เฟอรัส ซัลเฟต (Ferrous sulfate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเฟอรัส ซัลเฟต (Ferrous sulfate หรือ Ferrous sulfate hydrated หรือ Ferrous sulfate dessicated) เป็นรูปแบบของยาบำรุงโลหิตช่วยเสริมธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการอยู่เป็นประจำ สำหรับบุคคลที่มักจะได้รับคำแนะนำให้รับ ประทานธาตุเหล็กเสริมอาหาร ได้แก่ ผู้มีภาวะโลหิตจางเนื่องจากการขาดธาตุเหล็ก สตรีตั้ง ครรภ์ และผู้บริจาคโลหิต นอกจากนี้ยังมียาที่ใช้เสริมธาตุเหล็กในสูตรเคมีอื่นๆอีก เช่น เฟอรัส ฟูมาเรท (Ferrous fumarate) และ เฟอรัส กลูโคเนต (Ferrrous gluconate) เป็นต้น

หลังรับประทานยาเฟอรัส ซัลเฟต ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 10 วันยาจึงเริ่มออกฤทธิ์ จากนั้นจะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านมากับปัสสาวะ เหงื่อ อุจจาระ และทางประจำ เดือน

ธาตุเหล็ก ถึงแม้จะเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตก็จริง แต่ถ้าหากบริโภคมากเกินไป ย่อมก่อให้เกิดอาการพิษจากธาตุเหล็กขึ้นได้ จึงควรรับประทานยานี้ ตามคำสั่งแพทย์ หรือขอคำแนะนำการใช้ยาจากเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

ยาเฟอรัส ซัลเฟตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร

เฟอรัสซัลเฟต

สรรพคุณของยาเฟอรัส ซัลเฟต คือ

  • รักษาและป้องกันภาวะโลหิตจางอันเนื่องมาจากการขาดธาตุเหล็ก
  • ช่วยเสริมสร้างการผลิตเม็ดเลือดแดง หลังจากการบริจาคโลหิตหรือหลังการเสียเลือดมาก เช่น ประจำเดือนมามากผิดปกติอย่างต่อเนื่อง หรือมีเลือดออกมากจากบาดแผล

ยาเฟอรัส ซัลเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเฟอรัส ซัลเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยจะทำให้ฮีโมโกลบินที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง สามารถลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้ มัยโอโกลบิน (Myoglobin) สารธาตุเหล็กที่อยู่ในกล้ามเนื้อ กักเก็บออกซิเจนเพื่อใช้เป็นพลังงานของกล้ามเนื้อด้วยเช่นกัน

ยาเฟอรัส ซัลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเฟอรัส ซัลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้

  • รูปแบบยาเม็ดขนาดความแรง 200 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด
  • รูปแบบยาเม็ดที่เป็นวิตามินรวม
  • รูปแบบยาน้ำขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม/0.6 มิลลิลิตร และ 200 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร

ยาเฟอรัส ซัลเฟตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเฟอรัส ซัลเฟตมีขนาดรับประทาน ดังนี้

ก. รักษาภาวะโลหิตจางในเด็ก:

  • เด็กอายุ 1 - 5 ปี รับประทานครั้งละ 30 - 45 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
  • เด็กอายุ 6 - 12 ปี รับประทานครั้งละ 60 - 120 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
  • ขนาดรับประทานเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางในเด็ก รับประทานไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน

ข. รักษาภาวะโลหิตจางในผู้ใหญ่:

รับประทานครั้งแรก 300 - 325 มิลลิกรัม ครั้งเดียว จากนั้นวันต่อมารับประทานเพื่อคง ระดับยาในกระแสเลือด โดยรับประทานครั้งละ 325 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง และอาจลด ขนาดการรับประทานลงมาเป็น 160 มิลลิกรัม วันละ 1 - 2 ครั้ง โดยขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์

ค. สำหรับสตรีตั้งครรภ์:

  • รับประทาน 325 มิลลิกรัม วันละครั้ง

ง. สำหรับผู้สูงอายุ:

  • แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานลงด้วยผลข้างเคียงจากยา เรื่องอาการท้องผูกที่อาจติดตามมา

***** อนึ่ง การปรับขนาดรับประทานของยาเฟอรัส ซัลเฟต ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษา ผู้ ป่วยไม่สมควรปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยาด้วยตนเอง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเฟอรัส ซัลเฟต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำ บาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเฟอรัส ซัลเฟต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับอาหารเสริมที่รับประ ทานอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเฟอรัส ซัลเฟต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า

ยาเฟอรัส ซัลเฟตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์จากยา (อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียง) ที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังรับประทานยาเฟอรัส ซัลเฟต เช่น ท้องผูก ท้องเสีย ปวดท้อง รู้สึกไม่สบายในช่องทางเดินอาหาร อุจจาระมีสีดำ

กรณีที่มีอาการแพ้ยาเกิดขึ้น อาจพบเห็นอาการต่างๆ ดังนี้ เช่น ผื่นคัน วิงเวียนศีรษะ หาย ใจไม่ออก/หายใจลำบาก เป็นต้น

