โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือโรคติดเชื้อระบบหายใจ หรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ (Respiratory tract infection ย่อว่า RTI) คือโรคติดต่อที่เกิดจากอวัยวะ/เนื้อเยื่อต่างๆในระบบทางเดินหายใจติดเชื้อโรคซึ่งส่วนใหญ่ที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในเด็กคือการติดเชื้อไวรัส ที่พบรองลงมาคือการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนการติดเชื้อราซึ่งพบได้น้อยมักพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ

ระบบทางเดินหายใจแบ่งย่อยเป็น 2 ส่วนคือ

ก. ระบบทางเดินหายใจส่วนบน/ตอนบน/ส่วนต้น/ตอนต้น (Upper respiratory tract): เนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนนี้มีหน้าที่หลักเป็นทางผ่าน/ทางเดินลมหายใจ นำอากาศเข้าสู่ปอด ซึ่งเนื้อ เยื่อ/อวัยวะในส่วนนี้คือ โพรงจมูก/เยื่อจมูก/เนื้อเยื่อบุโพรงจมูก ไซนัส ท่อยูสเตเชียน ช่องคอ ทอนซิล คอหอย กล่องเสียง

ข. ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง/ตอนล่าง (Lower respiratory tract): เนื้อเยื่อ/อวัยวะ ส่วนนี้คือท่อลม และหลอดลมส่วนที่อยู่นอกปอดที่เรียกว่าหลอดลมประธาน ซึ่งเนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนนี้มีหน้าที่หลักเป็นทางผ่านของอากาศเข้าสู่ปอด นอกจากนั้นระบบทางเดินหายใจส่วนล่างนี้ ยังประกอบด้วยหลอดลมส่วนที่อยู่ในปอด ถุงลม และเนื้อเยื่อปอด ซึ่งเนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนนี้มีหน้าที่ฟอกอากาศคือแลกเปลี่ยนออกซิเจนในถุงลมกับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดหรือเปลี่ยนเลือดดำ (เลือดที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูง ออกซิเจนต่ำ) ให้เป็นเลือดแดง (เลือดที่มีออกซิเจนสูง คาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ)

ดังนั้นการติดเชื้อทางเดินหายใจจึงแบ่งตามลักษณะกายวิภาคได้เป็น 2 ส่วนคือ

ก. การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน/ตอนบน/ส่วนต้น/ตอนต้น (Upper respiratory tract infection ย่อว่า URI หรือ URTI) ที่เป็นการติดเชื้อในเนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนตอนบนของ ทางเดินหายใจเช่น เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ โรคหวัด สเตรปโธรท ทอนซิลอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ

ข. การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง/ตอนล่าง (Lower respiratory tract infection) ที่เป็นการติดเชื้อของอวัยวะทางเดินหายใจส่วนล่างเช่น ปอดอักเสบ ปอดบวม

นอกจากนั้นยังแบ่งการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ตามลักษณะอาการเป็น 2 แบบ/ชนิดคือ

ก. การติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน/ฉับพลัน(Acute respiratory tract infection) ที่อาการโรคจะเกิดอย่างรวดเร็ว แต่หายได้ภายในระยะเวลา 1 - 2 สัปดาห์มักไม่เกิน 1 เดือน และ

ข. การติดเชื้อทางเดินหายใจเรื้อรัง (Chronic respiratory tract infection) คือการติด เชื้อทางเดินหายใจที่อาการจะเป็นๆหายหรือมีอาการต่อเนื่องมาจากการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยมักมีอาการนานเป็นเดือนหรือหลายเดือนขึ้นไป ซึ่งการรักษาจะยุ่งยากซับซ้อน และมีการพยากรณ์โรคแย่กว่าการติดเชื้อชนิดเฉียบพลัน

การติดเชื้อทางเดินหายใจเป็นโรคพบบ่อยทั่วโลก แต่ไม่มีรายงานสถิติเกิดที่ชัดเจนเพราะ มักแยกรายงานเป็นแต่ละโรคเช่น ไข้หวัดใหญ่ที่ทั่วโลกพบผู้ป่วยได้ประมาณปีละ 3 - 5 ล้านคน เป็นต้น ซึ่งโรคติดเชื้อทางเดินหายใจพบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ และผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดได้เท่ากัน

อะไรคือสาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ?

