ไขสันหลังอักเสบ (Myelitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

“คุณเป็นโรคไขสันหลังอักเสบ (Myelitis)” หลายคนคงสังสัยหรืองงว่าโรคนี้คืออะไร รู้จักแต่โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท (ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง) หรือกระดูกสันหลังเสื่อมกดทับไขสันหลัง แล้วโรคไขสันหลังอักเสบเป็นอย่างไร มีอาการอย่างไร รักษาหายหรือไม่ บทความนี้จะช่วยให้เข้าใจได้ครับ

โรคไขสันหลังอักเสบคืออะไร?

ไขสันหลังอักเสบ

โรคไขสันหลังอักเสบ คือ โรคที่มีการอักเสบของเซลล์ประสาทในไขสันหลัง ส่งผลให้ผู้ ป่วยมี อาการอ่อนแรง ชา มีปัญหาการขับถ่าย และมีความผิดปกติในส่วนระบบประสาทอัตโน มัติ เช่น การแข็งตัวของอวัยวะเพศ (โรคนกเขาไม่ขัน)

โรคไขสันหลังอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคไขสันหลังอักเสบ ยังไม่ทราบ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยของโรคไขสันหลังอักเสบ คือ

  • การติดเชื้อไวรัสของระบบทางเดินหายใจ และ/หรือของระบบทางเดินอาหาร โดยส่วนใหญ่พบภายหลังการติดเชื้อหายดีแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์
  • การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น Mycoplasma pneumonia (มัยโคพลาสม่า นิวโมเนีย/โรคติดเชื้อมัยโคพลาสมา)
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือ โรคเอม เอส (Multiple sclerosis: MS)
  • โรคความผิดปกติทางด้านภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/โรคออโตอิมูน/โรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคเอสแอลอี (SLE)
  • โรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น พยาธิ
  • ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนบางชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบ หัด

โรคไขสันหลังอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการผิดปกติที่พบในโรคไขสันหลังอักเสบ คือ

  • อาการปวดประสาท เช่น ปวดแปล๊บ อาการคล้ายอะไรทิ่มแทง อาการปวดร้าวจาก คอ ไหล่ และ/หรือ หลัง ไปที่แขน ขา หลัง หน้าอก ท้อง อวัยวะเพศ
  • ความรู้สึกผิดปกติ เช่น ชา เย็น ร้อน ไฟไหม้ ตามแขน ขา หลัง หน้าอก ท้อง อวัยวะเพศ
  • อาการอ่อนแรงของแขน ขา
  • การขับถ่าย ปัสสาวะ อุจจาระลำบาก ไม่มีแรงเบ่ง หรือกลืนไม่ได้
  • ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ เช่น อวัยวะเพศไม่แข็งตัวในเพศชาย ช่องคลอดแห้งมาก ไม่มีน้ำหล่อลื่น เมื่อมีเพศสัมพันธ์ และไม่มีความรู้สึกทางเพศในผู้หญิง

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ อย่างหนึ่งอย่างใดที่เริ่มเป็น และ/หรือ มีอาการรุนแรงขึ้น ควรต่องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเสมอ

แพทย์ให้การวินิจฉัยโรคไขสันหลังอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไขสันหลังอักเสบจาก

  • อาการข้างต้นที่กล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ร่วมกับ
  • การตรวจร่างกาย
  • ตรวจเอกซเรย์ภาพกระดูกสันหลังเพื่อดูว่า มีความผิดปกติอะไรบ้าง
  • และตรวจน้ำไขสันหลัง ซึ่งจะพบว่าในน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง มีเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นเล็กน้อย มีระดับโปรตีนสูงขึ้น และมีระดับน้ำตาลปกติ

*อนึ่ง เนื่องจากการวินิจฉัยโรคนี้ที่แม่นยำ สามารถวินิจฉัยได้ด้วยวิธีการดังได้กล่าวแล้วโดยไม่จำเป็นต้องใช้การตรวจไขสันหลังด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ และเนื่องจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ มักต้องรอการนัดตรวจนาน จึงอาจส่งผลต่อการรักษาได้ ดังนั้นโดยส่วนใหญ่แพทย์จึงไม่ได้ส่งตรวจดังกล่าวในผู้ป่วยทุกราย ทั้งนี้จะขึ้นกับความผิดปกติของอาการ สิ่งผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ในผู้ป่วยเป็นรายๆไป

การรักษาไขสันหลังอักเสบทำอย่างไร?

