แอทราคูเรียม (Atracurium)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแอทราคูเรียม (Atracurium หรือ Atracurium besylate) เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มยาหย่อนกล้ามเนื้อประเภท Nondepolarizing neuromuscular blocker ทางคลินิกนำมาใช้กับหัตถการในห้องผ่าตัด หรือใช้เป็นยาทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัวเพื่อสอดท่อช่วยหายใจให้กับผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น

ยาแอทราคูเรียมมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นแบบยาฉีด เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนในเลือด ประมาณ 82% ร่างกายต้องใช้เวลา 17-21 นาทีเพื่อกำจัดยานี้ออกไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ยาแอทราคูเรียม เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว หลังจากผู้ป่วยได้รับการฉีดยา ตัวยาจะออกฤทธิ์ภายใน 3-5 นาที ทั่วไปสามารถใช้ยาแอทราคูเรียมควบคู่ไปกับยาสลบ

สิ่งที่ต้องระวังขณะใช้ยานี้/ชนิดนี้คือ การให้ยานี้เกินขนาด ด้วยยาแอทราคูเรียมสามารถกระตุ้นการหลั่งสารฮีสตามีน(Histamine) และทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ หรือเกิดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ ซึ่งการช่วยเหลือ แพทย์จะดูแลตามอาการ หากจำเป็นแพทย์อาจต้องใช้ยา Neostigmine ,หรือ Edrophonium, หรือ Pyridostigmine, เพื่อบำบัดอาการพิษจากยาแอทราคูเรียม จากเหตุผลดังกล่าวทำให้แพทย์ต้องคอยควบคุมตรวจสอบสัญญาณชีพของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอขณะใช้ยานี้ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ, ความดันโลหิต, อัตราการหายใจ, ระดับการคลายตัวของกล้ามเนื้อ, ตลอดจนกระทั่งการทำงานของตับและของไต ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นตัวบ่งบอก การใช้ยาแอทราคูเรียม

นอกจากนี้ การใช้ยาแอทราคูเรียมกับผู้ป่วยวิกฤตที่นอนอยู่ในห้องไอซียูเป็นเวลา 1-10 วันก็ยังต้องปรับขนาดการใช้ยานี้ให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยเป็นระยะๆไป

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาชนิดนี้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการกับผู้ป่วย และสามารถพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

แอทราคูเรียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

แอทราคูเรียม

ยาแอทราคูเรียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • เป็นยาคลายกล้ามเนื้อที่มีการใช้ในห้องผ่าตัด เพื่อ
    • ช่วยในการสอดท่อช่วยหายใจให้ทำได้ง่ายขึ้น
    • ใช้เป็นยาผ่อนคลายกล้ามเนื้อในระหว่างการผ่าตัด

แอทราคูเรียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแอทราคูเรียม มีกลไกการออกฤทธิ์เป็น Competitive acetylcholine antagonist ส่งผลให้กล้ามเนื้อลดการหดเกร็ง และเกิดการคลายตัว ทำให้การสอดท่อช่วยหายใจในหลอดลม รวมถึงการทำหัตถการการผ่าตัดต่างๆ มีความสะดวกและปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วย มากขึ้น

แอทราคูเรียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแอทราคูเรียมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยตัวยา Atracurium besylate ขนาด 10 มิลลิกรัม/หลอด(Ampule)

แอทราคูเรียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาแอทราคูเรียมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 300-600 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพื่อรักษาระดับการคลายตัวของกล้ามเนื้อทุกๆ 15-25 นาที แพทย์อาจฉีดยาเข้าหลอดเลือดฯขนาด 100-200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือหยดเข้าหลอดเลือด ขนาด 5-10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที
  • เด็กที่อายุมากกว่า 1 เดือน: ใช้ขนาดยาเท่ากับผู้ใหญ่โดยเทียบกับน้ำหนักตัว
  • เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 เดือน: การใช้ยานี้/ขนาดยาอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ห้ามฉีดยานี้เข้ากล้ามเนื้อ เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ
  • ห้ามผสมตัวยาแอทราคูเรียมร่วมกับตัวยาที่มีฤทธิ์เป็นด่าง เช่น สารละลายยาบาร์บิทูเรต
  • การเตรียมยาฉีดแอทราคูเรียม สามารถผสมตัวยากับสารละลาย Sodium chloride 0.9% หรือ Glucose 5% หรือ Sodium Lactate โดยทำตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา

***** หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่เท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแอทราคูเรียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอทราคูเรียมอาจส่งผลให้อาการของโรค เหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้

แอทราคูเรียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้ยาแอทราคูเรียมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีภาวะหัวใจเต้นช้า
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีภาวะหลอดลมหดเกร็งตัว มีสารคัดหลั่งในหลอดลมมากขึ้น หายใจเสียงหวีด
  • ผลต่อระบบผิวหนัง: เช่น เกิดลมพิษ บวมใต้ชั้นผิวหนัง มีตุ่มนูนที่ผิวหนัง

มีข้อควรระวังการใช้แอทราคูเรียมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแอทราคูเรียม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคหัวใจ ผู้ป่วยหอบหืด ผู้ที่มีบาดแผลไฟไหม้
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • หากผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาดจะมีอาการความดันโลหิตต่ำ ชักกระตุกตามมา
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอทราคูเรียมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แอทราคูเรียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแอทราคูเรียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอทราคูเรียมร่วมกับยา Amikacin, Gentamycin, Tobramycin, Neomycin, การใช้ยาแอทราคูเรียมร่วมกับยาดังกล่าวจะส่งผล กดการหายใจของผู้ป่วย
  • การใช้ยาแอทราคูเรียมร่วมกับยา Propranolol อาจทำให้ความดันโลหิตและ อัตราการเต้นของหัวใจลดต่ำลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • การใช้ยาแอทราคูเรียมร่วมกับยา Ketamine อาจทำให้ระบบการหายใจของผู้ป่วย ขัดข้อง การใช้ยาร่วมกันจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น
  • การใช้ยาแอทราคูเรียมร่วมกับยาขับปัสสาวะ Hydroflumethiazide จะทำให้การออกฤทธิ์ของยาแอทราคูเรียมยาวนานขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงจากตัวยา แอทราคูเรียม แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาทั้ง 2 ตัวให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาแอทราคูเรียมอย่างไร?

ควรเก็บรักษาแอทราคูเรียม เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

แอทราคูเรียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแอทราคูเรียม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Notrixum (โนทริซัม)Novell Pharma
Tracrium (ทราเครียม)GlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/thailand/drug/info/atracurium%20besilate/?type=brief&mtype=generic [2019,Jan5]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/notrixum/?type=brief [2019,Jan5]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Atracurium_besilate [2019,Jan5]
  4. https://www.drugs.com/pro/atracurium-besylate-injection.html#s-34090-1 [2019,Jan5]
  5. http://www.gsk.com.au/resources.ashx/prescriptionmedicinesproductschilddataproinfo/555/FileName/CDFF5215F2B4F15C6B2F0BC05FE84404/PI_Tracrium.pdf [2019,Jan5]