กระดานสุขภาพ

ผมจะเป็นปัตทายักไหมคับ
Mekt*****t

29 กันยายน 2561 16:44:06 #1

สวัสดีคับอายุ14ปีครับ คือว่าเมื่อกี้นี้ผมเผลอไปกระแทกกับเหล็กบริเวณเตียงนอนครับ แถวๆนั้นมันมีสนิมด้วยครับ แต่ไม่เยอะมากผมไปกระแทกบริเวณกระตุ่มข้อเท้าผม พอผมรู้ว่าผมมีแผลปุ้บ ผมเลยรีบ ทำความสะอาดแผลด้วยการล้างสบู่2รอบ และนำแอลกอฮอมาทำความสะอาดแผล และนำพัตเตอร์ยามาปิดแผล ไม่ทราบว่าผมจะเป็นปัตทายักไหมคับ เมื่อตอนเด็กเคยชีดวัคซีนกันปัททายักแล้วครับ แต่จำไม่ได้ว่าตอนนั้นอายุเท่าไหร่ และหลังจากผมไปกระแทกกับขอบเตียงก็มีอาการปวดๆบริเวณที่ไปกระแทกคับแต่ ไม่ปวดมากและแผลก็ไม่ลึกเหมือนโดนตะปูแทงคับ
อายุ: 14 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 50 กก. ส่วนสูง: 170ซม. ดัชนีมวลกาย : 17.30 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

5 ตุลาคม 2561 05:27:02 #2

เชื้อบาดทะยักสามารถเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดโรคได้หลายทาง คือ

1.ผ่านทางแผลสด โดยส่วนใหญ่จะเป็นแผลขนาดเล็กๆแต่ลึก เช่น แผลจากตะปู หรือเศษไม้ตำ แผลอื่นๆ เช่น แผลถูกสัตว์กัด แผลถลอก แผลฉีกขาด แผลถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือแม้แต่แผลผ่าตัดก็พบได้ ถ้าระบบปลอดเชื้อของห้องผ่าตัดไม่มาตรฐาน หรือการดูแลแผลผ่าตัดที่ไม่สะอาด รวมทั้งแผลจากการถอนฟัน รักษารากฟัน ก็มีโอกาสติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน

2.ผ่านทางแผลเรื้อรัง เช่นแผลเบาหวาน และแผลเป็นฝี

3.ผ่านทางการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน พบในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด หรือการสักลาย (Tattoo)

4.ผ่านทางสายสะดือในเด็กแรกคลอด เกิดจากมารดาที่ไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยัก และการใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือเด็ก

5.จากการเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ

6.มีบางกรณีที่ไม่พบสาเหตุว่า เชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางไหน

หลักของการรักษาโรคบาดทะยัก คือ เพื่อกำจัดเชื้อบาดทะยักที่ผลิตสารพิษ เพื่อทำลายสารพิษที่เชื้อโรคผลิตแล้ว และการรักษาประคับประคองตามอาการ รวมทั้งการให้วัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคอีก

1.การกำจัดเชื้อบาดทะยักที่ผลิตสารพิษ โดยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคและสปอร์ของเชื้อที่กำลังงอก ถ้าผู้ป่วยมีบาดแผลที่ยังไม่หายดี ก็จะเปิดปากแผลให้กว้าง ล้างทำความสะอาดแผลให้สะอาด และตัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออก เพื่อเป็นการลดปริมาณเชื้อโรคที่อยู่ในบาดแผล

2.การทำลายสารพิษที่เชื้อโรคผลิตแล้ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการตายได้มาก โดยการให้สารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี (Antibody) ไปทำลายสารพิษ ซึ่งสารภูมิต้านทาน อาจได้จากน้ำเหลืองของม้าหรือของคน (Equine tetanus antitoxin หรือ Human tetanus immunoglobulin) ซึ่งแอนติบอดีที่ไปทำลายสารพิษนี้จะทำลายเฉพาะสารพิษที่อยู่ในกระแสเลือดเท่านั้น ไม่สามารถทำลายสารพิษที่เข้าสู่เส้นประสาทไปแล้วได้