การรักษาโรคไขสันหลังอักเสบ ประกอบด้วย

  • การให้ยาสเตียรอยด์ขนาดสูงนานประมาณ 3-5 วันเพื่อเป็นการลดการอักเสบ
  • ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เพื่อความแข็งแรงของกล้าม เนื้อ ลดการเกร็ง ข้อติด และปัญหาในการขับถ่าย
  • นอกจากนั้น คือการให้ยารักษาอาการปวดประสาทตามอาการของผู้ป่วย

โรคไขสันหลังอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคไขสันหลังอักเสบส่วนใหญ่ ตอบสนองดีต่อการรักษา แต่ขึ้นกับความรุนแรงของอา การก่อนพบแพทย์ และการมาพบแพทย์หลังเกิดอาการเร็วหรือช้า

ทั้งนี้โดยทั่วไป ถ้าอาการหายดี ก็ไม่จำเป็นต้องทานยาต่อ ยกเว้นเมื่อมีอาการปวดประ สาท หรืออาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ที่แพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการเหล่านี้ จนอาการผู้ป่วยดีขึ้น

อนึ่ง โรคไขสันหลังอักเสบ มีโอกาสเกิดเป็นซ้ำน้อยมาก ยกเว้นเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ที่จะมีโอกาสเกิดเป็นซ้ำสูง

โรคไขสันหลังอักเสบมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

อาการแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากโรคไขสันหลังอักเสบ คือ

  • อาการปวดประสาท
  • อาการอ่อนแรง
  • ความผิดปกติด้านเพศสัมพันธ์ เช่น อวัยวะเพศไม่แข็งตัว (ในผู้ชาย) ช่องคลอดแห้งไม่มีน้ำหล่อลื่น (ในเพศหญิง)
  • กระดูกบาง จากยาสเตียรอยด์ และเคลื่อนไหวร่างกายลดลงจากอาการอ่อนแรง
  • ติดเชื้อได้ง่าย จากการขับถ่ายปัสสาวะลำบาก
  • แผลกดทับ จากร่างกายเคลื่อนไหวได้น้อย/ไม่ได้ จากอาการอ่อนแรง
  • มีอาการ ซึมเศร้า วิตกกังวล

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคไขสันหลังอักเสบ? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไขสันหลังอักเสบ ประกอบด้วย

  • หมั่นทำกายภาพบำบัดตามแพทย์ นักกายภาพบำบัด และพยาบาล แนะนำ
  • ฝึกการขับถ่ายทั้งปัสสาวะ อุจจาระให้เป็นเวลา ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล
  • ระวังเรื่องแผลกดทับ หรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นที่เท้าหรือขา เพราะผู้ป่วยจะมีอาการชา จึงอาจเกิดอุบัติเหตุ/แผลได้ง่าย
  • พยายามออกกำลังกายให้มาก เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน/โรคกระดูกบาง และ
  • ควรพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อ
    • มีอาการผิดปกติต่างๆมากขึ้นกว่าเดิม
    • อาการต่างๆเลวลง
    • แพ้ยา เช่น ขึ้นผื่น
    • ปัสสาวะไม่ออก
    • เกิดแผลกดทับ และ/หรือ
    • กังวลในอาการ

ป้องกันโรคไขสันหลังอักเสบได้อย่างไร?

โรคไขสันหลังอักเสบนี้ ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด

อย่างไรก็ตาม การสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ดีให้กับร่างกาย ก็เป็นการลดโอกาสเกิดโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไขสันหลังอักเสบลงได้ ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้กับร่างกาย ได้แก่

  • การดูแลตนเองให้แข็งแรง ซึ่งที่ปฏิบัติได้ง่ายๆ คือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ไม่เครียด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