โออาร์เอส (ORS: Oral rehydration salt) หรือ ผงละลายเกลือแร่ (Electrolyte powder packet)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโออาร์เอส (ORS หรือ Oral rehydration salt) หรือ ผงละลายเกลือแร่ (Electrolyte powder packet) เป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ใช้รักษา อาการท้องเสีย, ภาวะร่างกายสูญเสียน้ำ, คำพูดที่มักได้ยินจนคุ้นหูและใช้เรียกกัน คือ ‘น้ำเกลือ หรือ โออาร์เอส’

ผลิตภัณฑ์อีกกลุ่มที่มักทำให้เข้าใจผิด คือ ผลิตภัณฑ์เกลือแร่ หรือเครื่องดื่มเกลือแร่ หรือ อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ที่โฆษณาเป็นเครื่องดื่มสำหรับชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่หลังการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกันกับ โออาร์เอส หากจะกล่าวให้เข้าใจง่าย ดังนี้

  • ‘โออาร์เอส’ เป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ หรือเรียกว่า ‘ยา’ ใช้รักษาอาการโรคท้องเสีย มีสัดส่วนของเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกายเป็นสัดส่วนที่เป็นมาตรฐานประกอบกับน้ำตาลกลูโคลส (Glucose) เพื่อให้พลังงานแก่ร่างกาย
  • ส่วน ‘เครื่องดื่มเกลือแร่’ จัดเป็น ‘อาหารหมวดเครื่องดื่ม’ มีสัดส่วนของเกลือแร่ และน้ำตาล ไม่เท่ากับ โออาร์เอส กล่าวคือ มีปริมาณน้อยกว่า และใช้ชดเชยน้ำและเกลือแร่หลังออกกำลังกายเท่านั้น

กุญแจสำคัญในการทำงานของ โออาร์เอส คือ ผู้ป่วยยังต้องมีสติและสามารถจิบดื่มสารน้ำได้ ประกอบกับระบบของการดูดซึมในลำไส้ยังต้องทำงานได้ จึงจะสนับสนุนให้โออาร์เอสทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟกำหนดให้โออาร์เอสเป็นผลิตภัณฑ์ทางการ แพทย์ที่จำเป็นต่อระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานของแต่ละประเทศ ด้วยโออาร์เอสช่วยลดอัตราการเสียชีวิตโดยเฉพาะในเด็กเล็กๆด้วยสาเหตุจากโรคท้องร่วง/ท้องเสียได้เป็นจำนวนมากทั่วโลก

ประเทศไทยบรรจุโออาร์เอสลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุส่วนประกอบของตัวยาสำคัญเมื่อผสมน้ำปริมาณ 1 ลิตร ดังนี้

Sodium cholide 2.6 g.
Trisodium citrate dihydrate 2.9 g.
Potassium chloride 1.5 g.
Glucose 13.5 g.

*****หมายเหตุ

ประชาชนควรมี ‘โออาร์เอส’ เป็นยาประจำบ้าน เพื่อเมื่อมีอาการท้องเสีย สามารถจะหยิบฉวยช่วยประทังอาการเพื่อมิให้เกิดภาวะช็อกก่อนที่จะไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

โออาร์เอสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โออาร์เอส

โออาร์เอสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคท้องร่วง/ท้องเสียเฉียบพลัน
  • รักษาและบรรเทาอาการของผู้ป่วยด้วย แผลไหม้หรือแผลไฟไหม้ที่มีขนาดแผลใหญ่ที่เป็นสาเหตุให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากจากทางบาดแผล

โออาร์เอสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของ โออาร์เอส คือ จะชดเชย เกลือโซเดียม, เกลือโพแทสเซียม ที่สูญเสียไปกับอาการท้องเสียให้กับร่างกาย และค่อยๆสร้างสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ อีกทั้งยังมีน้ำตาลกลูโคสที่ช่วยให้พลังงานกับร่างกาย ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลัง (ได้รับพลังงาน) และค่อยๆฟื้นสภาพให้ร่างกายมีแรง จากกลไกดังกล่าว จึงช่วยป้องกันมิให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อกเนื่องจากการขาดน้ำและขาดเกลือแร่

โออาร์เอสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

โออาร์เอสมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • รูปแบบชนิดผงเพื่อละลายน้ำ บรรจุซองขนาด 4.2, 5.09, 6.98, 15.9, หรือ 21.75 กรัม/ซอง

โออาร์เอสมีขนาดรับประทานอย่างไร?

