กระดานสุขภาพ

อาเจียน ท้องเสีย เหม็นอาหาร
Maxw*****l

12 มีนาคม 2561 13:52:09 #1

ในวันที่ 11/03/2018 มีอาการ ท้องเสียและอาเจียนบ่อยครั้งมากประมาณ 7-10รอบ มีอาการเพลีย และเหม็นกลิ่นอาหาร เบื่ออาหาร ทุกครั้งที่ได้กลิ่นอาหารหรือรับประทานเข้าไปจะ อาเจียนและท้องเสียทุกครั้งครับ (แฟนผม) อยากทราบว่าอาการดังกล่าวคืออาการอะไรและรักษาอย่างถูกต้องอย่างไรครับ(แฟนไม่ไปหาหมอครับ) ขอบคุณครับ
อายุ: 18 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 50 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 18.37 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

18 มีนาคม 2561 05:20:21 #2

คลื่นไส้ (Nausea) และอาเจียน (Vomiting) เป็นอาการ ไม่ใช่โรค ซึ่งทั้งสองอาการมีกลไกการเกิด สาเหตุ การดูแลรักษาเหมือนๆกัน และมักเกิดควบคู่กันเสมอ โดยมีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน ดังนั้น ทั้งสองอาการจึงมักถูกกล่าวถึงพร้อมๆกัน ควบคู่กันไปเสมอเช่นกัน

คลื่นไส้ เป็นอาการที่อยากจะอาเจียน ส่วนอาเจียน คือ การที่ อาหารและ น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กตอนบนถูกขับออกมาอย่างรุนแรงจากกระ เพาะอาหาร และจากลำไส้เล็กตอนบน ผ่านทางหลอดอาหาร เข้าสู่ช่องปาก โดยเกิด ขึ้นจากแรงบีบตัวทันทีของกล้ามเนื้อของ กระบังลม กระเพาะอาหาร ลำไส้ ทรวงอก และของหน้าท้อง

สมองที่ควบคุมอาการคลื่นไส้ คือ สมองใหญ่ (Cerebral cortex) ส่วนสมองที่ควบคุมการอาเจียน คือ ก้านสมอง (Brain stem)

ตัวกระตุ้นสมองให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีได้ทั้ง

  • จากสิ่งต่างๆที่ก่อการระคายเคือง หรือกระตุ้นโดยตรงต่อ ลำคอคอหอย กระเพาะอาหาร และลำไส้ เช่น อาหาร
  • จากยาหรือสารบางชนิดที่อยู่ในกระแสโลหิต (เลือด) ซึ่งเกิดจากภาวะผิดปกติของร่างกาย เช่น ยาสารเคมีที่รักษาโรคมะเร็ง (ยาเคมีบำบัด) หรือสารต่างๆที่คั่งอยู่ในเลือดในภาวะไตวาย
  • จากการกระตุ้นประสาทหูในส่วนที่ทำหน้าที่ในการทรงตัว เช่น การเมาคลื่น
  • จากการเห็น/มองภาพต่างๆ ขึ้นกับแต่ละบุคคล เช่น ภาพอนาจาร เป็นต้น
  • จากกลิ่นต่างๆ ซึ่งขึ้นกับแต่ละบุคคล เช่น กลิ่นดอกไม้บางชนิด เป็นต้น
  • รวมทั้งจากจินตนาการ หรือ ปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ ของผู้นั้นเอง

สาเหตุของอาการคลื่นไส้ อาเจียน แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ สาเหตุจากความผิดปกติในช่องท้อง สาเหตุจากความผิดปกตินอกช่องท้อง และสาเหตุจากยา ต่อมไร้ท่อ และความผิดปกติในกระบวนการสันดาป (การเผาผลาญพลังงาน) ของร่างกาย

