แอลกอฮอล์และระบบประสาท (Alcohol and Nervous System)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

แอลกอฮอล์(Alcohol) หรือ สุรา หรือ เหล้า เป็นเครื่องดื่มประเภทสารเสพติดชนิดหนึ่งที่มีพิษก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ทุกระบบของร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาท (Nervous system) ข้อมูลล่าสุดพบว่าคนไทยบริโภคแอลกอฮอล์สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก เป็นสิ่งที่ไม่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะมีผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย ยังส่งผลต่อสุขภาพจิต และก่อให้เกิดปัญหาสังคม

ปัญหาที่พบทางระบบประสาทจากแอลกอฮอล์นั้นมีมากมาย และเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของระบบประสาท โดยเฉพาะสมอง (Brain) ลองติดตามบทความนี้ เพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นว่า แอลกอฮอล์นั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร จะได้แนะนำคนที่เรารักให้ห่างไกลจากแอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างไร?

แอลกอฮอล์และระบบประสาท

แอลกอฮอล์ หรือ สุรา มีผลโดยตรงต่อระบบประสาท โดยกดการทำงานของระบบประสาท การได้รับแอลกอฮอล์ขนาดสูงจะมีฤทธิ์คล้ายกับยาสลบ ได้แก่ ไม่รู้สึกตัว และกดการหายใจ แต่อาการในช่วงแรกๆของการดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ดื่มอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว เคลื่อนไหวมากกว่าปกติ ตื่นตัว พูดมากขึ้น เนื่องจากช่วงแรกจะมีการเพิ่มขึ้นของสารสื่อประสาทที่ออกฤทธิ์กระตุ้นสมอง แต่เมื่อได้รับแอลกอฮอล์ปริมาณมากขึ้น พิษของแอลกอฮอล์ก็จะกดการทำงานของสมอง โดยเฉพาะ ก้านสมอง (Brain stem) และศูนย์ควบคุมการเต้นของหัวใจ (Reticular formation)ในก้านสมอง

พิษของแอลกอฮอล์ มีทั้ง แบบเฉียบพลัน และ แบบเรื้อรัง

ก. แบบเฉียบพลัน หมายถึง ผู้ดื่มได้รับแอลกอฮอล์/สุราเข้าไปเป็นปริมาณมาก ส่งผลให้มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงขึ้นทันที แอลกอฮอล์ในเลือดระดับต่างๆจะส่งผลต่อระบบประสาทดังนี้

  • ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือดื่มสุรา 4 แก้วๆละ 1 ฝาขวดแม่โขง ผู้ดื่มจะมีอาการครึกครื้น สนุกสนานร่าเริง
  • ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือดื่มสุรา 6 แก้วๆละ 1 ฝาขวดแม่โขง ผู้ดื่มจะมีอาการของการควบควบคุมการเคลื่อนไหวเสียไป ไม่สามารถควบคุมได้ดีเท่าภาวะปกติ
  • ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือดื่มสุรา 12 แก้วๆละ 2 ฝาขวดแม่โขง ผู้ดื่มจะมีอาการเดินไม่ตรงทาง
  • ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือดื่มสุรา 24 แก้วๆ ละ 2 ฝาขวดแม่โขง ผู้ดื่มจะเกิดอาการสับสน
  • ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ดื่มจะมีอาการ ง่วง สับสน/งงงวย และซึม
  • ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ผู้ดื่มจะเกิดอาการสลบ และอาจถึงตายได้

ข. แบบเรื้อรัง หรือ โรคพิษสุราเรื้อรัง หมายถึงผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์/สุราอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เป็นระยะเวลานาน ส่วนใหญ่นานมากกว่า10 ปี จนเกิดภาวะติดสุรา และมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ ต้องดื่มสุราตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมหรือหยุดหลังจากดื่มสุรา เมื่อหยุดสุราจะมีอาการลงแดง เช่น คลื่นไส้ เหงื่ออก สั่น ต้องเพิ่มปริมาณดื่มสุราขึ้นไปอีก และเพื่อให้มีความสุข ซึ่งเมื่อเกิดภาวะพิษสุราเรื้อรังนี้ ก็จะส่งผลให้ร่างกายส่วนต่างๆได้รับผลกระทบ เช่น ตับ (โรคตับแข็ง) ตับอ่อน (โรคตับอ่อนอักเสบ) และ ระบบประสาทดังจะกล่าวต่อไปในบทนี้

สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับผลของแอลกอฮอล์มีอะไรบ้าง?

สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับผลของแอลกอฮฮล์/สุรา หลักๆ คือ

  • โอปีออยด์ (Opioids) เป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเอง เช่น Endorphin (เอนดอร์ฟิน) ออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายสดชื่น อารมณ์ดี แอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์โดยกระตุ้นสมองให้หลั่งสารโอปิออยด์ จึงพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในระยะแรก ปริมาณไม่มาก จะทำให้อารมณ์ดี (Euphoria) เพราะร่างกายมีสารโอปิออยด์เพิ่มขึ้น
  • กาบา (Gamma-aminobutyric acid: GABA) เป็นสารสื่อประสาทที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสมอง การดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มสาร GABA ผู้ดื่มจึงมีอาการง่วง และคลายความกังวล การเคลื่อนไหวผิดปกติ ในผู้ที่ดื่มเป็นประจำเมื่อหยุดดื่มทันที ผู้ดื่มจะมีอาการตรงกันข้าม เนื่องจากการทำงานของ GABA ลดลง จึงมีการกระตุ้นสมองมากขึ้น ก่อให้เกิดอาการกระวนกระวาย และอาการชักได้
  • กลูตาเมต (Glutamate) เป็นสารกระตุ้นการทำงานของสมอง แอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์โดยยับยั้งการทำงานของกลูตาเมต เมื่อดื่มแอลกอฮอล์นานๆ จะเกิดภาวะเป็นพิษ ส่งผลให้การรับรู้และการเรียนรู้เสียไป
  • สารสื่อประสาทอื่นๆ เช่น ซีโรโตนิน (Serotonin) และ โดปามีน (Dopamine) ก็ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทด้าน การเคลื่อนไหว อารมณ์ พฤติกรรมและความจำ

แอลกอฮอล์ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างไร?

แอลกอฮอล์/สุราส่งผลต่อระบบประสาทมากมาย เช่น

  • แอลกอฮอล์ปริมาณสูง จะส่งผล เช่น มึนเมา/ขาดสติ ซึม ปวดศีรษะหมดสติ
  • การหยุดแอลกอฮอล์กะทันหันจะส่งผล เช่น สั่น ประสาทหลอน สับสน และ ชัก
  • ภาวะขาดสารอาหารจากโรคพิษสุราเรื้อรัง เช่น โรคเส้นประสาท ตาบอด สับสน และ สมองเสื่อม
  • ภาวะที่เป็นผลจากโรคพิษสุราเรื้อรัง เช่น สมองฝ่อ หัวใจโต กล้ามเนื้ออ่อน แรง
  • ภาวะทางระบบประสาทที่เกิดจาก โรคตับที่สาเหตุเกิดจากสุรา เช่น ตับแข็ง มะเร็งตับ ซึ่งส่งผลให้การทำงานของตับเสียไป จึงเกิดการคั่งของของเสีย/ สารพิษที่ต้องถูกเผาผลาญโดยตับ เช่น เกิดการคั่งของสารไนโตรเจน (Nitrogen, เช่น ในรูปแบบสารแอมโมนเนีย/Ammonia) เป็นต้น ซึ่งปริมาณสารพิษเหล่านี้ที่สูงเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลเป็นพิษต่อสมองและระบบประสาทส่วนอื่นๆด้วย จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น สับสน นอนไม่หลับ/ไม่ง่วงนอน ขาดสมาธิ หลงลืม อาจถึงระดับโคมา และเสียชีวิตได้

ผลร้ายของแอลกอฮอล์ต่อระบบประสาทที่พบบ่อยและควรทราบคืออะไร?

ผลร้ายของแอลกอฮอล์/สุราต่อระบบประสาทที่พบบ่อยและควรทราบ คือ

  • ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ(Alcoholic intoxication)
  • ภาวะถอนสุรา บางคนเรียกว่า ภาวะขาดสุราเฉียบพลัน (Alcoholic withdrawal syndrome) และ
  • ภาวะสูญเสียความทรงจำจากโรคพิษสุราเรื้อรัง (Wernicke-Korsakoff syndrome)

ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ(Alcoholic intoxication)

ก. ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษแบบเฉียบพลันมีอาการอย่างไร?

