ไตรเมโทพริม (Trimethoprim)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ไตรเมโทพริม (Trimethoprim)  คือ ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย มักถูกใช้เป็นยาป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ต่างประเทศจะรู้จักยาไตรเมโทพริมในชื่อการค้าว่า “Proloprim”, “Monoprim”, และ “Triprim”   และจัดเป็นสารเคมีประเภท Dihydrofolate reductase inhibitors (สารต้านการสร้างโปรตีนชนิดที่ใช้เพื่อการเจริญเติบโตของเซลล์) )   

 จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ของยานี้พบว่า การดูดซึมยาไตรเมโทรพริมชนิดรับประทานเข้าสู่ร่างกายมีถึง 90 - 100% ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 44% ซึ่งตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยานี้ โดยร่างกายต้องใช้เวลา 8 - 12 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดที่ผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ 

องค์การอนามัยโลกจัดให้ยาไตรเมโทพริมเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับสถานพยาบาลที่ประจำในชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาไตรเมโทพริมเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุการใช้เป็น 2 กรณีคือ 
 
 ก. ยาเดี่ยว เพื่อรักษาปอดอักเสบจากเชื้อ Pneumocystis jiroveci โดยใช้ร่วมกับยาอื่นในกรณีที่ไม่สามารถใช้ร่วมกับยา Sulfonamides ได้ และมีรูปแบบการใช้เป็นยาเม็ด
 
 ข. ใช้ในสูตรตำรับที่ผสมร่วมกับ Sulfamethoxazole (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บท ความเรื่อง Sulfa drug) หรือจะเรียกสูตรตำรับนี้ว่า Co-trimoxazole ซึ่งมีรูปแบบการใช้ทั้งชนิดแคปซูล, ยาเม็ด, ยาน้ำแขวนตะกอน, และยาฉีด

 ปัจจุบันเรายังสามารถพบเห็นการใช้ยาไตรเมโทพริมทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนทั่วไป

ไตรเมโทพริมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ไตรเมโทพริม

ยาไตรเมโทพริมมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียของผู้ใหญ่ใน
    • ระบบทางเดินปัสสาวะ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
    • และในต่อมลูกหมาก (ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ)

ไตรเมโทพริมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไตรเมโทพริมคือ ตัวยาจะเข้าไปรบกวนกระบวนการสร้างโปรตีนของแบคทีเรีย โดยเปลี่ยนกรดไดไฮโดรโฟลิก (Dihydrofolic acid) ไปเป็นกรดเตตระไฮโดรโฟลิก (Tetrahydrofolic acid) ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างสารพันธุกรรมชนิดดีเอ็นเอ (DNA) ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตหรือตายลง

ยาไตรเมโทพริม ยังสามารถออกฤทธิ์ดังกล่าวต่อแบคทีเรียที่ต้องการออกซิเจนทั้งชนิดแกรมลบและแกรมบวก เช่นเชื้อชนิด  Staphylococcus species, Enterobacter species, Escherichia coli, Klebsiella pneumoniae และ Proteus mirabilis  นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์ได้ดีต่อโปรโตซัว/สัตว์เซลล์เดียว (Protozoa) บางจำพวกอีกด้วย

ไตรเมโทพริมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไตรเมโทพริมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดขนาด 100 และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดที่ผสมร่วมกับยา Sulfamethoxazole (Sulfa drug) เช่นยา
    • Trimethoprim 160 มิลลิกรัม + Sulfamethoxazole 800 มิลลิกรัม/เม็ด
    • Trimethoprim 80 มิลลิกรัม + Sulfamethoxazole 400 มิลลิกรัม/เม็ด
    • Trimethoprim 20 มิลลิกรัม + Sulfamethoxazole 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลที่ผสมร่วมกับยา Sulfamethoxazole เช่น Trimethoprim 80 มิลลิกรัม + Sulfame thoxazole 400 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำแขวนตะกอนที่ผสมร่วมกับยา Sulfamethoxazole เช่น Trimethoprim 40 มิลลิกรัม + Sulfamethoxazole 200 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดที่ผสมร่วมกับยา Sulfamethoxazole เช่น Trimethoprim 80 มิลลิกรัม + Sulfametho xazole 400 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

ไตรเมโทพริมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไตรเมโทพริมมีขนาดรับประทาน เช่น       

 ก.สำหรับโรคระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ):

  • ผู้ใหญ่: เมื่อเป็นการติดเชื้อที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน รับประทาน 100 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมง หรือ 200 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 10 วัน แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อน การใช้ยานี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

 ข.สำหรับต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 4 - 6 สัปดาห์

*****หมายเหตุ:

  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้ในเด็กจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ โดยแพทย์จะประเมินจาก อายุเด็ก, น้ำหนักตัว, ชนิดของเชื้อโรค, โรคร่วมอื่นๆ, และความรุนแรงของอาการ
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไตรเมโทพริม ควรแจ้ง  แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น 

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย       
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไตรเมโทพริมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

 หากลืมรับประทานยาไตรเมโทพริม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไตรเมโทพริมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาไตรเมโทพริมสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)   เช่น   