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเป็นโรคติดต่อโดยมีสาเหตุเกิดจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆในระบบหายใจมีการติดเชื้อ โดยเชื้อพบบ่อยคือเชื้อไวรัส รองลงมาคือแบคทีเรีย ส่วนสาเหตุจากเชื้อราพบได้น้อยยกเว้นในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น โรคเอดส์หรือผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจติดต่อได้อย่างไร?

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจติดต่อ/แพร่ระบาด/สัมผัสเชื้อได้หลายทางได้แก่

  • จากการไอจาม โดยเชื้อจะปนมาในละอองน้ำลายแล้วเราสูดหายใจละอองเหล่านี้ที่มีเชื้อติดอยู่เข้าสู่ทางเดินหายใจ
  • จากน้ำมูกน้ำลายผู้ป่วยที่มีเชื้อโรค โดยสัมผัสมือผู้ป่วยและไปสัมผัสตาและ/หรือช่องจมูกของเรา ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่ทางเดินหายใจผ่านทางเยื่อเมือกของตาและ/หรือของจมูก/เยื่อจมูก
  • จากน้ำมูกน้ำลายผู้ป่วยที่มีเชื้อโรคติดมือผู้ป่วยและไปติดอยู่ตามสิ่งต่างๆที่ผู้ป่วยสัมผัสเช่น ของเล่น โทรศัพท์ ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได แล้วจึงติดต่อไปยังผู้ที่สัมผัสสิ่งเหล่านี้
  • จากการใช้ของใช้ที่สัมผัสสารคัดหลัง (น้ำมูกน้ำลาย) ผู้ป่วยร่วมกันเช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว
  • จากการใช้ของใช้ในการบริโภคร่วมกันเช่น แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้แก่

ก. อาการโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตอนบน: ซึ่งโรคที่พบบ่อยเช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ สเตรปโธรท ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ซึ่งอาการที่พบบ่อยได้แก่

  • มีไข้ อาจเป็นไข้สูงหรือไข้ต่ำก็ได้ขึ้นกับชนิดของเชื้อ (เช่น ติดเชื้อไวรัสไข้สูงกว่าติดเชื้อแบคทีเรีย) และความรุนแรงของโรค (เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ไข้สูงกว่าโรคหวัด) โดยช่วงมีไข้จะมีอาการปวดเนื้อตัว/ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ
  • ไอ มักไอไม่มาก อาจไอมีเสมหะหรือไม่มีเสมหะก็ได้ ถ้ามีเสมหะ จะมีเสมหะไม่มากและเสมหะจะมีสีขาว ใส ไม่ค่อยข้น/เหนียว
  • มีน้ำมูก อาจมีน้ำมูกมากหรือน้อยขึ้นกับชนิดของเชื้อเช่น โรคหวัดจะมีน้ำมูกมากกว่าไข้หวัด ใหญ่โดยน้ำมูกมักมีสีขาว แต่เมื่อเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียน้ำมูกจะเป็นสีอื่นเช่นเทา เหลือง เขียว น้ำตาล เช่นจากไซนัสอักเสบ
  • เจ็บคอ
  • อาจมีเสียงแหบ
  • อาจมีต่อมน้ำเหลืองลำคอโต คลำได้ โดยทั่วไปมักมีขนาดเล็กแต่อาจโตได้ถึง 1 - 2 เซนติเมตรและมักเจ็บ โดยอาจคลำพบได้ด้านใดด้านหนึ่งของลำคอ (ซ้ายหรือขวา) หรืออาจคลำพบได้ทั้ง 2 ข้างลำคอ อาจคลำพบเพียงต่อมเดียวหรือหลายต่อมก็ได้
  • อาการทั่วไปเช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

