curls

รูปประกอบอ้างอิงจาก: http://haamor.com/media/users/webboard/pasakorn-254-1.jpg

 

หลังจากทำการฝึกกล้ามเนื้อได้แข็งแรงจนหาน้ำหนักผูกกับข้อเท้าที่หนักได้ยาก ก็ควรไปฝึกกล้ามเนื้อกับเครื่องมือพวก weight machine ในท่าเดียวกัน ดังภาพด้านล่าง โดยใช้น้ำหนักมากขึ้น ซึ่งการใช้ weight machine แม้ใช้น้ำหนักมากขึ้นแต่ก็จะปลอดภัยเนื่องจากมีรอกช่วยในการเคลื่อนไหวในช่วงที่งอเข่าได้ยากครับ

การฝึกกล้ามเนื้อกับเครื่องมือ weight machine

รูปประกอบอ้างอิงจาก: http://101exercises.com/hamstring-exercise-in-specific-machine.html

 

หลังจากยกน้ำหนักในท่า leg curls ได้มากระดับหนึ่ง (ออกกำลังกายลักษณะ open-kinetic chain เท้าไม่ติดพื้นรับน้ำหนัก) กล้ามเนื้อขาข้างที่ผ่าตัดแข็งแรงรู้สึกไม่ต่างจากกล้ามเนื้อขาข้างที่ไม่บาดเจ็บแล้ว แนะนำให้ออกกำลังกายกล้ามเนื้อ hamstrings ในลักษณะ close-kinetic chain เท้าติดพื้นรับน้ำหนัก ท่าที่แนะนำ คือ good mornings ในลักษณะงอเข่าครับ ไม่แนะนำย่อตัวลงในท่าเหยียดเข่าตึงครับ ทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้โดยเฉพาะในกรณีคนที่เคยผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า ให้เริ่มจากน้ำหนักที่เบาก่อน จำนวนครั้งที่ทำต่อเนื่องผมแนะนำให้ทำน้อยกว่าท่า leg curls แค่ 10 ครั้งติดต่อกัน ขณะเอนลำตัวไปด้านหน้า ให้หายใจเข้า คงหลังให้อยู่ในแนวตรง ขณะเอนลำตัวกลับไปในท่าตั้งต้น ให้หายใจออก เมื่อเริ่มแข็งแรงขึ้น ก็เพิ่มน้ำหนักได้ แต่ไม่แนะนำให้เน้นน้ำหนักที่มากเกินไป เน้นให้ทำจำนวนเซทที่ทำต่อวันให้มากขึ้นครับ

ท่า good mornings

รูปประกอบอ้างอิงจาก: http://www.get-fitonline.co.uk/good-mornings/

 

นอกจากออกกำลังกายเสริมกล้ามเนื้อด้วย (strengthening exercise) ควรทำการออกกำลังกายเพิ่มความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ hamstrings (flexibility exercise) ไปพร้อมๆกันครับ ดังรูปด้านล่างครับ เมื่อยืดกล้ามเนื้อแล้วในคงข้างในท่านั้น 10 วินาที พัก 10 วินาที ทำ 5 ครั้งต่อเนื่องกัน อย่างน้อย วันละครั้ง อย่างไรก็ตามในช่วงแรกไม่แนะนำให้เหยียดตัวมากจนสุดครับเพราะจะทำให้เข่าตึงมาก อาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าได้ครับ ควรทำกับขาทั้ง 2 ข้างครับ ขาข้างที่แข็งแรงการทำก็เป็นการป้องกันการบาดเจ็บกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังและเอ็นไขว้หน้าได้ครับ

การออกกำลังกายเพิ่มความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ hamstrings

รูปประกอบอ้างอิงจาก: http://www.fpes.com.au/index.php?content=rehab&stretch=hammies

 

หมอนรองกระดูกโดยทั่วไปแบ่งการบาดเจ็บเป็น 3 ระดับครับ โดยดูจากภาพรังสี MRI ครับ ส่วนใหญ่ถ้าไม่มีเอ็นข้อเข่าฉีกขาด ต้องเป็นรุนแรง grade 3 จึงจะควรทำผ่าตัด ส่วนใหญ่ปัจจุบันทำแบบส่องกล้องครับ แม้ว่าหมอนรองกระดูกจะขาดหมด ก็เล่นฟุตบอลได้ครับ แต่โดยทั่วไป ทางเวชศาสตร์การกีฬาจะแนะนำให้ฝึกกล้ามเนื้อ hamstrings ให้แข็งแรงกว่าเดิมก่อนการบาดเจ็บ 20% ซึ่งการฝึกก็สามารถใช้ทำ leg curls และ good mornings ได้ครับ แต่ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 1 ปีของการฝึกความแข็งแรงกล้ามเนื้อ hamstrings อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รวมทั้งน้ำหนักในการฝึกค่อนข้างมากพอสมควรครับ หากกล้ามเนื้อ hamstrings ของขาข้างที่ได้รับการผ่าตัดกลับมาแข็งแรงมากกว่าเดิมก่อนบาดเจ็บ 20% จะทำให้อัตราการเกิดการบาดเจ็บซ้ำของเอ็นไขว้หน้าไม่ต่างจากการบาดเจ็บโดยเฉลี่ยในนักกีฬาที่ไม่เคยบาดเจ็บข้อเข่ามาก่อนครับ หากจะทดสอบความแข็งแรงของ hamstrings แบบทางเวชศาสตร์การกีฬาจริงๆต้องทดสอบความแข็งแรงด้วยเครื่อง isokinetics ในท่า knee flexion ครับ

 

 

Wisa*****t

18 ตุลาคม 2555 08:18:51 #3

ขอบคุณหมอมากครับ 

แล้วการกายภาพบำบัดเราควรเริ่มทำตั้งแต่ตอนไหนครับแล้วหมอจะแนะนำการกายภาพแบบใดสำหรับ กรณีของผม

คือตอนนี้ผ่ามาได้  เริ่มเข้า  วันแรกของสัปดาห์ที่ 2 แล้วครับ  ตอนนี้เดินพอได้ลงน้ำหนักไม่ได้มากพอนั้งหรือนอนนานๆ
พอลุกขึ้นมารู้สึกแผลและกล้ามเนื้อจะหนักๆ ตึง ตอนนี้รู้สึกเบาๆลงแล้วครับ ในระหว่างนี้ผมควรกายภาพแบบเบาๆ หรือแบบไหนได้ครับหมอ ขอบคุนครับผมอ  จะติดตามเรื่อยๆ 

ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว)

18 ตุลาคม 2555 12:43:40 #4

ฟังจากข้อมูลคุณ wisawakit อาการอยู่ในเกณฑ์ปกติสำหรับ 1 สัปดาห์ของการผ่าตัดครับ ช่วงนี้จะเริ่มเดินได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังลงน้ำหนักไม่ได้เต็มที่ คงจะต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ การลงน้ำหนักจึงจะเริ่มปกติ

 

ช่วงนี้แนะนำให้เดินให้มากขึ้นวันละเล็กน้อย พยายามลงน้ำหนักขาข้างผ่าตัดให้มากขึ้นอย่างชัดเจนในทุกสัปดาห์ที่ผ่านไป ที่สำคัญพยายามลองเคลื่อนไหวข้อเข่าในช่วงมุมที่งอจนเหยียดให้มากระดับหนึ่ง ช่วงแรกนี้อาจจะทำในช่วงงอเข่า 60-90 องศาจนเหยียดเข่าสุด ในขณะที่เดิน ถ้าเคลื่อนไหวเข่าในช่วงนี้สะดวกไม่มีปัญหาอะไร สัก 1 สัปดาห์ ผมคิดว่าสามารถเริ่มทำ leg curl โดยไม่ใช้น้ำหนักผูกที่ข้อเท้าได้เลยครับ ช่วงแรกอาจทำแค่ เซทละ 10 ครั้งก่อนก็ได้ครับ หลังจากที่เริ่มทำได้ก็เพิ่มเป็น 20 ครั้ง ในช่วงนี้ต้องพยายามดูว่าข้อเข่าเคลื่อนไหวงอได้อย่างน้อย 120 องศาหรือไม่ ถ้าได้จึงค่อยเริ่มใส่น้ำหนักที่ข้อเท้า ขณะทำ leg curl เริ่มจาก 1 ปอนด์ เพิ่มขึ้นไปทีละน้อย ผมแนะนำว่าแต่ละช่วงของการพัฒนาไปสู่การเคลื่อนไหวที่หนักขึ้น ควรให้เวลาในแต่ละช่วงอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ครับ

 

การพัฒนาการเคลื่อนไหว (ทำกายภาพบำบัด) ในแต่ละคนหลังผ่าตัดใช้เวลาไม่เท่ากันครับ ดังนั้นจึงไม่มีโปรแกรมสำเร็จรูป คงต้องทำไปทีละขั้นตามที่บรรยายไว้ก่อนหน้านี้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าแต่ละระยะ เช่น leg curl ไม่มีน้ำหนัก leg curl มีน้ำหนัก การใช้ weight machine และการทำท่า good morning แต่ละระยะใช้เวลาเท่าไร ความแตกต่างนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่ใช้เพิ่มในแต่ละระยะด้วยครับ (การทำการเคลื่อนไหวในระยะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือเป็นการทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าอย่างหนึ่งครับ)

 

อย่างไรก็ตาม ผลดีของการเริ่มเคลื่อนไหวเข่าให้เร็ว ทำบ่อย ออกแรงกล้ามเนื้อต้นขาให้มาก จะทำให้ข้อเข่าไม่ติดขัดและกล้ามเนื้อรอบเข่าไม่ลีบเล็กลงครับ

Wisa*****t

19 ตุลาคม 2555 03:02:57 #5

ขอบคุนคับแต่ตอนนี้ ผมใสที่ล็อคเข่าหมอเค้าล้อคไว้ที่เพียง 30 องสาเองครับผมแต่วันที่ 29 หมอนัดไปอีกรอบอาจจะเพิ่มเป็น 60 องศา ครับผม แนะนำผมอย่างไรดีครับ ขอบคุนครับ 

ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว)

19 ตุลาคม 2555 13:01:22 #6

ให้คุณ wisawakit เคลื่อนไหวแค่ 30 องศาไปก่อนจนกว่าแพทย์จะเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวข้อเข่าเป็น 60 องศา ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้น่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการผ่าตัดครับ ว่าหลังการต่อ ACL แพทย์เห็นว่า graft ที่เชื่อมแล้ว ต้องรอความแข็งแรงนานสักนิดก่อนเพิ่มการเคลื่อนไหวขึ้น สรุป คือ ให้คุณ wisawakit เคลื่อนไหวข้อเข่าเท่าที่แพทย์กำหนดที่ตัวล๊อคเข่าครับ เพราะแพทย์ที่ผ่าตัดจะรู้ดีที่สุดว่าการต่อ ACL ได้ดีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะการขาดและตัว graft ที่ใช้เชื่อมครับ

Wisa*****t

20 ตุลาคม 2555 02:20:55 #7

ขอบคุนคับหมอและมีวิธีการอย่างไรที่จะทำกายยาพเบาๆหรือการบริหารเข่าหรือกล้ามเนื้อเบาๆ ในระหว่างการล็อคเข่า 30 องศา ?????

อาการของผมตอนนี้คือนั่งนานๆเหียดขานานๆ พอลุกขึ้นเดินเริ่มไม่ปวดแล้วครับ......   แต่รู้สึกว่าจะมีกล้ามนื้อหลังต้นขาเวลากดไปจะรู้สึกเป็นก้อนๆปวดๆนั่งเต็มก้นไม่ได้อยากทราบว่าเป็นอาการปกติหรือว่าผิดปกติอย่างไรครับ ขอบคุนครับ 

 

แล้วในระหว่างนีั้้ผมยังยกขาข้างผ่าตัดไม่ได้ต้องมีคนช่วยยกขึ้นยกลงอยุ่ผมอยากทราบอีกว่าควรหัดยกขาเองได้หรือไม่ถ้าได้ด้วยวิธีการแบบไหนจะจะไม่เป้นผลเสียครับขอบคุณมากๆครับ 

ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว)