  • ผื่นคันตามผิวหนัง โดยยิ่งรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันโอกาสเกิดผื่นคันยิ่งมีมากขึ้น
  • มีภาวะผิวหนังไวต่อแสงแดด/ผื่นแพ้แสง (Photosensitive, เมื่อได้รับแสงแดดแล้วเกิดผิวหนังอักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป)
  • ลมพิษ
  • บางคนอาจเกิดอาการแพ้ยาและมีผิวหนังอักเสบ เกิดภาวะ Stevens-Johnson syndrome
  • พบอาการปวดเสียดบริเวณยอดอก
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ตรวจเลือดพบการทำงานของตับผิดปกติ
  • บางกรณีอาจพบภาวะ/โรคดีซ่าน (Cholestatic jaundice)
  • นอกจากนี้ตรวจเลือดยังสามารถพบความผิดปกติของเม็ดเลือด เช่น เกล็ดเลือดต่ำ, (Thrombocytopenia), เม็ดเลือดขาวต่ำ (Leukopenia), ภาวะ/โรคซีด (Megaloblastic anemia),
  • อาจพบ
  • เกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง
  • เกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
  • มีไข้ได้

มีข้อควรระวังการใช้ไตรเมโทพริมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไตรเมโทพริม  เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคซีดอันเนื่องจากภาวะขาดโฟเลท/กรดโฟลิก(Folic acid) ที่เรียกว่าภาวะโลหิตจางจากขาดวิตามินบี  
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ รวมถึงหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยานี้สามารถขับออกมากับน้ำนมมารดาได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria), โรคทางพันธุกรรมที่มีความผิด ปกติในการสร้างสารฮีม /Heme ของเม็ดเลือดแดง)
  • ไม่ควรใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะ ตับ และ/หรือไต ทำงานผิดปกติ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไตรเมโทพริมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไตรเมโทพริมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไตรเมโทพริม ร่วมกับ ยา Methotrexate อาจเป็นเหตุให้การทำงานของไขกระดูกลดลง/กดไขกระดูก ทำให้ปริมาณ เกล็ดเลือด, เม็ดเลือดแดง, และเม็ดเลือดขาว, ลดจำนวนลง นอกจากนี้ยังสามารถพบอาการ ไข้, หนาวสั่น, เจ็บคอ, วิงเวียน, อ่อนเพลีย, มีแผลในปาก, เป็นต้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไตรเมโทพริม ร่วมกับ ยา Valsartan อาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น (Hyperkalemia) จนอาจนำไปสู่ภาวะไตวาย, กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, จนถึงหัวใจหยุดเต้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสม และควบคุมภาวะโพแทสเซียมในร่างกายอย่างใกล้ชิด
  • การใช้ยาไตรเมโทพริม ร่วมกับยา Cyclosporine อาจทำให้ประสิทธิภาพของยา Cyclosporine ด้อยลงไป กรณีใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาไตรเมโทพริมสูตรตำรับ Sulfamethoxazole/Trimethoprim ร่วมกับ ยาลดความดัน กลุ่ม ACE inhibitors จะทำให้ระดับโพแทสเซียมเลือดสูง  แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายไป

ห้ามรับประทานยาไตรเมโทพริม ร่วมกับ การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ด้วยจะทำให้เกิด   ภาวะหัวใจเต้นเร็ว,  มีผื่นแดงเกิดตามผิวหนัง, คลื่นไส้-อาเจียน, ตามมา

ควรเก็บรักษาไตรเมโทพริมอย่างไร?

สามารถเก็บยาไตรเมโทพริมที่อุณหภูมิห้อง ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไตรเมโทพริมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไตรเมโทพริม  มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิตเช่น 

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Actin (แอคติน) The Forty-Two
Actrim/Actrim-Cap/Addtrim (แอคทริม/แอคทริม-แคป/แอดทริม) Medicine Products
Agsulfa (อักซัลฟา) Charoon Bhesaj
Babytrim (เบบี้ทริม) T.O.Chemicals
Bacin (บาซิน) Atlantic Lab
Bactin (แบคทิน) Siam Medicare
Bactrim (แบคทริม) Roche
Bactoprim (แบคโทพริม) Charoen Bhaesaj Lab
Co-Fatrim (โค-ฟาทริม) T. Man Pharma
Comox (โคม็อก) T. O. Chemicals
Comoxole (โคม็อกโซล) Inpac Pharma
Coprim (โคพริม) Community Pharm PCL
Co-Star (โค-สตาร์) Inpac Pharma
Cotamox (โคตาม็อก) Asian Pharm
Proloprim (โพรโลพริม) Monarch Pharmaceuticals Inc

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.who.int/selection_medicines/committees/expert/18/applications/FDC/en/    [2021,Nov6] 
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Trimethoprim    [2021,Nov6]
  3. https://www.drugs.com/cdi/proloprim.html    [2021,Nov6]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/trimethoprim-index.html?filter=3&generic_only=   [2021,Nov6]
  5. https://www.drugs.com/dosage/trimethoprim.html#Usual_Adult_Dose_for_Urinary_Tract_Infection    [2021,Nov6]  
  6. https://www.mims.co.uk/drugs/infections-and-infestations/bacterial-infections/trimethoprim    [2021,Nov6]