กระดานสุขภาพ

สอบถามเกี่ยวกับ Acute nephritic syndrome
Anonymous

4 ตุลาคม 2560 12:57:54 #1

คืออยากรู้ว่าอาการของผู้ป่วย Acute nephritic syndrome  นอกจากปัสสาวะน้อยแล้วยังมีอาการอะไรที่แสดงว่าผู้ป่วยเป็น Acute nephritic syndrome และการตรวจวินิจฉัย คือหลังจากผู้ป่วยพบแพทย์แล้ว นี่จะมีวิธีการตรวจอย่างไรบ้างครับ ที่จะทำให้รู้ว่าเป็นโรค เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มาด้วยอาการปัสสาวะขัด  ปล.ผู้ที่เป็นความดันต่ำจะมีความเสี่ยงของโรคมากกว่าคนความดันปกติมั้ยครับ  ปลล.อยากได้คำอธิบายโดยละเอียดมากๆเลยครับ ปลลล.ขอบคุณมากนะครับ อาจจะเยอะๆหน่อย
อายุ: 21 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 60 กก. ส่วนสูง: 167ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.51 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

7 ตุลาคม 2560 12:13:09 #2

ไตอักเสบ (Nephritis) หมายถึง โรคของไตที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อไตที่ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชนิดหลักคือ

1.Glomerulus ถ้าเป็นพหูพจน์คือ Glomeruli: เป็นเนื้อเยื่อที่เปลี่ยนแปลงมาจากหลอดเลือดเล็กๆที่ทำหน้าที่กรองสิ่งต่างๆจากเลือดที่ผ่านมายังไตเช่น กรองปัสสาวะ เป็นต้น

2.Tubule:เนื้อเยื่อที่เป็นท่อเล็กๆที่นำสิ่งที่ไตกรองออกหรือปัสสาวะเพื่อกำจัดออกจากไตผ่านส่วนที่เรียกว่า กรวยไต/Renal pelvis และ

3.Interstitial tissue: เนื้อเยื่อที่ล้อมรอบอยู่ระหว่าง Glomerulus และ Tubule

ไตอักเสบที่เกิดการอักเสบอย่างรวดเร็ว โดยไตจะมีลักษณะบวมใหญ่ขึ้นเรียกว่า “ไตอัก เสบเฉียบพลัน (Acute nephritis)” ซึ่งมักมีอาการรุนแรงจนอาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันและเสียชีวิต (ตาย) ได้ หรือถ้าสาเหตุไม่รุนแรงอาจรักษาให้หายได้ แต่ถ้าไตอักเสบที่อาการค่อยๆเกิดโดยระยะแรกอาการไม่รุนแรง แต่อาการจะค่อยๆรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ร่วมกับไตมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆจนในที่สุดเกิดโรคไตเรื้อรังและไตวายในที่สุดเรียกว่า “ไตอักเสบเรื้อรัง (Chronic nephritis)”

ไตอักเสบพบได้ทั้งในผู้หญิงในผู้ชายและในทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ โดยอาจเกิดกับไตเพียงข้างเดียว (ข้างซ้ายหรือข้างขวามีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน) หรือกับไตพร้อม กันทั้ง 2 ข้างทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ ซึ่งสถิติการเกิดไตอักเสบในภาพรวมยังไม่มีรายงานที่ชัดเจน เพราะโดยทั่วไปมักแยกรายงานตามแต่ละสาเหตุซึ่งมีสถิติการเกิดได้ต่างๆกัน ขึ้นกับแต่ละเชื้อชาติ โรงพยาบาล และแต่ละประเทศ

สาเหตุของไตอักเสบได้แก่

ก. สาเหตุของ Glomerulonephritis: เช่น

  • การติดเชื้อแบคทีเรียเช่น เกิดไตอักเสบตามหลังการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus ในโรคสเตรปโธรท (Strep throat) หรือเกิดตามหลังโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ หรือเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเช่น ในโรคติดเชื้อเอชไอวี หรือไวรัสตับอักเสบบี
  • จากโรคออโตอิมมูนเช่น ในโรคเอสแอลอี (SLE)
  • จากโรคต่างๆที่ก่อการอักเสบโดยตรงต่อ Glomeruli เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
  • จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด (เช่น ยาแก้ปวด/ยาแก้อักเสบกลุ่มเอ็นเสด/NSAID ที่ใช้ในปริมาณสูงต่อเนื่อง) หรือการได้รับสารพิษต่างๆปริมาณสูงหรือต่อเนื่อง (เช่น ตะกั่ว ปรอท ควันรถยนต์)
  • โรคหลอดเลือดอักเสบเช่น โรค Polyarteritis