3.การรักษาประคับประคองตามอาการ ได้แก่ การให้ยาเพื่อลดการหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งมียาอยู่หลายกลุ่ม ในกรณีที่ใช้ยาไม่ได้ผล ผู้ป่วยยังมีอาการหดเกร็งมาก เสี่ยงต่อภาวะหายใจล้มเหลว อาจจะพิจารณาให้ยาที่ทำให้เป็นอัมพาตทั้งตัว แล้วใส่เครื่องช่วยหายใจไว้หายใจแทน

ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติจากระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูงมากก็ให้ยาควบคุมความดันโลหิต ถ้ามีอาการหัวใจเต้นช้าหรือหยุดเต้นก็อาจต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ

4.การให้วัคซีน ผู้ป่วยทุกรายที่หายจากโรคแล้ว ต้องให้วัคซีนตามกำหนดทุกราย เนื่องจากการติดเชื้อบาดทะยักไม่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้

สามารถป้องกันโรคบาดทะยักได้ดังนี้ คือ

โรคนี้มีวัคซีนป้องกัน วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักถูกผลิตและใช้เป็นผลสำเร็จในทหารตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาวัคซีนชนิดนี้ได้ถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปของวัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และอาจเป็นแบบวัคซีนรวมอื่นๆ

1.ในเด็กเล็กต้องได้รับการฉีดวัคซีนที่อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือนและ 15 - 18 เดือน ในรูปของวัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก หลังจากนั้นเมื่ออายุได้ 4 - 6 ปี ก็ให้ฉีดวัคซีนรวมกระตุ้นอีก 1 ครั้ง พออายุได้ 11 - 12 ปี ก็ให้วัคซีนบาดทะยัก -คอตีบ กระตุ้นอีก 1 เข็ม หลังจากนั้นก็ให้ฉีดวัคซีนบาดทะยัก - คอตีบ กระตุ้นทุกๆ 10 ปี สาเหตุที่ต้องฉีดทุกๆ 10 ปีนั้นเนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคจะค่อยๆลดไปเรื่อยๆตามกาลเวลา และอาจไม่พอที่จะป้องกันโรคเมื่อได้รับสารพิษของเชื้อบาดทะยัก

2.สำหรับในเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไปและในผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือได้รับวัคซีนในวัยเด็กไม่ครบ หรือได้รับมาเกิน 10 ปีแล้ว ให้ฉีดวัคซีนบาดทะยัก - คอตีบ 3 เข็ม โดยฉีดเข็มที่ 2 ให้ห่างจากเข็มแรก 4 สัปดาห์ เข็มที่ 3 ให้ห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 6 -12 เดือน และฉีดกระตุ้นๆทุกๆ 10 ปีตลอดไป

3.หากฉีดวัคซีนบาดทะยัก - คอตีบ ถี่เกินไปคือน้อยกว่าทุก 10 ปีอาจทำให้มีอาการปวดบริเวณที่ฉีดมาก มีอาการบวมแดงที่อาจเกิดทั้งแขนที่ฉีดก็ได้ แต่ไม่ได้ทำให้เป็นโรคบาด ทะยัก

4.หญิงตั้งครรภ์ทุกราย ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยักหรือประวัติการได้รับวัคซีนไม่ชัดเจน หรือได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 10 ปีมาแล้ว ควรต้องได้รับการฉีดวัคซีน

คุณอายุ 14 ปี วัคซีนบาดทะยักตามการรับวัคซีนของเด็กไทย เข็มล่าสุดจะอยู่ในช่วงอายุ 11-12ปี ซึ่งจะต้องกระตุ้นทุก 10 ปี ดังนั้นในตอนนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนค่ะ

Mekt*****t

6 ตุลาคม 2561 15:40:53 #3

และวัคซีนที่ต้องไปชีดตอนอายุประมาณอายุ11-12นี่เราต้องไปชีดเองหรือว่ามีโรงบาลมาชีดให้ที่ รร. คับผมจำไม่ค่อยได้แต่ม.1เหมือนเขาจะมาชีดอยู่ไม่แน่ใจว่าวัคซีนไร