ไนโตรฟูแรน (Nitrofuran)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไนโตรฟูแรน (Nitrofuran หรือ Nitrofuran antibiotic หรือ Nitrofuran antibacterial agent) เป็นกลุ่มยาปฏิชีนะที่ใช้ต่อต้านเชื้อโรคหลายชนิดเช่น แบคทีเรียและโปรโตซัว/สัตว์เซลล์เดียว มีโครงสร้างจากสารประกอบอินทรีย โดยเป็นสารเคมีที่ชื่อ ฟิวแรน (Furan) และไนโตร (Nitro) โดยแบ่งเป็นอนุพันธุ์แยกออกได้หลายรายการเช่น

1. Furazolidone:ใช้ต่อต้านแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบรวมถึงเชื้อโปรโตซัว เป็นยาชนิดรับประทานมีการดูดซึมได้ต่ำจากระบบทางเดินอาหาร ออกฤทธิ์ได้ดีภายในลำไส้ ทางคลินิกใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสียจากแบคทีเรีย อหิวาตกโรค และเชื้อโปรโตซัว

2. Furylfuramide: ใช้เป็นสารป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในอาหารมากกว่าที่จะนำมาใช้เป็นยา แต่ถูกเพิกถอนการใช้ในปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) ด้วยพบว่าสารนี้ก่อให้เกิดเนื้องอกในสัตว์ทดลอง

3. Nitrofurantoin: ใช้เป็นยารักษาและป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นยารับประทานที่ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จัดเป็นยาทางเลือกที่ใช้ต่อต้านแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิดอื่น ชื่อการค้าที่พบเห็นในต่างประเทศคือ Macrobid

4. Nitrofurazone: เป็นยาต่อต้านแบคทีเรียที่มักพบเห็นในรูปของยาขี้ผึ้ง ด้วยเหตุผลบางประการอเมริกาได้เพิกถอนยานี้ แต่ยังสามารถพบเห็นการใช้ในแถบเอเชียบางประเทศเช่น อินเดีย

5. Nifurquinazol: เป็นสารที่ใช้ต่อต้านแบคทีเรียได้ แต่ยังไม่มีการวางจำหน่ายเป็นยาในท้องตลาด

6. Nifurtoinol: ใช้รักษาการติดเชื้อภายในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นยาชนิดรับประทาน และยังไม่พบเห็นว่ามีการใช้ในประเทศไทย

7. Nifuroxazide: ใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสีย มีทั้งแบบแคปซูลและยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน พบเห็นการใช้ได้ในประเทศไทย

8. Nifurtimox: ใช้ต่อต้านเชื้อโปรโตซัวที่เป็นสาเหตุของโรคเหงาหลับ (Sleeping sickness, โรคเกิดจากเชื้อโปรโตซัวที่ก่อการอักเสบของสมอง มีแมลงเช่นแมลงวันเป็นพาหะโรค พบในทวีปอัฟริกา ยังไม่พบในประเทศไทย) เป็นรูปแบบของยารับประทาน องค์การอนามัยโลกระบุให้เป็นยาขั้นพื้นฐานของชุมชน ด้วยความชุกชุมของโรคไม่ค่อยเกิดขึ้นแล้วเราจึงไม่พบเห็นการใช้ยานี้เท่าไรนัก

9. Nifurzide: จัดเป็นยาที่ใช้ต่อต้านการอักเสบของร่างกายจากแบคทีเรีย แต่ก็ยังพบเห็นว่ามีการใช้น้อย

10. Ranbezolid:ไม่ค่อยพบเห็นการใช้ยานี้สักเท่าใดนัก

ทั้งนี้กลุ่มยาไนโตรฟูแรนสามารถก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยได้หากใช้ยาไม่ถูกวิธี ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ป่วย/ผู้บริโภค ควรต้องมีคำสั่งจากแพทย์ก่อนการใช้ยากลุ่มนี้ทุกครั้ง

ไนโตรฟูแรนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไนโตรฟูแรน

ยาไนโตรฟูแรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น ใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโปรโตซัว อันเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย/ท้องร่วง โรคเหงาหลับ เป็นต้น

ไนโตรฟูแรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไนโตรฟูแรนมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะรบกวนการทำงานของเอนไซม์ในแบคทีเรีย และเชื้อโปรโตซัว/สัตว์เซลล์เดียวที่ก่อโรค นอกจากนี้ยังรบกวนการจำลองสารพันธุกรรมที่เรียกว่า DNA ในกลุ่มเชื้อโรคดังกล่าว ส่งผลให้แบคทีเรียและโปรโตซัวไม่สามารถเจริญเติบโต หยุดการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด

ไนโตรฟูแรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไนโตรฟูแรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาเม็ดและยาแคปซูลชนิดรับประทาน
  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน

ไนโตรฟูแรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ตัวยาของกลุ่มยาไนโตรฟูแรนมีหลายรายการและมีขนาดการใช้ที่แตกต่างกันออกไปขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคและความรุนแรงของอาการ การใช้ยาและขนาดยาจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไนโตรฟูแรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไนโตรฟูแรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไนโตรฟูแรนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไนโตรฟูแรนตรงเวลา

ไนโตรฟูแรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไนโตรฟูแรนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีไข้ เกิดผื่นคัน ลมพิษ ผิวหนังอักเสบ ปวดข้อ ปวดท้อง ปวดศีรษะ เกิดท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ความดันในกะโหลกศีรษะสูง ง่วงนอน วิงเวียน โลหิตจางจากสาเหตุเม็ดเลือดแดงแตก Steven Johnson syndrome และเป็นพิษกับตับ/ตับอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ไนโตรฟูแรนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไนโตรฟูแรนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาในกลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับอาหารที่มีส่วนประกอบของ Tyramine (สารธรรมชาติที่มีสูงในอาหารบางประเภทและสามารถกระตุ้นการทำงานของสมองได้) เช่น อาหารประเภทชีส/Cheese/เนยแข็ง น้ำซุปจากเนื้อสัตว์ พืชตระกูลถั่ว เนื้อสัตว์ต่างๆ
  • ห้ามรับประทานยาไนโตรฟูแรนร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์หรือแม้แต่ยาน้ำประเภทอิลิกเซอร์/ยาดอง (Elixir) ซึ่งมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบในสูตรตำรับ
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่ม/อาหารที่มีส่วนประกอบของกาเฟอีนเช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต เครื่องดื่มประเภทโคล่า หรือแม้แต่การสูบบุหรี่
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD) ด้วยจะกระตุ้นให้เกิดภาวะโลหิตจาง
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไนโตรฟูแรนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไนโตรฟูแรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไนโตรฟูแรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Furazolidone ร่วมกับยา Phenylephrine ด้วยอาจทำให้เกิดความดันโล หิตสูงและอาจถึงขั้นเสียชีวิต (ตาย) ผู้ป่วยควรเว้นระยะเวลาของการใช้ยาทั้ง 2 รายการนี้ห่างกัน 14 วันเป็นอย่างต่ำ
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Nitrofurantoin ร่วมกับยา Magnesium trisilicate ด้วยจะทำให้การดูดซึมของยา Nitrofurantoin ลดลง

ควรเก็บรักษาไนโตรฟูแรนอย่างไร?

ควรเก็บยาไนโตรฟูแรนในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไนโตรฟูแรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไนโตรฟูแรนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Difuran (ไดฟูแรน) The Forty-Two
Disento PF (ไดเซนโต พีเอฟ) Nakornpatana
Furion (ฟูริออน) Chew Brothers
Furamed (ฟูราเมด) Medicpharma
Furasian (ฟูราเซียน) Asian Pharm
Furazolidone A.N.H. (ฟูราโซลิโดน เอ.เอ็น.เฮช) ANH Products
Furopectal Syrup (ฟูโรเพคทอล ไซรัป) SSP Laboratories
Furopectin (ฟูโรเพคติน) PP Lab
Profura (โพรฟูรา) Medicine Products
Patarlin (พาทาร์ลิน) Patar Lab
Suratin (ซูราทิน) Suphong Bhaesaj
Macrodantin (มาโครแดนติน) Boehringer Ingelheim
Nitrofurantoin A.N.H. (ไนโตรฟูแรนโทอิน เอ.เอ็น.เฮช) A N H Products
EMFURAZONE (แอมฟูราโซน) Emcure
FURACIN (ฟูราซิน) GSK
Debby (เด็บบี้) Thai Nakorn Patana
Erfuzide (เออร์ฟูไซด์) Union Drug
Mifuzide (มิฟูไซด์) Milano

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Nitrofuran [2016,Jan30]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Furazolidone [2016,Jan30]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Nitrofurantoin [2016,Jan30]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Nitrofural [2016,Jan30]
  5. http://www.mims.com/India/drug/search?q=nitrofural [2016,Jan30]
  6. http://www.britannica.com/science/nitrofuran [2016,Jan30]