โปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติก (Potassium-sparing diuretics)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 โปแตสเซียม/โพแทสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติก (Potassium-sparing diuretics)  คือ ยาขับปัสสาวะที่มีคุณสมบัติเก็บกักเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมไว้ในร่างกาย ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากยาขับปัสสาวะกลุ่มอื่นที่มีการขับเกลือโพแทสเซียมทิ้งไปกับปัสสาวะจนอาจทำให้ร่างกายขาดโปแทสเซียมได้ ทางคลีนิกนำมาใช้รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงรวมถึงภาวะหัวใจล้มเหลว  บ่อยครั้งที่แพทย์นำมาใช้ร่วมกับยาของกลุ่ม Loop diuretics และ Thiazide diuretics เพื่อช่วยการสูญเสียโปแทสเซียมจากร่างกาย

อาจแบ่งยากลุ่มโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกออกเป็น 2 ประเภทได้แก่

  1. กลุ่ม Epithelial sodium channel blockers: เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ปิดกั้นการขับเกลือโปแตสเซียมออกจากร่างกายโดยมีการออกฤทธิ์ที่ไต ตัวอย่างยาที่อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น ยา Amiloride และ Triamterene
  2. กลุ่ม Aldosterone antagonists: โดยตัวยาของกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ (Receptor) ซึ่งมีชื่อว่า Mineralocorticoid receptor ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่นยา Spironolactone และ Eplerenone

 ทั้งนี้ข้อจำกัดการใช้ของยาทั้ง 2 กลุ่มมักจะเกิดกับผู้ป่วยที่แพ้ยากลุ่มนี้ หรือเป็นผู้ป่วยที่ไตไม่สามารถใช้งานหรือกรองของเสียได้แล้ว หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถขับปัสสาวะได้ตามปกติ หรือ บางกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคตับอย่างรุนแรงก็ไม่สามารถใช้ยาTriamterene ได้

 ยาโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติก เป็นกลุ่มยาที่อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง)ได้เหมือนกับยาอื่นๆทั่วไปเช่น ทำให้รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่พบได้ภายหลังจากการใช้ยานี้หรือยาอื่นทั่วๆไป

สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดให้ยา Amiloride และ Spironolactone อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยโดยจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย ซึ่งเราสามารถพบเห็นการใช้ยากลุ่มนี้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน อีกทั้งมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป การใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

โปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โปแตสเซียม-สแปริ่ง-ไดยูเรติก

ยาโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะลดอาการบวมน้ำ และช่วยป้องกันมิให้เกิดภาวะเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • บำบัดอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลว
  • รักษาอาการความดันโลหิตสูง

โปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

อาจแบ่งกลไกการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่มยาโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกได้ดังนี้

ก. Amiloride และ Triamterene: จะออกฤทธิ์ที่ไต โดยปิดกั้นการทำงานของช่องทางการทำงานของไตในการควบคุมโซเดียมที่เรียกว่า Epithelial sodium channel ส่งผลให้ไตกรองผ่านน้ำและเกลือบางตัว แต่จะไม่ให้เกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ

ข. Spironolactone และ Eplerenone: จะออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของฮอร์โมนที่มีชื่อว่า Aldosterone (ฮอร์โมนต่อมหมวกไตที่ทำงานช่วยควบคุมความดันโลหิตของร่างกาย) ส่งผลให้ไตขับน้ำออกจากร่างกาย แต่จะเก็บกักโปแตสเซียมมิให้ถูกขับออกไปกับปัสสาวะ

โปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ด ชนิดรับประทาน
  • ยาเม็ด ที่ผสมร่วมกับยาอื่น

โปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ด้วยยาในกลุ่มโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกมีความแรงที่แตกต่างกันตามโครงสร้างทางเคมีของยาแต่ละชนิดและเหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยอย่างเจาะจงเป็นรายบุคคล การใช้ยากลุ่มนี้และขนาดยาแต่ละชนิด จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติก ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน         
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

 อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกให้ตรงเวลา

โปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาจแยกผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ตามประเภทของยาโปแตส เซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกได้ เช่น

ก. Amiloride และ Triamterene: อาจพบเป็นตะคริวที่ท้อง ปากคอแห้ง วิงเวียน อาจมีอาการเป็นลม คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย พบผื่นคันตามผิวหนัง ง่วงนอน รู้สึกสับสน ปวดหัว ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก มีระดับเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดสูง

ข. Spironolactone และ Eplerenone: อาจพบอาการตะคริวที่ท้อง สมรรถภาพทางเพศด้อยลง หน้าอก/เต้านมโต ประจำเดือนมาผิดปกติ วิงเวียน รู้สึกสับสน ผิวหนังมีผื่นคัน ขนดกขึ้น ตับทำงานผิดปกติ และเกลือโปแตสเซียมในร่างกายสูง

มีข้อควรระวังการใช้โปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติก เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาหรืออาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของธาตุ/เกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมเป็นปริมาณมาก
  • ห้ามใช้ยานี้กับกับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีการทำงานของไตผิดปกติ หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการขับปัสสาวะ
  • ระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้ต้องคอยตรวจระดับเกลือแร่ในเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น 

  • การใช้ยา Amiloride ร่วมกับ ยาที่เพิ่มปริมาณเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในร่างกาย เช่น โปแตสเซียมชนิดรับประทาน ยาขับปัสสาวะชนิดที่ไม่ขับเกลือ โปแตสเซียม  ยากลุ่ม ACE inhibitors ยากลุ่ม Angiotensin II receptor antagonists สามารถก่อให้เกิดภาวะโปแตสเซียม /โพแทสเซียมในเลือดสูงเกินมาตรฐานได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Amiloride ร่วมกับยากลุ่มดังกล่าว
  • การรับประทานยา Spironolactone ร่วมกับยาแก้ปวด เช่นยา Aspirin สามารถทำให้ฤทธิ์การขับเกลือโซเดียมออกจากร่างกายลดลงและส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกันหรือแพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • ห้ามใช้ยา Triamterene ร่วมกับยา Spironolactone ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเกลือ โปแตสเซียมในร่างกายเพิ่มสูงมากและอาจนำมาซึ่งภาวะไตวาย กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต/กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือจนกระทั่งทำให้หัวใจหยุดเต้น
  • ห้ามใช้ยา Eplerenone ร่วมกับยา Amprenavir ด้วยจะทำให้ระดับของยา Eplerenone ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นจนถึงขั้นทำให้มีภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูงเกินและส่งผลให้เกิดภาวะไตวาย กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น

ควรเก็บรักษาโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกอย่างไร?

ควรเก็บยาโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติก:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น (15 - 30 องศาเซล เซียส/Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติก   มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Aldactone (แอลแดคโตน) Pfizer
Altone (แอลโตน) Pharmaasant Lab
Hyles (ไฮเลส) Berlin Pharm
Pondactone (พอนแดคโตน) Pond’s Chemical
Spironex (สไปโรเน็กซ์) P P Lab
Amilozide (อะมิโลไซด์) T.O. Chemicals
Amiloride hydrochloride Actavis (อะมิโลไรด์ ไฮโดรคลอไรด์ แอคทาวิส) Actavis
Bilduretic (บิลดูเรติค) Bangkok Lab & Cosmetic
Buretic (บูเรติค) BJ Benjaosoth
Hydrozide Plus (ไฮโดรไซด์ พลัส) Medicine Products
Hyperretic (ไฮเปอร์เรติค) Central Poly Trading
Meditic (เมดิติค) Medicpharma
Miduret (มิดูเรท) P P Lab
Minitic (มินิติค) T. Man Pharma
Miretic (มิเรติค) Utopian
Modupac (โมดูแพ็ค) Inpac Pharma
Moduretic (โมดูเรติค) M & H Manufacturing
Mourinate (โมยูริเนท) Charoon Bhesaj
MIDAMOR (ไมดามอร์) Paddock Laboratories Inc
Poli-Uretic (โพลี-ยูเรติค) Polipharm

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Potassium-sparing_diuretic   [2022,April30]
  2. https://www.drugs.com/drug-class/potassium-sparing-diuretics.html  [2022,April30]
  3. https://www.medscape.com/viewarticle/421426_2  [2022,April30]
  4. https://patient.info/digestive-health/dietary-potassium/potassium-sparing-diuretics  [2022,April30]
  5. https://www.drugs.com/spironolactone.html   [2022,April30]
  6. https://www.drugs.com/mtm/amiloride.html   [2022,April30]
  7. https://www.drugs.com/triamterene.html  [2022,April30]
  8. https://www.drugs.com/mtm/eplerenone.html  [2022,April30]