20 ตุลาคม 2555 13:32:31 #8

แนะนำให้คุณ wisawakit รอพบคุณหมอที่ผ่าตัดก่อนนะครับสำหรับเรื่องก้อนที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังเพราะว่าการผ่าตัดต่อเอ็นไขว้หน้าโดยปกติต้องเอาเอ็นบริเวณอื่นไปใช้ต่อแทนเอ็นไขว้หน้าที่ขาด ซึ่งเอ็นที่นิยมใช้มีอยู่ 2 ที่ คือ เอ็นของกระดูกสะบ้า (patellar tendon) หรือ เอ็นที่มาจากกล้ามเนื้อมัดหนึ่งของ hamstrings คือ เอ็นของกล้ามเนื้อ semitendinosus เป็นต้น ดังนั้นปัญหาที่คุณ wisawakit รู้สึกว่าจะมีกล้ามเนื้อหลังต้นขาเวลากดไปจะรู้สึกเป็นก้อนๆปวดๆนั่งเต็มก้นไม่ได้ อาจเกิดจากกรณีที่แพทย์เลือกเอ็นของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังมัดหนึ่ง (semitendinosus) เพื่อมาใช้ต่อแทนเอ็นไขว้หน้าที่ขาดไปครับ บริเวณนั้นจึงอาจจะยังมีอาการอักเสบหรือบาดเจ็บอยู่นะครับ แนะนำว่าคำถามนี้ควรปรึกษาแพทย์ที่เป็นผู้ที่ผ่าตัดคุณ wisawakit โดยตรงครับ


ตอนนี้เนื่องจากแพทย์ที่เป็นผู้ผ่าตัดคุณ wisawakit ยังล๊อคให้เข่าเคลื่อนไหวได้เพียง 30 องศา การออกกำลังกายหรือกายภาพในช่วงนี้ก็ให้เคลื่อนไหวแค่ในช่วงนี้ เรียกการออกกำลังกายแบบนี้ว่า isotonic exercise ซึ่งเหมาะกับทุกคนที่ไม่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวข้อต่างๆ


สำหรับคุณ wisawakit ถ้าจะออกกำลังกายจริงๆในช่วงนี้ มีการออกกำลังกายอีกแบบหนึ่งที่ทำได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่แนะนำให้คนทั่วไปทำ แต่เหมาะกับคุณ wisawakit ที่ในขณะนี้ ที่แพทย์กังวลเรื่องการบาดเจ็บของข้อที่ผ่าตัดและคุมช่วงการเคลื่อนไหวของข้อนั้น เรียก การออกกำลังกายนี้ว่า ว่า isometric exercise การออกกำลังกาย หลักการง่ายมาก คือ เกร็งกล้ามเนื้อมัดที่ต้องการออกกำลังกาย ทำประมาณ 5 วินาที สลับกับพัก 5 วินาที ทำไม่เกิน 10 ครั้งติดกัน ทำเท่าที่ทำได้ ถ้าทำมากกว่านี้มักจะเกิดการปวดเมื่อยเพราะว่า การเกร็งกล้ามเนื้อจะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้น้อยลงมาก ทำให้เกิดกรดแลกติกคั่งในกล้ามเนื้อ ปวดกล้ามเนื้อได้ ต้องพักยาวๆสักครึ่งชั่วโมง ค่อยทำใหม่ ถ้าอยากทำมาก ก็ทำ เช้า สาย กลางวัน บ่าย เย็น ค่ำ ก็ได้ครับ กล้ามเนื้อที่เหมาะจะทำที่สุด คือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง แต่ส่วนใหญ่สามารถออกกำลังกายเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าพร้อมกันไปได้ครับ ถ้าทำยิ่งบ่อยเท่าไร กล้ามเนื้อขาจะแข็งแรงกลับมาทำกิจกรรมต่างๆได้เป็นปกติเร็วขึ้น


กล้ามเนื้ออื่นที่ออกกำลังกายแบบ isometric exercise ได้ คือ กล้ามเนื้อที่กางและหุบขา ทำโดยการนั่งเหยียดขาไปกับพื้น แล้วกางขาออกและหุบขาเข้า ขณะที่กางขาและหุบขาควรมีแรงต้านบ้าง เช่น การหุบขาหนีบลูกฟุตบอลด้วยปลายเท้า หรือ การกางขาไปดันกับผนัง เป็นต้น

 

เรื่องการยกขา ขอให้คุณถามจากแพทย์ที่ผ่าตัดคุณดีกว่าครับ เพราะว่าการยกขาใช้แรงกล้ามเนื้อต้านแรงโน้มถ่วงของโลกค่อนข้างมาก จะทำให้เกิดความตึงต่อเอ็นที่ต่อค่อนข้างมาก ซึ่งความแข็งแรงของเอ็นที่ต่อขึ้นอยู่กับลักษณะการขาดของเอ็นไขว้หน้า เอ็นที่นำมาใช้ต่อ รวมทั้งระยะเวลาหลังการผ่าตัด แพทย์ที่ผ่าตัดจะประมาณระยะเวลาที่เอ็นจะแข็งแรงพอที่จะยกขาได้ดีที่สุดครับ

Sara*****t

23 ตุลาคม 2555 07:07:25 #9

ผมเป็นนักกีฬาฟุตบอลเหมือนกันครับ เกิดอุบัติเหตุในสนาม เนื่องจากผมกระโดดขึ้นเอาเท้าข้างขวาจับบอล แล้วจังหวะลง ขาซ้ายลงผิดท่า(เหมือนเข่าจะแบะเข้าด้านใน)และมีเสียงดีงเกร๊าะ ผมล้มทั้งยืน เจ็บมากๆครับ หลังจากนั้นผมไปหาหมอที่คลีนิก หมอบอกสงสัยเอ็นรอบเข่าจะฉีก เลยให้ยามาทาน และให้พักการเล่นฟุตบอลประมาณ 2 เดือน  ลำบากมากครับ แต่อาการก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ค่อยเจ็บเหมือนเดิม แต่ว่าเหยียดขาตึงไม่ได้ และงอเข่าไม่ได้ แล้วเวลาเดินบางจังหวะ จะมีเสียงลั่นในเข่า ผมพักมากว่า 4 เดือนครับ จนผมนึกว่าไม่เป็นอะไรแล้ว จึงกลับไปเล่นใหม่ และปรากฎว่ายิ่งหนักครับ แต่อาการหายเจ็บเร็วกว่าเดิม เพราะแต่ก่อนต้องพักเป็น 3 4 เดือน แต่ครั้งที่ 2 พักแค่เดือนสองเดือน ก็ดีขึ้นแล้ว  จึงไปเล่นอีก คราวนี้ของจริงครับ จนผมรู้สึกว่าเข่าหลวมกว่าเดิมพอสมควร และเจ็บมากครับ เจ็บเวลา เดินแล้วกลับตัว เวลาหันทางซ้าย อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำหน่อยครับ ผมเป็นมา ได้เกือบ 2 ปีแล้วครับ ตอนนี้ผมอายุ 19 ผมอยากรู้ว่า ผมยังมีโอกาสหายหรือเปล่าครับ ผมอยากกลับมาเล่นบอลได้เหมือนเดิม ทรมาณมากครับเวลาเห็นเพื่อนๆแข่ง แล้วเราเตะกับเขาไม่ได้ อยากกลับมาเล่นได้เหมือนเดิมครับ  ขอบคุณคุณหมอล่วงหน้าครับ

ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว)

23 ตุลาคม 2555 13:46:18 #10

จากข้อมูลคุณ sarawut ที่เล่ามา คุณ sarawut มีอาการบาดเจ็บเข่าระหว่างการเล่นฟุตบอลหลายครั้ง การบาดเจ็บแต่ละครั้งได้รับการรักษาแต่ไม่หายสนิทจากการบาดเจ็บ มีการบาดเจ็บเพิ่มเติมมาหลายครั้งในช่วงระยะเวลา 2 ปี สันนิษฐานว่าอาการเข่าหลวมในปัจจุบันน่าจะมีการฉีกขาดของเอ็นข้อเข่าอย่างน้อย 1 เส้น อาจมีอาการบาดเจ็บหมอนรองกระดูกเข่าและกระดูกอ่อนของเข่า


ผมแนะนำให้คุณ sarawut ไปตรวจกับศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ คาดว่าแพทย์จะส่งตรวจ MRI เพื่อตรวจประเมินการบาดเจ็บทั้งหมดของข้อเข่าว่ามีการบาดเจ็บอะไรบ้าง แต่ละการบาดเจ็บมีความรุนแรงมากน้อยเพียงไร เพื่อวางแผนแนวทางในการรักษาครับ


ที่คุณ sarawut กังวลว่าการรักษาจะหายหรือไม่ ขอตอบว่าหายสนิทได้ครับ แต่กรณีที่มีการบาดเจ็บค่อนข้างมาก เช่น เอ็นร่วมกับหมอนรองกระดูก หรือ เอ็นหลายเส้น เป็นต้น การรักษาที่จะทำให้เข่าหายสนิทเป็นปกติเหมือนเดิมเลย ส่วนใหญ่มักต้องทำการผ่าตัดร่วมกับทำกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัดเป็นเวลาค่อนข้างนาน อาจมากถึง 1 ปี ได้ครับ แต่ถ้าทำได้ตามแผนการรักษาที่เหมาะสม เข่าจะแข็งแรงพอที่จะกลับไปเล่นฟุตบอลได้เหมือนเดิมครับ

Panu*****a

24 ตุลาคม 2555 11:31:09 #11

สวัสดีครับ อยากถามวิธีรักษาหน่อยครับ ผมอายุ 27 ปี ครับ ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นฟุตบอลครับ เหมือนเข่าจะพลิกครับ ลักษณะ คือ ผม หมุนตัวเตะแล้วใช้เท้าขวาแปบอลครับ มีเสียงดัง กรึ้ก ตรงเข่า ลุกไม่ขึ้นเลยครับ ก็เอาน้ำแข็งประคบ เช้ามามันบวมครับ เดินลงน้ำหนักมากไม่ได้เลย ก็เลยไปนวดกดจุด ก็ดีขึ้นเล็กน้อย เดินได้ลงน้ำหนักได้เยอะขึ้น แต่ยังบวมอยู่ครับ ตอนนี้สองสัปดาห์แล้ว มีอาการบวมเล็กน้อย แต่เวลานั่งยองๆผมนั่งไม่ได้เลยครับ รู้สึก ตึง ที่เข่าขวามาก ต้องลุกทันทีเลย แล้วก็เวลาเดิน เข่าขวาด้านนอกมันจะลั่นตลอดเลย ครับ จะเดิน หรือ พลิก ตัว ก็ดัง ครับ ผมเลยอยากทราบว่าอาการของผมต้องไปพบแพทย์มั้ยครับ หรือ แค่ ไปนวดกดจุด กับ กินยาช่วย ก็พอ ขอบคุณมากครับ
Panu*****a

24 ตุลาคม 2555 12:03:04 #12

เพิ่มเติมครับ ตอนยืนตรงเนี่ยผมก็ยืดขาขวาสุดไม่ได้ครับ เหมือนมันต้อง งอ ไว้ นิดนึง อ่ะ ครับ เหมือนมันมีอะไรมาขวางไว้ตรงกลางหัวเข่า ทำให้ยืดสุดๆไม่ได้อ่ะคับ ตอนนั่งลองยืดก็พอยืดได้นะครับ แต่ ตอนยืนยืดสุดไม่ได้เลย มองในกระจก เหมือนขาสองข้าง ยาวไม่เท่ากันเลย ครับ
ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว)

25 ตุลาคม 2555 14:05:53 #13

ฟังจากอาการทั้งหมดของคุณ panuwat.supa น่าจะมีการบาดเจ็บภายในข้อเข่า อาการเป็นได้ทั้งการบาดเจ็บของทั้งเอ็นหรือหมอนรองกระดูกข้อเข่า หรือทั้งสองอย่างครับ ไม่แนะนำให้ไปรักษากดจุดต่อโดยไม่ไปพบแพทย์นะครับ เพราะส่วนใหญ่การรักษากดจุดน่าจะช่วยเรื่องลดปวดและลดอักเสบกล้ามเนื้อได้ แต่รักษากรณีเอ็นเข่าหรือหมอนรองกระดูกเข่าบาดเจ็บไม่ได้นะครับ แนะนำให้คุณไปพบศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (หมอกระดูก) ตรวจเข่าดูครับ ว่าบาดเจ็บอะไรบ้าง อาจต้องทำ MRI เพื่อดูการบาดเจ็บของข้อเข่าทั้งหมด และระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บ เพื่อการวางแผนการรักษาว่าจะแค่ทำกายภาพบำบัดหรือจำเป็นต้องผ่าตัดครับ