ภาวะแอลกอฮอล์/สุราเป็นพิษ ที่เกิดแบบเฉียบพลัน หมายถึง ภาวะเป็นพิษของแอลกอฮอล์เนื่องจากระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินค่าปกติ ซึ่งพบได้ในผู้ที่ดื่มครั้งแรกๆ หรือดื่มเป็นประจำก็ได้ ถ้าระดับแอลกอฮอล์ไม่สูงผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดี พูดมากขึ้น แต่พูดไม่ชัด เดินเซ และง่วง กรณีระดับของแอลกอฮอล์สูงมาก ผู้ดื่มจะซึมและอาจไม่รู้สึกตัว/โคมา เป็นผลมาจากการยับยั้งการทำงานของสมองและไขสันหลัง ทั้งนี้เพราะดังได้กล่าวแล้วว่า การออกฤทธิ์ของแอลกอฮอล์คล้ายกับยาสลบ

ข. Black out จากแอลกอฮอล์เป็นพิษคืออะไร?

Black out เป็นภาวะแอลกอฮอล์/สุราเป็นพิษแบบหนึ่ง เกิดได้ทั้งในแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลับหรือเรื้อรัง ที่ในกลุ่มผู้ดื่มแอลกอฮอล์ใช้เรียกกัน หมายถึง ผู้ดื่มจะรู้ตัวดี แต่ไม่สามารถจดจำเหตุการณ์ขณะนั้นได้ คือ ในช่วงเวลาเกิดภาวะสุราเป็นพิษที่รุนแรง ผู้ป่วยจะเสียความทรงจำในระยะสั้นมากกว่าเสียความทรงจำในระยะยาว ถ้าผู้ดื่มมีอาการแบบนี้บ่อยๆ พบว่ามีโอกาสเกิดการติดแอลกอฮอล์/ติดสุรา (Alcoholic dependent)ได้สูง

ค. ผู้ป่วยแอลกอฮอล์เป็นพิษ ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

ผู้ป่วยที่เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษไม่ว่าจะเป็นแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง และ/หรือ ถ้าผู้ดื่มต้องการเลิกดื่มสุรา และ/หรือ มีอาการที่รุนแรง เช่น หมดสติ หายใจหอบ/หายใจลำบาก เร็ว ลึก เหนื่อยมาก สับสน ชัก สั่นมาก ประสาทหลอน ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ญาติควรรีบพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

ง. แพทย์วินิจฉัยภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะแอลกอฮอล์/สุราเป็นพิษได้โดยพิจารณาจากอาการผิดปกติดังกล่าว ร่วมกับประวัติการดื่มสุรา ทั้งปริมาณในครั้งล่าสุดก่อนที่จะมีอาการ และประวัติการดื่มสุราที่ผ่านมาทั้งปริมาณและระยะเวลา ประวัติการติดสุรา และการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด รวมทั้งการตรวจเลือดดูระดับการทำงานของตับ และระดับเกลือแร่ชนิดต่างๆในเลือดด้วย เพราะถ้าผิดปกติ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้เช่นกัน

จ. การรักษาภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษทำอย่างไร?

การรักษาภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ กรณีอาการไม่มากและสัญญาณชีพปกติ ให้ อาบน้ำ ดื่มกาแฟแก่ๆ แต่ถ้าผู้ป่วยซึมมากไม่รู้สึกตัว ต้องรีบพามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอย่างรีบด่วน และอาจต้องรักษาด้วยการฟอกเลือด (Hemodialysis)กรณีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงมากๆและผู้ป่วยมีอาการโคมา ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิติสูงมากถ้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลช้า เพราะร่างกายจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรด และหยุดการหายใจจากแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์กดระบบการหายใจ

ฉ. ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษรักษาหายไหม? มีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?

ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษสามารถรักษาให้หายได้ไม่ยาก ถ้าเกิดขึ้นในผู้ที่ไม่มีภาวะติดสุรา เพราะเมื่อรักษาให้หาย และไม่กลับมาดื่มสุราอีกก็จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่ในกรณีผู้ติดสุราเรื้อรังแล้ว การรักษาได้ผลไม่ค่อยดี (การพยากรณ์โรคไม่ดี) เพราะมีโรคร่วมอื่นๆด้วย เช่น โรคตับแข็ง ภาวะตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ และภาวะเกลือแร่ต่างๆในเลือดผิดปกติ ส่งผลให้การพยากรณ์โรคไม่ดี

ช. ผู้ป่วยแอลกอฮอล์เป็นพิษ/ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร? เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

