โรคไทฟอยด์ ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

คนในสมัยก่อนพบว่ามีโรคบางอย่างที่อาการคล้ายกับโรคไทฟัส หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ (Typhus) จึงเรียกโรคนี้ว่า โรคไทฟอยด์ หรือโรคไข้ไทฟอยด์ หรือโรคไข้รากสาดน้อย (Typhoid fever) ชื่อของโรคทั้ง 2 นี้มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณคือ Typhos ซึ่งแปลว่า ขุ่นมัว มีควัน หรือหมอก ซึ่งหมายถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วยโรคเหล่านี้

โรคไทฟอยด์เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยจะมีอาการไข้และปวดท้องเป็น หลัก โรคนี้จึงมีอีกชื่อในภาษาอังกฤษว่า Enteric fever (Enteric แปลว่า ลำไส้) ความสำคัญคือ ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและไม่ได้ยาปฏิชีวนะสำหรับรักษา จะมีโอกาสเสียชีวิตได้ โรคนี้มีวัคซีนสำหรับป้องกัน แต่ป้องกันได้เพียงระยะสั้นๆประมาณ 2 - 5 ปีขึ้นกับชนิดของวัคซีน

โรคไทฟอยด์มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ไทฟอยด์

โรคไทฟอยด์เกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ ซึ่งชื่อ Samonella typhi และ Samonella paratyphi ซึ่งเชื้อ 2 ชนิดนี้พบเฉพาะในคน การติดต่อจึงเกิดจากคนสู่คนเท่านั้น โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรคจะขับเชื้อออกทางอุจจาระเป็นหลัก ดังนั้นการติดต่อจึงเกิดขึ้นได้จาก

  • การขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การไม่ล้างมือก่อนการหยิบจับอาหาร การกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ
  • การใช้แหล่งน้ำบริโภคที่มีเชื้อ ซึ่งเชื้อปนเปื้อนมาจากขยะ ของเสียที่ทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งพบจากการกิน กุ้ง หอย ปู ปลา ด้วยเนื่องจากสัตว์เหล่านี้อาจกินสิ่งปฏิกูลของเสียต่างๆ ที่คนเททิ้งลงสู่แหล่งน้ำ ดังนั้นในประเทศที่พัฒนาแล้วมีการดูแลเรื่องสุขอนามัยที่ดี มีสิ่งแวด ล้อมที่สะอาด ก็แทบจะไม่พบผู้ป่วยเลยอย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2549 พบผู้ป่วยประมาณ 300 ราย ใน ขณะที่ประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาพบมีอัตราป่วยสูง โดยอาจจะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีหรือระบาดเป็นครั้งๆไป ทั่วโลกพบผู้ป่วยประมาณ 21 ล้านคนต่อปี มีผู้เสียชีวิตประมาณ 200,000 คนต่อปี โดย 80% ของผู้ป่วยทั่วโลกมาจากประเทศบังคลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน จีน อินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 มีรายงานตัวเลขผู้ป่วย 1.63รายต่อประชากร1แสนคน แต่ไม่พบมีผู้ป่วยเสียชีวิต

เชื้อไทฟอยด์ก่อโรคได้อย่างไร?

เมื่อกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคไทฟอยด์เข้าไปแล้ว เชื้อโรคจะเดินทางผ่านกระ เพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็ก ซึ่งโดยปกติแล้ว เชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆมักจะถูกทำลายด้วยภาวะที่เป็นกรดของกระเพาะอาหาร น้ำดี และน้ำย่อยอาหารชนิดต่างๆ แต่สำหรับเชื้อชนิดนี้จะทนทานต่อสิ่งเหล่านี้ได้ดี และสามารถเดินทางต่อไปจนถึงลำไล้เล็กส่วนปลายในที่สุด จากนั้นเชื้อจะผ่านเยื่อบุลำไส้เล็กเข้าไปในผนังลำไส้เล็ก แล้วเชื้อจะเข้าไปในกลุ่มเนื้อเยื่อชนิดมีเม็ดเลือดขาวอยู่ เรียกกลุ่มเนื้อเยื่อชนิดนี้ว่า Payer’s patch โดยจะมีเม็ดเลือดขาวชื่อ Macrophage ในเนื้อเยื่อนี้มาเก็บกินเชื้อ เชื้อที่ถูกกินนี้จะมีระบบป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกทำลาย เม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อเหล่านี้จะเดินทางเข้าสู่หลอดน้ำเหลือง กระจายต่อสู่ ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม ไขสันหลัง ซึ่งเชื้อก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในอวัยวะเหล่านี้และกระจายเข้าสู่กระแสเลือด (โลหิต) ต่อไป เชื้อโรคบางกลุ่มที่เข้าสู่ตับ จะเข้าสู่ถุงน้ำดีแล้วลงสู่น้ำดีต่อไป เมื่อน้ำดีถูกขับเข้าสู่ลำไส้เล็ก เชื้อโรคเหล่านี้จะถูกขับออกไปด้วย เชื้อบางตัวจะกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้งเมื่ออยู่ที่ลำไส้เล็กส่วนปลาย ก่อการติดเชื้อในร่างกายซ้ำ (Re-infection) และเชื้อบางส่วนจะถูกขับออกทางอุจจาระและติดต่อสู่ผู้อื่นต่อไป

