โรคเมลิออยด์ โรคฮิตของชาวนาไทย (ตอนที่ 1)

เชื่อหรือไม่ว่า ในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตด้วย “โรคเมลิออยด์” ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน โดยเฉพาะในภาคอีสาน แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้จัก ไม่คุ้นชื่อโรคนี้ ทำให้ขาดความรู้ในการดูแลและป้องกันตัวเอง นพ.ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้เปิดเผยข้อมูล

โรคเมลิออยด์เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอยู่ในดินในน้ำบ้านเรามากที่สุดในโลก โรคนี้ทำให้ผู้ป่วยตายเป็นใบไม้ร่วงทุกปีในช่วงฤดูฝน พบมากในภาคอีสาน เวลาคนไปสัมผัสดิน สัมผัสน้ำ หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียนี้เข้าไปทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นการติดโรคจากธรรมชาติ แต่โรคนี้ไม่ได้แพร่จากคนสู่คน

ประมาณร้อยละ 75 ของคนไข้มาโรงพยาบาลช่วงหน้าฝน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงหว่านดำทำนาในเดือนมิถุนายน - กรกฏาคม และอีกช่วงคือ ช่วงเกี่ยวข้าวในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ปัจจัยหลัก คือ คนไข้ออกไปทำไร่ไถนาอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ สูงถึงร้อยละ 40

เกษตรกรไทยมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้ออย่างมาก เพราะทำนาด้วยเท้าเปล่ามือเปล่า โดยเชื้อจะผ่านเข้าทางผิวหนังได้โดยตรง ไม่ต้องมีแผลอะไร หรือทางน้ำดื่มตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีเชื้อ ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด เข้าปอด สมอง เกิดภาวะติดเชื้อและเสียชีวิต

โรคเมลิออยด์ (Melioidosis หรือ Whitmore's disease) เป็นโรคติดเชื้อซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่ชื่อว่า Burkholderia pseudomallei หรือเรียกสั้นๆ ว่า B.pseudomallei พบได้ในดินและน้ำ เป็นโรคในเขตร้อน (Tropical climates) โรคนี้มีความสำคัญทางสาธารณสุขโดยเฉพาะในประเทศไทยและทางเหนือของออสเตรเลีย

โรคนี้อาจเป็นได้ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจมีอาการ เช่น เจ็บหน้าอก กระดูก หรือข้อ ไอ ติดเชื้อที่ผิวหนัง มีก้อนในปอด (Lung nodules) หรือปอดอักเสบ (Pneumonia) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีการเกิดของโรคเมลิออยด์สูงที่สุดในโลก (มีรายงานผู้ป่วยเป็นโรคเมลิออยด์ 21.3 รายในประชากร 100,000 รายต่อปี)

โรคเมลิออยด์เป็นโรคที่เกิดเฉพาะพื้นที่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (นอกจากไทยแล้วยังมีลาว ตอนใต้ของจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า และเวียดนาม) และไต้หวัน นอกจากนี้มีรายงานว่าพบผู้ป่วยหลายรายในฮ่องกง บรูไน อินเดีย และพบผู้ป่วยบ้างประปรายในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง แปซิฟิก และหลายประเทศในแถบแอฟริกา

โรคนี้เป็นสาเหตุของการตายจากการติดเชื้ออันดับ 3 (รองจากโรคเอดส์และวัณโรค) ของภาคตะวันออกเฉียง เหนือของไทย โดยร้อยละ 80 ของเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีสารต่อต้าน (Antibodies) ต่อเชื้อ B. pseudomallei ที่เป็นบวกตั้งแต่อายุ 4 ปี ในขณะที่ส่วนอื่นของโลกจะมีจำนวนตัวเลขน้อยกว่านี้

คนและสัตว์สามารถติดโรคนี้ได้ด้วยการหายใจหรือสัมผัสเอาฝุ่นหรือละอองน้ำ การกินน้ำที่มีเชื้อ และการสัมผัสกับดินที่มีเชื้อผ่านทางบาดแผลที่ผิวหนัง โดยสัตว์ที่พบว่าเป็นโรคนี้ ได้แก่ แมว แพะ แกะ ม้า หมู และสุนัข สำหรับวัว ควาย และจระเข้นั้น เชื่อว่ามีความต้านทานต่อการติดเชื้อทั้งที่สัมผัสกับโคลนอยู่ตลอด ส่วนรายงานของการติดต่อจากคนสู่คนค่อนข้างพบได้น้อยมาก

โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เป็นโรคเมลิออยด์ชนิดรุนแรง ปัจจัยเสี่ยงอื่นที่รองลงมา ได้แก่ โรคทาลัสซีเมีย (Thalassaemia) และโรคไต นอกจากนี้ยังพบว่าโรคมีความสัมพันธ์กับฝน โดยพบว่าจำนวนและความรุนแรงของผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณฝน

แหล่งข้อมูล:

  1. โรคเมลิออยด์ - คุณหมอขอบอก - http://www.dailynews.co.th/article/1490/172361 [2013, June 10].
  2. Melioidosis. - http://en.wikipedia.org/wiki/Melioidosis [2013, June 10].
  3. Melioidosis. - http://www.cdc.gov/melioidosis/ [2013, June 10].
  4. Melioidosis. - http://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMra1204699 [2013, June 10].