  • การดูแล การรักษาประคับประคองตามอาการที่ผิดปกติ เช่น ประสาทหลอน หงุดหงิดง่าย ควรต้อง ปรึกษาจิตแพทย์ เป็นต้น และ
  • การพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยเลิกดื่มสุราและไม่ให้กลับไปดื่มสุราอีก (ควรปรึกษาจิตแพทย์เช่นกัน)

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นก่อนถึงวันนัด เช่น อาเจียนเป็นเลือด ประสาทหลอนรุนแรงขึ้น ไม่นอน/นอนไม่หลับติดต่อกันหลายวัน หรือนอนตลอดเวลา ทานอาหารไม่ได้เลย มีอาการของภาวะขาดน้ำ และ/หรือ เรียกไม่รู้สึกตัว ก็ควรต้องรีบพามาพบแพทย์/ มาโรงพยาบาลก่อนนัด

ภาวะถอนสุรา/ภาวะขาดสุราเฉียบพลัน(Alcoholic withdrawal syndrome)

ภาวะถอนสุรามีอาการอย่างไร?ใครมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการถอนสุราที่รุนแรง?

ภาวะถอนสุรา เกิดจากผู้ดื่มแอลกอฮอล์/สุรามาเป็นประจำเป็นเวลานานและต่อเนื่อง เมื่อหยุดดื่มทันที เช่น ช่วงเข้าพรรษา จึงเกิดอาการของระบบประสาทคล้ายถูกกระตุ้น ทำให้มีอาการนอนไม่หลับ สับสน ประสาทหลอน เพราะระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว

อนึ่ง ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถอนพิษสุรารุนแรง คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ผู้ที่เคยเกิดอาการถอนสุรามาก่อน เคยมีอาการชัก ตับอักเสบ ติดสุราอย่างรุนแรง ติดสุรามานาน ดื่มสุราปริมาณมากและบ่อย

ทั้งนี้อาการถอนพิษสุราแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ

  • อาการของระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากเกิน เกิดภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังดื่มแอลกอฮอล์ครั้งสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีอาการ สั่น เหงื่อออกมาก คลื่นไส้อาเจียน กังวล และกระวนกระวาย
  • อาการชัก มักเกิดภายใน 12-48 ชั่วโมง หลังดื่มแอลกอฮอล์ครั้งสุดท้าย
  • อาการประสาทหลอน สับสน และซึมลง (Delirium tremens) มักเกิดภายใน 48-96 ชั่วโมง หลังดื่มแอลกอฮอล์ครั้งสุดท้าย
  • อาการอื่นๆ เช่น สั่น หน้าแดง ตาแดง หัวใจเต้นเร็ว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ตกใจง่าย นอนไม่หลับ ความสนใจและสมาธิลดลง ความจำไม่ดี เกิดขึ้นหลังการดื่มครั้งสุดท้าย 6- 12 ชั่วโมง ซึ่งอาการกลุ่มนี้จะค่อยๆหายภายใน 2-3 วัน และหายดีภายใน 2 สัปดาห์

ก. อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ:

• เมื่อมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติจากภาวะถอนสุรา กรณีที่อาการไม่รุนแรง เช่น หัวใจเต้นเร็ว สั่น ไม่มาก ตกใจง่าย สามารถดูแลตนเองได้ โดยการดื่มน้ำ นอนพักผ่อนเต็มที่ แต่ถ้าอาการนั้นรุนแรงส่งผลต่อสัญญาณชีพ เช่น ความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก หัวใจเต้นเร็วมากกว่า150 ครั้งต่อนาที สั่นอย่างรุนแรง ญาติควรพามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที

• แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นอาการประสาทอัตโนมัติจากภาวะถอนสุรา?

แพทย์วินิจฉัยอาการประสาทอัตโนมัติจากถอนสุราได้จาก ประวัติการดื่มสุราและการหยุดดื่ม ร่วมกับอาการผิดปกติที่แสดงออกข้างต้น เช่น อาการสั่น หน้าแดง หงุดหงิด อยู่ไม่สุข ไม่มีสมาธิ

• รักษาอาการของระบบประสาทอัตโนมัติจากถอนสุราอย่างไร ?

