ไวรัสลงกระเพาะ ท้องเดินจากไวรัส (Viral gastroenteritis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ไวรัสลงกระเพาะ (Stomach flu) หรือ ท้องเดิน/ท้องเสีย/ท้องร่วงจากไวรัส(Viral gastroenteritis) คือ โรคติดเชื้อทางเดินอาหารเฉียบพลันที่เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสในเยื่อเมือกของลำไส้ โดยจัดอยู่ในกลุ่มของ’โรคอาหารเป็นพิษ’ชนิดที่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

ไวรัสลงกระเพาะ/ท้องเสียจากไวรัส/ท้องเดินจากไวรัส พบบ่อยทั่วโลก พบได้เป็นหลายล้านๆรายต่อปี และสามารถเกิดการระบาดรุนแรงได้เป็นครั้งคราว พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดได้เท่ากัน

อนึ่ง:

  • ชื่ออื่นของ ไวรัสลงกระเพาะ เช่น ทางเดินอาหารอักเสบจากไวรัส หรือ ไวรัสทางเดินอาหารอักเสบ หรือ กระเพาะอาหารอักเสบจากไวรัส หรือ ไวรัสกระเพาะอาหารอักเสบ หรือ หวัดลงกระเพาะ หรือ ท้องเสียจากไวรัส หรือ ท้องร่วงจากไวรัส
  • ไวรัสลงกระเพาะ เป็นชื่อที่ผิด แต่นิยมใช้กัน ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่ใช่ท้องเสียจากกระเพาะอาหารอักเสบติดเชื้อไวรัส แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลำไส้ที่อักเสบติดเชื้อไวรัสจนเกิดท้องเสียชนิดถ่ายเป็นน้ำ
  • ไวรัสลงกระเพาะ/ ท้องเสียจากไวรัส/ท้องเดินจากไวรัส ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสในระบบหายใจ หรือกับโรคหวัด หรือกับโรคไข้หวัดใหญ่(ฟลู/Flu)แต่อย่างไร เพียงแต่มีอาการบางอาการคล้ายกัน จึงมีชื่อเรียกทั่วไปในภาษาอังกฤษว่า “Stomach flu หรือ Gastric flu”

ไวรัสลงกระเพาะมีสาเหตุจากอะไร?

ไวรัสลงกระเพาะ

ไวรัสลงกระเพาะ/ท้องเสียจากไวรัส/ท้องเดินจากไวรัส เกิดจากเรา กินอาหาร ดื่มน้ำ/เครื่องดื่ม ที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสที่อยู่ในอุจจาระซึ่งก่อให้เกิดการติดเชื้อกับเยื่อเมือกของกระเพาะอาหารและลำไส้(กัลลำไส้เป็นส่วนใหญ่) ทั้งนี้รวมทั้งการที่เรากลืนเชื้อไวรัสนี้เข้าไปทางปากจากเชื้อติดอยู่กับอุจจาระ หรือกลืนสารคัดหลัง (เช่น น้ำลาย ละอองอาเจียน)ของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสนี้ หรือ ของผู้ป่วยที่เป็นพาหะโรคนี้ เช่น อุจจาระหรือน้ำลายจากการคลุกคลีผู้ป่วยโรคนี้ จากมือ จากแก้วน้ำ ช้อน ชาม เสื้อผ้า ผ้าอ้อม และ/หรือเครื่องใช้ต่างๆ ที่มีเชื้อไวรัสนี้ติดอยู่

เชื้อไวรัสที่ก่อโรคไวรัสลงกระเพาะ/ท้องเสียจากไวรัส/ท้องเดินจากไวรัส มีหลากหลายชนิดที่พบบ่อย เช่น

  • Norovirus (Norwalk like virus หรือไวรัสในกลุ่ม Calicivirus): เป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ พบในทุกอายุ แต่พบบ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยผู้ใหญ่ และเป็นชนิดที่ก่อให้เกิดการระบาดบ่อย ในโรงเรียน ในค่ายต่างๆ รวมถึงในเรือสำราญ
  • Rotavirus: เป็นชนิดก่อโรคบ่อยที่สุดในเด็กโดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มักก่อโรครุนแรง ในผู้ใหญ่มักพบในผู้ที่อยู่ในสถานพยาบาล (Nursing home) อนึ่งอ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บท ความเรื่อง ท้องร่วงจากไวรัสโรตา
  • Astrovirus: มักก่อโรคในเด็กอ่อนและเด็กเล็กแต่ก็พบในผู้ใหญ่ได้ และมักก่ออาการไม่รุนแรง
  • Adenovirus: เป็นไวรัสชนิดที่มีหลากหลายสายพันธุ์ย่อย และก่อโรคได้หลายระบบในร่างกาย ขึ้นกับชนิดของแต่ละสายพันธุ์ย่อยเช่น ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ในระบบทางเดินอาหารก่อโรคได้ในทุกอายุแต่มักพบในอายุต่ำกว่า 2 ปี และมีความรุนแรงของอาการได้ตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงอาการรุนแรง ทั้งนี้ขึ้นกับแต่ละชนิดย่อยของไวรัสและปริมาณไวรัสที่ร่างกายได้รับ