Wisa*****t

4 พฤศจิกายน 2555 15:21:01 #14

คุรหมอครับขอสอบถามนิดนึงว่า  หลังจากการผ่าตัดเอ็นไข้วหน้าและหมอนรองกระดูกหัวเข่าเนี่ยครับ เราพักมาได้1กว่าๆแล้ว มันมีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่เอ็นจะขาดอีกและอาการของเอ็นไข้วหน้าขาดซ้ำหลังจากผ่าได้ 1เดือนกว่าๆจะเป็นยังไง

แล้วต้องเกิดอุบัติเหตุแรงขนาดไหนจึงจะทำให้เอ็นไข้วหน้าฉีกขาดซ้ำอีกครั้ง ขอบคุนครับ 



กรณีของผมคือขับมอไซแล้วยกฝ่าเท้าไม่ผ่านสิ่งของที่วางอยู่เลยทำให้ฝ่าเท้าไปชนเข้าแต่เข่าไม่มีการบิดหรือมีเสียงอะไร
การมีอาการเจ็บนิดๆ แสบแผลนิดหน่อยอยากทราบว่าอันตรายมากน้อยเพียงใดครับ 

ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว)

5 พฤศจิกายน 2555 17:25:43 #15

ตอบคำถามคุณ wisawakit เรื่องการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าซ้ำ ช่วงแรกมีโอกาสบาดเจ็บซ้ำสูงครับ ความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บซ้ำจะลดลงเรื่อยๆตามลำดับหลังการผ่าตัดและทำกายภาพบำบัดแล้วอย่างน้อย 6 เดือนครับ สาเหตุการเกิดการบาดเจ็บซ้ำมาจากการเตะขากระชากไปข้างหน้าอย่างรุนแรง

การบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าซ้ำควรระวังให้มากในช่วงแรกหลังการผ่าตัด เนื่องจากต้องรอการหายดีของเอ็นที่ต่อและกล้ามเนื้อที่ไม่ได้ใช้งานมักจะห่อลีบไป ทำให้ป้องกันการบาดเจ็บซ้ำได้ไม่ดีนัก

ลักษณะการบาดเจ็บจากการขับมอเตอร์ไซด์ของคุณ wisawakit ไม่น่าจะมีโอกาสบาดเจ็บมากนักครับ เพราะน่าจะเป็นการดันฝ่าเท้าทำให้เข่ากดเข้ากับกระดูกต้นขาตรงๆแต่ไม่บิด ลักษณะนี้ไม่ได้เป็นลักษณะการกระชากขาไปข้างหน้าครับ แนะนำว่าดูแลเรื่องแผลให้เรียบร้อย ทำกายภาพบำบัดไปตามโปรแกรมที่วางไว้ เมื่อถึงเวลาที่แพทย์นัดไปตรวจ ก็ให้ไปตรวจตามเวลานัดเพื่อให้แพทย์ตรวจดูว่าเข่ามีความมั่นคงดีหรือไม่ ก็เพียงพอครับ ยกเว้นว่าเมื่อมีการเดินลงน้ำหนักแล้วรู้สึกว่าเข่าขาดความมั่นคงมากขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนเกิดอุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์จึงสมควรไปตรวจกับแพทย์ทันทีครับ

Wisa*****t

6 พฤศจิกายน 2555 03:08:21 #16

แล้วอาการถ้าาดซ้ำจะมีอาการอย่างไรครับ    ปวด บวม หรือมีอะไรเพิ่มเติมอีกครับ !!

ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว)

7 พฤศจิกายน 2555 00:07:50 #17

ตอบคำถามของคุณ wisawakit เกี่ยวกับอาการ ACL ขาดซ้ำก็จะมีอาการเช่นเดียวกับการที่ ACLขาดครั้งแรกครับ ปวด บวม อักเสบ ความรู้สึกที่บริเวณเข่าพบว่าไม่มั่นคงหรือหลวม รวมทั้งกระดูกหน้าแข็ง (tibia) เหมือนจะมีการเคลื่อนออกมาด้านหน้ากว่าปกติเมื่อมีการพยายามลองเหยียดขาให้สุดครับ อย่างไรก็ดี อาการก็เป็นตามความรุนแรงของการขาดเช่นเดิมครับ grade 1, 2, 3 ว่าขาดเล็กน้อย ขาดปานกลางหรือขาดทั้งเส้นครับ

Wisa*****t

25 พฤศจิกายน 2555 08:44:30 #18

ขอถามข้อสงสัยครับ .........ตอนนี้ผมผ่ามาได้ 1เดือน กับอีก เกือบ 3 สัปดาห์ ตอนนี้ยังเหยีดขาสุดไม่ได้ยืนตรงๆไม่ได้เฉพาะขาข้างที่ผ่าครับอยากทราบว่าจะเดินได้แบบขาปกติทางซ้ายประมานกี่เดือน ................

ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว)

25 พฤศจิกายน 2555 12:11:21 #19

ปัญหาเรื่องการทำกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัดซ่อมแซมเอ็นไขว้หน้า (ACL Reconstruction) ในผู้ป่วยแต่ละคนสามารถพบได้ว่ามีความก้าวหน้าต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับว่าเริ่มทำกายภาพบำบัดทันทีหลังผ่าตัดหรือไม่ โปรแกรมการทำกายภาพบำบัดก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ ในผู้ป่วยที่ช่วงหลังการผ่าตัดเริ่มทำกายภาพบำบัดช้าและโปรแกรมที่ไม่หนัก อาจพบมีการใช้งานกล้ามเนื้อขาน้อยลงจนทำให้มีอาการกล้ามเนื้อขาลีบได้ ซึ่งการใช้งานกล้ามเนื้อขาที่ลดลง หากมีการงอขาและเหยียดขาไม่ได้สุดตามช่วงการเคลื่อนไหวของข้อเข่าเดิมก่อนการได้รับการบาดเจ็บ ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับที่คุณ wisawakit เกิดขึ้นในเวลานี้คือ ปัญหาการเหยียดขาไม่สุด สาเหตุเนื่องมากจากการเคลื่อนไหวที่น้อยลงทำให้กล้ามเนื้อเสียความยืดหยุ่นไป อย่างไรก็ตามปัญหานี้หากได้รับการฝึกทางกายภาพบำบัดที่เหมาะสม การยืดเหยียดเข่าสามารถกลับไปสู่ช่วงการเคลื่อนไหวปกติได้แต่คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป ระยะเวลาการฝึกขึ้นกับว่าขณะนี้เข่ายังเหยียดสุดได้ต่างจากมุมที่เคยเหยียดได้มากน้อยเท่าไรครับ