รักษาอาการผิดปกติจากระบบประสาทอัตโนมัติจากถอนสุรา ได้โดยการดื่มน้ำให้เพียงพอ อาบน้ำ และนอนพักผ่อนเต็มที่ แต่ถ้ามีอาการรุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาทางจิตเวช เช่น Benzodiazepine เพื่อควบคุมอาการทางระบบประสาท ร่วมกับการแก้ไขความผิดปกติของเกลือแร่ ซึ่งที่พบบ่อย เช่น ภาวะโปแตสเซียม (Potassium)ต่ำ โดยการให้เกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งการรักษาอาการเหล่านี้ มักใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็จะหายดี

• อาการระบบประสาทอัตโนมัติจากถอนสุรามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของอาการเหล่านี้ มักรักษาได้ผลดี แต่ที่รักษายาก คือผู้ป่วยมักจะมีการกลับไปดื่มสุราใหม่อีก เพราะอาการดังกล่าวมักเกิดในผู้ที่ภาวะติดสุราและภาวะพิษสุราเรื้อรัง

• ผู้ป่วยที่มีอาการทางประสาทอัตโนมัติ/ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร? เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองของผู้ป่วยที่สำคัญที่สุด คือ พยายามเลิกดื่มสุรา และตั้งสติ มีสติ เข้าใจถึงอาการของตนเอง ร่วมกับการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และให้ความร่วมมือกับครอบครัวเพื่อการดูแลผู้ป่วย

ญาติควรเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะผู้ป่วยจะมีความหวาดระแวงและหงุดหงิดง่าย ประสาทหลอนด้วย ต้องค่อยๆพูดและให้กำลังใจ ให้ความมั่นใจ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่ดีขึ้นและมีอาการผิดปกติที่รุนแรงมากขึ้น สัญญาณชีพผิดปกติ ประสาทหลอน ควรรีบพามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที

ข. การชักจากภาวะถอนสุรา:

• การชักจากภาวะถอนสุรามีลักษณะอย่างไร? รักษาอย่างไร?

การชักในภาวะถอนสุรา ส่วนใหญ่เป็นแบบชักเกร็ง กระตุกทั้งตัวแบบลมบ้าหมู (โรคลมชัก) มักชักภายใน 7-48 ชั่วโมงแรกหลังดื่มสุราครั้งสุดท้าย ผู้ป่วยที่มีอาการชักทุกคน ควรตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองทุกราย เพราะอาจเกิดจากเลือดคั่งในสมองจากที่เมาสุราและมีอุบัติเหตุจากการล้มได้โยผู้ป่วยอาจไม่รู้ว่าตนเองล้ม แต่ถ้าเป็นการชักครั้งหลังแล้วมีลักษณะอาการแบบเดิมก็ไม่จำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซ้ำ

ทั้งนี้แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยากันชัก เช่น ยากลุ่มเบ็นโซไดอะซีปีน (Bensodiazepine) เช่น แวเลี่ยม (Valium) โดยการให้ยานั้น จะใช้ยาขนาดสูงในช่วงแรก และค่อยๆลดลงอย่างช้าๆทุก 1-2 สัปดาห์ ระยะเวลาที่ได้ยานั้นขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย บางรายอาจได้ยานาน 3-6เดือน แต่โดยทั่วไปก็ประมาณ 2-3 เดือน

• เมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยถอนสุราที่มีอาการชักควรไปพบแพทย์?

ถ้าผู้ป่วยมีอาการชัก ญาติควรพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงงพยาบาลทันทีโดยเฉพาะการชักครั้งแรก เพราะแพทย์ต้องตรวจประเมินว่ามีสาเหตุการชักจากอะไร เพราะอาจมีสาเหตุจากรอยโรคในสมอง เช่น เลือดออก หรือการติดเชื้อของสมองได้ นอกเหนือจากภาวะการถอนสุรา

• ผู้ที่มีภาวะถอนสุราควรได้ยาป้องกันการชักหรือไม่?