ไวรัสลงกระเพาะมีสาเหตุจากอะไร?

ไวรัสลงกระเพาะ/ท้องเสียจากไวรัส/ท้องเดินจากไวรัส เป็นโรคติดต่อและติดต่อกันได้ง่ายมาก โดยติดต่อจากเราได้รับเชื้อไวรัสที่ก่อโรคนี้ที่ปนอยู่ในอุจจาระและอาเจียนของผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อไวรัสลงกระเพาะ ซึ่งอุจจาระและ/หรืออาเจียนผู้ป่วยจะปนเปื้อนอยู่กับ อาหาร น้ำดื่ม มือของผู้ป่วย รวมถึงเสื้อผ้า เครื่องใช้ต่างๆที่ผู้ป่วยสัมผัสจากการที่เราคลุกคลีกับผู้ป่วยโดยเฉพาะการใช้ห้องน้ำร่วมกัน อยู่ใกล้ชิดกัน ผู้ป่วยทำหน้าที่ปรุงอาหาร สถานที่แออัด (เช่น โรงเรียน ชุมชนแออัด) จากการที่ผู้ป่วยไม่มีสุขอนามัยที่ดี ไม่รู้จักการล้างมือให้สะอาดหลังเข้าห้องน้ำและ/หรือการดูแลตนเองหลังอาเจียน ทั้งนี้รวมถึงการสัมผัสมือทักทายระหว่างกัน

ไวรัสลงกระเพาะมีอาการอย่างไร?

ไวรัสลงกระเพาะ/ท้องเสียจากไวรัส/ท้องเดินจากไวรัสมีระยะฟักตัวของโรคนับจากเข้าสู่ร่างกายจนก่ออาการประมาณ 3 - 4 ชั่วโมงถึง 2 วัน และทั่วไปจะมีอาการอยู่ประมาณ 1-3 วัน โดยอาการที่พบ คือ

ก. อาการหลักของไวรัสลงกระเพาะ: คือ

  • ท้องเสียชนิดถ่ายเป็นน้ำ ร่วมกับอาการอื่นๆ คือ
    • อาเจียน
    • ปวดท้อง ในทุกตำแหน่งของช่องท้องไม่เฉพาะที่จุดใดจุดหนึ่ง มักปวดแบบ ปวดบีบ

ข. อาการอื่นๆที่อาจพบร่วมได้ เช่น

  • มีไข้
  • อาจหนาวสั้น
  • ปวดหัว
  • ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดเนื้อตัว, ปวดข้อ
  • คลื่นไส้
  • เหงื่อออกมาก
  • อ่อนเพลีย

ค. กรณีอาการรุนแรง อาการที่พบได้ เช่น

  • กระหายน้ำมาก หรือเกิดภาวะขาดน้ำ
  • ตาแห้ง เบ้าตาลึก (Sunken eyes) ปากแห้ง น้ำลายเหนียว
  • ผิวแห้ง/ผิวหนังแห้ง
  • ปัสสาวะน้อยจนถึงไม่มีปัสสาวะ
  • อ่อนเพลียมาก
  • ซึม
  • กระสับกระส่าย
  • กิน/ดื่มไม่ได้
  • มีท้องเสียทุกครั้งที่กิน/ดื่ม
  • ท้องเสีย และ/หรือ อาเจียน ไม่หยุด
  • ไข้สูง
  • เป็นลม

*อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมอาการในเด็กจากโรคนี้ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘โรคท้องร่วงจากไวรัสโรตา’ และเรื่อง ‘ท้องเสียในเด็ก’

ง. ข้อสำคัญอีกประการที่ทำให้โรคนี้ติดต่อได้ง่ายและอาจเกิดการระบาดได้ง่าย คือ จะมีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่ติดเชื้อไวรัสกลุ่มนี้โดยไม่แสดงอาการซึ่งจะเป็นพาหะโรคที่สำคัญ