สำหรับผู้ที่รับประทานยาเฟอรัส ซัลเฟตมากเกินไป สามารถพบเห็นอาการดังนี้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย

มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟอรัส ซัลเฟตอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาเฟอรัส ซัลเฟต คือ

  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยา เฟอรัส ซัลเฟต
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคตับ ผู้ที่ติดสุรา ผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้ หรือผู้ที่มีเลือดออกจากมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกง่าย (Hemolytic anemia) ซึ่งจะทำให้ร่างกายได้รับธาตุเหล็กมากเกินไป
  • อาจมีประโยชน์น้อยมากหากใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ต้องถ่ายเลือดอยู่เป็นประจำ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะท้องผูก ท้องเสีย หรือปวดท้องเป็นประจำ ด้วยยาอาจจะไปเพิ่มอาการจากภาวะดังกล่าวได้มากยิ่งขึ้น
  • ปกติการรับประทานยานี้สำหรับภาวะโลหิตจางอยู่ในช่วง 4 - 6 เดือน หากมีความจำเป็น ต้องใช้ยานานมากกว่านี้ ควรต้องได้รับการตรวจร่างกายและปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเฟอรัส ซัลเฟต ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเฟอรัส ซัลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเฟอรัส ซัลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้ เช่น

  • การรับประทานยาเฟอรัส ซัลเฟต ร่วมกับยาบางกลุ่มสามารถลดการดูดซึมของยาเฟอรัส ซัล เฟตได้ และทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของยาเฟอรัส ซัลเฟตด้อยประสิทธิภาพลง ยากลุ่มดังกล่าว เช่น
  • กลุ่มยาลดความดันโลหิต เช่น Quinapril
  • กลุ่มยาลดกรด เช่น Aluminium hydroxide, Magnesium hydroxide, และ Omeprazole
  • กลุ่มยาบำรุงกระดูก เช่น Calcium carbonate
  • การรับประทานยาเฟอรัส ซัลเฟตร่วมกับยาปฏิชีวนะบางกลุ่มอาจทำให้การดูดซึมของยาปฏิ ชีวนะเหล่านั้นลดลง และทำให้ฤทธิ์ในการรักษาด้อยประสิทธิภาพได้เช่นเดียวกัน ยาปฏิชีวนะกลุ่มดังกล่าว เช่น Ciprofloxacin, Norfloxacin, Doxycycline และTetracycline เป็นต้น
  • การรับประทานยาเฟอรัส ซัลเฟตร่วมกับไทรอยด์ฮอร์โมน เช่น Levothyroxine จะทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของ Levothyroxine ด้อยประสิทธิภาพลง

***** อนึ่ง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มที่กล่าวมาร่วมกับยาเฟอรัส ซัลเฟต ควรเลี่ยงการรับประทานให้ห่างกัน 2 - 4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

ควรเก็บรักษายาเฟอรัส ซัลเฟตอย่างไร?

ควรเก็บยาเฟอรัส ซัลเฟต ภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง แสงแดด ความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาเฟอรัส ซัลเฟตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเฟอรัส ซัลเฟต ในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ferro-BC (เฟอโร-บีซี)K.B. Pharma
Ferrotabs (เฟอโรแทบ)Thaipharmed
Ferrous Sulfate Asian Union (เฟอรัส ซัลเฟต เอเชี่ยน ยูเนี่ยน)Asian Union
Ferrous Sulfate A.N.H. (เฟอรัส ซัลเฟต เอ.เอ็น.เฮ็ท)A N H Products
Iberet-500 (อิเบอเรต)Abbott
Kidiron (คิดไดรอน)Thaipharmed
Multicap (มัลติแคพ)Sriprasit Dispensary
Pediron (เพดิรอน)ST Pharma
Temaron (เทมารอน)K.B. Pharma
Vinatal (ไวนาทอล)British Dispensary (L.P.)
Viotrum Multivitamin Plus (ไวโอทรัม มัลติวิตามิน พลัส)Biopharm
Vitaral SM (ไวตารอล เอสเอ็ม)Kenyaku
Vitop (ไวท็อป)Olan-Kemed

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=Ferrous%20sulfate[2017,Sept30]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Iron(II)_sulfate[2017,Sept30]
  3. http://www.drugs.com/ferrous_sulfate.html[2017,Sept30]
  4. http://www.drugs.com/answers/what-is-the-typical-dose-for-ferrous-sulfate-54876.html[2017,Sept30]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/ferrous-sulfate.html[2017,Sept30]
  6. http://en.wikipedia.org/wiki/Myoglobin[2017,Sept30]
  7. http://www.webmd.com/drugs/drugreview-4127-ferrous-sulfate-oral.aspx?drugid=4127&drugname=ferrous-sulfate-oral[2017,Sept30]
  8. http://gicare.com/medication/ferrous-sulfate/[2017,Sept30]
  9. http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=1115&drugName=&type=12[2017,Sept30]
  10. http://www.qccorporation.com/wp-content/uploads/2012/02/fshd.pdf[2017,Sept30]
  11. https://livertox.nih.gov/Iron.html[2017,Sept30]
Updated 2017,Sept30