ผู้มีอาการชักที่ไม่รุนแรง ชักไม่บ่อย แพทย์มักให้การรักษาโดยรักษาประคับประคองตามอาการเท่านั้น เช่น อยู่ในที่สงบ แสงสลัว งดดื่มกาแฟ และให้ดื่มน้ำมากๆ ไม่จำเป็นต้องให้ยาป้องกันการชัก แต่ถ้ามีอาการรุนแรงก็จำเป็นต้องให้ยากันชัก เช่น ยาเบ็นโซไดอะซีปีน

• การชักจากภาวะถอนสุรามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การชักจากภาวะถอนสุรา รักษาได้ไม่ยาก คือมีการพยากรณ์โรคที่ดี ถ้าผู้ป่วยไม่มีรอยโรคในสมองร่วมด้วย และไม่กลับไปดื่มสุราอีก แต่ในบางรายที่มีรอยโรคในสมองร่วมด้วย เช่น สมองเคยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรง มีร่องรอยการฝ่อของสมอง (สมองฝ่อ)เฉพาะส่วน อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยากันชักอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานดังกล่าวแล้วในหัวข้อการรักษา

• ผู้ป่วยที่มีการชักจากถอนสุรา/ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ผู้ป่วยควรดูแลตนเองด้วยการ เลิกดื่มแอลกอฮอล์/สุรา ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ และให้ความร่วมมือกับครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยเอง

ญาติควรดูแลผู้ป่วยเรื่องการทานยาให้สม่ำเสมอ พยายามให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้ชักได้ เช่น อากาศร้อนจัด ไฟกระพริบ เป็นต้น

และถ้าผู้ป่วยมีอาการชักซ้ำหลายครั้ง หรือเกิดอุบัติเหตุจากการชัก หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆเกิดขึ้น หรือเมื่อกังวลในอาการผู้ป่วย ก็ควรพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ

ค. ประสาทหลอนในผู้ป่วยดื่มสุราเรื้อรัง:

• ประสาทหลอนในผู้ดื่มสุราเรื้อรังมีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยประสาทหลอนจากดื่มสุราเรื้อรัง/พิษสุราเรื้อรัง จะมีอาการฝันร้าย การนอนผิดปกติไม่ยอมนอน/นอนไม่หลับเรื้อรัง ประสาทหลอนทั้งภาพและเสียง รวมทั้งการดมกลิ่น ลักษณะเฉพาะ เช่น เห็นเต่าสีทอง และช้างสีชมพู เป็นต้น

• เมื่อมีประสาทหลอนควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อญาติสังเกตเห็นผู้ป่วยมีประสาทหลอน ญาติควรพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะเมื่อไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ หรือ ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรง มีการทำร้ายร่างกายหรือทำลายสิ่งของ ไม่ยอมนอน หรือ ไม่ดื่มน้ำ ไม่ทานอาหาร

• แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่ามีประสาทหลอนจากพิษสุรา?

แพทย์วินิจฉัยภาวะประสาทหลอนจากพิษสุราได้จากประวัติการดื่มสุรา ภาวะติดสุรา และการหยุดดื่มสุรา ร่วมกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น โดยไม่ได้มีสาเหตุอื่นๆ เพราะบางครั้งผู้ป่วยที่ดื่มสุราเป็นประจำที่มีอาการประสาทหลอน อาจเกิดจากการใช้สารเสพติดอื่นๆร่วมด้วย รวมทั้งอาจมีสาเหตุของโรคในสมอง เช่น ภาวะเลือดออกในสมอง เป็นต้น ดังนั้นบางครั้งต้องมีการตรวจ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ สมองร่วมด้วย

• ประสาทหลอนจากพิษสุรารักษาอย่างไร?

การรักษาอาการประสาทหลอนจากพิษสุรา จำเป็นต้องใช้ยารักษา เช่น ยารักษาทางจิตเวชบางชนิด ร่วมกับยา Benzodiazepine (ช่วยป้องกันอาการชัก) เพื่อป้องกันอาการชักด้วย การรักษาใช้เวลานานหลายสัปดาห์ และต้องค่อยๆลดขนาดยาลงอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนจากการถอนยาอีก (เช่น กระวนกระวาย อ่อนแรง)

• ประสาทหลอนจากพิษสุรามีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?

การรักษาประสาทหลอนจากภาวะถอนสุรา สามารถรักษาหายได้ แต่ไม่ง่ายนัก ต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน ขึ้นอยู่กับมีภาวะติดสุรา หรือพิษสุราเรื้อรังหรือไม่ การพยากรณ์โรค ยังขึ้นอยู่กับมีโรคร่วมอื่นๆด้วยหรือไม่ เช่น โรคตับแข็ง ตับวาย สมองฝ่อ ถ้ามีโรคร่วม การพยากรณ์โรคก็ไม่ดี