ใครมีปัจจัยเกิดอาการรุนแรง?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงเมื่อเกิดโรคไวรัสลงกระเพาะ/ท้องเสียจากไวรัส/ท้องเดินจากไวรัส ได้แก่

  • เด็กแรกเกิด และ เด็กอ่อน/เด็กทารก (นิยามคำว่าเด็ก)
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว (เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน), ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ, ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์ต่อเนื่อง

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ และหลัง ดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 2 - 3 วันในกรณีเป็นผู้ใหญ่/คนทั่วไป, แต่ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินเมื่อ อาการต่างๆเลวลง, อ่อนเพลียมาก, กิน/ดื่มไม่ได้, หรือ เมื่อมีอาการรุนแรง, หรือเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อ ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง’

แพทย์วินิจฉัยไวรัสลงกระเพาะจากอะไร?

โดยทั่วไปแพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสลงกระเพาะ/ท้องเสียจากไวรัส/ท้องเดินจากไวรัส ได้จาก

  • ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติการบริโภค สถานที่ทำงาน การกินอาหารนอกบ้าน อาการท้องเสียของคนในบ้านและ/หรือในสถานที่ทำงาน
  • การตรวจร่างกาย
  • ทั้งนี้มักไม่จำเป็นต้องมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม ยกเว้นแพทย์สงสัยติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น
    • ตรวจเลือดซีบีซี/CBC
    • การตรวจอุจจาระ
    • การเพาะเชื้อจากเลือด หรือ จากอุจจาระ
    • การตรวจสืบค้นเพิ่มเติมกรณีผู้ป่วยมีอาการมาก เช่น ตรวจเลือดดูภาวะเกลือแร่ในเลือด

รักษาไวรัสลงกระเพาะได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคไวรัสลงกระเพาะ/ท้องเสียจากไวรัส/ท้องเดินจากไวรัส คือ การรักษาตามอาการโดยเฉพาะการรักษาเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ทั้งนี้ไม่มียารักษาเฉพาะโรคนี้ และไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ (ยาปฏิชีวนะฆ่าไวรัสไม่ได้ ฆ่าได้แต่แบคทีเรีย) โดยการรักษาที่สำคัญคือ ดื่มน้ำสะอาดไห้ได้มากพอกับที่อุจจาระและอาเจียนออกไป ร่วมกับ

  • กิน/ดื่มยาผงเกลือแร่ (โออาร์เอส /ORS)
  • กินอาหารน้ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) จนกว่าอาการท้องเสียและอาเจียนดีขึ้นมาก
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนและเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่คนอื่นโดยเฉพาะคนใกล้ชิด

อนึ่ง: ถ้าท้องเสียมาก อาเจียนมาก อ่อนเพลีย และกินอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อย แพทย์จะให้น้ำและเกลือแร่ชดเชยโดยให้ทางหลอดเลือดดำ, อาจมีการให้ยาลดการบีบตัวของลำไส้ เช่น ยา Loperamide, และยาแก้คลื่นไส้อาเจียน เช่นยา Metoclopramide, ทั้งนี้การจะเลือกใช้ยาใดๆขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

มีผลข้างเคียงจากไวรัสลงกระเพาะไหม?

ผลข้างคียงสำคัญของโรคไวรัสลงกระเพาะ/ท้องเสียจากไวรัส/ท้องเดินจากไวรัส คือ ภาวะขาดน้ำที่อาจรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะช็อกและเป็นสาเหตุการตายได้โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดและเด็กอ่อน

ไวรัสลงกระเพาะมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โดยทั่วไป ไวรัสลงกระเพาะ/ท้องเสียจากไวรัส/ท้องเดินจากไวรัส มีการพยากรณ์โรคที่ดี อาการโรคมักดีขึ้นภายใน 2 - 3 วัน และ หายได้ภายในประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยมักยังอ่อนเพลียหรือมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ รู้สึกไม่สบายท้องได้บ้าง โดยอาการต่างๆมักกลับเป็นปกติภายในประมาณ 2 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ส่วนน้อยของผู้ป่วยกลุ่มที่มักเป็นเด็กแรกเกิด, เด็กอ่อน, ผู้สูงอายุ, ผู้มีโรคประจำตัว, หรือ มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ที่อาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง และ/หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนจนเป็นสาเหตุให้ถึงตายได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการของไวรัสลงกระเพาะ/ท้องเสียจากไวรัส/ท้องเดินจากไวรัส ได้แก่

