โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือ โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Influenza-like illness: ILI)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือ โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่(Influenza-like illness ย่อว่า ILI/ไอแอลไอ หรือ Flu-like illness หรือ Acute respiratory infection ย่อว่า ARI) คือ โรคต่างๆที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ โดยแพทย์วินิจฉัยโรคจากทางคลินิก(จากประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย เช่น อาการต่างๆ, ประวัติการงาน/การสัมผัสโรค, การตรวจร่างกายที่รวมถึงการตรวจดูช่องคอ, และ ตรวจเลือด ซีบีซี/ CBC)เท่านั้น, ซึ่งทั้งหมดที่ตรวจไม่ใช่วินิจฉัยยืนยันจากการตรวจเชื้อและ/หรือการสืบค้นเพิ่มเติมจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานของไวรัสไข้หวัดใหญ่จากตรวจสารคัดหลั่ง/ Swab sample จากโพรงหลังจมูกและโพรงหลังจมูกที่เรียกว่า Rapid Influenza Diagnostic Tests(RIDT), และ/หรือร่วมกับ ตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยเทคนิคชั้นสูง เช่น การเพาะเชื้อไวรัส, การตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยเทคนิค PCR(Polymerase chain reaction)

องค์การอนามัยโลก(WHO)ให้คำนิยาม “โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่”เช่นเดียวกับคำนิยามจาก CDC ของสหรัฐอเมริกา(US Centers of Disease Control and Prevention)ว่าคือ “โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน”ที่ยังไม่มีการตรวจหาชนิดของเชื้อจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แต่เป็นการวินิจฉัยทางคลินิกโดยผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ คือ

  • มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส(Celsius/C)ขึ้นไป
  • ไอ
  • อาการนี้มีมานานไม่เกิน10วัน
  • อาการทั่วไปของผู้ป่วยสามารถรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ไม่จำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล

แต่ถ้ากรณีผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวในระดับรุนแรง จนแพทย์เห็นว่ามีความจำเป็นต้อง รักษาในโรงพยาบาล จะเรียกโรคในกลุ่มนี้ว่า “โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (Severe acute respiratory infection ย่อว่า SARI)”

โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่/ไอแอลไอ เป็นโรคพบบ่อยมากตลอดทั้งปีทั่วโลก พบทุกอายุตั้งแต่เด็กเล็ก(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ ทุกเพศมีโอกาสเกิดได้เท่ากัน โรคนี้มีสาเหตุได้หลากหลายจึงยังไม่มีรายงานสถิติการเกิดที่ชัดเจนเพราะส่วนใหญ่จะเป็นการรายงานสถิติในแต่ละโรคที่รู้สาเหตุ

โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่มีสาเหตุจากอะไร? เป็นโรคติดต่อหรือไม่?

โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่

จากคำนิยามดังกล่าวใน “หัวข้อ บทนำฯ” โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่/ไอแอลไอจึงเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากหลากหลายสาเหตุ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยหลังจากตรวจหาเชื้อแล้ว จะพบว่า ‘สาเหตุหลักจะมาจากไวรัสที่ก่อโรคหวัด, และโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ต่างๆ’

ส่วนสาเหตุอื่นๆที่พบได้น้อยกว่ามาก ได้แก่

  • โรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆที่ไม่ใช่ไวรัสโรคหวัดหรือไวรัสไข้หวัดใหญ่: เช่น อีสุกอีใส, หัด, ไวรัสที่เป็นสาเหตุให้เกิดท้องเสีย(ไวรัสลงกระเพาะ), เอชไอวี, งูสวัด, ไวรัสตับอักเสบ, โปลิโอ
  • แบคทีเรีย: เช่น โรคฉี่หนู โรคไทฟอยด์ โรคลิสเทริโอซิส(ลิสทีเรีย) ไข้แมวข่วน โรคลีเจียนแนร์ ซิฟิลิส สครับไทฟัส
  • โรคเชื้อรา: เช่น โรคฮิสโตพลาสโมซิส
  • โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว: เช่นโรค มาลาเรีย, ท็อกโซพลาสโมสิส
  • โรคมะเร็ง: เช่นโรค มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด/ ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ
  • ผลข้างเคียงจากวัคซีนต่างๆ: เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโรคหัด
  • อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาบางชนิด: เช่นยา Bisphosphonate, Levamisole, Interferon, Monoclonal antibody, ยาเคมีบำบัด
  • อาการลงแดง/ถอนยาจากยาบางชนิด: เช่น Opioid สาร/ยาเสพติด
  • อื่นๆ: ซึ่งพบน้อยมาก เช่น จากการสูดดมฝุ่นโลหะหรือสารเคมีต่อเนื่องเรื้อรัง ซึ่งอาจจากอาชีพ หรือฝุ่นอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ที่เรียกว่า “Metal fume fever” เช่นจาก ฝุ่น Aluminium, สังกะสี, เงิน, ทอง

โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ติดต่อหรือไม่?

