ใหลตายในทารก (Sudden infant death syndrome: SIDS)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?

ใหลตายในทารก หรือ ทารกใหลตาย (Sudden infant death syndrome) คือ การตายเฉียบพลันโดยไม่คาดคิดขณะหลับของทารกอายุต่ำกว่า12เดือนที่แพทย์หาสาเหตุการตายไม่ได้ ซึ่งแม้หลังการตายแพทย์จะมีการสืบค้นต่างๆทางการแพทย์รวมถึงการตรวจศพก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้ทารกนั้นตายได้ ซึ่งทารกกลุ่มนี้เป็นทารกปกติที่ไม่มีโรคหรือภาวะผิดปกติใดๆนำมาก่อน

อนึ่ง:

  • คำสะกดโรคนี้ที่ถูกต้องตามราชบัณฑิตยสถาน(เอกสารอ้างอิงที่2) คือ ‘ใหลตาย’ โดย ’ใหล’ มาจากคำว่า ‘หลับใหล’
  • ชื่อย่อของโรค/ภาวะนี้ คือ โรค เอสไอดีเอส/SIDS (Sudden infant death syndrome)
  • ชื่ออื่นของโรค/ภาวะนี้คือ Crib death, Cot death

ใหลตายในทารก/ทารกใหลตาย/โรคเอสไอดีเอส เป็นเหตุการณ์พบได้เรื่อยๆทั่วโลก ไม่ถึงกับบ่อยมาก มีรายงานพบต่ำในฮ่องกง 0.05 รายต่อทารกฯ 1,000คน และพบสูงในคนอเมริกันพื้นเมืองคือ 6.7รายต่อทารกฯ 1,000ราย โดย 90%พบในช่วงทารกอายุ1-6 เดือน แต่พบสูงสุดในช่วงอายุ 1-4 เดือน, พบในเด็กชายบ่อยกว่าเด็กหญิง, ทั้งนี้ปัจจัยเกิดเหตุการณ์นี้ยังขึ้นกับอีกหลายปัจจัย เช่น เชื้อชาติ, จริยธรรมของชาติ/ครอบครัว, ประเพณีในการดูแลทารก, อายุมารดา, ความประพฤติของมารดาและคนในครอบครัวที่รวมถึง การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และเสพสาร/ยาเสพติด

โรคใหลตายในทารกมีอาการอย่างไร?

ใหลตายในทารก

ใหลตายในทารก/ทารกใหลตาย/โรคเอสไอดีเอส เกิดในทารกปกติ ไม่มีสัญญาณหรืออาการเตือนล่วงหน้า ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ ทั้งหมดเกิดในขณะทารกหลับปกติ ซึ่งอาจหลับช่วงไหน,กลางคืน, หรือ กลางวัน, ก็ได้

โรคใหลตายในทารกมีสาเหตุจากอะไร?

ปัจจุบัน แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของการเกิดใหลตายในทารก/ทารกใหลตาย/โรคเอสไอดีเอส แต่เชื่อว่าน่าเกิดจากอย่างน้อย 3 สาเหตุ/ปัจจัยหลักที่เกิดพร้อมกัน คือ

  • ทารกช่วงวัยดังกล่าวยังไม่มีความสมบูรณ์ในการทำงานของสมองส่วนควบคุมการหายใจคือก้านสมอง(จากสมองส่วนนี้ยังเจริญไม่เต็มที่)จึงตอบสนองได้ไม่ดีต่อภาวะร่างกายมีออกซิเจนต่ำที่มักเกิดในขณะทารกนอนหลับที่ปอดทำงานลดลง จึงส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและระบบหายใจจนถึงขั้นเกิดการล้มเหลวในการทำงานจนส่งผลให้ทารกฯตายได้ทันที
  • ขณะหลับ ทารกฯมีปัญหาที่ทำให้หายใจไม่สะดวก เช่น ท่านอนคว่ำ หรือ ถูกห่อรัดตัวแน่นเกินไป หรือทางเดินหายใจทารกฯถูกอุดกั้นด้วยเครื่องนอนต่างๆ เช่น ฟูก หมอน ผ้าห่ม ผ้าปูฟูกที่ย่นยับ ผ้าคลุมศีรษะ ฯลฯ จึงส่งผลให้ร่างกายทารกฯขาดออกซิเจน ส่งผลให้ระบบหัวใจและระบบหายใจล้มเหลวทันทีจนถึงตายได้
  • เหตุการณ์ทั้ง2ดังกล่าวที่มักเกิดขึ้นในช่วงการเจริญเติบโตที่เปราะบางของทารกฯ คือ ก้านสมองยังทำงานไม่สมบูรณ์ คือ ช่วงวัยต่ำกว่า 12 เดือนและโดยเฉพาะวัย1-6เดือน

ทารกกลุ่มใดที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดใหลตายในทารก?

