แดพโซน (Dapsone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาแดพโซน (Dapsone หรืออีกชื่อคือ Diaminodiphenyl sulfone) คือ ยาปฏิชีวนะที่มักใช้ร่วมกับยา Rifampicin และยา Clofazimine (ยารักษาโรคเรื้อนที่มักใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะอื่น) นอกจากนี้ยังถือเป็นยาทางเลือกสำหรับรักษาโรคปอดบวมจากการติดเชื้อราชนิดหนึ่ง (Pneumocystis pneumonia)

ผลข้างเคียงที่รุนแรงของยาแดพโซนได้แก่ ภาวะเม็ดเลือดแดงลดปริมาณลง ร่วมกับเกิดเม็ดเลือดแดงแตก โดยมักจะเกิดกับผู้ป่วยด้วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G-6-PD) นอกจากนี้อาจพบภาวะตับอักเสบระหว่างการใช้ยานี้ได้เช่นกัน

วงการแพทย์เริ่มใช้ยาแดพโซนรักษาอาการโรคในฐานะเป็นยาปฏิชีวนะครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) และอีก 8 ปีต่อจากนั้นได้พัฒนาและนำยานี้มารักษาโรคเรื้อน รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่พบเห็นการใช้จะเป็นยาชนิดรับประทานและยาใช้เฉพาะที่/ยาทาภายนอก

ตัวยาแดพโซน สามารถดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ 70 - 80% ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 70 - 90% และตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยาอยู่ตลอดเวลา ร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 20 - 30 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยาแดพโซนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระบบสาธารณะสุขระดับชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาแดพโซนอยู่ในบัญชียาหลักแห่ง ชาติโดยระบุให้เป็นยาอันตราย ดังนั้นการใช้ยานี้กับผู้ป่วยแต่ละรายจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรไปหาซื้อยามารับประทานเอง

แดพโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

แดพโซน

ยาแดพโซนมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาอาการปอดอักเสบ/ปอดบวมที่เกิดจากโรคเชื้อราบางชนิด(Primary and secondary prophylaxis of pneumocystis jiroveci pneumonia)
  • รักษาโรคเรื้อน (Multibacillary & Paucibacillary leprosy)
  • รักษาสิวโดยใช้ในรูปแบบของยาทาผิวหนัง

แดพโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแดพโซนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์กรดโฟลิก(Folic acid, สารที่ใช้ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆ) ของแบคทีเรีย และก่อให้เกิดกระ บวนการรบกวนการดำรงชีวิตจนทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

แดพโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแดพโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเจลทาแก้สิว ขนาดความเข้มข้น 5 กรัม/เนื้อเจล 100 กรัม

แดพโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแดพโซนมีขนาดรับประทาน/วิธีใช้ยาแตกต่างกันในแต่ละโรค ดังนั้นการใช้ยานี้จึงต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานยานี้สำหรับรักษาอาการปอดอักเสบ (Pneumocystis pneumonia) เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 100 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 14 - 21 วัน มักใช้ร่วมกับยา Trimethoprim โดยแพทย์จะเป็นผู้ระบุขนาดรับประทานที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)อายุมากกว่า 1 เดือน: รับประทาน 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้ง ขนาดสูงสุดต้องไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน: การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่า นั้น เพราะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องของผลข้างเคียงจากยานี้ต่อเด็กกลุ่มนี้

*****หมายเหตุ:

  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแดพโซน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาแดพโซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือแจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาแดพโซนสามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แดพโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแดพโซนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

ก. กรณียารับประทาน: อาจพบมี

  • โรคซีด
  • โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก,
  • ไตทำงานผิดปกติ
  • ตับอักเสบ
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดหัว
  • คันตามผิวหนัง
  • มีอาการ Stevens-Johnson syndrome

*อนึ่ง: กรณีที่ได้รับยานี้เกินขนาดอาจพบอาการ คลื่นไส้-อาเจียน, มีภาวะซึม, เกิดการชัก, รวมถึงเกิดอาการเขียวคล้ำตามเนื้อตัวขั้นรุนแรง หากพบอาการดังกล่าวควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์อาจใช้ยาถ่านกัมมันต์ขนาด 20 กรัมวันละ 4 ครั้งในการช่วยดูดซับพิษของยาแดพโซน

ข. กรณียาทาผิวภายนอก: อาจทำให้ผิวบริเวณที่ทายา แห้ง มีอาการแดง เกิดความมัน และผิวลอก

มีข้อควรระวังการใช้แดพโซนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้แดพโซนดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคโลหิตจาง/ โรคซีดอย่างรุนแรง ผู้ป่วยโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria:โรคทางพันธุ กรรมที่พบได้น้อยมาก ที่มีความผิดปกติของการสร้างเม็ดเลือดแดง)
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้เอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแดพโซนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แดพโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแดพโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาแดพโซน ร่วมกับ ยา Rifampicin สามารถทำให้ความเข้มข้นของยาแดพโซนในกระแสเลือดลดต่ำลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์และมีการปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาแดพโซน ร่วมกับ ยา Probenecid หรือ Trimethoprim จะทำให้ระดับยาแดพโซนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น การใช้ยาร่วมกันควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์และมีการปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาแดพโซน ร่วมกับ ยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite, ยาแก้พิษสารไซยาไนด์/Cyanide) อาจทำให้มีภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด (Methemoglobinemia: ภาวะที่เม็ดเลือดแดงมีความบกพร่องในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับเซลล์ของร่างกาย) เกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากใช้ยาร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการขนส่งออกซิเจนของเม็ดเลือดแดงเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายด้อยประสิทธิภาพลงไป อาจสังเกตพบอาการผิวซีดคล้ำ/อาการเขียวคล้ำ, คลื่นไส้, ปวดหัว, วิงเวียน, อ่อนเพลีย, หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย, จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาแดพโซน ร่วมกับ ยา Clozapine (ยาจิตเวช) ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะ เม็ดเลือดขาวต่ำ และมีอาการติดเชื้อติดตามมา โดยอาจพบอาการ ไข้ หนาวสั่น ท้องเสีย เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก เสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด ปวดขณะปัสสาวะ

ควรเก็บรักษาแดพโซนอย่างไร?

ควรเก็บยาแดพโซน:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แดพโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแดพโซน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
ACZONE (แอคโซน) ALLERGAN
Dopsan (ดอพแซน) Pond’s Chemical
Lepromix MB (เลโพรมิกซ์ เอ็มบี) Pond’s Chemical
Lepromix PB (เลโพรมิกซ์ พีบี) Pond’s Chemical

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Dapsone [2021,April24]
  2. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/dapsone?mtype=generic [2021,April24]
  3. https://www.drugs.com/cdi/dapsone-systemic.html [2021,April24]
  4. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=dapsone [2021,April24]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/dapsone-index.html?filter=3&generic_only= [2021,April24]