จากเอกสารกำกับยา โออาร์เอส ต้องละลายน้ำสะอาดตามสัดส่วนที่กำหนดก่อนการรับ ประทาน

ก. อ้างอิงตามหลักขององค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ สามารถคำนวณ ขนาดรับประทานของเด็กเล็ก ได้ดังนี้ เช่น

  • สำหรับท้องเสียระดับต่ำๆ: มักมีอาการปัสสาวะน้อยลง และมีอาการกระหายน้ำร่วมด้วย คำนวณการรับประทาน 10 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง
  • สำหรับท้องเสียระดับกลาง: มีอาการปัสสาวะน้อย กระหายน้ำ เซื่องซึม กระพุ้งแก้มแห้ง คำนวณการรับประทาน 15 - 20 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง สามารถให้เด็ก รับประทานได้มากเท่าที่เด็ก/ผู้ป่วยร้องขอ
  • สำหรับท้องเสียระดับรุนแรง: มีอาการปัสสาวะน้อย กระหายน้ำ เซื่องซึม กระพุ้งแก้มแห้ง หายใจหอบและถี่ ง่วงนอนมาก ต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และเป็นไปตามหัตถการทางการแพทย์ที่ถูกต้อง

ข. กรณีที่เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุต่ำกว่า 2 เดือน: ขนาดการใช้รับประทานของโออาร์เอส ควรต้องขอ คำปรึกษาจากแพทย์ผู้รักษา

ค. สำหรับการรับประทานในเด็กโตและในผู้ใหญ่: หลังละลายโออาร์เอสในน้ำดื่มที่สะ อาด สามารถจิบดื่มครั้งละ 200 - 400 มิลลิลิตร และดื่มได้ในปริมาณตามที่มีการสูญเสียน้ำทางอุจจาระจนกระทั่งอาการท้องเสียทุเลาและดีขึ้น

อนึ่ง: แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่อง ‘วิธีกินผงละลายเกลือแร่ในเด็ก’ ได้ในเว็บ haamor.com

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึง โออาร์เอส ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะโออาร์เอสอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆหรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานโออาร์เอส สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานโออาร์เอสในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า

โออาร์เอสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

โออาร์เอสมีผล/ อาการไม่พึงประสงคฺจากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

ก.โออาร์เอสสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงประเภทที่แสดงอาการได้ยาวนาน:

เช่น

  • เกิดภาวะผื่นแพ้แสงแดดในบริเวณหน้าอก
  • ผื่นผิวหนังอักเสบ และ
  • หลอดอาหารอักเสบ

ข. ผลข้างเคียงในระดับที่ต้องทำหัตถการเพื่อช่วยชีวิต: เช่น

  • เกิดภาวะกดการทำงานของไขกระดูก (มีเม็ดเลือดต่ำ)
  • มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง หรือเกลือโซเดียมในเลือดสูง หรือทั้ง 2 ชนิด สูงเกินระดับมาตรฐานของร่างกาย (อาการที่พบ เช่น อ่อนเพลีย กระหายน้ำ กระ สับกระส่าย ปากแห้ง วิงเวียน อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ)
  • ภาวะแพ้ อย่างรุนแรงชนิดที่เรียกว่า Neutropenic fever (มีไข้จากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งมักเกิดจากร่างกายติดเชื้อ) ซึ่งหากพบผลข้างเคียงในลักษณะนี้ต้องหยุดการใช้โออาร์เอสอย่างต่อเนื่อง และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

ค. กรณีรับประทานโออาร์เอสเกินกว่าขนาด: สามารถพบอาการ เช่น

  • อาเจียนอย่างรุนแรง
  • มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง และเกลือโซเดียมในเลือดสูง เกินปกติ
  • ท้องเสีย
  • เกิดภาวะกดไขกระดูก
  • เกิดภาวะอักเสบในเยื่อบุของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร

ง. สำหรับอาการข้างเคียงอื่นๆที่สามารถพบได้อีก: เช่น

    • คลื่นไส้
    • ผมร่วง
    • ปวดท้อง เป็นต้น

มีข้อควรระวังการใช้โออาร์เอสอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้โออาร์เอส เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยา โออาร์เอส
  • ห้ามใช้กับผู้ที่อยู่ในภาวะอาเจียนอย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่ร่างกายอยู่ในภาวะสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง (Severe de hydration)
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยไตทำงานผิดปกติ
  • ระวังการใช้โออาร์เอสใน ผู้ป่วยด้วยโรคเกาต์ ผู้ป่วยด้วยโรคตับ
  • ระวังการใช้โออาร์เอสกับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมโออาร์เอสด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โออาร์เอสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานพบ ปฏิกิริยาระหว่างยาของการใช้ยาโออาร์เอสกับยาอื่น

ควรเก็บรักษาโออาร์เอสอย่างไร?

สามารถเก็บยาโออาร์เอส เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โออาร์เอสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

โออาร์เอสที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
ORS GPO (โออาร์เอส จีพีโอ) GPO
Reka ORS Powder (รีก้า โออาร์เอส พาวเดอร์) Inpac Pharma
SEA ORS (ซี โออาร์เอส) SEA Pharm
SEA ORS Sodium-75 (ซี โออาร์เอส โซเดียม-75) SEA Pharm
Weewa ORS (วีวา โออาร์เอส) Millimed

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Oral_rehydration_therapy [2020,Aug1]
2. https://mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fmims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fORS%2520GPO%2f [2020,Aug1]
3. http://rehydrate.org/ors/ort-how-it-works.htm [2020,Aug1]
4. https://www.webmd.com/first-aid/dehydration-in-children-treatment [2020,Aug1]
5. http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=534&drugName=Oral%20Rehydration%20Salts%20(ORS)&type=9 [2020,Aug1]