ก. การดูแลตนเองเบื้องต้นที่บ้านเมื่อยังไม่พบแพทย์เมื่อท้องเสีย ที่สำคัญคือ

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • กินยาลดไข้ Paracetamol เมื่อมีไข้
  • ระวังไม้ให้เกิดภาวะขาดน้ำโดยดื่มน้ำสะอาดให้ได้ในปริมาณใกล้เคียงกับที่สูญเสียน้ำไปจากการถ่ายอุจจาระและการอาเจียน
  • กินยาผงเกลือแร่ โออาร์เอส(ORS) ชดเชยเกลือแร่ที่เสียไปในอุจจาระและในอาเจียน
  • กินอาหารน้ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการ แพทย์) ครั้งละน้อยๆบ่อยๆจนกว่าการถ่ายอุจจาระและการอาเจียนจะดีขึ้น จึงค่อยๆปรับเป็นอาหารเหลว อาหารอ่อน แต่ต้องปริมาณน้อยๆแต่บ่อยๆจนกว่าจะหยุดถ่าย หยุดอาเจียนอย่างน้อย 2 - 3 วัน จึงค่อยปรับเป็นอาหารปกติที่ย่อยง่ายและรสจืด และค่อยปรับเป็นอาหารปกติเมื่ออาการต่างๆปกติแล้ว
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนในบ้านและในชุมชน โดยเฉพาะการล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆและทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนกินอาหาร แยกเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค เช่น ช้อน แก้วน้ำ
  • ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “เมื่อไหร่ควรพบแพทย์”

ข. การดูแลตนเองที่บ้านหลังพบแพทย์แล้ว ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • ดูแลตนเองเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ ก.’
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

เมื่อพบแพทย์แล้วและแพทย์ให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้าน ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลงหรือกลับมามีอาการที่เคยรักษาหายไปแล้วเช่น มีไข้ ท้องเสีย ปวดท้อง อาเจียน
  • อุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นมูกที่มีกลิ่นเหม็นผิดปกติที่แสดงว่าอาจติดเชื้อแบคทีเรีย
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น อุจจาระเป็นเลือด แขน ขา อ่อนแรง
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันไวรัสลงกระเพาะได้อย่างไร?

การป้องกันไวรัสลงกระเพาะ/ท้องเสียจากไวรัส/ท้องเดินจากไวรัส ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อทางเดินอาหารจากเชื้อไวรัสชนิด Rotavirus (วัคซีนไวรัสโรต้า) แต่เป็นวัคซีนทางเลือก ฉีดเฉพาะในเด็กเล็กที่อายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ผู้ปกครองจึงควรปรึกษากุมารแพทย์/หมอเด็กหากต้องการให้บุตรหลานได้รับวัคซีนนี้

ส่วนการติดเชื้อไวรัสลงกระเพาะ/ท้องเสียจากไวรัส/ท้องเดินจากไวรัสชนิดอื่นๆและในกลุ่มอายุอื่นยังไม่มีวัคซีน ดังนั้นการป้องกันไวรัสลงกระเพาะซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางเดินอาหารเฉียบพลันที่ได้รับเชื้อผ่านทางปาก เช่น การบริโภคอาหาร น้ำดื่ม เครื่องดื่ม หรือจากมือที่มีเชื้อนี้จากการปนเปื้อนอุจจาระ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือ

  • กินอาหาร ดื่มน้ำ เครื่องดื่ม ที่สะอาดถูกสุขอนามัย
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) สม่ำเสมอ
  • อุจจาระโดยใช้ส้วม
  • ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร
  • และที่สำคัญที่สุดอีกประการคือ ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆและทุกครั้งหลังเข้าห้อง น้ำและก่อนกินอาหาร และไม่ใช้เครื่องใช้ในการบริโภคร่วมกับผู้อื่นโดยเฉพาะ ช้อน แก้วน้ำ และรู้จักการใช้ช้อนกลาง

บรรณานุกรม

  1. Tablang,M. et al http://emedicine.medscape.com/article/176515-overview#showall [2020,June20]
  2. https://www.health.nsw.gov.au/Infectious/factsheets/Pages/viral-gastroenteritis.aspx [2020,June20]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Gastroenteritis [2020,June20]
  4. https://www.niddk.nih.gov/health-information/digestive-diseases/viral-gastroenteritis?dkrd=hispt0289 [2020,June20]
  5. https://www.cdc.gov/norovirus/about/index.html [2020,June20]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK518995/ [2020,June20]