โรคไทฟอยด์มีอาการอย่างไร?

ระยะฟักตัวของโรคไทฟอยด์คือ ตั้งแต่รับเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการประมาณ 3 - 21 วัน ระยะเวลาที่สั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย

อาการที่เด่นชัดของโรคไทฟอยด์คือ มีไข้ โดยในแต่ละวันไข้จะขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆและจะหายไปในตอนเช้า เมื่อเวลาผ่านไป อุณหภูมิของไข้ที่สูงสุดในแต่ละวันก็จะไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ อาการอื่นๆที่อาจพบร่วมได้ เช่น หนาวสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ มึนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เมื่ออาการไข้เป็นได้ประมาณ 7 วันไข้จะเริ่มคงที่ โดยจะอยู่ที่ประ มาณ 39 - 40 องศาเซลเซียส และจะมีผู้ป่วยประมาณ 30 - 40% ที่มีอาการปวดท้อง และท้อง ผูกร่วมด้วย

การตรวจร่างกายในช่วง 1 - 2 สัปดาห์แรกนี้จะพบมีผื่นราบหรือผื่นนูน สีออกแดง ขนาด 2 - 4 มิลลิเมตร จำนวนไม่เกิน 5 ผื่น ซึ่งเรียกว่า Rose spots มักเป็นที่ลำตัวและหน้าอก และจะเป็นอยู่เพียงแค่ 2 - 5 วันแล้วหายไป ตรวจร่างกายอื่นๆจะพบ ม้ามโต หัวใจเต้นช้า และชีพจรเต้นผิดปกติ

ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป อาการจะรุนแรงขึ้นได้แก่ เบื่ออาหารจนน้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 10% ท้องบวมโตขึ้น หายใจหอบเร็ว มีอาการหมดแรง สับ สน ประสาทหลอน ซึม จนถึงขั้นโคม่า สำหรับไข้ยังคงอยู่ในระดับสูงเหมือนเดิม ผู้ป่วยจะมีโอ กาสเสียชีวิตประมาณ 10 - 20% แต่ถ้าผู้ป่วยสามารถรอดชีวิตมาจนถึงสัปดาห์ที่ 4 ได้ อาการต่างๆจะค่อยๆดีขึ้น แต่ยังมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) เกิดขึ้นได้

ผู้ป่วยประมาณ 1 - 5% ที่รอดชีวิตมาได้จะกลายเป็นพาหะโรค คือยังคงมีเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย แต่จะไม่มีอาการอะไรผิดปกติ เชื้อโรคจะถูกขับออกทางอุจจาระ (และทางปัสสาวะเป็นส่วนน้อย) และติดต่อสู่ผู้อื่นได้ต่อไป ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นพาหะเหล่านี้สามารถแพร่เชื้ออยู่ได้นานถึง 1 ปี

