เหงือกอักเสบ (Gingivitis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

เหงือกอักเสบ (Gingivitis) คือ การอักเสบของเยื่อบุผิวชั้นที่เป็นเนื้อเยื่อเมือกของเหงือก มักเป็นการอักเสบของเหงือกในส่วนที่ติดกับฟันที่เรียกว่า คอฟันและส่วนที่เป็นเบ้าฟัน(Tooth socket, เหงือกส่วนที่เป็นที่ฝังอยู่ของฟัน)

เหงือกอักเสบ เป็นอาการในระยะเริ่มต้นของโรคปริทันต์(โรคเหงือกอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียขั้นรุนแรงที่เกิดกับเนื้อเยื่อเหงือกชั้นอยู่ลึกคือชั้นที่ยึดติดกับรากฟันและกับกระดูกส่วนรากฟันที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบรุนแรงจนอาจทำให้เกิดฟันหลุดออกมาได้) ถ้าได้ รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหงือกอักเสบจะหายได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาไม่ถูกต้องการอักเสบติดเชื้อจะลุกลามไปเป็นโรคปริทันต์อักเสบ

เหงือกอักเสบ  พบบ่อยและพบบ่อยทุกอายุตั้งแต่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุมักพบเหงือกอักเสบเรื้อรังบ่อยกว่าวัยอื่น   เพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิงจากที่มักดูแลช่องปากได้ไม่ดีเท่าและจากดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่มากกว่าในเพศหญิงมาก แต่ในสตรีตั้งครรภ์จะพบเหงือกอักเสบได้สูงและมักรุนแรงกว่าภาวะปกติจากพฤติกรรมกินจุบจิบร่วมกับผลจากฮอร์โมนเพศที่ทำให้เหงือกติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

เหงือกอักเสบมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

เหงือกอักเสบ

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของเหงือกอักเสบ:

ก. ที่เป็นสาเหตุหลัก: คือ

  • ภาวะเกิดคราบหินปูนจากน้ำลายที่จับอยู่กับเหงือกส่วนที่หุ้มฟันไว้ร่วมกับมีการเกาะอาศัยของแบคทีเรียที่คราบหินปูนนั้นที่เรียกว่า “Biofilm หรือ Plaque” ซึ่งกลไกนี้มีสาเหตุหลักที่มักเกิดจากการขาดสุขอนามัยที่ดีของช่องปาก เช่น
    • ไม่แปรงฟันทุกวัน หรือ แปรงฟันเพียงวันละ1ครั้ง
    • ไม่แปรงฟันก่อนเข้านอน
    • รวมไปถึงการไม่รู้จักใช้ไหมขัดฟัน

ข. สาเหตุ/ปัจจัยอื่น: เช่น

  • สูบบุหรี่, ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ใช้ยาเสพติด, เนื่องจากกลุ่มบุคคลเหล่านี้มักขาดสุข อนามัยของช่องปาก
  • มีฟันผุ
  • โรคเชื้อราช่องปาก
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจึงมีการติดเชื้อที่เหงือกและในช่องปากได้ง่ายเช่น ผู้ป่วยโรค มะเร็ง ผู้ป่วยเอชไอวี/HIV
  • น้ำลายแห้ง/ ปากคอแห้ง เชื้อโรคจึงสะสมที่เหงือกได้แน่นนาน ซึ่งน้ำลายแห้งอาจมีสาเหตุจาก
    • โรคประจำตัว เช่น โรคของต่อมน้ำลาย หรือโรคเบาหวาน
    • หรือจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต, ยาแก้แพ้, ยาขับปัสสาวะ
  • ภาวะขาดสารอาหารจึงส่งผลให้เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายรวมถึงเหงือกไม่แข็งแรง จึงติดเชื้อได้ง่ายโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย
  • ภาวะเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ เช่น ในช่วงตั้งครรภ์ หรือการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดมีปริมาณฮอร์โมนฯสูงเพราะฮอร์โมนเพศจะกระตุ้นให้เนื้อเยื่อเหงือกติดเชื้อแบคทีเรียและโรคเชื้อราได้ง่าย
  • ใส่ฟันปลอมเพราะเหงือกจะถูกเสียดสีตลอดเวลาจึงเกิดอักเสบได้ง่าย
  • ผู้สูงอายุเพราะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ, มักดูแลตนเองได้ไม่ดีพอ, มีปัญหาทางเศรษฐกิจจึงมักขาดสารอาหาร, มีโรคประจำตัว, และกินยาต่างๆหลายชนิดที่ส่งผลถึงอนามัยช่องปาก

เหงือกอักเสบมีอาการอย่างไร?

