แอมโมเนียมคลอไรด์ (Ammonium Chloride)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

แอมโมเนียมคลอไรด์ (Ammonium Chloride) คือ ยาที่แพทย์ใช้ช่วยรักษาภาวะร่างกายมีปริมาณเกลือคลอไรด์ (Chloride)ต่ำ รวมถึงภาวะ Metabolic alkalosis (ภาวะเลือดเป็นด่าง) บางกรณีก็ใช้เป็นยาปรับสภาพความเป็นกรดด่างของปัสสาวะเพื่อให้กลับมาสู่ภาวะปกติ

แอมโมเนียมคลอไรด์ เป็นสารประกอบอนินทรีย์ มีลักษณะคล้ายผลึกเกลือสีขาว เมื่อละลายน้ำจะได้สารละลายที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ แหล่งกำเนิดตามธรรมชาติจะพบในแถบพื้นที่ที่เป็นภูเขาไฟ   มนุษย์ได้นำแอมโมเนียมคลอไรด์ไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านงานโลหะ งานในห้องทดลอง  และในอุตสาหกรรมอาหาร  

สำหรับประเทศไทยสามารถพบเห็นยาแอมโมเนียมคลอไรด์ผสมร่วมกับยารับประทานชนิดอื่นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นยาขับเสมหะและเป็นยาแก้ไอ ส่วนรูปแบบของยาเดี่ยวชนิดรับประทานและยาฉีดจะมีการใช้ที่ต่างประเทศเสียส่วนมาก

 การได้รับยาแอมโมเนียมคลอไรด์ที่ผิดขนาดอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองของกระเพาะ อาหารจนกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้

ด้วยยานี้จัดเป็นยาอันตราย การเลือกใช้ยานี้สำหรับรักษาอาการป่วย ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

แอมโมเนียมคลอไรด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาแอมโมเนียมคลอไรด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาภาวะเกลือคลอไรด์ในเลือดต่ำ
  • รักษาภาวะ Metabolic alkalosis (ภาวะเลือดเป็นด่าง)
  • ช่วยเป็นยาละลายเสมหะ และ ยาแก้ไอ

แอมโมเนียมคลอไรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแอมโมเนียมคลอไรด์คือ ตัวยาจะแสดงฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ โดย ทำให้เกิดการเพิ่มไฮโดรเจนไอออน (Hydrogen ion) ในกระแสเลือด ประกอบกับคอยปลด ปล่อยคลอไรด์ไอออน (Chloride ion) ให้กับร่างกายเพื่อชดเชยภาวะเกลือคลอไรด์ต่ำ จากการปรับสมดุลของไอออน (ประจุไฟฟ้า) ดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาติดตามมา

แอมโมเนียมคลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแอมโมเนียมคลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:  

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด (5 กรัม/เม็ด)
  • ยาฉีด ขนาด 5 มิลลิอิควิวาเลนท์ (Milliequivalent)/มิลลิลิตร
  • ยาน้ำชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น

แอมโมเนียมคลอไรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแอมโมเนียมคลอไรด์มีขนาดรับประทาน  เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 4 - 12 กรัม/วันโดยแบ่งรับประทานทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เช่น รับประทาน 75 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 4 ครั้ง

* อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแอมโมเนียมคลอไรด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอมโมเนียมคลอไรด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแอมโมเนียมคลอไรด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แอมโมเนียมคลอไรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแอมโมเนียมคลอไรด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • ผื่นคัน
  • ปวดหัว
  • วิงเวียน
  • มีอาการสับสน
  • หัวใจเต้นช้าผิดปกติจนถึงขั้นโคม่า
  • ในรูปแบบยาฉีด ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดระคายเคืองตรงบริเวณที่ฉีดยา

*อนึ่ง: ส่วนกรณีที่ได้รับยานี้เกินขนาดสามารถก่อให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดเมตะบอลิก (Metabolic acidosis),   มีอาการสับสน, จนถึงขั้นโคม่า, ซึ่งแพทย์อาจใช้ยา Sodium bicarbonate หรือ Sodium lactate เพื่อต้านฤทธิ์ของยาแอมโมเนียมคลอไรด์

มีข้อควรระวังการใช้แอมโมเนียมคลอไรด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้แอมโมเนียมคลอไรด์ เช่น       

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ระวังการเกิดพิษจากยานี้ (Ammonia toxicity) โดยสังเกตจากอาการเหงื่อออกมาก อาเจียน   หัวใจเต้นช้า การหายใจผิดปกติ และอาจเกิดอาการชัก ซึ่งถ้าเกิดอาการเหล่านี้ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน       
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กและสตรีตั้งครรภ์
  • ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในการใช้ยานี้ในสตรีให้นมบุตร การใช้ยานี้ในสตรีกลุ่มนี้จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษา
  • ระวังการเกิดอาการบวมน้ำด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว (Cardiac edema)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอมโมเนียมคลอไรด์ด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่น กัน

แอมโมเนียมคลอไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแอมโมเนียมคลอไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้แอมโมเนียมคลอไรด์ ร่วมกับยา Amphetamine อาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยา Amphetamine ลดต่ำลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป

ควรเก็บรักษาแอมโมเนียมคลอไรด์อย่างไร

ควรเก็บยาแอมโมเนียมคลอไรด์: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

แอมโมเนียมคลอไรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแอมโมเนียมคลอไรด์  มียาชื่อการค้าอื่นๆ  และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Ammonium chloride injection (แอมโมเนียมคลอไรด์ อินเจ็คชั่น) Hospira
Ammonium Chloride (แอมโมเนียมคลอไรด์) Nutricology
Aracaf (อะราแคฟ) Thai Nakorn Patana
Bonadine CD (โบนาดีน ซีดี) Pharmasant Lab
Chlorleate Expectorant (คลอร์ลีท เอ็กซ์เป็คทอแรนท์) Silom Medical

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Ammonium_chloride   [2021,Dec25]
  2. https://www.drugs.com/pro/ammonium-chloride.html   [2021,Dec25]
  3. https://www.mims.com/indonesia/drug/info/ammonium%20chloride?mtype=generic  [2021,Dec25]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ammonium%20chloride   [2021,Dec25]
  5. http://www.robholland.com/Nursing/Drug_Guide/data/monographframes/A050.html   [2021,Dec25]
  6. http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=1198&drugName=&type=2   [2021,Dec25]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/ammonium-chloride-index.html?filter=2&generic_only=   [2021,Dec25]