ที่กล่าวมาแล้วเป็นอาการที่เป็นค่อนข้างจำเพาะของโรคไข้ไทฟอยด์ การวินิจฉัยเบื้องต้นทำได้ไม่ยาก แต่ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการที่แตกต่างจากข้างต้นและไม่เหมือนกันในแต่ละคน เช่น อาการไข้อาจคงที่หรือขึ้นๆลงๆ ไม่ได้มีการไต่ระดับขึ้นในแต่ละวัน ระยะเวลาการดำเนินโรคอาจสั้นยาวแตกต่างจากที่กล่าวมาแล้ว ผู้ป่วยบางคนไม่ได้มีอาการท้องผูก แต่กลับมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวแทน บางคนไม่มีอาการอื่นๆใดๆเลย นอกจากอาการไข้ บางคนมีอา การปวดศีรษะที่รุนแรง บางคนมีเฉพาะอาการไข้และปวดข้อ หรือบางคนมี ตัวเหลือง ตาเหลือง (โรคดีซ่าน) ร่วมด้วย เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยโรคไทฟอยด์ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไทฟอยด์ได้จาก อาการของผู้ป่วย และการตรวจร่างกายเมื่อแพทย์สง สัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นไข้ไทฟอยด์แล้ว จะตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อยืนยันการวินิจฉัยเท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปคือ การเพาะเชื้อ โดยการเพาะเชื้อจากไขกระดูกจะสามารถพบเชื้อได้สูงถึง 90% แต่ทางปฏิบัติทำได้ลำบากและผู้ป่วยต้องเจ็บตัว ส่วนการเพาะเชื้อจากเลือดจะมีโอ กาสพบเชื้อน้อยกว่า ถ้าเพาะเชื้อในครั้งแรกไม่ขึ้น แต่อาการน่าสงสัย อาจต้องเก็บเลือดตรวจซ้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง หรือใช้การเพาะเชื้อจากอุจจาระและน้ำย่อยจากลำไส้เล็ก (เช่นออกมากับการอาเจียนหรือการใส่สายท่อยางเข้าไปดูดน้ำย่อยออกมา) ตรวจทั้งหมดร่วมกัน จะช่วยเพิ่มโอ กาสตรวจพบเชื้อมากขึ้น

การตรวจหาเชื้อโดยวิธีอื่นๆยังให้ผลไม่แม่นยำ เพราะมีความจำเพาะต่ำ เช่น การตรวจหาแอนติเจน/สารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) ของเชื้อไทฟอยด์ด้วยวิธีที่เรียกว่า Widal test ซึ่งเคยเป็นวิธีที่นิยมใช้เพราะราคาถูกและทำได้ง่าย แต่ปัจจุบันไม่แนะนำเนื่องจากมีโอกาสผิด พลาดสูง หรือการตรวจหาแอนติบอดี/สารภูมิต้านทาน (Antibody) ต่อเชื้อไทฟอยด์ ผลก็ไม่ค่อยแน่นอนเช่นกัน เป็นต้น

การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆก็ไม่มีความจำเพาะต่อโรคไทฟอยด์เช่น การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) อาจจะพบเม็ดเลือดขาวขึ้นสูง ปกติ หรือต่ำก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบภาวะโลหิตจาง (ภาวะซีด) และมีค่าการตกตะกอนของเลือด/ค่าอีเอสอาร์ (ESR: Erythrocyte sedimentation rate) สูง ค่าการทำงานของตับอาจปกติหรือสูงก็ได้ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจพบความผิดปกติเล็กน้อย เป็นต้น

รักษาโรคไทฟอยด์อย่างไร?

การรักษาหลักของโรคไทฟอยด์คือการให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีทั้งรูปแบบกินและแบบฉีด ปัจจุบันพบเชื้อดื้อยามากขึ้นเรื่อยๆ การจะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดก็ต้องดูผลการทดสอบการดื้อยาของเชื้อด้วย

การรักษาแบบประคับประคองก็จะทำควบคู่ไปกับการรักษาหลัก เช่น การให้ยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) ยาแก้ปวด การให้กินน้ำเกลือแร่ หรือให้ทางหลอดเลือด

นอกจากนี้ ก็เป็นการรักษาตามภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่เกิดขึ้น เช่น ถ้ามีลำไส้แตกทะลุก็ต้องผ่าตัดรักษา เป็นต้น

โรคไทฟอยด์รุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร

โรคไทฟอยด์เป็นโรครักษาได้หาย ผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะจะลดระยะเวลาป่วยจากเดิมที่อาจมีไข้อยู่นานถึง 2 - 4 สัปดาห์จะเหลือเพียง 3 - 5 วัน และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผล ข้างเคียง) รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตให้เหลือน้อยกว่า 1% ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่ได้ยาปฏิชีวนะ อัตราการเสียชีวิตจะประมาณ 10 - 20%

ภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะและเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้คือ ลำไส้เล็กส่วนปลายแตกทะลุและ/หรือมีเลือดออกในลำไส้ ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังสัปดาห์ที่ 3 ของการป่วยเป็นต้นไป ผู้ป่วยที่รอดชีวิตบางคนจะหลงเหลืออาการทางระบบประสาท เช่น จิตหลอน ซึมเศร้า ไปตลอด

ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆซึ่งสามารถพบได้ในอวัยวะเกือบทุกระบบ แต่พบได้น้อยมาก เช่น

  • ระบบประสาท: เช่น แขน ขา อ่อนแรง เส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการชัก โรคพาร์กินสัน (Parkinson disease คือโรคเกิดจากเซลล์สมองถูกทำลายส่งผลให้เกิดอาการสั่น ช้า มีปัญหาด้านความจำ) หรือ ภาวะอัม พาตของ มือ เท้า และลำตัวจากประสาทอักเสบเฉียบพลัน (Guillain-Barre syn drome)
  • ระบบหายใจ: เช่น ปอดบวมและมีแผลที่คอหอย
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด: กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
  • ตับ ม้าม และตับอ่อน: เช่น เกิดฝีหนองในตับ ฝีหนองในม้าม และตับอ่อนอักเสบ
  • ทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์: เช่น ปัสสาวะไม่ออก โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคกรวยไตอักเสบ โรคไตอักเสบ และลูกอัณฑะอักเสบ
  • ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ ข้ออักเสบ และกระดูกอักเสบ

ดูแลตนเองและป้องกันโรคไทฟอยด์อย่างไร?

การดูแลตนเองและการป้องกันโรคไทฟอยด์ที่สำคัญคือ

1. องค์การควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาหรือซีดีซี (CDC, Centers for Disease Control and Prevention) ได้ให้หลักกว้างๆในการป้องกันการติดเชื้อต่างๆที่มาจากการบริโภคอาหารที่ไม่สะอาด คือ “boil it, cook it, peel it, or forget it” ซึ่งคือ ให้ต้มน้ำให้สุกก่อนดื่ม ปรุงอาหารให้สุกก่อนกิน ปอกเปลือกผลไม้ก่อนกิน ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องไม่กินสิ่งเหล่านี้นั่นเอง

2. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)

3. ดูแลเรื่องการขับถ่ายให้ถูกสุขลักษณะ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ลงส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังถ่ายและก่อนหยิบจับอาหาร

4. ในกรณีมีผู้ป่วยอยู่ในบ้านไม่จำเป็นต้องแยกห้องอาศัย ให้ทั้งผู้ป่วยและคนในบ้านปฏิบัติตัวตามข้างต้น สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยจะต้องงดการประกอบอาหารจนกว่าจะหายขาด

5. ไม่ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลลงน้ำ

6. โรคนี้มีวัคซีนสำหรับป้องกันได้ ซึ่งมีทั้งในรูปแบบกินและแบบฉีด แต่วัคซีนเหล่านี้จะป้องกันโรคได้ในช่วงเวลาประมาณ 2 - 5 ปีขึ้นกับชนิดของวัคซีน ทำให้ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นบ่อยๆ ซึ่งในประเทศไทยมีอัตราป่วยด้วยโรคนี้ไม่มากนัก และไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตมาหลายปีแล้ว จึงไม่ได้แนะนำให้บุคคลทั่วไปฉีดวัคซีน ยกเว้นบุค คลที่ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไทฟอยด์หรืออาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นพาหะโรคนี้

7. ในกรณีที่ต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีอัตราการเป็นโรคนี้สูงหรือมีการระบาดของโรค แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ (เพื่อให้วัคซีนออกฤทธิ์เต็มที่) ก่อนที่จะเดินทางไป

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ควรรีบพบแพทย์เสมอเมื่อมีไข้ติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ โดยที่อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ปวดศีรษะ และอื่นๆ

บรรณานุกรม

  1. Scott A. Halperin, pertussis and other Bordetella infections, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
  2. http://emedicine.medscape.com/article/231135-overview#showall [2018,Dec1]
  3. http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/disease.php?ds=08 [2018,Dec1]