ข. อาการโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตอนล่าง: โรคที่พบบ่อยคือ จากปอดอักเสบ หรือปอดบวม ซึ่งอาการพบบ่อยได้แก่

  • มีไข้ มักเป็นไข้สูง
  • ไอมาก เป็นการไอมีเสมหะมาก เสมหะมีลักษณะข้น เหนียว มีได้ทั้งสีขาวขุ่นและสีต่างๆขึ้นกับชนิดของเชื้อ อาจมีไอเป็นเลือดได้ เสมหะเป็นเลือด เสมหะมักมีกลิ่นเหม็น
  • อาจมีเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • หอบเหนื่อย
  • อาการทั่วไปจะเช่นเดียวกับในการติดเชื้อทางเดินหายใจตอนบน แต่อาการแย่กว่าเช่น อ่อนเพลียมาก เบื่ออาหารมาก

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อทางเดินหายใจได้แก่

  • เด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กที่อยู่รวมกันในที่แออัดเช่น โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก
  • ผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไปโดยเฉพาะเมื่ออยู่อาศัยรวมกันเป็นจำนวนมากเช่น ในบ้านพักคนชรา
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง
  • โรคอ้วน
  • ผู้มีโรคปอดเรื้อรังเช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • สตรีตั้งครรภ์
  • ผู้ติดบุหรี่
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/HIV ผู้กินยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค(เช่น ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ)

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการ” ในเรื่องการติดเชื้อทางเดินหายใจตอนบนอาจดูแลตนเองทั่วไปได้ที่บ้าน แต่ถ้าอาการรุนแรงตั้งแต่แรกหรืออาการแย่ลงหลังดูแลตนเอง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

แต่ถ้ามีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการ” ที่เป็นอาการจากติดเชื้อทางเดินหายใจตอนล่าง ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้จากประวัติอาการ ประวัติสัมผัสโรค โรคประจำตัวต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจดูในช่องคอ การตรวจต่อมทอนซิล การตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง ลำคอ บางครั้งอาจมีการตรวจเชิ้อและ/หรือตรวจเพาะเชื้อจากเสมหะหรือจากสารคัดหลั่งในคอหอย และกรณีแพทย์สงสัยโรคของไซนัสหรือโรคปอด แพทย์อาจส่งตรวจเอกซเรย์ภาพไซนัสหรือเอกซเรย์ภาพปอดเป็นกรณีๆไป บางครั้งอาจมีการตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อช่วยแยกว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสหรือติดเชื้อแบคทีเรีย หรือมีการตรวจเลือดเพื่อหาสารภูมิต้านทานและ/หรือหาสารก่อภูมิต้านทานและ/หรือหาตัวเชื้อโรคเพื่อการช่วยวินิจฉัยว่าโรคเกิดจากติดเชื้อชนิดใด ซึ่งการจะตรวจอะไรบ้างจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์และอาการผู้ป่วยเป็นกรณีไป

รักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอย่างไร?

หลักการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจคือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ:

  • การใช้ยาปฏิชีวนะกรณีการติดเชื้อเกิดจากแบคทีเรีย โดยแพทย์จะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ทั้งนี้ขึ้นกับแต่ละชนิดสายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรีย และรวมถึงความรุนแรงของอาการ
  • กรณีติดเชื้อไวรัสโดยทั่วไปการรักษาจะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายจะค่อยๆกำจัดไวรัสออกไปจากร่างกายเอง ทั้งนี้เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าได้แต่เชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ อย่างไรก็ตามมีไวรัสบางสายพันธุ์ที่มียาต้านไวรัสเช่น ยา Oseltamivir ที่ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 และไข้หวัดนก
  • การใช้ยาต้านเชื้อรากรณีโรคเกิดจากติดเชื้อราเช่น ยา Amphotericin B ยา Itraconazole

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: คือการรักษาตามอาการผู้ป่วยโดยวิธีการรักษา เช่นเดียวกันไม่ว่ามีสาเหตุจากติดเชื้ออะไรเช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาแก้ปวด การให้ออกซิเจนกรณีหายใจลำบาก หรือการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำกรณีร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำกรณีผู้ป่วยกินอาหารได้น้อย เป็นต้น

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจมีผลข้างเคียงอย่างไร?

