กระดานสุขภาพ

ทานยา Metformin
Anonymous

29 มกราคม 2559 06:24:38 #1

เนื่องจากดิฉันเป็น Polycystic ovary ที่รังไข่ด้านขวา ส่วนทางด้านซ้ายพบซีสต์ที่รังไข่ขนาด 2.4 cm. คุณหมอบอกว่าน่าจะเป็น Chocolate cyst ตรวจพบช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2558 คุณหมอแนะนำให้ทานยาคุมกำเนิด yazmin และในขณะนี้เมื่อวาน ได้ไปพบคุณหมอตามนัด อัลตร้าซาวด์ทางทวารหนัก พบว่าซีสต์ด้านซ้ายมีขนาดเล็กลงแต่ยังไม่หายไป ส่วนด้านขวายังคงมีไข่ หลายใบ PCOS อยู่ คุณหมอจึงสั่งยา Metformin ซึ่งเป็นยารักษาโรคเบาหวานมาให้โดยบอกว่า จะสามารถทำให้ซีสต์หายไป ได้ ดังนั้นวันนี้จึงเป็นวันแรกที่ทานยา Metformin 500 mg. ซึ่งทานวันละ 1 เม็ดหลังอาหารเช้า มีอาการมึนๆศีรษะช่วงหลังรับประทานยาประมาณ 1 ชม. พอมาช่วงบ่ายมีอาการคลื่นไส้มาก ไม่อาเจียน แต่ทรมาน รู้สึกอ่อนเพลียทั้งวันไม่สดชื่น อยากทราบว่าจากอาการดังกล่าวนี้ มีทางแก้ไขหรือบรรเทาให้น้อยลงไหมคะ และจะเป็นอันตรายอะไรหรือป่าว ช่วยแนะนำด้วยค่ะ และถ้ามานไปเรื่อยๆ อาการจะลดลงบ้างไหมคะ คือสงสัยว่ายาตัวนี้ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง แต่ในคนปกติยิ่งทานยาตัวนี้จะไม่ทำให้น้ำตาลต่ำลงไปอีก ไม่อันตรายหรือคะ ควรทำอย่างไร แล้วต้องทานยานี้ไปอีกนานเท่าไหร่คะ เครียดมาก ไม่สบายตัว คลื่นไส้ตลอดเวลา ขอบคุณค่ะ
อายุ: 25 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 40 กก. ส่วนสูง: 160ซม. ดัชนีมวลกาย : 15.63 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

14 กุมภาพันธ์ 2559 06:44:10 #2

เรียน คุณ 559bb,

ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ มักมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบฮอร์โมนเพศร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะมีอาการเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศชายเกิน เช่น ประจำเดือนมาช้า หรือมาน้อย หน้ามัน เป็นสิว ขนดก ผมร่วง มีบุตรยาก
ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อมีอาการมากขึั้น หรือต้องการมีบุตร การรักษาในเบื้องต้นมักเริ่มจากการรับประทานยาคุมกำเนิด ทั้งนี้เพื่อปรับปริมาณฮอร์โมนเพศให้เข้าสู่สมดุล หากอาการยังไม่ดีขึ้นจะให้ยา Metformin เพื่อเพิ่มความไวของ Insulin ต่อตัวรับ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จะกระตุ้นให้ตับอ่อนมีการหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนอินซูลินที่เพิ่มขึ้นนี้ จะกระตุ้นให้รังไข่กลับมีการผลิตและหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายเพิ่มมากขึ้น เสริมกับการที่มีถุงน้ำหลายใบ

ดังนั้นการรับประทานยา Metformin จะเพิ่มความไวของอินซูลินต่อตัวรับตามกล้ามเนื้อเพิ่มขึั้น ร่างกายสามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ดีขึ้น โดยที่ตับอ่อนไม่จำเป็นต้องผลิตอินซูลินปริมาณมาก ๆ จึงจะกระตุ้นการใช้น้ำตาลได้ (เปรียบเทียบเหมือนคนทำงานมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว ย่อมไม่ต้องใช้คนปริมาณมาก ๆโดยไม่จำเป็น)
ยา Metformin เป็นยากระตุ้นให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่ได้กระตุ้นให้ตับอ่อนมีการผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้นเหมือนกับยาลดน้ำตาลในเลือดกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย จึงมักไม่ค่อยพบภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเฉียบพลัน
วิธีการรับประทานยา ให้รับประทานยาพร้อมหรือหลังอาหารทันที โดยควรเป็นอาหารมื้อหนัก ไมใช่ชา กาแฟหรือขนมปัง เพื่อบรรเทาอาการไม่พึงประสงค์ด้านคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด แน่นท้อง และควรดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อช่วยกำจัดยาออกทางปัสสาวะ อาการดังกล่าวจะดีขึ้นเอง เมื่อรับประทานยาไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ หากอาการดังกล่าวยังคงเป็นอยู่ แนะนำให้รับประทานยาพร้อมอาหารมื้อเย็น เพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างวัน ไม่ต้องกังวลภาวะน้ำตาลต่ำนะครับ หากคุณรับประทานอาหารได้ตามปกติครับ แต่อาจพบปัญหาได้บ้างในผู้ป่วยที่มีภาวะเบื่ออาหารร่วมด้วย
ส่วนระยะเวลาการรับประทานต้องขึ้นกับอาการและความรุนแรงของโรค แต่โดยทั่วไประยะเวลารักษาประมาณ 6 เดือนครับ พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ เน้นผักสด ผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด เลือกโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา(ถ้าเป็นปลาทะเล เช่น ปลาทู ก็จะได้รับน้ำมันปลา ที่มีโอเมก้า 3, 6 และ 9) อกไก่ไม่เอาหนัง แป้งชนิดไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต / เมล็ดธัญพืช

- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อดึงน้ำตาลไปใช้เพิ่มขึ้น ช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง กำจัดของเสียออกทางเหงื่อ

- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรเข้านอนดึกเกินเวลา 23.00 น. เนื่องจากช่วงที่ร่างกายหลับสนิท เวลา 01.00-02.00 น. ต่อมใต้สมองจะมีการหลั่ง Growth Hormone ช่วยซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ ช่วยพัฒนาการเชื่อมต่อของระบบประสาทและสมอง ช่วยเรื่องความจำระยะยาว ป้องกันคอลลาเจนไม่ให้ถูกทำลาย

- พยายามไม่เครียด เพื่อลดการหลั่งคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนเครียดที่จะหลั่งจากต่อมหมวกไต ทำให้เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้

เป็นกำลังใจให้นะครับ

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่ พีซีโอเอส หรือ พีโอเอส: กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ (PCOS หรือ POS : Polycystic ovarian syndrome) รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ สูตินรีแพทย์

http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=260

http://www.cbh.moph.go.th/app/intranet/files/km/1385341275_Polycystic%20ovary%20syndrome.pdf