จากการศึกษา แพทย์พบปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่มักเกิดหลายๆปัจจัยร่วมกันและพร้อมกัน ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิด3ปัจจัยหลักดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุฯ’ที่คาดว่าน่าเป็นสาเหตุหลักของการเกิดใหลตายในทารก/ทารกใหลตาย/โรคเอสไอดีเอส ซึ่งปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ได้แก่

  • ท่านอนของทารก:
    • การศึกษาต่างๆพบว่า ทารกที่ถูกจับให้นอนท่านอนคว่ำหรือนอนตะแคง เกิดใหลตายสูงกว่าทารกนอนในท่านอนหงาย ทั้งนี้เพราะในท่านอนคว่ำและนอนตะแคง ปอดจะทำงานได้ต่ำกว่าท่านอนหงายมาก ทารกจึงขาดออกซิเจนได้ง่าย, และทารกที่นอนตะแคงก็มักจะพลิกกลับมานอนคว่ำเสมอ
    • นอกจากนี้ ท่านอนคว่ำ จะมีผลให้ร่างกายทารกระบายความร้อนได้น้อยกว่าท่านอนหงาย ทารกจึงมักมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นกว่าปกติจนส่งผลต่อการทำงานผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด
    • ดังนั้นปัจจุบัน แพทย์จึงแนะนำให้ทารกที่อายุต่ำกว่า 12 เดือน นอนในท่านอนหงายเสมอ
  • อายุทารก:
    • ทารกที่พบสูงสุดที่เกิดอาการนี้คือช่วงอายุ 1-4 เดือน
    • ทารกแรกคลอดทีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
    • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการนอนของทารก: เช่น
    • อากาศร้อน
    • อุณหภูมิร่างกายทารกสูง
    • ทารกที่ห่อหุ้มตัวรัดแน่น หรือใช้ผ้าห่ม หรือ เบาะ, หมอนนุ่ม, หรือมีของเล่น, หมวกคลุมศีรษะ, หรือสิ่งของต่างๆวางอยู่บนที่นอนที่รวมถึงสิ่งของที่เป็นเส้น/แผ่น ที่จะรัดตัว/รัดคอทารกได้ง่าย
    • ทารกที่นอนเตียงเดียวกับบุคคลอื่น
  • การให้นมทารก: ทารกที่เลี้ยงด้วยนมจากมารดาโดยตรง(ดูดนมมารดา) พบเกิดอาการ/ภาวะนี้ได้น้อยกว่า
  • การสูบบุหรี่,การดื่มสุรา,และ/หรือใช้สาร/ยาเสพติด: การศึกษาพบทารกใหลตายสูงขึ้นในมารดา และ/หรือ บิดา และ/หรือครอบครัว สูบบุหรี่, ดื่มสุรา, และ/หรือใช้ยาเสพติดในช่วงก่อนตั้งครรภ์, ทารกอยู่ในครรภ์, และในช่วงหลังคลอด/ในครอบครัวของทารก
  • อื่นๆ: เช่น
    • มารดามีอายุน้อย มักอายุไม่เกิน 20 ปี
    • ครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ค่อยดี
    • มีประวัติพี่น้องของทารกใหลตาย
    • ทารกเกิดจากมารดาที่ไม่เคยพบแพทย์ หรือ ไม่ค่อยได้พบแพทย์ตามตารางการดูแลของแพทย์ขณะตั้งครรภ์

* อนึ่ง การได้รับวัคซีนของทารกฯ: การศึกษาทางการแพทย์ไม่พบว่า การได้รับวัคซีนต่างๆของทารกสัมพันธ์/หรือเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดใหลตาย

แพทย์วินิจฉัยโรคใหลตายในทารกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นภาวะใหลตายในทารก/ทารกใหลตาย/โรคเอสไอดีเอสได้จาก

  • ช่วงอายุที่เกิดการตาย ร่วมกับ ประวัติทางการแพทย์ของทารกเป็นปกติ, ไม่มีโรคประจำตัว, และการตายเกิดในขณะหลับปกติ, แพทย์ตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆของทารกที่รวมถึงจากการตรวจศพ
  • ทารกมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’

ป้องกันโรคใหลตายในทารกได้อย่างไร?