เมื่อดูจากสาเหตุ โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคไอแอลไอ:

  • เมื่อเกิดจาก‘โรค/ภาวะติดเชื้อ’ โรคนั้นๆก็เป็น ‘โรคติดต่อ’ เช่น โรคหัด โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่
  • แต่เมื่อเกิดจาก ‘โรคที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อ’ โรคนั้นๆก็ ‘ไม่ใช่โรคติดต่อ’ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของแต่ละโรคได้จากเว็บ haamor.com)

โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่มีอาการอย่างไร?

อาการทั่วไปของโรคคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่/ไอแอลไอ จะคล้ายอาการโรคไข้หวัดใหญ่มาก แยกจากกันไม่ได้ด้วยด้วยการวินิจฉัยทางคลินิก ต้องแยกกันด้วยการสืบค้นเพิ่มเติมจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจสารภูมิต้านทาน หรือสารก่อภูมิต้านทาน การตรวจเชื้อ และ/หรือการเพาะเชื้อ ซึ่งแพทย์จะให้การตรวจสืบค้นที่ยุ่งยากเหล่านี้เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง

ทั้งนี้เพราะดังได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อสาเหตุฯ’ว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ของโรคกลุ่มโรคคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่/ไอแอลไอมีสาเหตุจาก ไวรัสโรคหวัด และ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งการรักษาคือ การรักษาตามอาการ

แต่ถ้าหลังการรักษาตามอาการ อาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลง หรือจากประวัติทางการแพทย์ตั้งแต่แรกน่าจะมีอาการจากสาเหตุอื่น หรือเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง แพทย์จะทำการวินิจฉัยแยกโรค เพื่อหาสาเหตุที่แน่นอนของอาการที่เกิดขึ้น

ดังนั้นอาการทั่วไปของโรคคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่/ ไอแอลไอ คือ อาการที่เกิด เฉียบพลันที่ประกอบด้วย

  • ไข้สูงตั้งแต่ 38องศาเซลเซียสขึ้นไป อาจร่วมกับ หนาวสั่น เหงื่อออกมาก
  • ปวดหัว ปวดเนื้อตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
  • ไอมักไม่ค่อยมีเสมหะ/ไอแห้งๆ ถ้ามีเสมหะ มักเป็นสีขาว ไม่มีกลิ่น
  • จาม เจ็บคอ/ คออักเสบ
  • อาจมีท้องเสีย แต่ไม่รุนแรง
  • เบื่ออาหาร
  • อ่อนเพลีย
  • อาจคลื่นไส้ อาจอาเจียน แต่ไม่รุนแรง

ใครคือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมีอาการรุนแรง?

“กลุ่มเสี่ยง” คือผู้ป่วยกลุ่มที่โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่/ไอแอลไอ มักมีอาการรุนแรง และ/หรือมักมีโรคแทรกซ้อนง่าย ได้แก่

  • เด็กเล็ก
  • สตรีตั้งครรภ์
  • ผู้สูงอายุโดยเฉพาะอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
  • ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคปอด โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • รวมถึงผู้มีประวัติสัมผัสโรคอื่นๆโดยเฉพาะกรณีกำลังมีการระบาดของโรคนั้นๆ หรือผู้ป่วยมีอาชีพหรือมาจากแหล่งที่โรคนั้นๆเป็นโรคประจำถิ่น เช่น โรคฉี่หนู เป็นต้น

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน “หัวข้อ อาการฯ” และอาการไม่ดีขึ้นใน 1-3วันหลังดูแลตนเองที่บ้าน ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ แต่ถ้าอาการรุนแรงตั้งแต่แรก และ/หรือ เป็น “กลุ่มเสี่ยง” ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 1-2 วันนับจากมีอาการและอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง

แพทย์วินิจฉัยโรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่อย่างไร?

ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่/ไอแอลไอ โดยใช้การวินิจฉัยทางคลินิก ได้แก่

  • อาการผู้ป่วย
  • ประวัติสัมผัสโรคของผู้ป่วย เช่น มีคนในที่ทำงานเป็นไข้หวัดใหญ่, ไปในที่แออัด, การสัมผัสผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ, พักผ่อนไม่เพียงพอ, การตรวจช่องคอ, การตรวจสัญญาณชีพ, การตรวจร่างกาย, อาจมีตรวจเลือด ซีบีซี /CBC, และ/หรือเอกซเรย์ภาพปอดกรณีไอมาก เป็นต้น

รักษาโรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่อย่างไร?

เนื่องจากดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ “สาเหตุฯ” ว่า โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่/ โรคไอแอลไอ ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด เกิดจากโรคหวัด/โรคไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นแนวทางการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือ

ก. กรณีเป็นผู้ป่วยที่อาการโรคไม่รุนแรงและแพทย์วินิจฉัยเป็นโรคหวัด/ ไข้หวัดใหญ่ แพทย์จะรักษาตามอาการ ที่สำคัญคือ

  • หยุดงาน/หยุดเรียน
  • พักผ่อนให้พอเพียง
  • กินยาลดไข้/ ยาแก้ปวดกลุ่ม Paracetamol
  • ดื่มน้ำสะอาดมากขึ้นวันละ 8-10แก้ว เป็นต้น

(อ่านเพิ่มเติมในรายละเอียดจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคหวัด, และเรื่อง ไข้หวัดใหญ่)

ข. กรณีอาการรุนแรง แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อให้ได้การวินิจฉัยแน่นอนว่า สาเหตุเกิดจากโรคอะไร และให้การรักษาตามแต่ละสาเหตุนั้นๆ(อ่านเพิ่มเติมในรายละเอียดแต่ละโรคที่อาจเป็นสาเหตุได้ในเว็บ haamor.com)

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่/ โรคไอแอลไอ เช่นเดียวกับการดูแลเมื่อเป็นโรคหวัด/ไข้หวัดใหญ่ ที่สำคัญ ได้แก่

  • เมื่อมีไข้ ควรหยุดเรียน/ หยุดงาน แยกตัวไม่คลุกคลีผู้อื่น และแยกของใช้จากผู้อื่น เพื่อการพักผ่อนและป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
    • ทั่วไปแพทย์มักแนะนำให้กลับไปทำงาน/ไปโรงเรียนได้เมื่อผู้ป่วยไข้ลงปกติอย่างน้อย24 ชั่วโมง(โดยไม่ต้องกินยาลดไข้)
    • ร่วมกับ ร่างกายรู้สึกแข็งแรงแล้ว
    • และอาการไอลดลงจนเกือบเป็นปกติ
  • พักผ่อนให้มากๆ ให้เพียงพอ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน(เช่น ปอดอักเสบ/ปอดบวม ) และลดการแพร่เชื้อ
  • พยายามกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ในทุกวัน
  • ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆอย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • กินยาลดไข้พาราเซตามอล หรือตามแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรแนะนำ ไม่ควรกินยาแอสไพรินเองเพราะอาจเกิดการแพ้ยาแอสไพริน-กลุ่มอาการราย
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆด้วยน้ำสะอาดและสบู่ และทุกครั้งก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • ใช้ทิชชูในการสั่งน้ำมูกหรือเช็ดปาก ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้า หลังจากนั้นทิ้งทิชชู่ให้ถูกสุขอนามัย
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย รวมถึงรู้จักการรักษาระยะห่างทางสังคม(Social distancing)
  • งดบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุให้อาการรุนแรงขึ้น
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อ
    • ไข้สูง 39 - 40 องศาเซียลเซียส และไข้ไม่ลดลงหลังได้ยาลดไข้ ภายใน1 วันเมื่อเป็นคนในกลุ่มเสี่ยง, ภายใน 2-3 วันเมื่อเป็นคนสุขภาพ แข็งแรง
    • มีผื่นขึ้น
    • ดื่มน้ำได้น้อยหรือกินอาหารได้น้อย
    • ไอมาก มีเสมหะ และ/หรือ เสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว ซึ่งแสดงว่ามีการติด เชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
    • อาการไม่ดีขึ้นหลังไข้ลง หรือ หลังไข้ลงแล้วกลับมีไข้อีก
    • เป็นโรคหืด เพราะโรคหืดมักกำเริบและควบคุมเองไม่ได้
    • อาการต่างๆเลวลง
    • เมื่อกังวลในอาการ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน เมื่อ
    • หอบเหนื่อย ร่วมกับไอมาก อาจร่วมกับนอนราบไม่ได้ เพราะเป็นอาการ แทรกซ้อนจากปอดบวม
    • เจ็บหน้าอกมาก ร่วมกับหายใจขัด/หายใจลำบาก/หายใจหอบเหนื่อย เพราะอาจเป็นอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
    • ชัก, ซึม, สับสน, แขน/ขาอ่อนแรง, อาจร่วมกับปวดหัวรุนแรง, และคอแข็ง, เพราะอาจเป็นอาการแทรกซ้อนจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และ/หรือ สมองอักเสบ

โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ทั่วไป โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่/ไอแอลไอที่สาเหตุจาก โรคหวัด/ไข้หวัดใหญ่ ไม่ก่อผลข้างเคียงรุนแรง/อันตราย ยกเว้นเมื่อมีอาการรุนแรงตั้งแต่แรก หรือเป็นผู้ป่วย’กลุ่มเสี่ยง’ หรือเป็นผู้ป่วยที่สาเหตุแต่แรกมาจากโรคอื่นๆ(ดังได้กล่าวใน”หัวข้อ สาเหตุฯ”)ที่เป็นโรครุนแรงกว่าโรคหวัด/ไข้หวัดใหญ่

โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ทั่วไป โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคไอแอลไอ เกิดจากโรคหวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จึงมีการพยากรณ์โรคที่ดี โรคส่วนใหญ่หายได้ด้วยการดูแลตนเอง ยกเว้นกลุ่มที่มีอาการรุนแรงแต่แรก หรือผู้ป่วยที่เป็น”กลุ่มเสี่ยงฯ,” หรือเป็นโรคที่มีสาเหตุเกิดจากโรคอื่นๆ, ซึ่งการพยากรณ์โรคก็จะแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของโรคนั้นๆ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในรายละเอียดแต่ละโรคได้จากเว็บ haamor.com)

ป้องกันโรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ได้อย่างไร?

ดังได้กล่าวแล้วใน ”บทนำฯ” และ ใน”หัวข้อ สาเหตุฯ”ว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่/ไอแอลไอ คือ โรคหวัด/ไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นการป้องกันโรคไอแอลไอที่สำคัญก็คือ การป้องกันโรคหวัด และการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนสาเหตุอื่นๆก็จะมีการป้องกันในแต่ละสาเหตุนั้นๆต่างกันไป (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในรายละเอียดของแต่ละโรคนั้นๆได้จากเว็บ haamor.com)

ซึ่งทั่วไป การป้องกันโรคคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่/โรคไอแอลไอ คือ การป้องกัน โรคหวัด, โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งได้แก่

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน โดยเพิ่มผัก/ผลไม้มากๆ
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ และทุกครั้งก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีสัมผัสผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัด
  • รักษาความสะอาดของใช้ส่วนตัว เช่น ไม่ใช้ ช้อน แก้วน้ำ ร่วมกับบุคคลอื่น
  • ไม่ใช้มือไม่สะอาดขยี้ตา ล้างมือก่อนเมื่อจะสัมผัสตาเสมอ
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • รู้จักรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล
  • เมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือต้องดูแลผู้ป่วย ควรปรึกษาแพทย์ขอรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด คือ” ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ช้อนกลาง รู้จักใช้หน้ากากอนามัย และรู้จักการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล”
  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามคำแนะนำของแพทย์/กระทรวงสาธารณสุข

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Influenza-like_illness [2020,Oct24]
  2. https://www.who.int/influenza/surveillance_monitoring/ili_sari_surveillance_case_definition/en/ [2020,Oct24]
  3. https://healthcenter.ucsc.edu/forms/student-handbook/HC-192-Influenza-like-Illness-Info.pdf [2020,Oct24]
  4. https://www.medscape.com/viewarticle/877198 [2020,Oct24]
  5. https://www.cdc.gov/flu/symptoms/symptoms.htm?CDC_AA_refVal=https%3A%2F%2Fwww.cdc.gov%2Fflu%2Fabout%2Fdisease%2Fcomplications.htm [2020,Oct24]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_infectious_diseases_causing_flu-like_syndrome[2020,Oct24]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Metal_fume_fever [2020,Oct24]