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจมีผลข้างเคียงที่อาจพบได้คือ

ก. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจตอนบน: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้คือ การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนกรณีของการติดเชื้อครั้งแรกเกิดจากเชื้อไวรัสเช่นในไซนัสอักเสบ หรือกรณีทีโรครุน แรงมักมีการติดเชื้อในปอด/ปอดอักเสบ/ปอดบวมร่วมด้วยเช่น ในไข้หวัดใหญ่ชนิดที่รุนแรง

ข. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจตอนล่าง: ผลข้างเคียงกรณีโรครุนแรงที่อาจพบได้คือ ภาวะหายใจล้มเหลว และ/หรือมีการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจโดยทั่วไปมีการพยารณ์โรคที่ดี รักษาได้หาย แต่ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัยที่สำคัญเช่น ความรุนแรงของเชื้อ เป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจตอนบนหรือตอนล่าง (การติดเชื้อทางเดินหายใจตอนบน การพยากรณ์โรคดีกว่า) ผู้ป่วยดื้อยาที่ใช้รักษาหรือไม่ (การพยากรณ์โรคเลวมากถ้าเกิดเชื้อดื้อยา) สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย (ถ้ามีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัว มีโรคปอดเรื้อรัง มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ การพยากรณ์โรคไม่ดี) ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาจึงเป็นผู้ให้การพยารณ์โรคได้ดีที่สุดเพราะการพยากรณ์โรคจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อติดเชื้อทางเดินหายใจ เมื่ออยู่บ้านคือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำกรณีได้พบแพทย์แล้ว
  • กินยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พักผ่อนให้เต็มที่ หยุดงานหยุดโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและเพื่อได้พักผ่อนเต็มที่
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • สั่งน้ำมูกในทิชชูแล้วทิ้งในถังขยะ
  • ไอ จาม ต้องปิดปาก ปิดจมูก
  • ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงป้องกันภาวะขาดน้ำโดยอย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้วเมื่อไม่มีโรคที่แพทย์สั่งให้จำกัดน้ำดื่ม
  • แยกของใช้ส่วนตัวเช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว
  • แยกภาชนะในการบริโภคเช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม จาน ชาม
  • ล้างมือบ่อยๆให้สะอาดเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการไปในแหล่งชุมชน
  • ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัด (กรณีเคยพบแพทย์แล้ว) แต่ถ้ายังไม่เคยพบแพทย์ ถ้าอาการเลวลงหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลตนเองตามอาการใน 2 - 3 วัน ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยเฉพาะผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวในหัวข้อ “ใครมีปัจจัยเสี่ยง”

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆไม่ดีขึ้นหรือเลวลงเช่น ไอมากขึ้น ไอเป็นเลือด หรือเสมหะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสือื่นเช่น เขียว เหลือง น้ำตาล ซึ่งแสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่ต้องการรักษาจาก แพทย์ด้วยยาปฏิชีวนะ หรือเสียงแหบต่อเนื่องทั้งๆที่อาการอื่นหายแล้ว หรือต่อมน้ำเหลืองที่คอโตขึ้น
  • กลับมามีอาการที่เคยรักษาหายแล้วเช่น กลับมาไอมากอีก ไอเป็นเลือด หรือเสียงแหบ
  • กังวลในอาการ

ป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอย่างไร?

การป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้แก่

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ
  • เครื่องใช้ในการรับประทานต้องสะอาดเช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม จาน ชาม
  • หลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่แออัดเมื่อมีการระบาดของโรคทางเดินหายใจ
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามกระทรวงสาธารณสุขแนะนำเช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่

บรรณานุกรม

  1. http://www.nhs.uk/Conditions/Respiratory-tract-infection/Pages/Introduction.aspx [2016,May7]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Respiratory_tract_infection [2016,May7]
  3. http://emedicine.medscape.com/article/219557-overview#a6 [2016,May7]