การป้องกันทารกใหลตายในทารก/ทารกใหลตาย/โรคเอสไอดีเอสให้ได้เต็มร้อยยังเป็นไปไม่ได้ เพราะแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดที่ชัดเจน แต่แพทย์มีความเห็นตรงกันในเรื่องปัจจัยเสี่ยง ซึ่งกุมารแพทย์และแพทย์ด้านระบบการหายใจได้แนะนำวิธีลดปัจจัยเสี่ยงที่จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะนี้ลงได้ เช่น

  • ให้ทารกในวัยยังไม่ถึง 12 เดือนนอนในท่านอนหงายตามคำแนะนำของกุมารแพทย์เสมอ ถ้ากลัวว่าทารกจะมีศีรษะแบนจากการนอนหงาย ให้ขอคำแนะนำจากแพทย์ถึงวิธีดูแลซึ่งทั่วไปแพทย์จะมีวิธีสอนให้มารดาปรับท่านอนทารกได้ในบางโอกาสที่ทารกฯอยู่กับมารดา
  • ที่นอนของทารกฯต้องไม่นุ่มเกินไป ต้องตึง ไม่ยุบตัวเพราะการยุบตัวของเครื่องนอนจะง่ายต่อการกด/ปิดกั้นการหายใจของทารก ทั้งนี้รวมถึงเครื่องใช้และของเล่นต่างๆ และต้องไม่วางสิ่งต่างๆบนเตียง/ฟูกทารกที่ง่ายต่อการเกิดการอุดตันทารกจากการหายใจ เช่น รัดคอ อุดจมูก อุดปาก ที่รวมถึงผ้าห่ม หมอน ผ่าคลุมเตียง และของใช้ ของเล่น ที่เป็นเส้น เป็นสาย
  • อย่าให้มีร่องระหว่างเตียงเด็กกับที่นอนเด็ก
  • มารดาควรนอนห้องเดียวกับทารก แต่ไม่ควรนอนเตียงเดียวกับทารก ทารกควรมีเตียงนอนเฉพาะทารก
  • ห้องนอนทารกต้องไม่ร้อนเกินไป
  • ไม่ห่อทารกแน่นเกินไป
  • แพทย์บางท่านแนะนำให้ทารกดูดหัวนมหลอกขณะหลับเพราะมีการศึกษาพบว่าช่วยลดโอกาสเกิดภาวะไหลตายในทารกได้(ควรปรึกษากุมารแพทย์ก่อนเสมอโดยเฉพาะทารกที่เลี้ยงด้วยดูดนมแม่)
  • ห้ามใช้เครื่องใช้ใดๆที่โฆษณาว่าช่วยป้องกันภาวะนี้ จนกว่าจะปรึกษาและได้รับอนุญาตจากแพทย์ก่อน
  • ต้องไม่มีการสูบบุหรี่ในบ้านที่เลี้ยงทารก
  • มารดา บิดา ผู้ดูแลทารก ต้องไม่ดื่มสุรา และไม่ใช้สาร/ยาเสพติดทั้งในช่วงเตรียมตั้งครรภ์, ขณะตั้งครรภ์, และช่วงเลี้ยงดูทารก

บรรณานุกรม

  1. Hannah C. Kinney and Bradley T. Thach. N Engl J Med. 2009 August 20; 361(8): 795–805.
  2. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2 [2021,May8]
  3. https://rarediseases.org/rare-diseases/sudden-infant-death-syndrome/ [2021,May8]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Sudden_infant_death_syndrome [2021,May8]
  5. https://www.sleepfoundation.org/baby-sleep/sudden-infant-death-syndrome [2021,May8]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/804412-overview#showall [2021,May8]