สาเหตุจากความผิดปกติในช่องท้อง ที่พบบ่อย ได้แก่

  • การติดเชื้อของอวัยวะในช่องท้อง เช่น จาก ไวรัส หรือ แบคทีเรีย เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ โรคอาหารเป็นพิษ และโรคไส้ติ่งอักเสบ
  • จากมีการอุดตันในทางเดินอาหาร เช่น ภาวะลำไส้อุดตัน
  • จากมีการอักเสบของกระเพาะอาหาร และลำไส้จากสาเหตุอื่นๆ เช่น การฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง
  • สาเหตุจากความผิดปกตินอกช่องท้อง ที่พบบ่อย ได้แก่
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคต่างๆของหูชั้นใน รวมทั้งความผิดปกติในการทรงตัว เช่น เมารถเมาเรือ
  • โรคทางสมอง เช่น โรคเนื้องอก/มะเร็งสมอง และ โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคปวดศีรษะไมเกรน
  • อารมณ์ จิตใจ จินตนาการ และ โรคทางจิตเวชบางโรค เช่น โรคซึมเศร้า
  • สาเหตุจากยา ต่อมไร้ท่อ และความผิดปกติในกระบวนการสันดาปของร่างกายที่พบบ่อย ได้แก่
  • ยา เช่น ยาสารเคมีรักษาโรคมะเร็ง (ยาเคมีบำบัด) ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาฮอร์โมนบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด
  • สารพิษบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์
  • ในบางภาวะ หรือ บางโรคของต่อมไร้ท่อ หรือในการสันดาปของร่างกาย เช่น การตั้งครรภ์ โรคของต่อมไทรอยด์ และโรคของต่อมหมวกไต

แนวทางการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน คือ การบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

  • การบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน มักเป็นยากิน กินตามเวลา (โดยกินก่อนเกิดอาการ) เช่น ทุก 12 ชั่วโมง ก่อนอาหาร แต่ถ้าอาการรุนแรงมาก จะเป็นยาฉีดเข้ากล้ามหรือเข้าหลอดเลือดดำ
  • การรักษาสาเหตุ เช่น
  • การให้ยาปฏิชีวนะ เมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ
  • การรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรน เมื่อสาเหตุเกิดจากปวดศีรษะไมเกรน
  • หรือปรับเปลี่ยนชนิดของยา เมื่อสาเหตุเกิดจากยา เป็นต้น
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้สารอาหาร หรือ น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำเมื่ออาเจียนมากจนกินไม่ได้ หรือ จนขาดน้ำ(ภาวะขาดน้ำ) หรือ ให้การรักษาทางการแพทย์สนับสนุน เช่น การฝังเข็มในผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้ยาเคมีบำบัดและมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก เป็นต้น

การดูแลตนเอง และการพบแพทย์เมื่อคลื่นไส้ อาเจียน ได้แก่

  • การพักผ่อนเต็มที่
  • ในขณะมีอาการ ไม่ควรนอนราบ ควรนอนเอนตัว เพื่อป้องกันการสำ ลักอาหารจากอาเจียนเข้าหลอดลม และปอด
  • ระมัดระวังไม่ให้ขาดน้ำ โดยจิบน้ำ หรือ น้ำผลไม้บ่อยๆ
  • กินอาหารครั้งละน้อยๆ โดยเพิ่มมื้ออาหาร ไม่ควรกินในช่วงมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาหารควรเป็นอาหารอ่อน หรืออาหารเหลว หรืออาหารน้ำ (ประเภทอาหารทางการแพทย์) ขึ้นกับว่ากินอาหารประ เภทไหนได้บ้าง เลือกประเภทอาหารที่ไม่มีกลิ่น และไม่กระตุ้นให้เกิดอาการ
  • ควรอยู่ในสถานที่ถ่ายเทอากาศได้ดี สะอาด ไม่มีกลิ่น ไม่สว่างมาก ไม่ร้อนอบอ้าว โดยเฉพาะเวลานอน และขณะรับประทานอาหาร
  • สังเกตตัวกระตุ้นอาการเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยง
  • สังเกตลักษณะของอาเจียน เช่น ขมจากมีน้ำดีปน หรือมีเลือดปน เพื่อแจ้งแพทย์ พยาบาล เพราะแพทย์ใช้เป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยอาการ เพื่อให้การรักษาได้ถูกต้อง
  • กินยาบรรเทาอาการ ตามที่แพทย์แนะนำ เช่น กินตรงตามเวลา โดยไม่เกี่ยวข้องกับการกินอาหาร (เช่น ทุก 6 ชั่วโมง เป็นต้น) หรือ กินก่อนอาหาร
  • รีบพบแพทย์เมื่อ
  • อาการอาเจียนไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังดูแลตนเอง
  • กิน หรือ ดื่มได้น้อย
  • มีอาการของการขาดน้ำ ดังกล่าวแล้ว
  • กังวลในอาการ
  • พบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อคลื่นไส้อาเจียน ร่วมกับ
  • มีไข้สูง
  • ปวดท้องมาก
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • ปวดศีรษะมาก คอแข็ง แขนขา อ่อนแรง (อาการของโรคทางสมอง)