• ผู้ป่วยที่ประสาทหลอน/ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร?เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ผู้ป่วยพิษสุราที่มีประสาทหลอน เมื่อรู้ตัวต้องเลิกดื่มสุรา ต้องปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ ต้องพยายามให้มีสติ และให้ความร่วมมือกับญาติในการดูแลผู้ป่วย

ญาติต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และอดทน เพราะผู้ป่วยอาจมีการทำร้ายร่างกาย ทำร้ายผู้อื่นๆ หรือทำลายสิ่งของได้ ควรให้ความมั่นใจกับผู้ป่วย ดูแลการทานยาให้สม่ำเสมอ เพราะต้องทานยาหลายชนิด หลายเวลา อย่าให้ดื่มสุราอีก

ถ้าอาการผู้ป่วยผิดปกติมากขึ้น ชัก ไม่ยอมนอน และมีอาการหวาดระแวงอย่างรุนแรง หรือ ญาติกังวลในอาการ ควรพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

• ภาวะประสาทหลอน สับสน ร่วมกับ ซึมลง (Delirium tremens) คืออะไร?

ภาวะประสาทหลอน สับสน ร่วมกับ ซึมลง (Delirium tremens ย่อว่า DT) คือ อาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ดื่มสุราเป็นประจำและต่อเนื่อง จนติดสุรา จะเกิดอาการประสาทหลอน สับสน หลงผิด (Delusion) สั่น ไม่รู้สึกง่วง มีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติเพิ่มขึ้น เช่น ม่านตาขยาย มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก อาการมักเกิดภายใน 48-96 ชั่วโมงหลังดื่มสุราครั้งสุดท้าย นอกจากนั้น คือ มีภาวะขาดน้ำ มีภาวะเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ เช่น เกลือแร่ โปแตสเซียม (Potassium), แมกนีเซียม (Magnesium), และฟอสเฟต (Phosphate)ต่ำ ซึ่งภาวะเหล่านี้มีอันตรายและทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

อาการของ Delirium tremens นั้นเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการหยุดสุราอย่างทันที เช่น เกิดการเจ็บป่วยและเข้ารักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอนร่วมกับอาการชัก และระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติร่วมด้วย ซึ่งมีอันตรายมาก แตกต่างกับอาการประสาทหลอนในช่วงแรกของการหยุดดื่มสุราที่มีเพียงอาการประสาทหลอนและระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ แต่ไม่รุนแรง

ค. ภาวะสูญเสียความทรงจำจากพิษแอลกอฮอล์/พิษสุราเรื้อรัง (Wernicke-Korsakoff syndrome)

• ภาวะเสียความทรงจำจากพิษแอลกอฮอล์เรื้อรัง (Wernicke-Korsakoff syndrome) คืออะไร?

ภาวะสูญเสียความทรงจำจากพิษแอลกอฮอล์เรื้อรัง (Wernicke-Korsakoff syndrome) คือ ภาวะเสียความจำ (Amnesia) แบบไปข้างหน้า (Anterograde amnesia)มากกว่าแบบย้อนหลัง(Retrograde amnesia) ผู้ป่วยจะรู้สติดี ทั้งนี้เกิดจากภาวะขาดสารอาหาร ไทอามีน (Thiamine) และมีภาวะขาดสารอาหารอื่นๆร่วมด้วย (เช่น วิตามิน เกลือแร่ ต่างๆ) ผู้ป่วยจะมีอาการกลอกตาไม่ได้ (Ophthalmoparesis) ตากระตุก (Nystagmus) เดินเซ (Ataxia) และสับสน ซึ่งภาวะนี้ เป็นภาวะหนึ่งในผู้ป่วยพิษสุราที่ต้องรีบรักษาโดยจัดเป็นภาวะฉุกเฉิน

• เมื่อมีภาวะเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อเกิดอาการผิดปกติดังกล่าวจากภาวะเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์/สุรา ญาติควรพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาการดังกล่าวมีอันตรายค่อนข้างสูง อาจเสียความจำถาวร และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

• แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นภาวะเสียความจำจากพิษแอกอฮอล์?

แพทย์วินิจฉัยได้ว่าเป็นการเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์ โดยพิจารณาจากประวัติการดื่มสุราจนติดและมีกลุ่มอาการที่ผิดปกติดังกล่าวข้างต้น

ในบางราย การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือแม่เหล็กไฟฟ้า (เอมอาร์ไอ) สมอง สามารถตรวจพบความผิดปกติในเนื้อสมองได้ชัดเจน ก็เป็นการช่วยยืนยันการวินิจฉัย แต่ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบความผิดปกติ

• รักษาภาวะเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์อย่างไร?