ส่วนปัญหาเรื่องว่าจะกลับไปเดินได้เป็นปกติเมื่อไร เป็นคำถามที่ซับซ้อนกว่าการยืดเหยียดเข่าได้เป็นมุมปกติครับ เพราะต้องอาศัยปัจจัย 2 ข้อ

ปัจจัยข้อแรก คือ ข้อเข่าจะต้องงอหรือเหยียดได้ตามช่วงมุมที่ข้อเข่าเคยเคลื่อนไหวขณะที่เดินก่อนที่จะมีการบาดเจ็บครับ ซึ่งคือปัญหาที่กล่าวในย่อหน้าแรก ดังนั้นถ้าแก้ปัญหาเรื่องการเหยียดเข่าไม่ได้ปกติ การเดินก็จะไม่เป็นปกติแน่นอนครับเนื่องจากช่วงการลงน้ำหนักของการเดินจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงส้นเท้ากระทบพื้น (heel-strike) ช่วงการลดน้ำหนักตัวกับเท้าข้างนั้น (midstance) และช่วงการก้าวเดินไปข้างหน้า (toe-off) การเหยียดขาให้สุดตรงเพื่อรับน้ำหนักตัวเป็นองค์ประกอบสำคัญกับการเดินที่ปกติในช่วง midstance ครับ

ปัจจัยข้อที่ 2 ที่จะทำให้การเดินเป็นปกติคือ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา ถ้ากล้ามเนื้อขาข้างที่ทำผ่าตัดกลับมาแข็งแรงได้ใกล้เคียงกับกล้ามเนื้อขาข้างที่ไม่ได้รับการผ่าตัด (ต้องไม่มีขาลีบ หากวัดเส้นรอบวงขาบริเวณกลางต้นขาจะต้องมีความแตกต่างกันระหว่าง 2 ข้างไม่เกิน 1 เซนติเมตร) จะทำให้ขาทั้งสองข้างรับน้ำหนักขณะเดินช่วง midstance ได้ใกล้เคียงกันจะทำให้การทรงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการเดินที่ความเร็วที่สูง

ดังนั้นหากจะให้ผมตอบจริงๆคงบอกได้ยากครับว่าคุณ wisawakit จะกลับไปเดินได้ปกติจะต้องใช้เวลาเท่าไร ก็ขึ้นกับระยะเวลาที่คุณ wisawakit จะต้องใช้ในการทำกายภาพบำบัดแก้ไขปัญหาทั้งสองข้อที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ แก้ไขปัญหาให้กล้ามเนื้อขาให้มีความยืดหยุ่นมากพอที่จะเหยียดขาได้ตรง และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาให้รับน้ำหนักตัวช่วง midstance ของการเดินได้โดยไม่เสียการทรงตัว อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป หลังการผ่าตัดซ่อมแซมเอ็นไขว้หน้า หากผู้รับการผ่าตัดปฏิบัติตามโปรแกรมกายภาพบำบัดที่เริ่มต้นเร็วและทำต่อเนื่องอย่างเหมาะสม การกลับมาเดินได้ปกติ (ทุกความเร็วจนถึงเดินเร็ว) มักใช้เวลาอย่างน้อยก็ประมาณ 2-3 เดือน ส่วนการกลับไปวิ่งได้รวมถึงการกลับไปเล่นกีฬา จะต้องใช้เวลาทำกายภาพบำบัด อย่างน้อยประมาณ 6-12 เดือนครับ จึงจะกลับไปเล่นกีฬาได้โดยความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าซ้ำไม่ต่างจากผู้ที่ไม่เคยบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้า ขณะนี้ผมแนะนำว่าให้คุณ wisawakit ตั้งเป้าหมายทำกายภาพบำบัดแก้ปัญหาทั้งสองให้กลับไปเดินได้ปกติภายใน 2-3 เดือนนับจากนี้ก็น่าจะเป็นที่พอใจได้แล้วครับ

Mo.c*****t

28 พฤศจิกายน 2555 09:00:45 #20

สวัสดีครับคุณหมอ ผมอายุ 28 ปีครับ ชอบวิ่งกับเล่นบอลมากครับ เกิดหัวเข่าบิดที่ขาขวาจากการเล่นบอลครับ จังหวะหมุนตัวกลับแล้วปุ่มสตั๊ดจิกกับพื้นแต่ช่วงบนหมุน เข่าเลยบิดครับ หลังจากที่บิดช่วงแรกไม่มีอาการบวม แต่มีอาการเจ็บครับ งอเข่าได้นิดหน่อยรู้สึกตึงมาก ต้องเดินกระเผกอยู่ประมาณอาทิตย์นึง เลยไปหาหมอครับ หมอแนะนำให้ฝังเข็มกับทำกายภาพครับ ผมไปฝังเข็มได้ 3 ครั้งครับ อาทิตย์ละครั้ง ครั้งแรกฝังแล้วรู็สึกดีขึ้นเยอะครับ อาการตึงลดลงเริ่มงอเข่าได้มากขึ้น ครั้งที่2 ก็รู้สึกอาการตึงลดลงครับ ก็เริ่มงอได้มากขึ้น เริ่มเดินได้ท่าปกติไม่ต้องกระเผก แต่ก็ยังรู้สึกตึงๆอยู่ ครั้งที่ 3 ไปฝังแล้วไม่ค่อยรู้สึกถึงอาการที่ดีขึ้นครับ และบวกกับติดงานที่ต้องออกต่างจังหวัดผมเลยไปได้ฝังต่อครับ แต่ก็พยายามบริหารอยู่ที่บ้านครับโดยการใช้ถุงทรายมัดข้อเท้าแล้วยกขึ้นครับ แต่ไม่ค่อยบ่อยครับ เพราะติดงานต่างจังหวัดบ่อยมาก แต่ก็รู้สึกดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มเหยียดขาตรงได้ กับงอได้เกือบสุดครับ งอสุดได้ครับแต่จะเจ็บ จนประมาณเดือนที่ 4 ผมเริ่มไปวิ่งครับ ช่วงอาทิตย์แรกรู้สึกขาข้างขวามันเบาๆ ไม่ค่อยมีแรง วิ่งแล้วเหมือนจะทรุดครับ แต่ก็ไปวิ่งเรื่อยๆจนเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆครับ เริ่มรู้สึกว่าวิ่งได้ประมาณ 90% ของเมื่อก่อนจนถึงปัจจุบันครับ ก็ประมาณ 5 เดือนแล้วตั้งแต่เข่าบิด คือผมไม่แน่ใจว่าอาการอย่างนี้จำเป็นต้องไปหาหมออีกมั๊ยครับ เพราะรู้สึกเหมือนจะหายตั้งแต่เริ่มวิ่งได้ครับ แต่ก็อาการทรงตัวเหมือนเดิมมาจนปัจจุบัน คือมีอาการเหมือนเจ็บร้าว เสียวๆ ตึงนิดหน่อย งอได้ไม่สุด ฝืนให้สุดได้แต่จะเจ็บครับ แต่เหยียดขาตรงได้สุดครับ ลองไปกดตรงช่วงกลางหัวเข่ารู้สึกแปลบๆ เสียวๆ ครับ รบกวนคุณหมอช่วยด้วยครับ คือไม่มีเวลาไปหาหมอเลยครับ แต่ถ้าจำเป็นก็คงต้องไป

ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว)

29 พฤศจิกายน 2555 16:59:26 #21

ประเมินจากอาการที่คุณ mo.chaiyasaet ที่เล่ามาทั้งหมด มีโอกาสเป็นการบาดเจ็บของ posterior cruciate ligament ของข้อเข่ามากที่สุดครับ โดยที่อาการบาดเจ็บน่าจะเป็นเอ็นฉีกเกรด 1 (ไม่รุนแรง) ถึงเกรด 2 (ปานกลาง) ส่วนใหญ่แล้วเอ็นมักมีการซ่อมแซมตนเองได้ตามระยะเวลาที่ผ่านไปในกรณีที่การบาดเจ็บนั้นไม่รุนแรงมากนัก (เกรด 1 และ 2) และไม่มีการบาดเจ็บเกิดขึ้นซ้ำอีกครับ

ปัญหาของคุณ mo.chaiyasaet ที่มีอยู่ในขณะนี้คือการงอเข่าได้ไม่สุด ฝืนงอเข่าสุดได้แต่มีอาการเจ็บ ปัญหานี้ต้องบอกว่าไม่มีผลกับการใช้ชีวิตประจำวันมากนักครับเพราะในชีวิตประจำวันของคนเราไม่ได้ใช้การเคลื่อนไหวในช่วงการงอเข่าจนสุด อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวด้วยการงอเข่าจนสุดมีความจำเป็นในการเล่นกีฬาและออกกำลังกายครับ ดังนั้นหากคุณ mo.chaiyasaet ต้องการกลับไปเล่นฟุตบอล จะมีความเสี่ยงในการที่จะเกิดการบาดเจ็บซ้ำได้ทั้งจากการงอเข่าจนสุด (ซึ่งอาจเกิดได้จากการปะทะกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม) และการบิดของหัวเข่าในการหมุนตัวหรือบิดตัวลักษณะเดียวกับที่เคยบาดเจ็บ ดังนั้นหากคุณ mo.chaiyasaet ต้องการกลับไปเล่นฟุตบอลอีก ผมแนะนำว่าควรไปตรวจประเมินการบาดเจ็บเอ็นข้อเข่าว่ายังมีอยู่หรือไม่และรุนแรงเท่าไรครับ การตรวจควรไปตรวจกับศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (หมอกระดูก) ครับ เพราะการกลับไปเล่นฟุตบอลขณะที่ยังมีการบาดเจ็บของเอ็นข้อเข่าจะมีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บซ้ำได้สูงขึ้นครับ หากแพทย์ไม่แน่ใจการบาดเจ็บอาจต้องมีการตรวจทางรังสีวิทยาด้วย Magnetic Resonance Imaging (MRI) เพื่อประเมินการบาดเจ็บของเอ็นข้อเข่าเพิ่มเติมครับ

Jakr*****n

30 พฤศจิกายน 2555 07:31:39 #22

สวัสดีครับคุณหมอ

ผมอายุ 28 ปีเมื่อ4-5ปีที่แล้วเคยบาดเจ็บจากการเล่นฟุตบอลคือมีอาการเจ็บและเสียวบริเวณเอ็นหลังหัวเข่าด้านขวา เวลานั่งงอเข่านานๆจะไม่สามารถยึดขาให้ตรงได้โดยทันทีจะรู้สึกเสียวๆบริเวณหลังเข่ามากได้ไปพบแพทย์ที่รพ.ศิริราชก็รักษาอยู่หลายเดือนอาการก็ดีขึ้นแต่ก็ไม่หายสนิทผมก็เล่นฟุตบอลมาตลอดจนมาเมื่อปีที่แล้วก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นอีกครั้งจากจังหวะเข้าไปแย่งบอลขาด้านขวาลงผิดจังหวะได้ยินเสียงหัวเข่าดัง "กรึก" ชัดเจนผมไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ต้องให้เพื่อนพยุงออกไป แต่ตอนนั้นผมซื้อยามากินเองและพักไป 2-3 เดือนอาการก็ดีขึ้นแต่ก็ยังเจ็บอยู่นิดหน่อย จึงกลับไปเล่นฟุตบอลอีกครั้ง เล่นไปได้สักพักอาการก็กำเริบขึ้นอีกจากจังหวะยิงมีอาการเสียวหัวเข่ามากจนผมล้มทั้งยืนเลย จนถึงปัจจุบันอาการที่เป็นอยู่ก็คือจะเจ็บบริเวณหัวเข่าขวาด้านในมากยิ่งเวลาบิดหัวเข่าจะเจ็บมากกว่าปกติ และเวลาผมใช้นิ้วกดบริเวณลูกสะบ้าจะรู้สึกเสียวบริเวณใต้ลูกสะบ้าและอีกอาการนึงคือเวลาเกร็งขาจะเจ็บบริเวณเอ็นหลังหัวเข่ามากนั่งแกว่งขาจะรู้สึกเสียวๆตลอด ปัจจุบันสามารถวิ่งจ๊อกกิ้งได้และเล่นฟุตบอลได้เบาๆแต่ไม่สามารถวิ่งกลับตัวกระทันหันได้จะรู้สึกเจ็บหัวเข่าด้านในมาก