 

ข. สาเหตุของ Interstitial nephritis/Tubulointerstsitial nephritis ที่บางสาเหตุเป็นสาเหตุเดียวกับ Glomerulonephritis เช่น

    • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ใช้ในปริมาณสูงต่อเนื่องเช่น ยาแก้ปวด/ยาแก้อักเสบเอ็นเสด (NSAID), ยาปฏิชีวนะบางชนิดเช่น Sulfa drug, ยาขับปัสสาวะบางชนิดเช่น Furosemide
    • โรคออโตอิมมูนเช่น เอสแอลอี/SLE
    • การติดเชื้อบางชนิดเช่น เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี
    • ภาวะมีเกลือแร่โพแทสเซียมในเลือดต่ำ
    • ภาวะมีแคลเซียมในเลือดสูง และ/หรือกรดยูริคในเลือดสูง
    • ภาวะร่างกายต้านอวัยวะใหม่ในการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ

 

อาการจากไตอักเสบมีได้หลากหลายที่พบได้บ่อยได้แก่

 

ก. อาการของ Glomerulonephritis: อาการที่พบได้บ่อยคือ ปัสสาวะเป็นเลือดโดยสีปัสสาวะจะเข็มเหมือนสีน้ำปลา, ปัสสาวะเป็นฟอง (เพราะมีโปรตีนปนมาในปัสสาวะซึ่งจะไม่พบในภาวะไตปกติ) และบวมทั่วร่างกายพบบ่อยที่ใบหน้า รอบตา ข้อเท้า และเท้า

 

ส่วนอาการที่พบได้แต่ไม่บ่อยนักเช่น ปวดหลัง ท้องเสียที่หาสาเหตุไม่ได้ คลื่นไส้ อา เจียน ปัสสาวะปริมาณมากหรือปัสสาวะปริมาณน้อยผิดปกติ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีไข้ ความดันโลหิตสูง มีเลือดออกง่ายจึงอาจมีเลือดกำเดาออก หรือไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือดได้

 

ข. อาการจาก Tubulointerstitial nephritis: เป็นอาการที่คล้ายกับอาการจาก Glomerulonephritis เช่นกันเช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะมากหรือปัสสาวะน้อย อาจมีไข้ ตัวบวม คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตสูง

 

แพทย์วินิจฉัยไตอักเสบได้จากประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆที่รวมถึงโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือด ดูการทำงานของไตและดูค่าสารต่างๆที่จะช่วยการวินิจฉัยหาสาเหตุเช่น สารภูมิต้านทานต่างๆ นอกจากนั้นคือการตรวจภาพไตอาจด้วยอัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ และอาจจำเป็นต้องส่องกล้องตรวจทางเดินปัสสาวะ และ/หรือตัดชิ้นเนื้อจากไต เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาที่จะช่วยการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น

 

แนวทางการรักษาโรคไตอักเสบคือ การรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ และร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ

 

ก. การรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ: จะแตกต่างกันไปขึ้นกับแต่ละชนิดของโรคเช่น การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อสาเหตุเกิดจากไตติดเชื้อแบคทีเรีย, การหยุดยาหรือหยุดการได้รับสารพิษต่างๆ อาจร่วมกับการให้ยาที่ใช้ต้านพิษยาเหล่านั้นถ้ามียาต้านพิษ (เช่น ยา Edetate calcium disodium ที่ใช้รักษาพิษจากสารปรอท) ถ้าสาเหตมาจากยาหรือสารพิษ, การรักษาควบคุมโรคออโตอิมมูนเมื่อสาเหตุมาจากโรคนี้ เป็นต้น

 

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น การให้ยาลดความดันโลหิตถ้ามีความดันโลหิตสูง, การล้างไตกรณีมีภาวะไตวาย ซึ่งทั้งนี้รวมไปถึงการจำกัดอาหารรสเค็มและการบริโภคอาหารในกลุ่มอาหารในโรคไต เป็นต้น

 

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไตอักเสบที่สำคัญคือ

 

  • - ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
  • - กินยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • - รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดีเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
  • - รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
  • - ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่ถ้าสูบอยู่ เพื่อลดความรุนแรงของโรคหลอดเลือด
  • - กินอาหารรสจืด (ไม่กินอาหารรสเค็ม) ควบคุมอาหารที่ลดการทำงานของไต ควรกินอา หารสำหรับผู้ป่วยโรคไต
  • - ไม่ซื้อยาต่างๆใช้เอง ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
  • - พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