การรักษาภาวะเสียความจำจากพิษสุรา จะให้ผลตอบสนองต่อการรักษาด้วยการให้ -สารอาหารไทอามีน -สารอาหารชนิดต่างๆ -การแก้ไขเกลือแร่ที่ผิดปกติ -และการรักษาอาการเดินเซด้วยการทำกายภาพบำบัด

ส่วนความทรงจำนั้น ต้องใช้การฝึกความจำ (การฝึกทางจิตเวช)เมื่อผู้ป่วยมีอาการอื่นๆที่ดีขึ้นจนสามารถให้ความร่วมมือในการฝึกได้

ส่วนการใช้ ยาอื่นๆที่เพิ่มความจำที่ใช้รักษาภาวะสมองเสื่อม ไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าได้ประโยชน์ชัดเจน

• ภาวะเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคในการรักษาภาวะเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่ได้ผลไม่ค่อยดี เนื่องจาก ผู้ป่วยมักมีมีปัญหาสุขภาพอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคตับแข็ง ภาวะตับวาย และมักเกิดภาวะสมองฝ่อจากพิษของแอลกอฮอล์/สุราร่วมอยู่ด้วย

• ผู้ที่มีภาวะเสียความจำ/ญาติ ควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ผู้ป่วยที่มีภาวะเสียความจำจะดูแลตนเองได้ยาก จึงมักต้องเป็นภาระในการดูแลจากญาติ แต่ถ้าพอมีสติ ควรให้ความร่วมมือกับญาติในการดูแลผู้ป่วยเสมอ

การดูแลผู้ป่วยของญาติที่เหมาะสมนั้น คือ ต้องอดทน และเข้าใจว่าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวเนื่องจากมีภาวะเสียความจำ ไม่ได้แกล้งทำ ดังนั้นผู้ป่วยจะมีอาการพูดจาสับสน คล้ายโกหก ถ้าญาติหรือผู้ดูแลไม่เข้าใจก็จะทำให้ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดี จะหงุดหงิดกับผู้ป่วย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการรักษา และต่อญาติเองด้วย ควรดูแลการทานยาของผู้ป่วยให้ครบถ้วน ให้กำลังใจ ต้องพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยเลิกเหล้า/สุรา/แอลกอฮอล์ อย่างถาวร และถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติไปจากเดิม และ/หรือ มีอาการที่รุนแรงขึ้น และ/หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง เช่น ขึ้นผื่น คลื่นไส้ อาเจียน)จากยาที่ใช้รักษา และ/หรือ ญาติกังวลในอาการผู้ป่วย ให้รีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ

ถ้าจำเป็นต้องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำควรทำอย่างไร?

จริงแล้วไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติที่พบนั้น เราจะเห็นว่ามีผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำด้วยเหตุผลหลัก คือ การเข้าสังคมและคลายเครียด ด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์นั้นจะทำให้ผู้ดื่มมีอารมณ์ที่ดีขึ้นชั่วคราว อย่างไรก็ตามการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม ในผู้มีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว จากหลายการศึกษาพบว่า ถ้าดื่มในปริมาณที่จำกัด คือ ปริมาณเบียร์ไม่ควรเกิน 1 ขวดของเบียร์ หรือ 2 กระป๋อง ถ้าเป็นเหล้าผสมน้ำก็ไม่ควรเกิน 2 แก้ว ก็อาจลดผลเสียต่อสุขภาพลงได้

นอกจากนี้ ก็ควรต้องทานอาหารร่วมด้วยทุกครั้ง ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว และไม่ควรขับรถเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ และควรมีการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

แต่ถ้าท่านมีโรคประจำตัว ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด เพราะแอลกอฮอล์นั้นไม่ได้มีผลดีต่อสุขภาพเลยครับ

สรุป

จะเห็นได้ว่าพิษภัยของแอลกอฮอล์มีอันตรายต่อระบบประสาทอย่างยิ่ง ดังนั้นอย่าลองดื่มโดยเด็ดขาด เพราะถ้าดื่มแล้วจะเกิดการติดเช่นเดียวกับสารเสพติดอื่นๆทุกชนิด

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมถึงผลของแอลกอฮอล์ต่อเส้นประสาทได้ในบทความเรื่อง โรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์