รบกวนคุณหมอให้คำแนะนำและการรักษาด้วยครับ ขอบพระคุณครับ

Tien*****a

30 พฤศจิกายน 2555 13:21:10 #23

สวัสดีครับ คุณหมอ 

ผมผ่าครั้งที่ 2 แล้ว โดยเกิดจากอาการเสียวหัวเข่าเวลาเดินขึ้นบันได แถวใกล้ลูกสะบ้า และมีอาการ หลวมของเอ็นไข้หน้าซ้ำ  

ผม ผ่าเข่าเมื่อวันที่ 9 /11/55 ได้ทำการ เปลี่ยน acl ใช้ เอ็นลูกสะบ้า

ผ่านมาได้ 3 อาทิตย์ แล้วครับ

1. เวลาผมกายภาย โดยการนั่งเก้าอี้แล้วเหยียดขาตรงกดเข่าให้เหยียดได้สุด  ทามมั้ยถึงมีเสียงลั่นดังมากในเข่า เหมือนเป็นเสียงเอ็น แล้วมีออาการเสียวบริเวณใต้ลูกสะบ้าบริเวณใกล้เคียงที่เอาเอ็น เป้นอาการปรกติเปล่าครับ 

2. เวลาผมงอเข่าเข้าหาตัวจะเจ็บมากแทบทนไม่ไหว บริเวณข้อพับด้านนอกเข่าบริเวณเข่าด้านนอก เกิดจากสาเหตุใดครับ พอมีวิธีแก้เปล่าครับ

3. เวลาผมปล่อยไม้ มีอาการเสียวแถวบริเวณแถวหมอนรองข้างๆๆลูกสะบ้า ผมควรฝืนลงน้ำหนัก รึเปล่าครับ (ก่อนผ่าผมก็มีอาการเสียบริเวณใกล้เคียงแถวนี้ ) หมอบอกว่า ผมไม่มีปัญหาอื่นนอกจาก aCL 

แล้วผมควรกิน กลูโคซามีน  ด้วยมั้ยครับในช่วงระยะนี้ พอดีผมซื้อกินเอง จะมีผลดีผลเสียเปล่าครับ 

กับแคลเซียมเสริม 

                                                 ขอบคุณมากครับ 

ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว)

30 พฤศจิกายน 2555 12:20:05 #24

ฟังจากข้อมูลที่คุณ jakrawan ให้มาไม่ชัดเจนนัก ว่าความหมายของการบาดเจ็บเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วที่พูดถึงเอ็นหลังหัวเข่า ที่ไปรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หลังของหัวเข่าหรือไม่ อย่างไรก็ตามฟังดูว่าอาการไม่หายสนิท ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าที่ไม่หายสนิท หมายถึงเอ็นยังมีการบาดเจ็บอยู่บ้าง หรือ ที่ไม่หายสนิท หมายความว่า กลับไปเล่นฟุตบอลได้ไม่เหมือนเดิม เพราะในคนที่บาดเจ็บหลายคน แม้ว่าเอ็นจะหายจากการบาดเจ็บจนเป็นปกติ แต่การพักการใช้กล้ามเนื้อขาไประยะหนึ่งแล้วไม่ได้กลับไปฟิตกล้ามเนื้อให้ทำงานได้ระดับเดิมจะทำให้ประสิทธิภาพการเตะฟุตบอลลดลงไป

ส่วนที่ฟังการบาดเจ็บครั้งใหม่นี้น่าจะมีการบาดเจ็บของเอ็นภายในข้อเข่า ซึ่งมีโอกาสเป็นการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าของหัวเข่ามากกว่าครับ อย่างไรก็ตาม ผมฟังจากอาการรวมที่เป็นอยู่ในขณะนี้รวมๆ บอกไม่ได้ชัดเจนว่ามีการบาดเจ็บเอ็นเข่าเส้นใดบ้าง และความรุนแรงเพียงใด คงต้องอาศัยการตรวจร่างกายจากแพทย์และอาจจำเป็นต้องทำการตรวจทางรังสีวิทยา เช่น การทำ MRI เพื่อดูการบาดเจ็บของเอ็นข้อเข่า รวมทั้งหมอนรองกระดูกของข้อเข่าซึ่งอาจมีการบาดเจ็บร่วมด้วยครับ

เนื่องจากอาการของคุณ jakrawan มีการบาดเจ็บเข่าเรื้อรังมานาน เมื่อฟังจากประวัติแล้ว อาการบาดเจ็บน่าจะเกี่ยวข้องกับเอ็นหัวเข่าได้หลายเส้น รวมทั้งอาจมีการบาดเจ็บหมอนรองกระดูกเข่าด้วย แนะนำว่าควรจะไปตรวจที่โรงพยาบาลกับศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (หมอกระดูก) เพื่อการวินิจฉัยและการประเมินการบาดเจ็บ เพื่อให้ได้การรักษาที่เหมาะสมครับ

Admi*****n

30 พฤศจิกายน 2555 16:40:02 #25

เนื่องจากกระทู้เริ่มมีการถามเพิ่มเติมจากหลากหลายผู้ใช้โดยอาการแตกต่างจากเจ้าของกระทู้เดิมมาก admin ขอย้ายคำถามไปตั้งเป็นกระทู้ใหม่ที่ห้องกระดูกและไขข้อ เพื่อเป็นการง่ายต่อคุณหมอในการตอบคำถามนะครับ

คุณหมอจะตอบให้ใน link ด้านล่างนี้ที่ห้องกระดูกและไขข้อครับ

 

http://haamor.com/webboard/ห้องกระดูกและไขข้อ/2176/

 

ถ้ามีคำถามเพิ่มเติม รบกวนสร้างกระทู้ใหม่ที่ห้องกระดูกและไขข้อได้เลยนะครับ

 

ขอบคุณครับ