โรคจิตเภท (Schizophrenia)

บทความที่เกี่ยวข้อง
โรคจิตเภท1

โรคจิตเภท(Schizophrenia) เป็นโรคทางจิตเวชที่เรื้อรังและจัดว่ารุนแรง โดยเป็นโรคที่จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติ ในความคิด ความรู้สึก และในความประพฤติ

จิตเภทเป็นโรคพบได้ทั่วโลก ประมาณ1%ของประชากรทั่วโลก พบในทุกอายุ แต่พบได้น้อยมากๆในเด็ก อายุช่วงที่พบโรคนี้ได้สูง คือ 20-40ปี โดยพบในผู้ชายสูงเป็น1.4 เท่าของผู้หญิง

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง:

ปัจจุบัน แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุโรคนี้ที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าเกิดจากความผิดปกติของสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง และ อาจจะเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เพราะพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในคนครอบครัวเดียวกัน รวมไปถึงอาจมีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่สมอง การมีปัญหาในการคลอดที่ส่งผลกระทบต่อสมอง ภาวะขาดอาหารตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ หรือมีปัญหาทางชีวิต/สังคมในครอบครัวตั้งแต่ในครรภ์หรือตั้งแต่แรกเกิด

อาการ:

โรคจิตเภทแบ่งเป็น 3 กลุ่มอาการ ได้แก่ กลุ่มอาการทางบวก(Positive symptoms) กลุ่มอาการทางลบ(Negative symptoms) และกลุ่มอาการผิดปกติทางความรู้สึกตัว/การรู้คิด (Cognitive symptoms)

ก. อาการทางบวก คือ อาการที่จะไม่เกิดในคนปกติ เช่น ประสาทหลอน หลงผิด(เช่น เชื่อแบบหลงผิดว่า ตนเองเป็นเทพเจ้า) ความคิดอ่านผิดปกติ(เช่น คิดอ่าน พูดจาไม่เป็นเรื่องเป็นราว) พฤติกรรมผิดปกติ (เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ เคลื่อน ไหว/ทำท่าทางแปลกๆ เดี่ยวพูด เดี๋ยวหัวเราะ พูดคุยคนเดียว)

ข. อาการทางลบ คือ อาการที่ขาดหายไปจากอาการของคนปกติ เช่น ไม่มีการแสดงความรู้สึกใดๆ ไม่พูด ไม่มีอารมณ์ยินดียินร้าย

ค. อาการทางการรู้คิด คือ ไม่มีสมาธิเป็นอย่างมาก จำอะไรไม่ได้ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ถึงแม้จะเป็นปัญหาง่ายมากก็ตาม

การวินิจฉัย:

แพทย์วินิจฉัยโรคจิตเภทได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวในหัวข้อสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง การตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายทางประสาทวิทยา การตรวจต่างๆทางจิตเวช และอาจมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อแยกโรคทางกายที่เกิดกับสมอง เช่น การตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา และอาการของผู้ป่วย

การรักษา:

แนวทางการรักษาโรคจิตเภท คือ การใช้ยาทางจิตเวช ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับยาตลอดชีวิต, การรักษาด้วยวิธีที่ซับซ้อนทางจิตเวชกรณีการใช้ยาไม่ได้ผล เช่น การกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า(Electroconvulsive therapy ย่อว่า ECT), และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดศีรษะกรณีมาอาการปวดศีรษะ เป็นต้น

นอกจากนั้น คือ การแนะนำ/ดูแล/สอนให้ผู้ป่วย และให้ครอบครัวดูแลผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชิวิตพื้นฐานประจำวันได้ด้วยตนเอง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดภาระต่อครอบครัว

การดูแลที่จำเป็นที่สุด คือ ต้องไม่ให้ผู้ป่วยขาดยา และต้องพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ หรือก่อนแพทย์นัด กรณีผู้ป่วยเริ่มมีอาการผิดปกติ/อาการแปลกไปจากเดิม หรืออาการเริ่มกลับมาเลวลง

การพยากรณ์โรค:

การพยากรณ์โรคของโรคจิตเภท คือ เป็นโรคเรื้อรัง รุนแรง ผู้ป่วยมักช่วยเหลือดูแลตนเองตามลำพังไม่ได้ ต้องมีคนคอยช่วยเหลือดูแลตลอดชีวิต และจิตแพทย์ต้องดูแลผู้ป่วยตลอดชีวิตเช่นกัน โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาตลอดชีวิตเพื่อควบคุมอาการโรคให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในการใช้ชีวิตพื้นฐานประจำวัน

บรรณานุกรม

  1. http://www.somdet.go.th/Knowledge_(saranarue)/2.php [2017,Aug5]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Schizophrenia [2017,Aug5]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Epidemiology_of_schizophrenia [2017,Aug5]
  4. https://www.nimh.nih.gov/health/topics/schizophrenia/index.shtml [2017,Aug5]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Prognosis_of_schizophrenia [2017,Aug5]