กระดานสุขภาพ

เกี่ยวกับ Fiber Mucilin
Seag*****5

24 มีนาคม 2561 18:19:33 #1

สวัสดีครับคุณหมอ ผมเป็นคนถ่ายยากครับ เลยใช้ไฟเบอร์มิวซิลิน(5g) กิน1ชั่วโมงก่อนนอนทุกวัน อยากทราบว่าใช้ไปนาน ๆ มันจะมีอันตรายอะไรไหมครับ ขอบคุณครับ

อายุ: 21 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 72 กก. ส่วนสูง: 172ซม. ดัชนีมวลกาย : 24.34 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

26 มีนาคม 2561 04:06:52 #2

เรียน คุณ Seagame075,


ก่อนตอบคำถามของคุณ ขอแนะนำว่ายาชนิดนี้เป็นยาที่ดูดซับน้ำ และพองตัว เพื่อเพิ่มกากใยในลำไส้ เพิ่มปริมาณเนื้ออุจจาระ ควรรับประทานยาหลังอาหารเช้านะครับ โดยผสมกับน้ำสะอาด ประมาณ 1 แก้ว (ไม่ใช้น้ำร้อนหรือน้ำอุ่น เนื่องจากตัวยาจะพองตัวเร็วเกิน) เมื่อคนผสมให้เข้ากันแล้ว จึงดื่มทันที จากนั้นระหว่างวันให้ดื่มน้ำเปล่าสะอาดปริมาณมาก ๆ อย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน

  • - ไม่ควรรับประทานยาก่อนเข้านอน เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดโรคกรดไหลย้อน หรือลำไส้อุดตัน จากการดื่มน้ำน้อยได้ เนื่องจากตัวยาจะดูดซับน้ำและพองตัว ต่างกับยาระบายที่มีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ หรือทำให้อุจจาระนุ่มลง ที่ต้องการให้ออกฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายในตอนเช้า
  • - ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจทำให้เกิดการดูดซับตัวยา (หากมีการใช้ยาอื่น ๆร่วมด้วย) หรือทำให้ขาดสารอาหารจำเป็นได้ เช่น วิตามิน เกลือแร่ ฯ

ควรปรับพฤติกรรม เพื่อสุขอนามัยที่ยั่งยืน โดยปรับสัดส่วนการรับประทานอาหาร ให้มี

  • - ผักสด ผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด เลือกชนิดที่มีกากใยละลายน้ำสูง เช่น ฝรั่งสุก แอปเปิ้ล มะละกอ (แตงโม แตงไทย ชมพู่ ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำนะครับ กากใยค่อนข้างน้อย) นอกจากคุณจะได้รับกากใยแล้ว ยังได้รับวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นด้วย
  • - อาหารจำพวกแป้ง ควรเลือกเป็นชนิดที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ฯ
  • - เลี่ยงการปรุงอาหารแบบทอดหรือปิ้งย่าง เนื่องจากจะทำให้อุจจาระแข็ง ถ่ายยาก
  • - ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายและลำไส้มีการเคลื่อนไหว

หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว ยังคงประสบปัญหาดังกล่าว หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

กรณีมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้านได้ทันที ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจช้าไป ไม่ทันการ เสี่ยงต่อการเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน หรือเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้


เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล


แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

  • คิดให้ดีก่อนใช้ยาระบาย (ตอนที่ 1)
  • โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
  • ยาแก้ท้องผูก (Anticonstipation)
  • เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
Seag*****5

27 มีนาคม 2561 15:06:43 #3

ขอบคุณครับคุณหมอ ผมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมครับ และจะทานผลไม้ให้มากขึ้นครับ