เหงือกอักเสบเกิดที่ตำแหน่งใดของเหงือกก็ได้ อาจเกิดได้พร้อมกันหลายตำแหน่งหรือเกิดได้พร้อมกันทั้งช่องปาก โดยมีอาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • เหงือกบวมมีสีแดงสดหรือสีแดงคล้ำ และมีลักษณะนุ่มคล้ายฟองน้ำ (เหงือกปกติจะมีสีชมพูแข็งและมีผิวเรียบมัน)
  • เจ็บหรือกดเจ็บตรงตำแหน่งที่อักเสบ
  • อาจร่วมกับมีเหงือกร่นจนเห็นรากฟัน
  • เมื่อแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันหรือกินอาหารแข็งเลือดจะออกจากตำแหน่งที่อักเสบได้ง่าย
  • อาจมีร่องระหว่างเหงือกและฟันร่วมกับมีหนองเกิดขึ้นในร่องนั้น
  • มักร่วมกับมีกลิ่นปาก
  • อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่ใต้คางด้านเหงือกอักเสบ บวม/โต คลำได้และเจ็บ

เมื่อไหร่ควรพบทันตแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 - 4วันหลังดูแลตนเอง ควรพบทันตแพทย์/แพทย์เสมอ แต่ถ้าเหงือกเป็นหนองหรืออาการต่างๆเลวลงควรรีบพบทันตแพทย์/แพทย์ไม่ต้องรอ

 อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปควรพบทันตแพทยเป็นประจำสม่ำเสมอทุก 6 เดือนหรือตามทันต แพทย์นัดเพื่อการดูแลช่องปาก เพราะบ่อยครั้งอาการเริ่มแรกของเหงือกอักเสบและฟันผุไม่มีอาการแต่ทันตแพทย์สามารถตรวจพบได้ ซึ่งจะทำให้ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆก่อนที่จะกลายเป็นปริทันต์อักเสบ

ทั้งนี้ควรเริ่มการดูแลช่องปากและฟันจากทันตแพทย์ตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ซึ่งสภาทันตกรรมเด็กแห่งสหรัฐอเมริกา และสมาคมทันตแพทย์(The American Academy of Pediatric Dentistry และ The American Dental Association) มีความเห็นว่าควรนำเด็กพบทันตแพทย์ครั้งแรกเริ่มเมื่อเด็กอายุ 1 ปี หรือ ภายใน6เดือนนับจากฟันเริ่มขึ้น

ทันตแพทย์วินิจฉัยเหงือกอักเสบอย่างไร?

ทันตแพทย์วินิจฉัยเหงือกอักเสบได้จากลักษณะทางคลินิกคือ

  • วินิจฉัยจากประวัติอาการ และการตรวจดูเหงือกด้วยตาและด้วยการคลำเหงือก อาจร่วมกับการคลำต่อมน้ำเหลืองใต้คาง ทั้งนี้การวินิจฉัยไม่จำเป็นต้องมีการสืบค้นเพิ่มเติมด้วยการตรวจเลือดหรือเอกซเรย์ภาพฟัน

รักษาเหงือกอักเสบได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาเหงือกอักเสบ คือ

  • กำจัดคราบ Biofilm ที่เป็นแหล่งเชื้อโรคด้วยการรับการขูดหินปูนจากทันตแพทย์ทุก 6 เดือนหรือตามทันตแพทย์แนะนะ
  • การใช้ยาปฏิชีวนะอาจเป็นยากินและ/หรือน้ำยาบ้วนปากขึ้นกับความรุนแรงของการติดเชื้อ
  • การรักษาความสะอาดช่องปากด้วยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้งในตอนเช้าหลังตื่นนอนและตอนกลางคืนก่อนนอน ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยก่อนแปรงฟันก่อนนอนหรือหลัง อาหารทุกมื้อหลัก
  • กินยาแก้ปวด Paracetamol กรณีเจ็บ/ปวดเหงือกมาก

เหงือกอักเสบมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากเหงือกอักเสบคือ ถ้าไม่รักษา การอักเสบติดเชื้ออาจรุนแรงจนเกิดเป็นหนองหรือเป็นเหงือกอักเสบเรื้อรังที่เรียกว่า ปริทันต์อักเสบ/โรคปริทันต์ ที่การอักเสบอาจลุกลามเข้าเนื้อเยื่อส่วนลึกของเหงือกและของรากฟันจนอาจส่งผลให้เกิดฟันหลุดออกมาเองได้

อนึ่งในกรณีที่เหงือกอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นปริทันต์อักเสบ มีบางการศึกษารายงานว่า อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาต หรือทำให้โรคเบาหวานรุนแรงขึ้น หรือในกรณีการตั้งครรภ์อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดเด็กคลอดโดยมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรืออาจคลอดก่อนกำหนด แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนในเรื่องเหล่านี้

เหงือกอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคโดยทั่วไปถ้าได้รับการรักษาแต่เมื่อเริ่มเกิดอาการเหงือกอักเสบมีการพยากรณ์โรคที่ดีรักษาได้หาย แต่มีโอกาสเกิดซ้ำได้ตามปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเหงือกอักเสบได้แก่

  • ปฏิบัติตามทันตแพทย์แนะนำ
  • กินยาที่ทันตแพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้องไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเองถึงแม้อาการจะหายเป็นปกติแล้ว
  • บ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากตามทันตแพทย์แนะนำหรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลือเจือจาง (น้ำ เกลือที่ใช้ในโรงพยาบาล/Normal saline ที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไปหรือผสมน้ำเกลือใช้เองโดยไม่ให้มีรสเค็มจัดเช่น เกลือทะเล ½ - 1 ช้อนชาละลายในน้ำสะอาด 1 แก้ว/ประมาณ 250 - 300 มิลลิลิตร) บ่อยๆ/ทุก 4 - 6 ชั่วโมงและหลังอาหารทุกครั้งจนกว่า เหงือกอักเสบจะหาย
  • รักษาสุขอนามัยช่องปากทุกวันตามทันตแพทย์แนะนำ ที่สำคัญคือแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง หลังตื่นนอนเช้าและก่อนเข้านอนกลางคืน ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันก่อนการแปรงฟันก่อน เข้านอนและอาจทุกครั้งหลังกินอาหารมื้อหนักๆ
  • ควบคุมรักษาโรคประจำตัวต่างๆให้ได้ดี
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • กินอาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการ แพทย์) ช่วงเหงือกอักเสบจนมีอาการเจ็บเหงือก/เคี้ยวอาหารแข็งปกติไม่ได้
  • หยุดบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด
  • พบทันตแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามทันตแพทย์นัด

พบทันตแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบทันตแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆแย่ลง เช่น หนองมากขึ้น ปวด/เจ็บเหงือกมากขึ้น เหงือกบวม หรือเลือด ออกจากเหงือกมากขึ้น
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่น อ้าปากไม่ได้ ฟันโยก
  • แพ้ยาที่ทันตแพทย์/แพทย์สั่งเช่น ขึ้นผื่น เป็นไข้ ท้องเสียมาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันเหงือกอักเสบได้อย่างไร?

วิธีป้องกันเหงือกอักเสบที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การรักษาสุขอนามัยช่องปากด้วยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้งเมื่อตื่นนอนเช้าและก่อนเข้านอนกลางคืน ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันก่อนแปรงฟันก่อนเข้านอนและอาจใช้ไหมขัดฟันทุกครั้งหลังอาหารมื้อใหญ่

         นอกจากนั้นการดูแลสุขอนามัยช่องปากยังประกอบด้วย

  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • ป้องกันควบคุมรักษาโรคประจำตัวให้ได้ดี
  • พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนหรือบ่อยตามทันตแพทย์นัด

บรรณานุกรม

  1. Idrees,M. et al(2014). Saudi Med J.35,1373-13 [2022,March26]
  2. https://emedicine.medscape.com/article/763801-overview#showall [2022,March26]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Gingivitis [2022,March26]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279593/ [2022,March26]
  5. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK557422/ [2022,March26]
  6. https://www.nycpediatricdentist.com/preventing-and-treating-gingivitis-gum-disease-in-children/ [2022,March26]
  7. https://www.dentalfearcentral.org/faq/healing/ [2022,March26]
  8. https://www.aapd.org/assets/1/7/DentalHomeNeverTooEarly.pdf [2022,March26]